November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

การศึกษาต้องคู่คุณภาพ

February 01, 2018 5783

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติลดลง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและวิธีคิดของคนในสังคมธุรกิจ บางองค์กรสนใจรับบุคลากรโดยพิจารณาจากทักษะความชำนาญในงานต่างๆ มากกว่าวุฒิการศึกษาที่ผู้สมัครมีอยู่ นี่คือโจทย์ใหญ่ของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมหาวิทยาลัยที่เริ่มได้รับผลกระทบ

รศ.ดร. ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นทั้งประเทศไทย เพราะกลุ่มคนที่จบมัธยมน้อยลง ทุกวันนี้จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี มีมากกว่าจำนวนคนที่จบมัธยม

เมื่อคนเข้าศึกษาและจบปริญญาตรีน้อยลง จำนวนคนที่เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก็ลดน้อยลง แต่ที่นิด้าเรายังโอเคอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาสมัครเรียนที่นิด้าเป็นคนที่มีคุณภาพคล้ายคลึงกับคนในอดีต เรารู้ได้โดยดูจากเกณฑ์จีพีเอที่เขาจบปริญญาตรี กว่าครึ่งหนึ่งของคนมาเรียนนิด้าเกรดเกิน 3.00 ขึ้นไป ย้อนหลังไปดูเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ได้จำนวนใกล้เคียงกันเลย คนมาสมัครที่น้อยลง เพราะจำนวนคนสมัครทั้งประเทศไทยน้อยลง นิด้ายังดีคนที่หายไป ก็คือคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่ามาสมัครแล้วคงเข้าไม่ได้ คนที่มาสมัครยังเป็นคนที่เราสามารถเลือกได้ เรียกว่าเรายังเลือกได้คนที่เราต้องการอยู่

 

ในฐานะผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ต้องดูภาพรวมของสถาบัน รศ.ดร.ประดิษฐ์ บอกว่าสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้เรียนที่มีคุณภาพเข้ามาเรียนในนิด้า คือคำว่า ‘คุณภาพ’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา

ผมต้องดูแลนิด้าทั้งหมดในภาพรวมอยู่แล้ว เรามีคณบดีดูอาจารย์ในแต่ละคณะ อาจารย์คนไหนที่ไม่สามารถปรับตัวเองได้ ก็จะอยู่ลำบาก สถาบันการศึกษาถ้าไม่เข้มงวดกับองค์ความรู้ที่แท้จริงของอาจารย์ ไม่สามารถทำให้อาจารย์หาความรู้สำหรับอนาคตมาสอน ท้ายสุดสถาบันจะอยู่ไม่ได้ ถ้าคนเรียนจบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปแล้วไม่สามารถทำงานในตำแหน่งงานที่ดีหรือหางานไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ไม่มีคนมาเรียน มหาวิทยาลัยก็ต้องปิดตัวเอง

ผมว่ามหาวิทยาลัยกว่า 160 แห่งในบ้านเรา เอกชนครึ่งหนึ่งรัฐบาลครึ่งหนึ่ง คิดว่าภายใน 5 ปี จะมีไม่ต่ำกว่า 10-20 สถาบันการศึกษาก็ต้องปิดกิจการไป เอกชนนี่คงปิดไปเลยเพราะนั่นคือธุรกิจของเขา มหาวิทยาลัยของรัฐก็จะปิดเป็นบางคณะหรือบางสาขา

 

ขนาดห้องเรียนต่อไปก็ต้องเล็กลง แทนที่ห้องหนึ่งจะรับ 80 คน อนาคตก็เหลือไม่ถึง 50 คน ผมมองว่าเป็นข้อดี เพราะคุณภาพวัดจากปริมาณไม่ได้ โดยทั่วไปจะสวนทางกันตลอดเวลา ถ้าต้องการปริมาณที่มากคุณภาพต้องลดลง ต้องการคุณภาพดีปริมาณต้องยอมลด จะได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันเป็นเรื่องที่ยาก เวลาที่ห้องเรียนคนน้อยลง ก็โฟกัสได้ง่ายขึ้นในเรื่องที่เราอยากจะป้อนให้นักศึกษา เวลาที่ใช้มีเวลามากขึ้น คลาสเรียนก็จะลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่คุณภาพตัวอย่างเช่นหลักสูตรเอ็มบีเอในอนาคต ใครรับรุ่นหนึ่ง 100 คน อย่าไปเรียน เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็น 1 ใน 100 คนที่เรียนในคลาสขนาดนั้นแล้วจะได้ความรู้เต็มที่ เพราะ 100 คนมีความต้องการแตกต่างกัน และเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้สอนจะสามารถให้ในสิ่งที่คน 100 คนอยากได้ต่างกัน อาจจะเหลือแค่ 40-50 คน เรียนแล้วได้ประสิทธิภาพ

