December 04, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

 RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เปิดบ้านอัพเดทเทรนด์ และแนวโน้มด้านการตลาดใหม่ล่าสุดของปีนี้ ที่งาน Exclusive Forum ในหัวข้อ “Transformative Marketing Trends to Watch in 2023 by MTX” โดยมีเหล่าผู้บริหารด้านการตลาดจากองค์กรชั้นนำของประเทศมาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมทำการตลาดยุคดิสรัปชั่น (Disruption) ที่นักการตลาดต้องทรานส์ฟอร์มทั้งองค์กรและตัวเองให้ทัน

ในโลกธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น (Disruption) ที่เรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองในทุกด้านเพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป และหนึ่งในด้านสำคัญที่จำเป็นต้องปรับตัวตามมากที่สุด คือด้านการตลาด (Marketing) ที่มีความอ่อนไหวต่อทั้งเทคโนโลยี สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ อีกทั้งการสลับสับเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้ทำงานด้านการตลาดกลายเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่เรียกร้องความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาทักษะของตนเองให้สอดรับกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเหล่านี้ตลอดเวลา

จากการวิเคราะห์ของนิตยสาร Forbes พบว่า ภายในปี 2023 ผู้ที่ทำงานด้านการตลาด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระดับบริหารและผู้นำในด้านนี้ขององค์กรจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ความเลือนลางของเส้นแบ่งประสบการณ์ของผู้บริโภคในโลกจริงและโลกเสมือนจริง หรือแม้แต่พัฒนาการอันก้าวกระโดดของระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของทาง Gartner ที่ออกมาเผยว่าปี 2023 นี้จะเป็นช่วงเวลาที่พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคผันผวนจนแทบคาดเดาไม่ได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกร้องให้เกิดการคิดใหม่และลงมือทำใหม่ในผู้บริหารและผู้นำด้านการตลาด ที่ต้องก้าวขาขึ้นมาเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโลกของธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเริ่มต้นติดอาวุธและเสริมทักษะด้านการตลาดของตัวเองจึงต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่พลาดที่จะดำรงอยู่ในยุคสมัยที่ทุกบริษัทต่างต้องการผู้นำด้านการตลาดยุคใหม่ หรือ Next-Gen Marketing Leader

6 เทรนด์ที่ผู้บริหารการตลาดต้องรู้และเข้าใจหากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

หลักสูตร Marketing Transformation Xponential หรือ MTX โดย RISE ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารและผู้นำด้านการตลาดขององค์กร ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะของเหล่าผู้บริหารด้านการตลาด จึงมีการจัด Exclusive Forum ในหัวข้อ “Transformative Marketing Trends to Watch in 2023 by MTX” เพื่อแนะนำแนวทางการปรับตัวที่ต้องรู้ หากไม่อยากถูกดิสรัป (Disrupt) ซึ่งในฟอรั่มนี้ได้รับเกียรติจาก 3 ผู้บริหารด้านการตลาดจากองค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มด้านการตลาดและนวัตกรรม ของเครือกลุ่มบริษัท เดนท์สุฯ อินเตอร์เนชั่นแนล และคุณสุทิพา ปัญญามหาทรัพย์ Chief PC & HCC Business Officer ของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์การเป็นผู้นำด้านการตลาดขององค์กร ที่แต่ละท่านได้สัมผัสตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการตลาด (Marketing Technology) ให้สอดรับต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงและยั่งยืน รวมถึงการปรับรูปแบบและวิถีปฏิบัติทางการตลาดขององค์กรให้พร้อมรับมือและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ในวงสนทนาดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นเทรนด์สำคัญของการบริหารด้านการตลาด ที่มองว่าในอนาคตงานด้านการตลาดจะไม่มุ่งเน้นแค่เรื่องการโฆษณาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องดำเนินไปอย่างใกล้ชิดกับงานด้านธุรกิจและด้านกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งทุกวันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยให้ลูกค้ามาเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางที่องค์กรจะเดินไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงมองพฤติกรรมลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมา โดยไม่ได้จำกัดความถนัดตามอุตสาหกรรมที่ตนอยู่มาแต่เดิมเหมือนก่อนหน้านี้ นอกจากแนวคิดองค์กรที่เปลี่ยนไปแล้ว การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเองก็เป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านการตลาด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่พฤติกรรมการใช้จ่ายหรือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สลับไปมาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ที่มีทั้ง Immersive และ Interactive ซึ่งผลต่อความซับซ้อนในการสร้างประสบการณ์รับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ โจทย์ใหญ่ที่สุดของผู้บริหารด้านการตลาดจึงเป็นการปรับตัวและเปลี่ยนกลยุทธ์ให้รวดเร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

