ดังนั้นการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเพื่อปรับสร้างทัศนคติและมุมมองใหม่ เพื่อจะนำธุรกิจและองค์กรไปสู่ยุคแห่งโลกดิจิทัล ซึ่งพาร์ทการศึกษา ตลอดจน ‘งานพี่เลี้ยง’ (Coach) หรือ ‘ที่ปรึกษา’ (Consultant) ในศาสตร์และสาขาล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และ คณิต ศาตะมาน Chief of Digital Transformation ของบริษัท SIAM ICO และเป็นหนึ่งในวิทยากรของหลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation โครงการความร่วมมือระหว่าง NIDA Business School และ บริษัท Siam iCO คือหนึ่งในผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการดังกล่าว
‘คณิต’ เปิดเผยอย่างเป็นกันเองกับ MBA หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวเปิดหลักสูตรอบรมพิเศษ Blockchain for Enterprise Transformation ซึ่งจะเปิดหลักสูตรบรรยายและอบรมในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะมาถึงในหลายประเด็นสำคัญอันจะเกี่ยวโยงไปสู่การ Transform องค์กรหรือธุรกิจในประเด็นต่างๆ
MBA: ทำไมถึงต้องทำ Digital Transformation?
คณิต: คอนเซปต์เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนถ้าคุณทำธุรกิจดี แข่งขันกับคู่แข่งได้ คุณก็จะอยู่ไปได้เรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มันเหมือนกับครั้งหนึ่งที่บริษัท KODAK ผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูป เป็นเบอร์หนึ่งของวงการ แต่อยู่ดีๆ ...อยู่ดีๆ เลยนะ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย KODAK ก็เจ๊งไปดื้อๆ เพราะเทคโนโลยีการถ่ายภาพเปลี่ยน คอนเซปต์นี้เลยครับ
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เข้ามากระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำธุรกิจ หรือการค้าที่เคยมีมา ทำให้ธุรกิจแต่เดิมเริ่มลำบาก แม้แต่ธนาคาร ที่ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเหมือนกัน คือเมื่อก่อน โมเดลของธนาคารมันอยู่ได้เพราะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ มันคือ เวลาที่คนมีเงินแล้วอยากได้เงินเพิ่ม ธนาคารก็บอกว่าเอามาฝากไว้กับฉัน เดี๋ยวจะให้ดอกเบี้ย สมมุติว่าร้อยละหก ซึ่งคุณก็มี Trust กับธนาคารว่ามันจะไม่เจ๊ง ขณะเดียวกันคุณทำธุรกิจแล้วเดือดร้อน ไม่มีใครให้กู้ ธนาคารก็มีให้คุณยืมแล้วคิดดอกเบี้ยร้อยละสิบ แล้วธนาคารก็อยู่ได้ แต่พอ Information มันไหลพรั่งพรู คนมันเริ่มรู้ว่า เฮ่ย! เราก็ปล่อยกู้ตรงได้นี่หว่า เช็กประวัติจากที่นู่นที่นี่ได้ ดูบนเทคโนโลยีได้ คนมันก็มีสิทธิจะเลิกใช้ธนาคารไปปล่อยกู้ตรงได้ ฉะนั้น ธุรกิจต่างๆ จะต้องรู้สึกว่าเขาอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ ต้องมีการปรับปรุงตัวเองมากขึ้นให้เข้ากับยุคที่คนอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้นมากขึ้น
MBA: คอนเซปต์ หรือ หัวใจสำคัญของกระบวนการทำ Digital Transformation คืออะไร?
