November 09, 2024

แอล ดับเบิลยู เอสฯ แนะ 4 แนวทางพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สู้ “โลกร้อน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดี(Wellbeing) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) แนะ 4 วิธี ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดขยะจากกระบวนการก่อสร้าง และสร้างสุขภาวะที่ดี (Wellbeing) ในการอยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งที่สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

“ภายใต้กรอบของการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังกล่าว ประเทศไทย ได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจมีการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการจัดเก็บภาษีสูง สำหรับองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และจะลดลงเมื่อองค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เป็นอย่างเร็ว หรือปี 2569 เป็นอย่างช้า ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการต้นทุน และ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

โดย 4 แนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย

  1. การปรับตัวในขั้นตอนการก่อสร้างและออกแบบ โดยใช้การออกแบบที่เรียกว่า Passive Design โดยการจัดวางรูปแบบอาคารโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทิศทางของแสง และ ลม โดยเราสามารถกำหนดการวางช่องเปิดของอาคาร เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติ เข้าสู่อาคารเพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคารและวางการถ่ายเทอากาศที่ดีเพื่อลดการสะสมความร้อนภายในอาคาร
  2. การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือลดความร้อน ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมาจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างแต่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติอื่นๆ หรือจะเป็นการเลือกใช้วัสดุปิดผิวหรือสีที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือความร้อนเพื่อลดความร้อนที่สะสมบนผิวอาคาร
  3. การปลูกต้นไม้ ซึ่งการปลูกต้นไม้อาจจะเป็นวิธีที่ดูพื้นฐานมากที่สุดแต่หากเราออกแบบหรือวางตำแหน่งที่สมควร นอกจากจะช่วยปลูกต้นไม้ทดแทนแล้วยังจะช่วยเรื่องของการเป็นตัวกรองแสงธรรมชาติในการรับแสงอาทิตย์ตรงๆแทนที่จะลงกับอาคารและยังสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่โดยรอบของอาคารทำให้ลดการสะสมความร้อนบนผิวของวัตถุ เห็นได้ชัดกับทางสัญจรที่เป็นวัสดุคอนกรีตเปรียบเทียบความร้อนสะสมระหว่าง มีร่มเงากับไม่มีจะต่างกันมากถึง 5 องศากันเลยทีเดียว
  4. การใช้โซล่าเซลล์ ถึงแม้จะต้องลงทุนติดตั้งเพิ่ม ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวสำหรับผู้อยู่อาศัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากแนวทางดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่ในร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างการร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในปัจจุบัน “ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะคำนวณค่าใช้จ่ายจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ ถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับปรุงกระบวนการก่อสร้าง และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทำงานได้ ก็จะลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติในกระบวนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  5-7 tCO2eq เท่ากับ เมื่อปรับกระบวนการก่อสร้างสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้ 1-2 tCO2eq เท่ากับว่าเราจะสามารถลดการจ่ายภาษีคาร์บอนลงจาก  5-7 tCO2eq เหลือ 3-4 tCO2eq ต่อปี เป็นต้น”

ถึงแม้ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างและยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่ ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่น การปรับตัวก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาวโดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายจากภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีผลบังคับใช้ และในขณะเดียวกัน ยังเป็นการพลิกโฉมธุรกิจอสังหาฯ สู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

“แอล ดับเบิลยู เอสฯ” คาดการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 5-10% ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 5-10% ผลจากราคาที่ดิน ค่าแรง ราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2566 หรือเติบโตไม่เกิน 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นผลมาจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(Mortgage Loan) แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับกลยุทธจากการพัฒนาและขายอสังหาฯ สู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อการมีที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุน

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) คาดการณ์แนวโน้มการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2567 ว่า มีแนวโน้มที่จะเติบโต 5-10% ในขณะที่การโอนกรรมสิทธิมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2566 หรือเติบโตไม่เกิน 5% ขึ้นกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ความสามารถในการก่อหนี้ของผู้ซื้อ และการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน

โดยการคาดการณ์ดังกล่าว LWS ได้มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเติบโตของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ใน 3 ฉากทัศน์ (3-Scenarios)  กล่าวคือ

  • กรณีที่ดีที่สุด(Best Case) :เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่น้อยกว่า 5-4% ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถานการณ์การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสสองของปี 2567 ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาพลังงานทรงตัวในระดับที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไม่เกิน 1.5% จะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ประมาณ 110,000-115,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 497,000-520,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ประมาณการณ์ว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 106,000 หน่วย มูลค่า 474,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัยใหม่ทั่วประเทศในปี 2567 ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 3% จากปี 2566 ที่ประมาณว่าจะมียอดการโอนกรรมสิทธิทั่วประเทศประมาณ 377,382 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% จากปี 2565
  • กรณีปกติ(Base Case):เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณ 2.5-3% ภาคการส่งออกฟื้นตัว การลงทุนของภาครัฐล่าช้าจากแผนที่วางไว้โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่อาจจะล่าช้าจากแผนที่วางไว้ว่าจะสามารถใช้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ไปในไตรมาสสามหรือสี่ของปี ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาพลังงานทรงตัวในระดับที่ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไม่เกิน 5% LWS คาดว่าจะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ประมาณ 107,000-110,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 481,000-497,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3-5% และอัตราการโอนกรรมสิทธิจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2566 คือประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท
  • กรณีที่แย่ที่สุด(Worst Case):เป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่า 5% ภาคการส่งออกทรงตัว การลงทุนของภาครัฐไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล ที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมายและประเด็นทางการเมือง ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลผลจากสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อทั้งในชนวนกาซ่า และยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเกินกว่า 2 % จะทำให้มีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2567 ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับปี 2566 หรือลดลงไม่น้อยกว่า 5% ในขณะที่อัตราการโอนกรรมสิทธิมีแนวโน้มที่จะติดลบเมื่อเทียบกับปี 2566 หรือมีมูลค่าน้อยกว่า 1.07 ล้านล้านบาท

การเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2566 ติดลบประมาณ 5-8% จากปี 2565

จากการสำรวจของ LWS คาดว่าในปี 2566 จะมีการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2566 จะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงประมาณ 5-8% ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวนการเปิดตัวที่  103,000 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 457,000 ล้านบาทโดยมีอัตราขายเฉลี่ยในวันเปิดตัวโครงการในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17% ปรับตัวลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยในวันเปิดตัวโครงการที่  29% ในปี 2565 โดย 52% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่เป็นโครงการบ้านพักอาศัย และที่เหลือ 48% เป็นการเปิดตัวอาคารชุดพักอาศัย โดยระดับราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 5.2 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 17.38% จากราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 4.43 ล้านบาทต่อหน่วยในปี 2565 เป็นผลมาจากสัดส่วนการเปิดตัวที่อยู่อาศัยในระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าสูงถึง 34% ของโครงการที่เปิดตัวใหม่ทั้งหมดในปี 2566

ในขณะที่ที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จพร้อมขายและอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 39 บริษัท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 อยู่ที่ 663,188.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.43% เมื่อเทียบกับมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมขายและอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่  600,548.76 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565  เมื่อเทียบกับยอดการรับรู้ของบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องใช้เวลาในการระบายสินค้าประมาณ 2 ปี 6 เดือน

 

4 ปัจจัยเสี่ยงกระทบอสังหาฯ ปี 2567

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นอกจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะส่งผลกระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 แล้วมีอีก 4 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบโดยตรงต่อภาคอสังหาฯ ได้แก่

  1. อัตราดอกเบี้ย: ที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ที่ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการและการซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้นในปี 2567 เทียบกับปี 2566
  2. การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาลที่ 400 บาทต่อวัน: ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 กระทบโดยตรงต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น
  3. ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น: ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างและระดับราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567 เทียบกับปี 2566
  4. ความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน: เป็นปัจจัยที่กระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อในตลาดโดยในปี 2566 มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ(Rejection Rate) ที่ระดับ 60-65% จากยอดการขออนุมัติสินเชื่อ โดยในปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loans: NPLs) ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มีระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย

จากปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า LWS แนะนำให้แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับกลยุทธการขายจากผู้พัฒนาและขายที่อยู่อาศัย สู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อการมีที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุน โดยเพิ่มการให้คำแนะนำในการบริหารจัดการทางการเงินให้กับลูกค้าเพื่อให้โครงสร้างทางการเงินส่วนบุคคลได้รับการยอมรับและการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มักจะถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระ ทำให้มีฐานรายได้ไม่แน่นอน ถ้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์สามารถจับมือกับสถาบันการเงินและให้คำแนะนำกับลูกค้าในการบริหารจัดการทางการเงินก็จะลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

“การวางแผนและการปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาฯ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามความเสี่ยงและความผันผวนที่เกิดขึ้นและรักษาการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

“แอล ดับเบิลยู เอส” คาดผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาสสี่ ปี 2566 โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าประมาณ 140,000-150,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอแผนการเปิดตัวโครงการในช่วงไตรมาสสาม เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสสี่ปี 2566 ว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอแผนการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในไตรมาสสามของปี 2566 ทำให้จำนวนโครงการและจำนวนหน่วยเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565

โดยในเดือน มกราคม-กันยายน 2566 มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 304 โครงการ จำนวน 67,772 หน่วย ลดลง 11% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 76,346 หน่วย ในระยะเดียวกันของปี 2565  คิดเป็นมูลค่าเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 338,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากมูลค่าเปิดตัวโครงการ 326,570 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2565 จำนวนหน่วยเปิดตัวลดลงในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวสูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความสำคัญกับการเปิดตัวที่อยู่อาศัยในระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทต่อหน่วยเพิ่มขึ้นส่งผลให้มูลค่าการเปิดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ที่ลดลง

การเปิดตัวโครงการใหม่ใน 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 304 โครงการ 67,772 หน่วย มูลค่า 338,655 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของโครงการอาคารชุดพักอาศัย 61 โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ 31,325 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 85,782 ล้านบาท ลดลง 21% และ 11% ตามลำดับเมื่อเทียบกับ จากจำนวนหน่วยเปิดตัว 39,421 หน่วย และมูลค่าเปิดตัว 96,836 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2565 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 27% ลดลงจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวในระยะเดียวกันของปี 2565 ที่  31% โดยที่ราคาขายเฉลี่ยของอาคารชุดพักอาศัย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 2.73 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 2.45 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565

ในขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทจำนวน 164 โครงการ  จำนวน 31,345 หน่วย ลดลง 0.23% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 130,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565 ที่มีจำนวนหน่วยเปิดตัว 31,418 หน่วย และมูลค่าเปิดตัว 128,047  ล้านบาท โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวโครงการที่ 8% ลดลงจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 13% ของระยะเดียวกันของปี 2565 โดยมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 4.17 ล้านบาทต่อหน่วยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยที่ 4.07 บาทต่อหน่วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565  และเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาเกิน 10 ล้านบาท จำนวน  79 โครงการ จำนวน 5,102 หน่วย ลดลง 7.18% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 5,497 หน่วยในระยะเดียวกันของปี 2565 โดยมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ของบ้านพักอาศัยระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทที่ 122,025 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 20% จากมูลค่าการเปิดตัวโครงการที่ 101,687 ล้านบาท โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ยที่ 12% ลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยที่ 19% ในระยะเดียวกันของปี 2565 โดยที่ระดับราคาขายเฉลี่ยของบ้านระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทอยู่ที่ 24.1 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยที่ 19.2 ล้านบาทต่อหน่วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565

“จากการที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ชะลอแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสสามของปี 2566 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเร่งเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวนประมาณ 40,000-41,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 140,000-150,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นยอดขายและรับรู้รายได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยคาดว่าจะเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ทั้งหมดในช่วงไตรมาสสี่ของปี 2566 โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ในส่วนของอาคารชุดพักอาศัยคาดว่าจะเปิดตัวประมาณ 30% ของจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ทั้งหมดที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

จากแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 นายประพันธ์ศักดิ์ คาดว่าจะทำให้ภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ของที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2566 จะใกล้เคียงกับปี 2565 หรือเติบโตไม่เกิน 5% โดยคาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ 105,000-108,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 474,000-488,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวนการเปิดตัว 103,000 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 457,000 ล้านบาท

“แอล ดับเบิลยู เอส” ระบุ นวัตกรรม AIกำลังเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่การจัดหาที่ดิน วิเคราะห์การตลาด ไปจนถึงการออกแบบ เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และระยะเวลาในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงนวัตกรรม AI กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและอนาคตว่า หลังจาก ChatGPT ได้กลายเป็นตัวจุดชนวนกระแส AI ไปทั่วทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ปลายปี 2565 ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เอง ก็มีการนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในทุกกระบวนการ โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้มีการนำ ChatGPT เพื่อช่วยทำงานด้านส่งเสริมการขายและการตลาด ช่วยในการโฆษณาและทำให้ปิดการขายได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการนำ AI มาช่วยปฎิวัติวิธีคิดของผู้พัฒนาอสังหาฯ เปลี่ยนกระบวนการวางแผน และ สร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยไม่จำกัดเพียงแค่ในสเกลของพัฒนาโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่ AI ยังมีศักยภาพไปถึงขั้นพัฒนาในสเกลเมืองทั้งเมืองได้ แค่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีสถาปนิกหลายคน, บริษัทพัฒนาอสังหาฯหลายแห่ง และ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอีกหลายท่าน ได้ผนึกกำลังกัน สร้างเครื่องมือซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ, ลดการใช้ทรัพยากร และ เปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับผืนที่ดินที่รอการพัฒนาอย่างมากมาย เช่น

ROI : Return on [A]Investment

Jay Shah สถาปนิกอินเดียจากบริษัท Access Architect ผันตัวมาสร้างโปรแกรม KAIZENai โปรแกรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โปรแกรมของเขาช่วยเผยมุมมองการออกแบบโครงการที่หลากหลายให้ผู้พัฒนาอสังหาฯได้เห็น ก่อนจะนำไปสู่การตัดสินใจปรับแบบโดยผู้เชี่ยวชาญอีกที เพื่อให้อาคารที่ออกแบบมาสมบูรณ์ 100% อีกที

กระบวนการปรับแบบเพิ่มประสิทธิภาพอาคารนี้ ได้ AI เข้ามาช่วย ทำให้สามารถสำเร็จได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 28 วัน ช่วยลดกระบวนการทำงานแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน

 Ajmera Realty โครงการอาคารสูงแห่งหนึ่งในเมืองมุมไบคือตัวอย่างผลงานของ KAIZENai ที่แรกเริ่มโครงการได้ออกแบบวางผังไปแล้วส่วนหนึ่ง ก่อนจะให้ KAIZENai เข้ามาช่วยปรับปรุง AI ตัวนี้รับทราบถึงข้อจำกัดของโครงการที่ออกแบบไปแล้ว มันมีหน้าที่เข้ามาช่วยปรับปรุงผังอาคารให้ดีขึ้น โดยการเปลี่ยนตำแหน่งเสา, Core อาคาร, Shaft รวมไปถึงลดขนาดช่องลิฟต์ให้เล็กลง ซึ่งส่งผลให้สามารถลดพื้นที่ส่วนกลางที่เสียเปล่า (Waste Space) ไปได้กว่า 27% ลดการใช้วัสดุที่ไม่จำเป็นลงไปมากกว่า 35% ยิ่งไปกว่านั้น ในมุมมองของผู้บริหารอาคาร พื้นที่ส่วนกลางที่น้อยลงนั้นหมายถึงค่าไฟที่ และ การผลิต Carbon Footprint ที่น้อยลงเช่นกัน

