December 23, 2024

เปิดวิสัยทัศน์หัวเว่ย ก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G

October 30, 2022 3251

งานประชุม Ultra-Broadband Forum 2022 ได้เปิดฉากขึ้นที่กรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม นี้  โดยนาย เดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีที ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G’ และกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในหลายภาคส่วนภายในปีพ.ศ. 2573 เช่น ที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ แคมปัสอัจฉริยะ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสำหรับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จะเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่โลกอัจฉริยะและจุดประกายให้อุตสาหกรรมดำเนินการในสี่ขั้นตอนสำคัญเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังผลักดันผู้เล่นในอุตสาหกรรมร่วมมือกันเพื่อก้าวสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่เรามุ่งหน้าสู่โลกอัจฉริยะในปี พ.ศ. 2573 ความเร็วเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะสูงถึง 10 Gbit/s ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากความเร็วปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1 Gbit/s นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 20 เครื่อง และจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพราะเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้สถิติอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 150 ถึง 200 เครื่อง ดังนั้นในอนาคตทุกส่วนของบ้านจะต้องเข้าถึงเทคโนโลยีไฟเบอร์

ภายในปี พ.ศ. 2573 เครือข่าย Wi-Fi สำหรับแคมปัสขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่ความเร็ว 10 Gbit/s และจะต้องรองรับการดำเนินการและการจัดการที่ชาญฉลาด องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีเครือข่าย Wi-Fi ที่มอบแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่ ประสบการณ์ระดับพรีเมียมและบริการอินทราเน็ตแบบครบวงจร ในขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสำหรับภาคอุตสาหกรรมจะต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงกว่า 10 Gbit/s และค่าความหน่วงที่ต่ำกว่าหนึ่งมิลลิวินาที องค์กรต่าง ๆ จะประยุกต์ใช้กลยุทธ์มัลติคลาวด์ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รองรับการกำหนดและเปลี่ยนแปลงเส้นทางแบบไดนามิก และเราจะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10 เท่า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การดำเนินการ และการบำรุงรักษาเครือข่าย ด้วยแนวคิดการพัฒนาเครือข่ายด้วยระบบอัตโนมัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จะเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่โลกอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรที่กำหนดมาตรฐานการใช้งาน หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ปฏิบัติงาน และผู้จำหน่ายอุปกรณ์ จะต้องร่วมมือกันผลักดันเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G สร้างเครือข่าย 5.5G และพัฒนาอีโคซิสเต็ม 5.5G ที่แข็งแกร่งไปพร้อมกัน เราจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าและมุ่งหน้าอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ร่วมกัน” นายเดวิด หวัง กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ สี่ปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G  จะประกอบไปด้วย

ประการแรก การกำหนดมาตรฐานใหม่และบรรลุฉันทามติทั่วทั้งอุตสาหกรรม

สถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมยุโรป (ETSI) เริ่มสร้างมาตรฐานของ F5G Advanced ด้วยมาตรฐาน Release 3 และสมุดปกขาว ETSI: Fixed 5th Generation Advanced and Beyond ที่ได้รับการปรับปรุงโดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงถูกเผยแพร่ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2565 และภายในปีพ.ศ. 2568 ที่อยู่อาศัยอัจฉริยะและเซนเซอร์ใยแก้วนำแสงจะได้รับการปรับตามมาตรฐาน

ในส่วนของอุตสาหกรรมการเชื่อมต่อข้อมูล (IP) หัวเว่ยเผยแพร่สมุดปกขาว Net5.5G ระหว่างการประชุมครั้งนี้ โดยมีแนวคิดว่าภายในปี พ.ศ. 2566 Net5.5G จะเพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี SRv6 แบบครบวงจร และภายใน พ.ศ. 2568 เครือข่าย IP น่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประมวลผลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายและการรับประกันบริการที่ดีขึ้นสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม

ประการที่สอง ร่วมส่งเสริมมาตรฐานการใช้งานตลอดการใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้งาน และการดำเนินงาน

เทคโนโลยี GPON, 10G PON และ 50G PON Combo จะรองรับเครือข่าย ODN ของผู้ให้บริการ และทำให้การอัปเกรดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สถาปัตยกรรม C-WAN จะสามารถนำมาใช้งานได้บนเครือข่าย FTTR ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเร็วระดับกิกะบิต Gbit/s ให้เสถียรทั่วทั้งบ้าน และลดเวลาบริการข้ามเครือข่ายให้น้อยกว่า 20 มิลลิวินาที

ในการส่งสัญญาณด้วยใยแก้วนำแสง สเปกตรัมสำหรับเครือข่าย 400G WDM จะเพิ่มขึ้นจาก 8 THz เป็น 12 THz โดยเพิ่มความยาวคลื่นมากขึ้นถึง 50% และทำให้ศักยภาพการส่งสัญญาณสูงถึง 100T ในส่วนของเทคโนโลยี metro WDM ซึ่งเป็นเทคโนโลยี WDM ใหม่ที่รวมความยาวคลื่นไว้ด้วยกัน จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการใช้งานได้อย่างมาก และสนับสนุนการทำงานของเทคโนโลยี WDM ที่ไซต์อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้าน IP Wi-Fi 7 เทคโนโลยี CO-SR และ CO-OFDMA จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างจุดเชื่อมต่อต่างๆ และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานทั้งเครือข่าย ซึ่งจะต้องการการสนับสนุนจากเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น UL OFDMA และ UL MU-MIMO เพื่อให้การเชื่อมต่อมีเสถียรภาพ เทคโนโลยี APN6 และ SRv6 ยังช่วยตรวจจับประสิทธิภาพการประมวลผลและข้อกำหนดการใช้งานและประมวลทรัพยากรระบบคลาวด์ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี IP แบบ deterministic จะช่วยลดการรบกวนระหว่างการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก และลดความล่าช้าของสัญญาณบนเครือข่าย IP ให้เหลือน้อยกว่า 20 ไมโครวินาที

