December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Samurai Spirit จิตวิญญาณความเป็น “ญี่ปุ่น”

July 19, 2017 6910

หากพลิกดูหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ชาวโลกต่างขนานนามให้ว่าเป็น ดินแดนอาทิตย์อุทัย แห่งนี้ จะพบว่า หนึ่งในวิถีการปฏิบัติตนที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือและผูกพันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอย่างแยกไม่ออก

นั่นคือ วิถีแห่งนักรบ หรือ บูชิโด (The Way of Warrior) อันมี “นักรบ” ผู้ขนานนามตัวเองว่า “ซามูไร” ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อรับใช้องค์จักรพรรดิ ด้วยความจงรักภักดีตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเหล่านักรบซามูไร ได้ถูกพรากไป

เมื่อแปลความหมายเป็นรายคำ บูชิ แปลว่า นักรบ ส่วน โด มีความหมายว่า วิถีทาง หลักปฏิบัตินี้จึงเป็นหัวใจของชายชาติ “นักรบ” มาตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุคศักดินา อันมี ไดเมียว หรือ โกะเกะนิน (Gokenin) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ซึ่งชนชั้นสูงเหล่านี้ต่างก็มี นักรบ ผู้ถือหลักปฏิบัติ บูชิโด เป็นผู้คอยรับใช้ โดยเรียกว่า ซะบุระฮิ (Saburahi) เพื่อสื่อความหมายว่า เพื่อรับใช้ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำเรียกชื่อคุ้นหูอย่าง “ซามูไร” ในเวลาต่อมา

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไร หรือ Samurai Spirit ให้ถ่องแท้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจหลักปฏิบัติ บูชิโด ก่อน ตั้งแต่ฐานรากและที่มา โดยหลักปฏิบัติบูชิโด เป็นหลักสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน ช่วงศตวรรษที่ 9-12 และดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคของรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ซึ่งหลักใหญ่ใจความของ บูชิโด มาจากคำสอนของลัทธิขงจื๊อ ผสมผสานด้วยอิทธิพลคำสอนในศาสนาชินโต พุทธศาสนา นิกายเซน และลัทธิเต๋า เพื่อชี้แนะแนวทางในการใช้ชีวิตของซามูไรทุกคนให้ดำรงอยู่ด้วยความสงบเยือกเย็น มีปัญญา ซามูไรทุกคนสมควรต้องเก็บทุกอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่า จะรัก โกรธ เจ็บปวด ไว้ภายใต้ใบหน้าที่สงบนิ่งเรียบเฉย แสดงออกมาได้แต่ความเข้มแข็งและหาญกล้าตามวิถีนักรบเท่านั้น

ดั่งที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า บูชิโด เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของแนวคิดแห่งคุณธรรมทั้ง 5 แหล่งที่มา ขอขยายความให้เข้าใจดังนี้

ลัทธิเต๋า มีหลักคำสอนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อันมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานอยู่ที่การประสาน 2 สิ่งของธรรมชาติที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่าง หยิน พลังลบสีดำ และ หยาง พลังบวกสีแดง

นิกายเซน ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน มีคำสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า

มุ่งเน้นการฝึกตนด้วยการนั่งสมาธิจนรู้แจ้ง เซน ถือเป็นพุทธปรัชญาที่ชาวญี่ปุ่นน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อย เห็นได้ชัดจาก พิธีชงชา หรือ ซะโด และศิลปะการจัดดอกไม้ “อิเคะบะนะ” เป็นต้น

ศาสนาพุทธ เป็นคำสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับนิกายเซน ชี้ทางให้เหล่านักรบเข้าใจในกฎของธรรมชาติ มองเห็นความเป็นจริงในชีวิตว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ซามูไรที่ปฏิบัติตามหลัก บูชิโด จึงไม่เกรงกลัวกับอันตรายและความตายใดๆ หากความตายนั้นจะเป็นไปเพื่อปกปักรักษาแผ่นดินและองค์จักรพรรดิที่พวกเขาเคารพยิ่งชีพ

ศาสนาชินโต เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ และความรักต่อสิ่งมีชีวิต