นอกจากนี้ KAIZENai ยังช่วยออกแบบลดพื้นที่ชั้นจอดรถให้น้อยลงได้ แต่กลับได้พื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้นถึง 62 คัน ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นพื้นที่ขาย ที่กลับมากว่า 15% และอัตราที่จอดรถต่อพื้นที่ขายของโครงการเพิ่มขึ้นถึง 13%

Jay Shah ผู้บริหารของ KAIZENai ได้ให้ความเห็นว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรก ๆ ของการใช้งาน AI ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังมีความเป็นไปได้ให้เราค้นหาและเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล

Feas[A]ibility

กระบวนการจัดหาที่ดินเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาในการทำงานที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงว่า สามารถนำมาพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง เหมาะสมกับการพัฒนาหรือไม่ กระบวนการนี้อาจกินเวลากว่า 2 สัปดาห์ และเมื่อตัดสินใจซื้อที่ดินแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ทำเล ความเป็นไปได้ในเรื่องการลงทุน การออกแบบ รวมระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 เดือน

ปัจจุบันได้มีการพัฒนา  AI ที่เข้ามาปฏิวัติวิธีการคำนวณความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ หรือ Feasibility Study แล้ว โดย Deepblock เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ที่ดินด้วย AI สามารถช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ สามารถเห็นได้ทันทีว่าที่ดินแต่ละทำเลในเมืองเหมาะสำหรับการใช้งานประเภทใด เชิงพาณิชย์หรือที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด สภาพแวดล้อมโดยรอบของโครงการเป็นอย่างไร จำนวนประชากร กำลังซื้อภายในทำเล ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การตัดสินใจและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของผู้ประกอบการอสังหาให้เหลือเพียงไม่ถึงสัปดาห์

Ramos ผู้บริหารของ Deepblock ได้ให้ความเห็นไว้ว่าแพลตฟอร์มของเขาเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่สามารถสแกนเมืองทั้งเมือง แล้วทำให้เห็นว่าจากที่ดิน 10,000 แห่งในเมืองนั้น มี 5 แห่งที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้พัฒนาอสังหาฯ  แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถลดทั้งระยะเวลาในการทำงานและลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการ อาทิ ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาโครงการที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 - 20,000 USD แต่ Deepblock ช่วยให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถประเมินที่ดินได้หลายพันที่ดิน ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงไม่ถึง 20% ของค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการ

ปัจจุบัน Deepblock ได้รับความไว้วางใจจากหลายบริษัทพัฒนาอสังหาฯชั้นนำ เช่น Greystar ผู้พัฒนาโครงการ Rockefeller’s Residential โดย Greystar กล่าวว่า การใช้ AI ช่วยทำให้บริษัทสามารถหาที่ดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาได้กว่า 20 แห่ง ภายในระยะเวลาเพียง 1 วัน

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า KAIZENai และ Deepblock เป็นหนึ่งในบริษัทจำนวนมากที่ดึงดูดให้ผู้พัฒนาอสังหาฯหันมาสนใจเทคโนโลยีช่วยในการทำงานมากขึ้น นอกจาก 2 แพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น ยังมีอีกหลากหลายบริษัทที่พัฒนา AI Solution มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ เช่น Archistar แพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้สามารถประเมินที่ดินและทราบ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment: ROI) ของโครงการได้โดยแพลตฟอร์มเดียว, Giraffe เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถจำลองเมืองทั้งเมืองมาให้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ, Hypar เป็นแพลตฟอร์มที่นำมาช่วยให้กระบวนการสร้างแบบจำลองอาคาร (BIM) เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

“AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำให้ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ปัจจุบันจะยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดต้นทุนทั้งเวลา และการเงินให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และต้นทุนที่ลดลงจะส่งต่อไปสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพในระดับราคาที่จับต้องได้เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภค จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยที่จะเริ่มศึกษาและนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้เพื่อที่จะช่วยในการลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้นทุนในการพัฒนาโครงการในปัจจุบันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากระดับราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

“แอล ดับเบิลยู เอส” ปรับลดการคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล ปี 2566

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click