November 24, 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมการถ่ายทอด Technical Khow How จากมหาวิทยาลัย ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อนำออกสู่อุตสาหกรรม ด้วยการทำวิจัยและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้องค์ความรู้ชั้นสูง พร้อมทั้งออกแบบและผลิตเครื่องจักรที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมนั้นให้กับภาคเอกชนที่ต้องการนำไปผลิตและทำการตลาด เพราะเราเชื่อว่าภาคเอกชนมีความชำนาญมากกว่าที่เราจะทำเองทุกอย่าง

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ระดับโลก เราจึงได้คัดเลือกผู้ประกอบการประเทศมาเลเซียมาร่วมทุนก่อตั้ง Holding company ปุ๋ยน้ำนาโนซึ่งเป็นการถือหุ้นระหว่าง Lily Pharma จำนวนหุ้น 40% กับ Einstein Nanoscience Sdn. Bhd. จำนวนหุ้น 60% โดยจะตั้งโรงงานผลิตที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย

แนวคิดนี้จะทำให้ทางเราเน้น R&D ของปุ๋ยน้ำนาโนและผลิตเครื่องจักรเป็นหลัก ส่วนทางมาเลเซียจะเน้น เรื่องการผลิตและขยายการลงทุนไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าทีมงานของเขาสามารถพูดและเขียนได้ดีทั้ง มาเลย์ จีน และอังกฤษ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดหาบุคลากรที่มีความพร้อมในการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้มหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยออกสู่ตลาดโลกได้อย่างจริงจัง

ทางด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงนโยบายการตั้งStartup แนวใหม่ เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแบบเดิมว่า เราคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความสามารถในด้านการจัดการและเข้าใจในเทคโนโลยี เช่น Biotech โดยการจัดตั้ง Holding company ที่ บ. มิสลิลลี่ จำกัด ถือหุ้น 51% มหาวิทยาลัยถือหุ้น 49% โดย Holding company นี้ จะไปจัดตั้งบริษัท Startup เพื่อดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดตั้งห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยโดยมีนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นผู้ทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นจนออกสู่ผลิตภัณฑ์ ส่วนมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสนับสนุน ให้คำปรึกษาพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องมือต่างๆ และการทดสอบทางวิชาการ และเมื่อเราจะขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม ทางบริษัท Startup จะเป็นผู้วิจัยประดิษฐ์เครื่องจักรในการผลิตพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆได้ทันที โดยที่เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทำงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมแบบสำเร็จรูป และเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องให้กับภาคเอกชน

รศ.นพ.ชาญชัยยังกล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จในโครงการปุ๋ยน้ำนาโน ปัจจัยหนึ่งมาจากเครื่อง Nano Homogenizer แบบอุตสาหกรรม ซึ่งถูกนำมาทำให้ Chitosan มีขนาดต่ำกว่า 100 นาโนเมตร โดยครั้งนี้ เราได้สร้าง Nano Homogenizer ขนาด 2,000 ลิตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่สุดในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ นอกจากนี้ โครงการปุ๋ยน้ำนาโน ยังสนับสนุนนโยบาย BCG economy ซึ่งเป็นการผลิตปุ๋ยน้ำนาโนที่ไม่มีของเสียหรือขยะ และช่วยปรับปรุงและลดความเป็นพิษในดิน ทำให้ปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน

ดร.นพรัตน์ อินทร์วิเศษ Chief R&D Officer ของ Lily Pharma กล่าวถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยเม็ดมีการสูญเสียธาตุอาหารไปในอากาศ น้ำ และ ดิน ซึ่งธาตุไนโตรเจน (N) ประมาณ 60-70% ส่วน ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) สูญเสียถึง 80% ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่ออากาศ น้ำ และ ดิน นอกจากนี้ ในการผลิตปุ๋ยยูเรียจำเป็นต้องใช้แอมโมเนีย ในการผลิตต้องใช้พลังงานสูงและมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จำนวน 1.8% ของปริมาณทั้งโลก (Royal Society) และการใส่ปุ๋ยยูเรีย จุลินทรีย์ในดินจะทำการย่อยแล้วทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ปล่อยขึ้นสู่อากาศประมาณ 312 ล้านเมตริกตันต่อปี (EPA greenhouse gas explorer) และทั่วโลกมีนโยบายที่จะลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20%

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงมีแนวคิดที่จะผลิตตปุ๋ยน้ำนาโนที่ลดการใช้ธาตุ N P Kและอยู่ในดินได้นานแม้อยู่ในสภาวะที่อากาศร้อนมาก โดยมี Nano Chitosan เป็นตัวอุ้มธาตุอาหารไว้ และพืชสามารถนำปุ๋ยน้ำนาโนไปใช้เมื่อต้องการ เราเรียกว่า On Demand Fertilizer ซึ่งจะแตกต่างกับปุ๋ยเม็ดแบบ Slow release ที่ปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ตลอดเวลา แม้พืชไม่ได้ต้องการก็ตาม ดังนั้นเราจึงเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้