คณิต: คอนเซปต์ของการทรานส์ฟอร์มเนี่ย คือคุณต้องเปลี่ยนความคิดไปเลย ถ้าคุณบอกว่า โอเค คิดใหม่ทำใหม่ โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มันยังไม่ใช่การทรานส์ฟอร์มครับ อย่างเช่นเมื่อก่อน คุณทำรายการทีวีอยู่ คนก็ดูทีวี พอเทคโนโลยีเปลี่ยน คนดันไปดูมือถือมากกว่าทีวี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทีวีรู้สึกก็คือ ทำยังไงที่เรายังทำธุรกิจได้ โดยที่ไม่สูญเสียผลประโยชน์ไป ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าง่ายแค่การจับทีวีไปใส่ในมือถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำผิดกัน ที่เราเรียกว่า Digital Conversion
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ แมกกาซีน ที่พอทำออกมาคนก็ไม่อ่าน แต่แมกกาซีนบอกฉันจะทรานส์ฟอร์ม แล้วก็ Convert เป็นไฟล์ PDF ซึ่งมันก็ไม่ Success เพราะมันแค่ Conversion มันไม่โอเค เพราะคนไม่ได้เสพสื่อด้วยวิธีนี้อีกแล้ว หรือโฆษณาที่เมื่อก่อนอยู่บนทีวี คนก็เริ่มไม่ค่อยดู เป็นรูปอยู่บนแมกกาซีนก็ไม่โอเค ไปอยู่บน YouTube คนก็กดทิ้ง เพราะฉะนั้น
Digital Transformation ก็คือ คุณต้องทรานส์ฟอร์ม Business Model ของคุณด้วย บนความชัดเจนว่าลูกค้า หรือทาร์เก็ตของคุณ จริงๆ แล้ว เขาใช้ชีวิตในรูปแบบดิจิทัลยังไง เพื่อที่จะเอา Business แบบดิจิทัลกลายพันธุ์ไปอยู่ร่วมกับพวกเขาให้ได้
ซึ่งที่ผ่านมา SIAM ICO ก็ได้เข้าไปคุยกับหลายธุรกิจที่เราเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทรานส์ฟอร์ม อันดับแรกเลยคือ กลุ่มสื่อ พวกบริษัททีวีดิจิทัลครับ แล้วก็กลุ่มอสังหาฯ เพราะอสังหาฯ เองก็พบว่าน่าจะมีแนวคิดแบบใหม่ๆ จากเดิมที่เคยขายคอนโดฯ แล้วก็เปิดให้จอง ซึ่งว่าถ้ามีเรื่องของ ICO เข้ามา ก็จะมีเรื่องของการระดมทุนได้มั้ย หรือว่ามีวิธีที่จะเปลี่ยนการซื้อ-ขายคอนโดฯ เป็นในรูปแบบการซื้อ-ขายสิทธิ์แทน แล้วเวลาขายต่อ ขายโอนสิทธิ์ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับโฉนด เขาก็พยายามจะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ เพื่อให้ Transection ทางธุรกิจสามารถเกิดได้ง่าย รวดเร็ว และเป็น Global
MBA: บทบาท และหน้าที่ของ SIAM ICO ในประเด็นเรื่อง Digital Transformation?
คณิต: อันดับแรกเลยคือ ต้องยอมรับก่อนว่า ตอนนี้เทคโนโลยีมันทำให้คุณต้องผลักดันธุรกิจมากขึ้น จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะ พวกธุรกิจที่เป็นตัวกลาง เช่น ธุรกิจประเภทซื้อมา ขายไป เช่น บริษัทประกัน คือเหมือนเอาเงินมาลง แล้วใครมีเรื่องก็จ่ายเงินไป ไม่มีเรื่องก็เก็บเงินไว้ เทคโนโลยีมันจะพยายามทำให้อะไรพวกนี้เกิดปัญหา ถ้า Business Model ของคุณไม่เปลี่ยน
หรืออย่างบรรดาธุรกิจที่ธรรมดามากเกินไป แต่ตอนนี้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม ถ้าวันหนึ่ง Facebook ออก Libra และปรับตัวเองเป็น Platform ที่ผู้ใช้ทั่วโลกจ้างงานกันได้โดยตรง ธุรกิจจัดหางานก็เป็นไปได้ว่า จะเจ๊งแน่นอน เป็นต้น ฉะนั้น สิ่งที่เราอยากจะฝากก็คือว่า อยากให้บริษัททั้งหลาย กลับมาทบทวนตัวเองว่า สิ่งที่คุณทำมาหากินอยู่ เมื่อเทคโนโลยีมันเว่อร์ขึ้นเรื่อยๆ คุณจะเดือดร้อนมั้ย ไม่ได้แค่บล็อกเชนอย่างเดียว แต่รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายรอบตัวเรา แล้วถ้าเราเดือดร้อน เราจะทรานส์ฟอร์มยังไง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ว่าไปซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ และก็ไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องไปทำแอพมือถือ ไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องเอาบล็อกเชนมาอยู่ในบริษัทโดยที่เกิดประโยชน์รึเปล่าก็ไม่รู้ มันเป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาทำความเข้าใจตัวเรา ทำความเข้าใจลูกค้า ทำความเข้าใจกับโลก ต้องมาดูว่าในปัจจัยเหล่านี้ คุณควรจะ Move ไปข้างหน้าอย่างไร ควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ควรขายทิ้งแล้วเอาเงินไปทำเรื่องอื่นเลยดีกว่ามั้ย เรื่องเหล่านี้ คือสิ่งที่เราทำในกรอบและขอบเขตของ Digital Transformation Service ของ SIAM ICO
MBA: เทคโนโลยีมีมากมาย ทำไมต้องบล็อกเชน?