ทั้งมวล คำสอนของศาสนาชินโตบ่มเพาะให้ชายชาตินักรบรักชาติ จงรักภักดีกับเจ้านาย บูชาบรรพบุรุษ และเคารพนับถือจักรพรรดิดุจพระเจ้า

ลัทธิขงจื๊อ มุ่งเน้นสอนสั่งในคุณธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติเรื่อง ความเป็นธรรม การมีเมตตา โดยขงจื๊อ ให้ใส่ใจมีคุณธรรมกับความสัมพันธ์ 5 ประการ ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง สามีกับภรรยา พ่อกับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน

อิทธิพลของหลักธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดนี้ นำสู่บทสรุปเป็น คุณสมบัติสำคัญ 7 ประการ ที่เหล่าซามูไรต้องยึดถือปฏิบัติ

  1. Gi – ความถูกต้อง ความยุติธรรม และซื่อสัตย์สุจริต
  2. Yu  – ความกล้าหาญอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ
  3. Jin – มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้อื่
  4. Rei – ความนับถือซึ่งกันและกัน ความสุภาพ
  5. Makoto – ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง
  6. Meiyo  – เกียรติยศ ความมีเกียรติ
  7. Chugi – ความจงรักภักดี

นอกเหนือจาก 7 ข้อแล้ว ยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่

  1. Ko – ความกตัญญู
  2. Chi – การมีสติปัญญาเฉียบแหลม
  3. Tei – การดูแลสุขภาพตนเองทั้งกายและใจ รวมถึงสุขภาพของครอบครัวของตนทุกคนด้วย

การถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติ บูชิโด ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่เป็นการปลูกฝังและสั่งสมสืบต่อกันมาทางสายเลือดนักรบซามูไรจากรุ่นสู่รุ่น วิถีนักรบ บูชิโด และจิตวิญญาณของซามูไร Samurai Spirit จึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั่วทั้งญี่ปุ่น เป็นบทพิสูจน์ว่า บูชิโด ไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการล่มสลายของ ซามูไร เรายังคงพบหลักคำสอนของบูชิโด หยั่งรากลึกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย ในศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่น รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทบทุกบริษัทด้วย

ไล่เรียงมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้แก่สงคราม ประเทศชาติเฉียดเข้าใกล้ “ความล่มสลาย” และในช่วงเวลานี้เองที่ชาวญี่ปุ่นได้ก้าวผ่านโมงยามแห่งความย่ำแย่ด้วยการปฏิบัติตามวิถีบูชิโดอย่างเข้มข้น

ก่อเกิดนักรบบูชิโดยุคกู้ชาติ เป็นนักรบธุรกิจ ที่ปรับเอาหลักปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจให้มั่นคงด้วยการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่ โดยนักรบธุรกิจทุกคน จะยึดถือในศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์อย่างที่สุด ความแข็งขันและความร่วมมือของคนทั้งชาติด้วยจิตวิญญาณซามูไรในครั้งนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ใครจะคาดคิด เพียง 60 ปีให้หลังประเทศญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะประเทศทรงอำนาจที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างภาคภูมิ

มาในปี 2011 เชื่อว่าภาพของความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น ยังคงเป็นที่จดจำและสร้างความหดหู่ สะเทือนใจ ให้แก่ผู้พบเห็นทั่วโลก ณ เวลานั้น ชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากมหันตภัยต้องเสียขวัญและเผชิญกับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส หากแต่ภาพต่อมาที่ชาวโลกได้เห็น คือการก้มหน้ายอมรับสภาวะวิกฤตนั้น โดยไม่แสดงอาการตื่นตระหนก ไม่แสดงความอ่อนแอ ไม่แม้แต่จะกล่าวโทษธรรมชาติ โชคชะตา หากแต่ ผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นกลับฉายภาพของความเอื้ออาทร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือกัน ไม่มีภาพการแย่งซื้อข้าวของหรือรับของบริจาคให้เห็น มีแต่ภาพของผู้ประสบภัยที่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอรับของบริจาคและซื้อข้าวของจำเป็นในการดำรงชีวิตแค่พอใช้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นแสดงให้โลกเห็นว่า การรับมือกับปัญหาด้วยหลักปฏิบัติ บูชิโด วิถีแห่งนักรบซามูไร นั้น ทำให้พวกเขารอดพ้นและก้าวผ่านวิกฤต กระทั่งสามารถฟื้นฟูเมืองได้ในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร

มาถึงการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน เปรียบไปนักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่นก็แค่เพียง วางดาบ เอาอาวุธ เอาเสื้อเกราะของซามูไรออก แล้วแทนที่ด้วย คอมพิวเตอร์ ต่อสู้กันผ่าน กลยุทธ์การตลาด ผลิตภัณฑ์ ไอเดียทำธุรกิจหรือการให้บริการเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน แต่ในยามที่ว่างเว้นจากการศึก การรบ เหล่าซามูไรก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ใช้เวลานั้นฝึกฝนวิชายุทธ์ ดูแลรักษาสุขภาพกาย ใจ เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อสู้ครั้งต่อไปอยู่ตลอดเวลา เช่นกันกับการทำธุรกิจ เมื่อว่างเว้นจากการแข่งขันก็เป็นเวลาของการศึกษา เตรียมพร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่เพื่อตีตลาด สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและมีชัยเหนือคู่แข่งนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่เกินจริงเลย หากจะกล่าวว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด ล้วนประสบความสำเร็จได้ด้วยการปรับเอาแนวทางปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทเหล่านั้นต่างเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหูใครหลายคนอย่าง พานาโซนิค เคียวเซรา อิโตชู ไปจนถึง โตโยต้า ด้วยวิถีการทำธุรกิจที่อิงกับหลักบูชิโด ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความมีคุณธรรม มนุษยธรรม รวมไปถึงมีความซื่อสัตย์ ทำให้การทำธุรกิจของคนตะวันออกอย่างญี่ปุ่น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำธุรกิจแบบคนในซีกโลกตะวันตก ที่มุ่งเน้นผลกำไรและผลประโยชน์มาเป็นลำดับต้นๆ

ตัวอย่างที่อินเทรนด์ และแสดงให้เห็นได้ชัดถึงวิถีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออกในแบบญี่ปุ่นอย่างมาก นั่นคือ เรื่องราวของการทำกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในการทำธุรกิจปัจจุบัน กับแนวคิดที่ถ่ายทอดมาจากโลกตะวันตก ที่กำหนดว่า การทำธุรกิจให้ได้ผลกำไร นอกจากจะเพื่อความรุ่งโรจน์ของเจ้าของกิจการ บริษัทและพนักงานแล้ว ยังเป็นไปเพื่อสร้างศักยภาพและโอกาสในการแบ่งปันคืนกลับไปให้สังคมบ้าง ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากรูปแบบ ฟังดูแล้วแนวคิดนี้ดูจะเป็นแนวคิดใหม่ที่แสดงถึงความตั้งใจดีไม่น้อย หากแต่สำหรับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น แนวคิดนี้บอกได้เลยว่าไม่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะแทบทุกบริษัท ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผลกำไร ก็ต่างดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม ชุมชน ประเทศชาติมาเป็นเวลานานอยู่แล้ว เช่น หลายบริษัทมีข้อกำหนดชัดเจนว่า เมื่อไปขยายสาขา ตั้งโรงงานในเมืองไหน ให้เปิดโอกาสให้คนพื้นถิ่น หรือคนในชุมชนมาสมัครทำงานได้ก่อน ด้วยวัตถุประสงค์อยากสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วไม่ต่างอะไรกับการทำกิจกรรมตอบแทนสังคมในบริบทของทางฟากฝั่งตะวันตกเลย

ถึงตอนนี้ เราอยู่ในยุค Digital Economy ที่การทำธุรกิจดำเนินไปได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น นักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่น ก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักบูชิโด ด้วยจิตวิญญาณแห่งซามูไรอย่างเคร่งครัด และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้องค์กรธุรกิจญี่ปุ่นยังคงรักษาพื้นที่ได้อยู่ในแถวหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Saturday, 02 December 2017 15:46
X

Right Click

No right click