January 28, 2025

ความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย - การผสานพลังบนความหลากหลายที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล

November 29, 2019 10212

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสำหรับปี 2562 (World Digital Competitiveness Ranking)

ของ IMD (International Institute for Management Development) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศทั่วโลก (ตกลง 1 อันดับจากอันดับที่ 39 ในปี 2561) การจัดอันดับของ IMD นี้เป็นการวัดความสามารถและความพร้อมของแต่ละประเทศในการที่จะนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศทั้งโดยภาคธุรกิจ ภาครัฐบาล และสังคม

องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) จะนำมาซึ่งโอกาสมากมายมหาศาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อม สมาร์ตโฟนที่เราใช้อยู่จะสามารถตรวจจับปัญญาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเราล่วงหน้าโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เราจะมีระบบรู้จำคำพูดที่สามารถทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาต่าง ๆ ให้เราได้อย่างสะดวกรวดเร็วและง่ายดาย เราจะมีหุ่นยนต์ซึ่งสามารถส่งเข้าไปตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำมันเพื่อหารอยรั่วหรือความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงแค่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราแต่ยังจะสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย

หากเราศึกษาประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มผู้นำทางด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลจะพบว่าหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ก็ดี ต่างก็มีองค์กรซึ่งหลาย ๆ องค์กรเป็นการรวมกลุ่มของภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะ มีวัตถุประสงค์และพันธกิจในการผลักดันความเป็นดิจิทัลของประเทศ ในส่วนของประเทศไทยนั้นเราเป็นประเทศที่มีคนเก่งมีความสามารถอยู่มากมาย มีพื้นฐานของเทคโนโลยีหลายด้านที่อยู่ในเกณฑ์ดี จากรายงานความเป็นดิจิทัลทั่วโลก (Global Digital Report) ในปี 2562 เรามีอัตราการเข้าถึงบริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต มีการซื้อขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ดีในมุมของความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลก็ยังมีอีกหลายด้านที่ประเทศไทยยังทำให้ดีขึ้นได้อีก เรายังขาดการรวมพลังระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นดิจิทัล ส่วนใหญ่เรามักจะเป็นผู้ซื้อผู้ใช้เทคโนโลยีมากกว่าที่จะพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ

เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นจากภาคเอกชนไม่ใช่รัฐบาล หนึ่งในกลไกที่เราสามารถใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือ Cluster (เครือข่ายวิสาหกิจ) คือการสร้างที่รวมกลุ่มของผู้ประกอบการในรูปแบบของสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้า หรือที่เรียกว่า Institute for Collaboration (IFC) ซึ่งสามารถใช้เป็น Platform ในการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดนโยบายที่สำคัญในการขับเคลื่อนความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจอีกด้วย และที่สำคัญ IFC ควรมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการออกนโยบายหรือกฎหมายที่สามารถใช้ในการสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ

ปี 2562 ถือเป็นปีที่ดีในการผสานพลังเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นดิจิทัล เนื่องจากเรามีสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562” เพื่อเป็นตัวแทนสะท้อนความเห็น มุมมอง ประสบการณ์ และความชำนาญของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะร่วมกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาความเป็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาประเทศเราก็มีคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ชุดที่ 1ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 36 ท่าน กรรมการทั้ง 36 ท่านมาจาก 6 ด้าน ด้านละ 6 คน ที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัลได้แก่ ด้านฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ด้านอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ด้านซอฟต์แวร์ ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ด้านบริการดิจิทัล และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล โดยกรรมการสภาดิจิทัลฯ ชุดที่ 1 ได้มีมติเลือก คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งมีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนไม่เฉพาะแต่ธุรกิจหากรวมถึงการพัฒนาสังคมและการศึกษาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ชุดนี้

ท่านเหล่านี้ถือเป็นความหวังในการพัฒนาความเป็นดิจิทัลของประเทศเนื่องจากมาจากการผสมผสานตัวแทนภาคธุรกิจทั้งที่เป็นรายเล็กและรายใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์ รู้ซึ้งถึงความท้าทาย โอกาสและศักยภาพของความเป็นดิจิทัลจากทุกวงการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไม่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเช่น ในด้านดิจิทัลคอนเทนต์ก็มีตัวแทนมาจาก เกม แอนิเมชัน คอมพิวเตอร์กราฟิก รวมถึงคอนเทนต์บันเทิง ในขณะที่ด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัลก็มีทั้งตัวแทนจาก ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี รวมถึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในยุคดิจิทัล เป็นต้น มุมมองที่หลากหลาย มองเห็นความท้าทาย โอกาส และศักยภาพของความเป็นดิจิทัลทั้งจากมุมของผู้ประกอบการและจากภาพใหญ่ระดับประเทศนี้เองที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมกับภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศของเราอย่างเป็นองค์รวมไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนี้ไปผมเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่เราเริ่มเห็นความหวังในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทยให้ความสามารถการแข่งขันทัดเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ในโลกต่อไป


บทความโดย:
รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ
คณะบริหารธุรกิจ นิด้า

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Saturday, 06 November 2021 03:19
X

Right Click

No right click