ผมพูดเสมอว่า การศึกษาถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องคุณภาพ จะเกิดเร็ว แต่ก็ตายเร็ว ตายแล้วตายเลยด้วย การศึกษาคุณภาพต้องอยู่คู่ตลอด ต้องลงทุนเรื่องคุณภาพ ถ้ามหาวิทยาลัยใดก็ตามที่เน้นเอาปริมาณ เชื่อเถอะว่าทุกวันนี้ก็ประสบปัญหา รศ.ดร.ประดิษฐ์กล่าว

รศ.ดร. ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ขณะเดียวกันการพัฒนาทักษะให้กับผู้เรียนซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญของสถาบันการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกอย่างรวดเร็ว
การสอดแทรกทักษะที่สำคัญในการทำงานเป็นสิ่งที่จำเป็น รศ.ดร.ประดิษฐ์ มองว่า มี 3 ทักษะที่นิด้าเพิ่มเติมให้กับผู้เรียน ประกอบด้วย ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านไอที และทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยแต่ละทักษะมีการสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนนอกเหนือจากองค์ความรู้ในศาสตร์ของสาขานั้นๆ รศ.ดร.ประดิษฐ์อธิบายว่า

เราเห็นความสำคัญของผู้เรียนที่ต้องรู้ภาษาอังกฤษ แต่ก็มีข้อจำกัด ภาษาต้องใช้เวลา เราก็พยายามเข็นเขาในช่วงที่เขาอยู่กับเรา ก็ได้ผลบ้างเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่แม้เรียนผ่านไปแล้วแต่เขาไม่สามารถนำไปใช้งานได้เพราะเขาไม่ต้องใช้ ไม่ได้ฝึกหัด เรื่องไอที เราบังคับต้องสอบ เรามีข้อสอบมาตรฐานการใช้ไอทีเบื้องต้น คุณต้องใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลให้ได้ ถ้าคุณไม่ผ่านคุณจบจากนิด้าไม่ได้ เรื่องระบบวิธีการคิด เครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ ในตัวหลักสูตรต้องมีอยู่แล้ว ทุกหลักสูตร ผ่านการเรียนการสอน การทำกรณีศึกษา

รศ.ดร.ประดิษฐ์ยกตัวอย่างความรู้ใหม่ๆ ที่นิด้าเตรียมจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนว่า

ผมคิดว่าทุกมหาวิทยาลัยต้องส่งอาจารย์ไปอบรมเรื่อง Design Thinking ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือเราไม่เคยรู้ว่าระบบที่เราทำงาน เรารู้ตอนมานั่งทำงาน แต่คนที่เขียนระบบออกแบบระบบ คนที่คิดระบบถ้าไม่ใช่คนที่ใช้ในงาน จะไม่เคยรู้เลย ตัวอย่างโรงพยาบาล หมอจะดีไซน์ระบบการผ่าตัด จากห้องผ่าตัดไปห้องนั่นห้องนี้ หมอจะไม่รู้เลยถ้าหมอไม่เคยเป็นคนไข้ วันที่หมอเป็นคนไข้หมอจะรู้ว่าเจ็บปวดขนาดไหนขณะที่ออกจากห้องผ่าตัด ความทุรนทุรายในการได้ยามาเป็นอย่างไร เราต้องเอาความรู้เอาประสบการณ์ของเรามาออกแบบ เราต้องเข้าไปอยู่สถานการณ์จริง ระบบการทำงาน ระบบการตัดสินใจ ระบบอะไรก็ตามจะถูกดีไซน์ขึ้นมาโดยคนที่มีประสบการณ์ไปอยู่ในสถานการณ์จริง การไปอบรมหลักสูตรนี้ ในห้องเรียน ก็จะตั้งสถานการณ์ขึ้นมาว่าถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แล้วคุณอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้คุณจะคิดอย่างไรทำอย่างไร ซึ่งผมว่าอนาคตเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจเรียน

รศ.ดร.ประดิษฐ์เสริมต่อว่า นอกจากทักษะเบื้องต้นเหล่านี้ นิด้ายังพยายามสอดแทรกเรื่องความเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก มีความใฝ่รู้ ให้กับบัณฑิตของสถาบัน ควบคู่กับการเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สถาบันให้ความสำคัญมาโดยตลอด

 

รศ.ดร. ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ปริญญายังจำเป็น

แม้กระแสความเปลี่ยนแปลงบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต และกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ หนึ่งในนั้น คือการศึกษา ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันสามารถหาความรู้เบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ต แต่ในมุมมองของ รศ.ดร.ประดิษฐ์ยังมองว่า สถาบันการศึกษายังจำเป็น
ต่อการพัฒนาบุคลากรให้กับสังคม

 ข้อดีของการเรียนคือ แม้สิ่งที่เขาต้องการคือทักษะการทำงานเฉพาะด้าน แต่องค์กรที่จะมาจ้างคนทำงานระดับ Middle Management ขึ้นไป เราคาดหวังอะไรจากเขา นั่นคือวันใดวันหนึ่งเขาต้องก้าวขึ้นไป เพราะฉะนั้นเขาต้องมีความรู้ที่รอบด้าน การที่คนไม่ได้เรียนหนังสือ เขาก็จะรู้เรื่องเดียว เมื่อเข้าไปทำงานในองค์กรก็ทำงานได้ฟังก์ชันเดียวจะขึ้นไปลำบากมาก ยกตัวอย่างเอ็มบีเอ คือเรียนหลากหลาย การตลาด การเงิน บัญชี การผลิต ก็เชื่อมั่นได้ว่า ถึงแม้จบเอ็มบีเอไปแล้วไปทำงานการตลาด คุณมีความรู้การเงินด้วยเพียงแต่ไม่ได้เอาความรู้การเงินมาใช้ในการทำงานมากเท่าไร ถ้าหากวันใดวันหนึ่งที่ผมต้องการโปรโมทคุณขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการ คุณมีภาษีแล้วจากวุฒิบัตรของคุณ มันบอกตัวตนของคุณได้ดีกว่าคุณไม่มี ความได้เปรียบของการที่มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรปริญญาที่มีคุณภาพ ก็ยังศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้

อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก รศ.ดร.ประดิษฐ์ยกตัวอย่างหลักสูตรเอ็มบีเอว่า เนื้อหาหลักสูตรจะต้องดึงสิ่งที่เกิดขึ้นสมัยใหม่เข้ามาให้ได้ วิธีการเรียนการสอน จะมานั่งเรียนในห้องอย่างเดียวเป็นไปได้ยากแล้วในอนาคต ในหนึ่งวิชาเรียน 15 สัปดาห์ นักศึกษาอาจจะนั่งเรียนในห้องสัก 5 สัปดาห์ อีกสัปดาห์นักศึกษาไม่จำเป็นต้องมาห้องเรียนแล้ว สามารถเรียนที่ที่ทำงานเขาได้ หรือเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องเรียนได้ ข้อจำกัด
ต้องค่อยๆ หายไป

อีกเรื่องหนึ่งที่สถาบันการศึกษาจะให้ความสำคัญมากขึ้นการรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่น่าเชื่อถือได้ระดับโลก อย่างคณะบริหารธุรกิจของนิด้า ได้ AACSB ครบ 5 ปี เพิ่งประเมินผ่านไปก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของคณะ Accreditation ถือว่าสำคัญสำหรับการทำให้คนรู้จัก เป็นมาตรฐาน รศ.ดร.ประดิษฐ์ให้ความเห็น

นิด้าภายใต้การบริหารของ รศ.ดร.ประดิษฐ์ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพให้กับการศึกษาของสถาบันในทุกด้านอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพเข้าไปร่วมพัฒนาประเทศตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสถาบันแห่งนี้

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 06 November 2021 03:05
X

Right Click

No right click