คณิต: แต่เดิมระบบการจัดเก็บข้อมูลหรือที่เรียกว่า Data ไม่ว่าจะเป็นแบงก์หรืออะไรก็แล้วแต่ มักจะทำในรูปที่เป็น Centralized สมมุติว่าคุณเป็น Fed Ex คุณมีเครื่องบิน ทุกคนก็จะต้องใช้เครื่องบินคุณ การรวมศูนย์จะต้องอยู่ที่คุณ แต่ถ้าวันหนึ่ง Amazon ทำโดรนขึ้นมา แล้วบอกว่าต่อไปนี้เราจะเอาโดรนวิ่งไปส่งเลย Fed Ex ก็จะเดือดร้อน สิ่งที่ Fed Ex จะทำก็คือต้องทำตัวเป็น Grab แทน นี่คือตัวอย่าง ซึ่งพอพูดถึง Grab นี่หนักกว่า Fed Ex เพราะเขาไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย แต่สิ่งที่เขาทำคือเป็น Distributed หมายความว่า เรารู้ว่าลูกค้าอยู่ไหน เรารู้ว่ารถอยู่ไหน เราส่งรถที่ใกล้ที่สุดไป Data ในนั้นก็เอามาตกลงกันตอนจบวันว่า วันนี้วิ่งไปกี่เที่ยวมาเทียบกัน แล้วก็ไปเก็บเงินกับลูกค้า คือหลักการของบล็อกเชน ที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นใดคือ คุณต้องมีปาร์ตี้หลายๆ คน แล้วทุกคนเชื่อซึ่งกันและกัน ไม่ไปเชื่อคนใดคนหนึ่ง
ย้อนกลับมาในคำถามว่าทำไมต้องบล็อกเชน เพราะเรามองว่า คอนเซปต์ของธุรกิจต่อไปนี้จะต้องเปิดเผยได้ มีความโปร่งใส รวดเร็ว ตรวจสอบได้ ซึ่งก็จะมีธุรกิจซึ่งทำได้และไม่ได้ และธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องทำ เราพยายามจะสร้างความเข้าใจในธุรกิจที่บริษัททำอยู่ และกลับไปพิจารณาว่า ถ้าจะเอาบล็อกเชนมาใช้ จะทำให้ธุรกิจของมีโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือลดความเสี่ยงของธุรกิจเดิมๆ ลงหรือเปล่า เมื่อเห็นโอกาสและเป้าหมายแล้ว จึงค่อยดำเนินการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ อันนี้ก็แบบหนึ่ง
หรือถ้าไม่ใช่ ก็อาจจะได้ไอเดียใหม่ อาทิเช่น คุณทำธุรกิจทัวร์ คุณอาจมองว่าถ้าถึงจุดๆ นึง จริงๆ แล้วมันสามารถที่ให้เอเจนซีที่เมืองจีนมาทำแบบนี้ แล้วก็ให้คนที่เป็นซัพพลายเออร์ฝั่งนี้ทำแบบนี้ แล้วเราก็ไม่ต้องเดือดร้อน ไปเคยซื้อนู้นมาขายตรงนี้ รัน Platform นี้แล้วทุกคนก็ใช้ได้เลย อารมณ์เหมือน Agoda ก็ได้ ฉะนั้น ก็อาจจะเกิดธุรกิจใหม่หรือพาธุรกิจเดิมๆ ของคุณไปสู่อะไรที่ดีขึ้นก็ได้ อันนั้นคือสิ่งที่ SIAM ICO เรา Propose
MBA: อุปสรรคหรือความท้าทาย ขององค์กรไทยในกระบวนการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คืออะไร?