ประการที่สาม เปิดตัวการใช้งานอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G อย่างรวดเร็วขึ้น โดยการพัฒนานโยบายและเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง

มาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่สามารถสร้างมูลค่าได้รวดเร็วขึ้นเมื่อมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลควรปรับใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการออกกลยุทธ์ด้านเครือข่ายในระดับประเทศ นโยบายเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงและมาตรฐานการก่อสร้าง เพื่อเร่งการใช้งานเครือข่ายกิกะบิต FTTH จะทำให้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตใยแก้วสามารถเข้าถึงทุกห้องในบ้านทุกหลัง

ผู้ให้บริการก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ด้วยการกำหนดสถาปัตยกรรมเครือข่ายเป้าหมายสำหรับปีพ.ศ. 2568 และ พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ยังต้องเร่งการเปิดตัวเครือข่าย FTTH และ FTTR, เปิดใช้งานเทคโนโลยี metro WDM เพื่อเข้าถึงไซต์, อัปเกรดเครือข่าย IP เป็นเครือข่าย SRv6 และการใช้งานเทคโนโลยี 400G และ 800G สำหรับการส่งข้อมูลและเครือข่าย IP

ประการที่สี่ ค้นหาการประยุกต์ใช้งานใหม่ ๆ และฟูมฟักอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง

ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและพันธมิตรในอีโคซิสเต็มต้องร่วมมือกันเพื่อค้นหาศักยภาพสูงสุดของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G เพราะเทคโนโลยีนี้จะสามารถรองรับศักยภาพการใช้งานที่เหนือระดับ และเมื่อบรรลุความเร็วระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (10 Gbit/s) ทุกหนทุกแห่ง การเล่นเกมบน MetaVerse และการโต้ตอบแบบเรียลไทม์จะได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การสำรวจหานวัตกรรมจะดำเนินต่อไปสำหรับสถานการณ์การใช้งานในแคมปัส เช่น สำนักงานเสมือนจริงและสำนักงานที่มาพร้อมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และบริการสำหรับองค์กรขนาดเล็ก เช่น เครือข่าย Wi-Fi แบบครบวงจร หัวเว่ยเน้นการสร้างพันธมิตรระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและบริษัทอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นผู้เล่นที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครือข่ายเชิงกำหนด และการเชื่อมต่อที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัวในอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยฟูมฟักการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระดับองค์กรบนระบบมัลติคลาวด์

มาตรฐานนี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอัลตราบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการ FTTH ใหม่กว่า 790 ล้านคน และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ 100 ล้านคนเริ่มใช้บริการกิกะบิต และในปีที่ผ่านมา บริการ FTTR ก็มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอีกราวหนึ่งล้านคน

นอกจากนี้องค์กรต่าง ๆ ยังใช้งานเครือข่ายส่วนตัว OTN คุณภาพสูงประมาณ 50,000 สาย คลาวด์ส่วนตัว อีก 600,000 สายและจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 กว่า 27 ล้านจุดทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากเครือข่าย 400G WDM 130 แห่ง เทคโนโลยี ROADM แบบออปติคัลทั้งหมดกว่า 15,000 รายการ และเครือข่าย IP ที่รองรับ SRv6 กว่า 100 เครือข่ายที่เปิดตัวแล้วทั่วโลก

พล.อ.ต. ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาในงาน

ด้าน พล.อ.ต. ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวในงาน Ultra-Broadband Forum 2022 ว่า “ผมขอกล่าวขอบคุณ บริษัท หัวเว่ย และ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่ได้จัดงานในครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของทุกอุตสาหกรรมโดยรวม หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 เทคโนโลยีดิจิทัลก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ผ่านมา กสทช. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมในการรองรับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายบรอดแบรนด์เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย โดยในปี พ.ศ. 2566 แผนการพัฒนาของเราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่อง “กิกะไทยแลนด์” ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย โดย กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมที่สำคัญของประเทศไทย จะมุ่งมั่นสร้างคุณค่าทางเทคโนโลยีและคุณค่าทางสังคมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนนโยบาย “Thailand 4.0” ของประเทศให้เป็นจริง เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล”

นายเจ้า ฮู้หลิน เลขาธิการ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระหว่างการกล่าวปาฐกถาในงาน

นอกจากนี้ นายเจ้า ฮู้หลิน เลขาธิการ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังได้กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า “เปิดงาน Ultra-Broadband Forum 2022 เป็นงานที่นำพันธมิตรระดับโลกมารวมกันทุกปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วน และส่งเสริมความยั่งยืนของเครือข่ายบรอดแบนด์ในระบบนิเวศ สำหรับงานครั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณ หัวเว่ย และพันธมิตรทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที รวมถึงยกระดับการลงทุนด้านไอซีทีของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้ชุมชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการด้านไอซีทีได้ ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านไอซีทีทุกฝ่าย ให้ร่วมกันเร่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น”

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 November 2022 19:19
X

Right Click

No right click