นอกจากนี้ ผศ.ดร. จิรวัฒน์ สนิทชน อาจารย์สาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยเพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ มข-60-1 ระหว่างปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma และปุ๋ยเม็ดยูเรียในแปลงทดลอง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ในอัตรา 0.66 Kg N/ไร่ สามารถส่งเสริมศักยภาพด้านลักษณะทางการเกษตร เช่น จำนวนหน่อต่อต้น ความสูงต้น ความยาวรวง ค่าดัชนีการเก็บเกี่ยว น้ำหนัก 1000 เมล็ด ขนาดเมล็ด และความหอมของข้าวไม่แตกต่างจากการใช้เม็ดปุ๋ยยูเรียที่ 9.2 Kg N/ไร่ ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen น้อยกว่าปุ๋ยเม็ดยูเรียถึง 14 เท่า

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร. ชานนท์ ลาภจิตร หัวหน้าภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการทดสอบปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ของ Lily Pharma ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชง พบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นของไนโตรเจน น้อยกว่าปุ๋ยเม็ด สูตร 21-0-0 ที่ 0.5 เท่าหรือครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้นกล้ากัญชงมีความสูง ความกว้างของใบ ความยาวใบ เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ค่าเฉลี่ยปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ

นอกจากนี้ยังได้ทำการทดลองในผักสลัดเรดโอ๊คโดยใช้ระบบน้ำหยด ปลูกกลางแจ้งในเดือนมีนาคม 2567 พบว่าการใช้ปุ๋ยน้ำนาโน Nitrogen ที่ความเข้มข้นต่ำกว่าปุ๋ยเม็ดสูตร 21-0-0 ละลายน้ำ 15 เท่า ยังทำให้ต้นสลัดเรดโอ๊คมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าปุ๋ยเม็ดละลายน้ำ

ผู้ร่วมทุนจากประเทศมาเลเซีย คุณ Ng Kim Yun, CEO บริษัท Einstein Nanoscience Sdn Bhd ได้กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซีย “มาดานิ” ภายใต้นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Anwar เสนอความช่วยเหลือให้กับนักลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเต็มที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำนาโนนี้จะช่วยให้เกษตรกรสร้างรายได้ที่มากขึ้นเนื่องมาจากประสิทธิผลที่ดีและในราคาที่คุ้มค่า

Ng Kim Yun ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัท ของเขาซื้อ Khow how และร่วมลงทุนกับ Lily Pharma ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรทั้งหมดจาก Lily Pharma ส่วนวัตถุดิบเกือบทั้งหมดจัดหาในประเทศมาเลเซีย เราจะผลิตปุ๋ยน้ำนาโน N P K ครบวงจร รวมถึงธาตุอาหารเสริมที่ช่วยทำให้พืชแต่ละชนิดให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 ลิตรต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 20,000 ลิตรต่อวัน

เกี่ยวกับบทบาทของบริษัทร่วมทุน Ng Kim Yun บอกว่า เราได้ตกลงกับทางฝ่ายไทย ให้มาเลเซียเป็นบริษัทแม่หรือสำนักงานใหญ่ของธุรกิจนี้ ดังนั้น ทางมาเลเซียต้องมีหน้าที่ขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยทางฝ่าย Lily Pharma ทำหน้าที่ R& D และพัฒนาเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวมในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ MYR 10 ล้าน และภายใน 3 ปี การลงทุนของกลุ่มเราจะอยู่ที่ประมาณ MYR 30 ล้าน

ยกระดับคุณภาพชีวิตสูงวัยป่วย สร้างรอยยิ้ม สร้างรายได้ชุมชน

ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น   ร่วมกับสถาบันวิจัยความมั่นคงด้านอาหารพลังงาน และน้ำ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดห้องปฏิบัติการแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชและสมุนไพร  โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะผู้บริหารร่วมพิธี ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในกลุ่มสถาบัน Global and Frontier Research University มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยมุ่งเน้นทำวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้งานหรือตามปัญหาของประเทศ (Demand side) เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูงได้ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับรายได้ของประเทศ 

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อรองรับการบริการด้านการวิจัยให้ครอบคลุมทุกศาสตร์สาขา และ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานวิจัยด้านแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผักพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นถิ่น และปศุสัตว์พื้นเมือง  จึงกำหนดให้เปิดแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชขึ้นในวันนี้”

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการวิจัยที่มีผลงานดีเด่น เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ จึงพัฒนาแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชขึ้น ในห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีขนาดใหญ่และได้รับมาตรฐานตามที่ อย.กำหนด พร้อมเตรียมพัฒนามาตรฐานในระดับสากลต่อไป

“Pain point การแข่งขันด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทย ควรแก้ไขให้ตรงจุด คือ เริ่มต้นจากการทำวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันนี้ได้พยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีฐานมาจากวัตถุดิบทางการเกษตรของภาคอีสาน เชื่อว่าเทคโนโลยีในวันนี้จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ยกระดับความสามารถสู่การแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”