คณิต: ในกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลนั้น จุดเริ่มสำคัญจะต้องมีแนวคิดที่หลุดๆ หน่อย คือคนอาจจะเข้าใจว่าแค่เอาเทคโนโลยีเข้ามาประกบบน Flow เดิม คือทำแบบเดิมแต่เอาคอมพิวเตอร์มาใช้ แล้วคิดว่ามันจะดีขึ้น ซึ่งมันอาจจะไม่ดีขึ้นก็ได้ หลักการก็คือว่าต้องลืม Flow เดิมไปซะก่อน แล้วก็มองว่า เราทำอะไรอยู่ แล้วเราต้องการอะไร แล้วก็วางตามนั้นซะ อุปสรรคคือ คนมักไม่คิดแบบนั้น เขาจะติดกับดัก Paradigm หรือ กระบวนทัศน์เดิมๆ โดยพยายามจะเอาคอมพิวเตอร์ไปแก้ปัญหาเดิมๆ ซึ่งมันไม่ถูก ถ้าคุณทำแบบใหม่ปัญหานั้นอาจจะไม่มีอีกเลยก็ได้
ประเด็นที่สองคือ เรามักจะหวงข้อมูล โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ที่มันหาภาพรวมไม่ได้ เพราะทุกๆ หน่วยงานหวงข้อมูลตัวเองหมด ในทางปฏิบัติ ถ้าจะให้มันได้ผล คุณจะต้องไม่หวงข้อมูลเหล่านี้ กระบวนการทรานส์ฟอร์มมันจึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะทุกอย่างโปร่งใส มองเห็นหมด ซึ่งถ้าถามว่าอยากให้ใครเอาบล็อกเชนมาใช้เนี่ย เราก็คิดว่ารัฐบาลนี่แหละ ที่ควรจะต้องเอามาใช้ ที่สำคัญมากๆ คือ มันจะลดเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันลงได้ทันที การเบิกจ่ายงบประมาณ การทำธุรกรรมใดๆ ถ้ามันโปร่งใส ประชาชนก็จะเชื่อถือในรัฐบาลมากขึ้น เขาก็จะยอมจ่ายภาษีมากขึ้น ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าจ่ายแล้วมันไปไหน แต่ถ้าเป็นบล็อกเชนแล้ว เราจะเห็นเลยว่างบประมาณมันลงไปกับโครงการไหนบ้าง เราจะรู้ว่าเงินที่จ่ายไป มันไปเกิดเหตุ เกิดผลที่ไหน มันถูกใช้ไปยังไง หรือแม้แต่ไปช่วยในเรื่องของการเมือง อย่างเช่นการเลือกตั้ง หรือที่บางประเทศเขาก็เริ่มคิดคอนเซปต์ การใช้บล็อกเชนทำสิ่งที่เรียกว่า Direct Democracy หรือ Liquid Democracy ได้
ไอเดียก็คือว่า เราจะไม่ต้องเอาเสียงฝากให้ตัวแทนไปนั่งในสภาสี่ปี โดยที่ไม่รู้ว่าจะคิดเหมือนเราทุกเรื่องมั้ย หรือเก่งจริงมั้ยอีกแล้ว ซึ่งถ้ามันเป็นจริง โดยที่คุณสามารถยืนยันได้ว่าการออกเสียงทุกครั้งเป็นของคุณเองอยู่เสมอ บาง Issue เราจะสามารถโหวตไดเร็คต่อรัฐบาลได้เลย สมมุติ เขาถามคุณเลยว่าเรื่องนาฬิกา คุณโอเคมั้ย ทุกคนโหวตไดเร็ค สมมุติห้าสิบ หกสิบล้านเสียงโหวตบอกไม่โอเค มันก็คือไม่โอเค
คำถามคือ แล้วถ้าเป็นเรื่องที่คุณไม่เชี่ยวชาญล่ะ สมมุติกำลังออกกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วผมไม่รู้เรื่อง มันก็เลยมี Liquid Democracy ก็คือว่า คุณฝากสิทธิในเรื่องนี้ไปกับอีกคนได้ เช่นเรื่องนี้ พี่เอน่าจะรู้ ผมก็ฝากสิทธิของผมให้พี่เอ โหวตเรื่องนี้จบ พออีกเรื่องพี่เอไม่รู้เรื่องแล้ว ผมฝากสิทธิที่พี่บีแทน เป็นต้น
ด้วยคุณสมบัติของบล็อกเชนเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์การรองรับกับกระบวนการไปสู่ดิจิทัลอีโคโนมี โดยเฉพาะในยุคที่ 5G มาเคาะประตูเรียกแล้ว แต่อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีมีความสำคัญแต่ ความเท่าทันในความรู้และความเข้าใจ ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ภายใต้การออกแบบและจัดวางความคิดให้กับ Business Model หรือ Organizationใหม่ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และนั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งของที่มาของ หลักสูตร Blockchain for Enterprise Transformation ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เรื่อง คุณากร วิสาลสกล
ภาพ ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน