คำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเป็นสตาร์ทอัพของ ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ และ เอกฉัตร อัศวรุจิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SkillLane โรงเรียนออนไลน์ที่มีวิชาเรียนมากกว่า 400 หลักสูตรรอให้ผู้สนใจเข้าไปเลือก คือ
“ฝันให้ใหญ่ เริ่มให้เล็ก เรียนรู้ให้เร็วและสู้ไม่ถอย”
ทั้งสองคนช่วยกันอธิบายต่อว่า ฝันให้ใหญ่ คือการทำสตาร์ทอัพไม่ได้มีเพียงผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ยังต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นอีกมากทั้งนักลงทุน ลูกค้า พาร์ตเนอร์ ฝันที่ใหญ่จะเป็นพลังดึงดูดให้คนอื่นอยากมาร่วมงานด้วย
เริ่มให้เล็ก หลายคนเข้าใจผิดว่าต้องเปิดตัวให้ยิ่งใหญ่มีฟีเจอร์ครบทุกอย่าง แต่การทำเช่นนั้นต้องใช้เงินลงทุนมากตามไปด้วย และอาจจะไปผิดทางก็ได้ การเริ่มทีละก้าวแล้วค่อยๆ เรียนรู้จากผู้บริโภคจะช่วยให้ก้าวต่อไปเดินได้มั่นคงกว่า
เรียนรู้ให้เร็ว เพราะสตาร์ทอัพเป็นเรื่องการทำธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้จึงจำเป็นมาก ตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถขยายธุรกิจได้ ล้วนมีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้รอให้ผู้ร่วมก่อตั้งเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งด้านการทำผลิตภัณฑ์หรือบริการ การบริหารงานบุคคล การระดมทุน และอื่นๆ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงและต้องการทักษะความรู้ใหม่ๆ ยิ่งเรียนรู้ได้เร็วก็หมายความว่ายิ่งโตได้เร็ว
สู้ไม่ถอยคือ หลายคนไม่คิดว่าการทำสตาร์ทอัพจะมีปัญหามากมายรออยู่ทั้งใหญ่และเล็ก หากไม่เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนก็อาจจะรับไม่ได้และล้มหายตายจากไป หากมีเป้าหมายที่ต้องการจะไปและเตรียมใจที่จะเผชิญหน้ากับปัญหามาแล้ว ก็จะสามารถสู้ได้โดยไม่ถอย
คำแนะนำนี้ช่วยให้ภาพการสร้าง SkillLane ของพวกเขาได้ชัดเจนขึ้นว่า กว่าจะมาเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพระดับนี้ พวกเขาต้องใช้อะไรบ้าง
เริ่มด้วย Passion
จากปัญหาเล็กๆ ที่พวกเขาเคยพบสมัยเรียนต่ออยู่ในต่างประเทศ เมื่อมีคลาสเรียนพิเศษที่ใครๆ ก็บอกว่าต้องไปเรียน ถ้าไม่ไปเรียนรอบนี้ก็จะพลาดโอกาส และเวลาก็ไม่เอื้อให้เขาได้เข้าเรียนคอร์สนั้นจริงๆ
ต่อมาพวกเขาไปพบว่ามีเนื้อหาที่เหมือนกันสอนอยู่บนออนไลน์ และเมื่อทดลองเข้าไปเรียนดูทำให้พวกเขาเข้าใจว่า ยุคนี้หากไม่สะดวกไปเรียนในห้องเรียนทุกอย่างสามารถเรียนได้ออนไลน์ได้ และอยากให้เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง SkillLane ขึ้นมา ด้วยความฝันอยากให้คนที่ต้องการพัฒนาทักษะต่างๆ ของตัวเองสามารถเรียนเรื่องที่ต้องการได้ทุกที่ ทุกเวลา
และจากการทำข้อมูลพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยวัยทำงานมีทักษะที่อยากเรียนเพิ่มเติม แต่ 93เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ลงมือเรียนสิ่งที่ต้องการ เพราะว่าไม่มีเวลา ก็เป็นตัวเลขที่ยืนยันการพัฒนาคอร์สเรียนออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตามความสะดวกของแต่ละคนให้หนักแน่นมากขึ้น
ฐิติพงศ์และเอกฉัตรมุ่งมั่นกับการทำธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ตั้งแต่แบ่งกันลงวิชาเรียนที่คิดว่าจำเป็นต่อการมาทำธุรกิจในอนาคต เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญให้กับแต่ละคน รวมถึงการไปหาประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเช่น แยกไปฝึกงานกับเวนเจอร์แคปปิทัล และสตาร์ทอัพเพื่อได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงานต่างๆ ก่อนจะมาทำของตัวเองอย่างเต็มตัว
พวกเขาใช้เวลากลางวันเรียนหนังสือ ตกเย็นก็จะมาร่วมกันออกแบบเว็บไซต์ และผลิตคอร์สเรียนคอร์สแรกเพื่อทดลองว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาทำให้เห็นว่ามีคนสนใจอยากจะพัฒนาตัวเองจำนวนมาก และทำให้มีกำลังใจพัฒนาธุรกิจต่อไป
แม้การเรียนจบเอ็มบีเอจะสามารถไปหางานทำในบริษัทเอกชนได้เงินเดือนสูงๆ แต่ทั้งสองคนเลือกที่จะมาตั้งธุรกิจกันเอง ตามความเชื่อของทั้งคู่ที่คิดว่า ความรู้คือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นได้ SkillLane จึงเป็นงานที่ทำให้ทุกเช้าเมื่อตื่นขึ้นมาทั้งสองคนได้ทำในสิ่งที่เชื่อ และมุ่งมั่นที่จะไปข้างหน้ากับธุรกิจนี้
จากจุดเริ่มต้นที่ทำงานกันทุกอย่าง 2 คน ผ่านไป 4 ปี วันนี้ SkillLane มีทีมงานทั้งหมด 23 คน นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วพอสมควร และบทบาทของผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 2 คนก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งสองคนแบ่งงานกันโดยเอกฉัตรจะดูแลฝั่งซัพพลายคือดูแลเรื่องเนื้อหาหลักสูตรที่จะมาลงในเว็บไซต์ โดยฐิติพงศ์ดูแลฝั่งดีมานด์คือด้านการตลาดติดต่อกับพาร์ตเนอร์ภายนอกและสร้าง SkillLane ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
พวกเขาวางเป้าหมาย SkillLane คือการเป็น First Destination for On Demand Skill คือไม่ว่าใครที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะด้านใดก็สามารถมาหาที่นี่ได้ตามต้องการทันที ผ่านคอร์สต่างๆ ที่ผลิตมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ โดยสิ่งที่พวกเขาจะทำต่อไปคือการคัดสรรเนื้อหาที่ครอบคลุมความรู้ทั้งที่มีคนสนใจมากและคอร์สที่มีประโยชน์ต่างๆ รวมถึงพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้ดีขึ้น
คำว่า First Destination ในความหมายของสองผู้ก่อตั้งคือ ไม่ว่าอยากจะเรียนอะไร สามารถไปที่ Skilllane เป็นที่แรกและสามารถเรียนได้เลย สามารถมีความรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ทันที โดยSkilllane จะทำเนื้อหาที่ครอบคลุมความต้องการของผู้เรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงฟีเจอร์การใช้งานต่างๆ ที่มีการพัฒนามากขึ้นในอนาคต
เรียนรู้ให้เร็ว
ในฐานะสตาร์ทอัพที่สามารถอยู่รอดและพัฒนาธุรกิจจนเติบโตขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง สองผู้ก่อตั้งพูดถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อองค์กรเริ่มขยายตัวทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้น เพราะความรู้ที่เคยใช้เมื่อปีที่ผ่านมาอาจจะไม่เหมาะกับการใช้ทำธุรกิจในปีนี้
ทั้งสองคนร่วมกันตอบว่า สตาร์ทอัพต้องเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รอบด้านเพราะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องนำมาทดลองใช้ปฏิบัติจริง และเมื่อองค์กรขยายตัวขึ้น ความรู้แต่ละอย่างที่เคยมีมาก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง เช่น ด้านการบริหารงานบุคคล จากจุดเริ่มต้นที่ทำกันเพียง 2 คน สู่การบริหารทีม 10 คน สู่ทีม 20 คน การบริหารจัดการก็แตกต่างกัน
เช่นเดียวกับการระดมทุนที่แต่ละรอบคำถามของนักลงทุนก็จะแตกต่างกันไป แต่เมื่อถึงเวลาตัวผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว
ในด้านการทำงานก็ต้องมีการใช้เครื่องมือต่างๆ มากขึ้น ทั้งเพื่อการวางแผน วิเคราะห์ กิจกรรมต่าง
“ณ วันนี้ผมคิดว่าผมเก่งกว่าตัวเองเมื่อปีที่แล้วเยอะมาก แต่ผมยังคิดว่า ณ วันนี้ผมยังเก่งไม่พอกับเป้าหมายที่ผมต้องการไปปีหน้า หน้าที่ผมคือต้องเรียนรู้ให้เยอะและเก่งให้พอให้ทันกับเป้าหมายที่ต้องไปไปในปีหน้าให้ได้” ฐิติพงศ์กล่าว
ทั้งสองคนบอกว่าการเรียนบางเรื่องก็เรียนจาก Skilllane แต่ก็มีการไปเรียนคอร์สของต่างประเทศด้วย รวมถึงการหาความรู้จากการอ่านหนังสือ นอกจากนี้สำหรับสตาร์ทอัพยังมีชุมชนที่สามารถเข้าไปขอคำปรึกษาจากคนในชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้
การสร้าง Skilllane ของ เอกฉัตรและฐิติพงศ์ เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นวิถีการสร้างตัวของสตาร์ทอัพ ไม่เพียงต้องมีฝันมีความใส่ใจ มุ่งมั่นอดทนเพื่อบรรลุเป้าหมาย เริ่มจากจุดเล็กๆ เพื่อไปสู่ฝันที่ใหญ่กว่าของผู้ก่อตั้ง และยังต้องมีการเรียนรู้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและนอกองค์กร
นั่นคือวิธีการสร้างกิจการในแบบที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนได้ทดลองทำมาแล้ว และผู้ที่สนใจก็สามารถศึกษาและนำไปปรับใช้ได้ เช่นเดียวกับคอร์สเรียนออนไลน์ใน Skilllane ที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนได้เรียนสิ่งที่สนใจทุกที่ทุกเวลา เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเอง
SkillLane
|