ด้าน ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการแพลตฟอร์มการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตร คือ พื้นที่ให้บริการเกษตรกรได้มาเพิ่มมูลค่า และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  โดยเฉพาะกลุ่มอาหารจากสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ ผลผลิตหลายตัวสามารถนำมาอบและบดได้ด้วยมาตรฐานระดับ GMP เป็นการยกระดับการผลิตของเกษตรกร ทั้งยังพร้อมให้บริการนักวิจัย ด้านการค้นคว้า ส่วนของผู้ประกอบการใหม่ ๆ ก็สามารถมาใช้บริการองค์ความรู้และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้ 

ขณะเดียวกันห้องปฏิบัติการแห่งนี้ ยังพร้อมเชื่อมโยง บูรณาการการทำงานกับทุกคณะในมหาวิทยาลัย ในการให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์เป็นแคปซูล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไปจนถึงการให้บริการเครื่องมือเฉพาะทางอื่น ๆ 

ชาวขอนแก่น ชวนนักวิ่งร่วมการแข่งขันขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ 2024 ด้วยมาตรฐาน AIMS ชิงถ้วยพระราชทานพร้อมเงินรางวัลกว่า2ล้านบาท พิเศษสุดเพิ่มเงินรางวัลสำหรับนักวิ่งไทยอีกเกือบ4แสนบาท จัดเต็มเติมความประทับใจนักวิ่งด้วยงานวันเด็กและมหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ฉลองครบรอบ 60 ปี มข.

อากาศเย็นสบายในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหลังลุยงานหนักมาตลอดทั้งปี การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตในท้องถิ่นนับเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี และกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ จัดโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพขึ้น ณ บ้านโนนสะอาด ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนารูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ การเกษตร วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน โดยมี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์ ศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเปิดโครงการ โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 200 คน จากหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วยเมื่อเร็วๆนี้

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการวันนี้เป็นโครงการที่บูรณาการหลาย ๆ โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์เป็นกิจกรรมมากมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าประทับใจ ทั้งการปลูกผักอินทรีย์ วิถีชีวิตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น รวมไปถึงพื้นที่จัดงานที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย

“เชื่อว่าโครงการที่บูรณาการหลายศาสตร์ในลักษณะนี้จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมมีการจับจ่ายที่มากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น และจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาวบ้านในระยะยาว ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศนั่นเอง”

ขณะที่ นายกานต์ ทองเสน นายอำเภออุบลรัตน์ กล่าวว่า อำเภออุบลรัตน์วางแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนอำเภอไว้ 4 ท. ประกอบด้วย ท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้น่าสนใจ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น  2 ท ท่องธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาสถานที่สำคัญทางศาสนา ให้เป็นที่รู้จัก 3 ท ท่องการศึกษาและวัฒนธรรมมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาศึกษาเรียนรู้แหล่งเรียนรู้ อาทิ ทุ่นลอยน้ำ ท้องฟ้าจําลอง และเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนได้สุดท้าย  ท.ท่องสินค้าและบริการ การหาแนวทางส่งเสริมสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น โดยนําการดำเนินการของ 3  ข้อข้างต้น มาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสินค้าและบริการ

“วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านได้ให้เกียรติเดินทางมาในพื้นที่ของเรา ขอบคุณมหาลัยขอนแก่นที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการนี้ ช่วยให้พี่น้องเราเกิดความรู้ใหม่ ๆ สามารถปรับพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรได้นําไปต่อยอดนําไปพัฒนาจากสิ่งเดิมที่เคยทำ”

ด้าน ศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ทดลองทำด้วยความสนุกสนาน มีการพัฒนาพื้นที่แบ่งตามกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การชมพื้นที่แปลงนาข้าว 5 สี รูปตราสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น การเรียนรู้พื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่มีพืชพันธุ์มากมายทั้ง ผัก ไม้ผล ไม้เลื้อย ไม้ดอก และพืชสมุนไพรพื้นถิ่น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้รับชมการแสดงฟ้อนรำ พร้อมเรื่องเล่าที่ลานแสดงกิจกรรม ตามด้วยพิธีกรรมเกี่ยวกับพิธีปลงข้าว ความผูกพันของวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนอีสาน การหว่านกล้า ปักดำ ลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว ตำข้าว และสามารถเดินเยี่ยมชมซุ้มกิจกรรมสาธิตผลผลิตภัณฑ์จากข้าว และ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ชมและร่วมทดลองทำเมนูอาหารแปรรูปจากข้าว ข้าวจี่ ข้าวโป่ง ข้าวต้มมัด ข้าวต้มหัวหงอก ขนมจีน ผลิตภัณฑ์จักสานจากฟางข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนจากวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกด้วย

Page 1 of 12
X

Right Click

No right click