สิ่งเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการวางระบบเรื่องบุคลากรของฝ่ายการตลาด ที่จะไม่สามารถจัดตามรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป หากแต่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวทางขององค์กรอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในงานด้านกลยุทธ์และการสร้างผลกำไรให้กับองค์กรผู้นำและผู้บริหารการตลาดต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อจะวิ่งสู่เส้นชัยในสนามแข่งขันทางธุรกิจอันดุเดือด แม้จะดูไม่ง่ายหากผู้บริหารด้านการตลาดต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แต่ คุณบี-สโรจ เลาหศิริ และ คุณจั๊ก-กรกนก เชาว์ปรีชา สองไดเรคเตอร์ของหลักสูตร MTX ก็ได้ให้คำแนะนำถึงสิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารด้านการตลาดต้องเรียนรู้ โดยยึดเอา 3 หัวข้อสำคัญคือ ลูกค้า x เทคโนโลยี x ความคิดสร้างสรรค์ (Customer x Technology x Creativity) มาเป็นกรอบในการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับองค์กร โดยทุกวันนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากแต่ยังต้องออกแบบโดยมีกระบวนการที่สร้างสรรค์อยู่เบื้องหลัง รวมถึงมีการเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในมือและก้าวไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมด้วย นอกจากนี้ ผู้บริหารด้านการตลาดควรจะมีความคล่องตัว (Agility) เพื่อยืดหยุ่นต่อการรับแรงกระทบหากคลื่นความเปลี่ยนแปลงโถมเข้ามา อีกทั้งยังต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการพลิกแพลงกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาการเรียนรู้ (Learning Curve) ที่กระชับลง จากความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงสภาวะแวดล้อมและเครื่องมือต่าง ๆ เช่นปัจจุบัน

เบื้องหลังการออกแบบหลักสูตร MTX ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทรานส์ฟอร์มและพัฒนาทักษะของผู้บริหารด้านการตลาดโดยเฉพาะ

ไรส์ (RISE) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการทรานส์ฟอร์มในองค์กรชั้นนำระดับประเทศมาอย่างมากมาย รวมถึงขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มในกลุ่มผู้บริหารและผู้นำองค์กรผ่านหลักสูตร DTX มาอย่างต่อเนื่อง ได้มองเห็นความสำคัญในการทรานส์ฟอร์มของกลุ่มผู้บริหารและผู้นำด้านการตลาด จึงร่วมมือกับ คุณบี-สโรจ เลาหศิริ ที่ปรึกษาด้าน Marketing Transformation ชั้นนำของประเทศ ผู้เป็นอดีตหัวหน้าฝ่าย Marketing Transformation ของบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด มหาชน อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ของ Rabbit’s Tale ดิจิทัลเอเจนซี่ชื่อดังสัญชาติไทย และ คุณจั๊ก-กรกนก เชาว์ปรีชา นักการตลาดสายผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Marketer) ตัวจริง ที่ผ่านประสบการณ์ประยุกต์ใช้แนวคิดทางการตลาดรูปแบบต่างๆ สู่การใช้งานจริงในองค์กร อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ABC หรือ Academy of Business Creativity มาจัดทำหลักสูตร Marketing Transformation Xponential หรือ MTX เพื่อสร้างทักษะสำหรับผู้บริหารด้านการตลาดให้พร้อมรับมือกับโลกของ Marketing แห่งอนาคต พร้อมได้รับคำปรึกษาใกล้ชิดจากหมอคิด-นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง RISE อีกทั้งยังเป็นไดเรคเตอร์ของหลักสูตร Digital Transformation Xponential (DTX) หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทยอีกด้วย

โดยหลักสูตรนี้จะช่วยถอดรื้อแนวคิดทางการตลาดแบบดั้งเดิมที่มีออกไป ด้วย 9 หัวข้อที่จะมาทรานส์ฟอร์มวิธีคิดทางการตลาดในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งหัวข้อเรื่อง Marketing Transformation, Customer of the Future รวมถึงเรื่อง Web3 และระบบปัญญาประดิษฐ์

หรือ A.I. อีกด้วย โดยออกแบบการเรียนรู้ด้วยแนวคิด Experiential Workshop ที่เน้นการลงมือทำจริง และเรียนรู้จากกรณีศึกษาจริง (Case Study) จากวิทยากรระดับผู้บริหารขององค์กรระดับประเทศจำนวนกว่า 30 คน หลักสูตรนี้จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 18 พฤษภาคม 2566

 

Scent Marketing

October 25, 2019

ประสบการณ์การรับรู้ของแบรนด์นั้นสามารถเริ่มจากสี ชุดยูนิฟอร์มของพนักงาน เสียงดนตรีประกอบ ไปจนกระทั่ง "กลิ่น" ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ทั้งสิ้น

ศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการ บ.คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงสถานการณ์ในวงการยางรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดยางทดแทนว่า เป็นตลาดที่แข่งขันกันรุนแรงมาก เพราะมีผู้ผลิตที่สนใจเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลายราย ทั้งเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออก 

"ซัพพลายค่อนข้างล้นตลาดพอสมควร เพราะถึงจะส่งออกแต่เขาก็มีเป้าภายในประเทศด้วย ทุกบริษัทต้องมีเป้าเจริญเติบโตหมด ของแต่ละบริษัททุกคนตั้งเป้ากันตามความต้องการของแผนธุรกิจ แต่ในขณะที่ความเป็นจริง ความต้องการใช้ยางไม่ได้โตตามแผนธุรกิจที่แต่ละบริษัทตั้งไว้ มีเพิ่มผู้เล่นก็เข้ามาเยอะ ทุกค่ายต้องการเพิ่มแชร์ของแบรนด์ตัวเอง และความที่ตลาดประเทศไทยเป็นตลาดพรีเมียม หมายความว่าผู้ใช้มีความรู้เรื่องยางค่อนข้างลึกซึ้งมากกว่าตลาดอื่นๆ ผู้บริโภครู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อย่างตอนนี้ก็จะมีเรื่องของความอ่อนไหวต่อวันที่ผลิต ดูสัปดาห์ที่ผลิต และอีกอย่างคือ ถ้าเรื่องยางรถยนต์ คนไทยชาตินิยมเหมือนกัน ผลิตในไทยอันดับหนึ่ง ผลิตในไทยเยี่ยมที่สุด”  

คอนติเนนทอล แม้จะเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมายาวนาน แต่สำหรับตลาดประเทศไทย จัดว่ายังเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดไม่นานนัก ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตยางที่จังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และสามารถผลิตยางเส้นแรกในประเทศไทยในต้นปี พ.ศ.2562 โดยมีเป้าหมายในการผลิตเพื่อส่งออกและอีกส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่มีในตลาดยางรถยนต์ประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง  

ศิริวรรณมองการแข่งขันในตลาดยางทดแทนของประเทศไทย ว่ายังคงดุเดือด หลังจากปีที่ผ่านมา ช่วงต้นปีราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยางมีราคาสูงขึ้นส่งผลให้แต่ละค่ายต้องประกาศขึ้นราคาจำหน่าย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง ราคาที่ประกาศขึ้นส่วนใหญ่จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือทางการตลาดประเภทต่างๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตัวเองไว้ให้ได้ แม้ปัจจุบันราคาวัตถุดิบจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแต่การแข่งขันก็ยังคงอยู่ 

ในฐานะบริษัทผู้ผลิตยางคุณภาพจากประเทศเยอรมนีที่ตั้งใจสร้างตลาดภายในประเทศไทย ปีนี้จึงเป็นจังหวะในการสร้างฐานการรับรู้เกี่ยวกับยางคอน-ติเนนทอลภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น  

ศิริวรรณเล่าว่า “เราก็คาดหวังจะโตแบบก้าวกระโดดในประเทศไทย ตอนนี้เราเริ่มวางแผนระยะไกลว่า ปีหน้า (2562)จะเริ่มโหมทำการตลาด ที่ยังไม่ทำปีนี้เพราะมองว่ายังเร็วเกินไป โรงงานเรายังไม่เสร็จ ถ้าโรงงานเราเสร็จก็จะเริ่มลงทุน เพราะการลงทุนด้านแบรนด์ต้องทำต่อเนื่อง คือทำแล้วหยุดไม่ได้”  

 

ไม่แข่งราคา 

การแข่งขันในตลาดยางทดแทนของประเทศไทย ในฐานะผู้จำหน่ายยางระดับพรีเมียม ศิริวรรณมองว่า ต้องใช้การตลาดมาสนับสนุน เพิ่อเจาะเข้าหาผู้บริโภค โดยพยายามที่จะรักษาสถานะราคาให้มีความเสถียรในตลาด เพราะไม่อยากจะใช้ราคาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันในตลาดให้เสียโพสิชั่นของแบรนด์ 

 “การทำ Price Positioning ต้องใช้เวลาพอสมควรและต้องใจแข็ง ไม่เอาราคาไปสู้” ศิริวรรณกล่าวและเล่าถึงตลาดยางต่อว่า 

“ยางจวนจะเป็น FMCG (Fast-Moving Consumer Goods-สินค้าที่จำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ) อยู่แล้ว ความสดใหม่ ความหลากหลาย มีให้เลือกจำนวนมาก อยู่ที่ใครจะเข้าไปครองใจผู้บริโภคได้เท่านั้น ยางรถยนต์ในตลาดก็เหมือนกับของบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกเองเหมือนเวลาเราไปซื้อของ ยี่ห้อนี้เทียบกับยี่ห้อนี้ ราคาต่างกันเท่าไร การตัดสินใจของลูกค้าเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น”  

การสร้างความรับรู้ให้กับผู้บริโภคจึงเป็นอีกอาวุธหนึ่งที่คอนติเนนทอลเลือกใช้ ด้วยการไปเจรจากับดีลเลอร์ให้หันมาทำร้านคอนติเนนทอล อิมเมจ ช็อป ซึ่งเป็นร้านที่แต่งตามแนวคิดและเน้นขายยางของคอนติเนนทอล โดยตั้งเป้าเปิดตามหัวเมืองหลักให้ครบทั่วทุกภูมิภาค (ณ สิ้นเดือนมกราคม พ.ศ.2561 เริ่มเปิดดำเนินการไปแล้ว 2 แห่งที่นครราชสีมาและกรุงเทพ)  

กรรมการผู้จัดการ คอนติเนนทอล ไทร์ส อธิบายว่า เพราะธรรมชาติของการขายยางรถยนต์ส่วนบุคคลกับรถบรรทุกมีความแตกต่างกัน สำหรับยางรถบรรทุกต้องขายที่เทคโนโลยี ความคุ้มทุน อายุการใช้งานที่ยาวนานเพราะเป็นเรื่องของการพาณิชย์ ขณะที่รถยนต์ส่วนตัว ความรู้สึกของผู้ใช้เป็นปัจจัยสำคัญ ความเงียบ ความนิ่ง เกาะถนน ระยะเบรกเป็นตัวอย่างของปัจจัยที่ผู้บริโภคเลือกใช้ยาง การเปิดคอนติเนนทอล อิมเมจ ช็อป ด้านหนึ่งจะได้ในเรื่องของการสร้างการรับรู้แบรนด์คอนติเนนทอล และอีกทางหนึ่งร้านเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดจากบริษัทฯ เป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายยางคอนติเนนทอลอีกทางหนึ่งด้วย  

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ ปลายปีที่ผ่านมา คอนติเนนทอลออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาหลายรุ่นเป็นการเปลี่ยนโฉมจากเจเนอเรชัน 5 สู่ เจเนอเรชัน 6 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ครบทุกเซกเมนต์  

 

ชูเทคโนโลยีเยอรมนี 

สิ่งที่คอนติเนนทอลนำเสนอให้กับ ผู้บริโภคคือ เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนีซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้วว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก “เราผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เกือบทั้งคัน ในการทดสอบ การดีไซน์ สามารถออกแบบให้เอื้อกันได้ ล้อ ช่วงล่างต่างๆ ต่อเนื่องกันหมด รถจะเครื่องยนต์ดีขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องมาพึ่งยางเพราะต้องวิ่งบนถนน ตัวเด่นๆ ของคอนติเนนทอล จะเป็นรุ่นสปอร์ตคอนแท็ก เราจะเรียกกันเองว่า ‘ยางเทพ’ แม้จะออกมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่ว่าจะทดสอบที่สนามไหน ก็จะได้รางวัลมาตลอดเวลา คือในยางรถยนต์ไม่มียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมีจุดเด่นทุกด้าน แต่ของคอนติฯ เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นเราจะอยู่ใกล้ๆ ท็อป พอรวมแล้วเป็นผู้นำเกือบทุกด้าน เพราะการดีไซน์ยาง จะเอาทุกอย่างเลยเป็นไปไม่ได้ ได้อย่างเสียอย่าง จะบอกว่าใครดีที่สุดไม่มี แต่ในองค์รวม สปอร์ตคอนแท็กถือว่าดีสุด” 

และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทนำมาจำหน่ายในปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการทั้งด้านการออกแบบ การเก็บเสียง การรีดน้ำ ที่พัฒนาต่อมาจากยางสปอร์ตคอนแทก ศิริวรรณบอกว่า “เป็นอะไรที่คุ้มค่ามากๆ สำหรับเทคโนโลยีของยางเมื่อเทียบกับราคาเพราะว่า ณ ตอนนี้ แม้เราจะเป็นสินค้าพรีเมียม แต่คนก็ยังไม่รู้จักเรามาก ดังนั้นราคาที่เราตั้งจึงไม่ใช่ราคาที่สูงสมกับคุณสมบัติของยาง เพราะยังเป็นช่วงที่เริ่มทำการตลาด”  

 

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ 

ศิริวรรณ เล่าถึงปรัชญาการทำงานของคอนติเนนทอล ว่ามีหลักการง่ายๆ คือมองในแง่ความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกันและอธิบายต่อว่า “Passion to Win เราต้องลุกขึ้นมาทุกวันมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้ดีขึ้น Freedom to Act คือ เขาให้อิสระเราในการตัดสินใจหรือนำเสนอไอเดียค่อนข้างมาก For One Another คือ เราต้องไปด้วยกันเป็นทีมเวิร์ค Trust มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน” 

เพราะผู้บริหารของคอนติเนนทอล มองว่า ยางเป็นธุรกิจของคน (Tyre is People Business) คนคือปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นคนขาย คนผลิต คนซื้อ ดังนั้นบริษัทจึงให้คุณค่ากับพนักงานค่อนข้างสูง เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนภายใต้กระบวนการทำงานที่มีอยู่  

ในส่วนการเป็นผู้นำองค์กรศิริวรรณมองว่า การเป็นผู้นำต้องมีผู้ตาม โดยผู้ตามจะเป็นคนเลือกผู้นำ “เราต้องทำให้ผู้ตาม มาเลือกเราเป็นผู้นำ ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ ต้องทำตัวอย่างให้เห็น พยายามทำตัวอย่างให้ดีที่สุด เห็นเป้าหมายของบริษัทคืออะไร เรามีเป้าหมายเดียวกัน และทุกคนจะต้องซัพพอร์ตให้เราไปถึงเป้าหมายเดียวกันให้ได้ คือเราก็ต้องแสดงความจริงจังและจริงใจ 
ด้วย ต้องพิสูจน์ให้เห็น คือถ้าเขาเห็นเราเป็นตัวอย่างที่ดี เรามีความจริงจัง มีความจริงใจ เราก็จะมีคนตาม การที่เราเป็นผู้นำเราต้องเสียสละด้วย ต้องมีการให้อยู่ตลอดเวลา ต้องเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่า ถ้าเขาเห็นเราทุ่มเท ไม่ได้เอาเปรียบ เอาประโยชน์จากการเป็นผู้บริหาร คนก็จะเกิดศรัทธา”   

 

 

 

 

         เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “น้ำดื่มสิงห์”  เปิดตัวแคมเปญ “A Part Of You” โดยใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing ดึง 5 ตัวแทนกลุ่มผู้นำความคิดและไลฟ์สไตล์ จากวงการภาพยนตร์ ดนตรี เน็ตไอดอล ได้แก่ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์, เบเบ้-ธันย์ชนก ฤทธินาคา, วิโอเล็ต วอเทียร์ และวง South side มาเป็น “แบรนด์อินฟลูเอนเซอร์” ครั้งแรก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ เพิ่มความผูกพันแบรนด์ (Engagement) ควบคู่การเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างมาก

          ล่าสุดน้ำดื่มสิงห์ได้สร้างกระแสในโลกออนไลน์ โดยการดึง “เจ้านาย” จิณเจษฎ์ วรรธนะสิน มาเป็นพรีเซ็นตอร์ พร้อมใช้วิธีการทำตลาดด้วยการลงพื้นที่ประชิดกลุ่มเป้าหมาย สร้างสิ่งที่ “เหนือความคาดหมาย” ความประทับใจให้กับผู้บริโภคและตลาดอย่างยอดเยี่ยม

          ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาด ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า การทำตลาดของด้วยการดึงผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ จะต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์ (engaging personality) คาแร็คเตอร์ ธรรมชาติ เข้าถึงง่าย แต่การเปิดตัวจะต้องคิดนอกกรอบ เพื่อสร้างความแตกต่าง ความแปลกใหม่ให้กับตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการจดจำแบรนด์มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดน้ำดื่มที่มีทั้งแบรนด์เก่า แบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

           “เจ้านาย” พรีเซ็นเตอร์คนใหม่ของน้ำดื่มสิงห์ เปิดตัวด้วยการสร้างเซอร์ไพรส์ ณ จุดขายจริง รับกับกระแสฟีเวอร์ในตัวของเจ้านาย โดยการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ของน้ำดื่มสิงห์ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ ต้องการเพิ่ม Engagement กับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ หรือเป็น Young Generation มากขึ้น จากเดิมน้ำดื่มสิงห์เจาะกลุ่มเป้าหมายครอบครัว ทุกเพศทุกวัย และต้องการสร้างความแตกต่างของแบรนด์ให้ฉีกออกจากคู่แข่ง ให้เป็นแบรนด์อันดับแรกในใจของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อน้ำดื่ม และการใช้เจ้านายเป็นพรีเซ็นเตอร์ ถือว่าสร้างสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เป็น Beyond expectation ให้ผู้บริโภคและตลาดได้จริงๆ

          ธิติพรขยายความต่อว่า “เราเชื่อมั่นว่าในยุคนี้ ความแปลกใหม่ ทันสมัย หรือความล้ำ (innovation) เป็นสิ่งสำคัญ  ตั้งแต่ต้นปี 2561 น้ำดื่มสิงห์จะให้เน้นนำเสนอความแปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านของตัวผลิตภัณฑ์, การสื่อสารการตลาด อย่างที่ได้เริ่มเห็นกันไปแล้วจากกิจกรรม on ground to online ของพรีเซ็นเตอร์คนล่าสุดนี้ และยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งอยากให้ติดตามกัน รวมถึงการจัดรายการส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่    บน Platform ใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องโดนใจวัยรุ่น รวมทั้งกลุ่มแมสด้วย

          “นอกจากนั้น ช่องทางการจัดจำหน่ายและระบบการจัดจำหน่ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ในยุคการตลาดแบบ Digital  นี้ เราเชื่อว่าการเพิ่มความพึงพอใจในความสะดวกสบายในการจัดส่งเป็นสิ่งสำคัญ สินค้าต้องถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือต้องง่ายแค่ปลายนิ้ว  ดังนั้น ในปีหน้า(2561) เตรียมพบกับช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ของน้ำดื่มสิงห์ได้” 

           ภาพรวมตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเชิงปริมาณ 4,300 ล้านลิตร มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% แบ่งตามบรรจุภัณฑ์เป็นน้ำดื่มขวด PET 90% มีอัตราการเติบโต 11.5% แบบขวดแก้ว 10% แนวโน้มตลาดหดตัวลงเล็กน้อย น้ำดื่มสิงห์มีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยรวม 21% เมื่อแบ่งตามบรรจุภัณฑ์ แบบขวด PET มีส่วนแบ่งทางการตลาด 20% และแบบขวดแก้วมีส่วนแบ่งตลาด  45.2%  ในปีหน้า น้ำดื่มสิงห์ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเพิ่มเป็น 23%  

          “ตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องปีละ 10% จากกระแสผู้บริโภครักสุขภาพ น้ำดื่มสิงห์ มีสโลแกนติดหูว่า “น้ำดื่มสะอาด น้ำดื่มสิงห์” เราชูจุดขายในเรื่องของความสะอาดและ แบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ อยู่คู่ครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งน้ำดื่มสิงห์ยังได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกจากสถาบัน NSF International สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งให้กับแบรนด์ด้านความน่าเชื่อถือ ตอกย้ำกลยุทธ์ Functional Marketing อีกด้านเรามุ่งสร้างความพึงพอในตราสินค้า (Brand Preference) และเพิ่ม Engagement กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลยุทธ์การทำตลาดเหล่านี้จะทำให้น้ำดื่มสิงห์เป็นผู้นำตลาดอย่างยั่งยืน ส่วนปีนี้คาดว่ายอดขายน้ำดื่มสิงห์จะเติบโต 10%”ธิติพร กล่าว

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click