September 19, 2024

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มุ่งมั่นเดินหน้าเปลี่ยน...ชุมชนเพื่อความยั่งยืน เชิญชวนผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม fai-fah for Communities ที่ดำเนินการโดย มูลนิธิทีทีบี ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม เพื่อจุดประกายและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของอาสาสมัครทีทีบี (ttb volunteer) เพราะเชื่อว่า นอกเหนือจากการมาทำงานที่ธนาคารแห่งนี้ พวกเราชาวทีทีบีไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนด้วยเช่นกัน จึงเกิดโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะช่วยจุดประกายโอกาสให้กับสังคมแล้ว ยังเป็นโอกาสดี ๆ ที่อาสาสมัครจะได้ทำความรู้จัก พบปะเพื่อนใหม่ต่างแผนก พัฒนาโครงการเพื่อสังคมที่ตนเองสนใจ วางแผนงานร่วมกับชุมชน และสุดท้าย ส่งต่อให้ชุมชนสามารถดำเนินงานต่อได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญา Make REAL Change ที่พนักงานทุกคนยึดถือมาโดยตลอด

โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อาสาสมัครทีทีบีกว่า 20,000 คน ได้นำความรู้ความสามารถ เข้าช่วยเหลือชุมชนแล้วกว่า 260 ชุมชน เป็นจำนวน 262 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ มีช่องทางในการประกอบอาชีพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน การทำบัญชี เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรเหล่านั้นเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในปี 2567 นี้ เหล่าอาสาสมัครทีทีบี ยังคงมุ่งมั่นค้นหาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาสังคมต่อไป และเพื่อต่อยอดพร้อมทั้งส่งต่อความรู้สึกแห่งการให้แก่ผู้มีจิตอาสาภายนอกองค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่มากขึ้น จึงขอเชิญชวนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปัน ในกิจกรรม fai-fah for Communities ภายใต้แคมเปญ “ขอ 1 วัน ใน 1 ปี มาทำอะไรดี ๆ ด้วยกัน” กับ “ฝาขวด...รักษ์โลก” โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยน...ขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดขยะพลาสติก ลดมลพิษ และสร้างคุณค่าให้แก่ฝาขวดพลาสติกสามารถนำไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยฝาขวดน้ำพลาสติกที่ได้รับจะนำไปรีไซเคิลเปลี่ยนเป็นโต๊ะ เก้าอี้เพื่ออุปกรณ์การเรียน เครื่องดนตรี บล็อกปูพื้นถนน ฯลฯ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาศาสตร์ และโครงการกรีนโรด จังหวัดลำพูน ก่อนนำไปมอบให้น้องนักเรียนที่ขาดแคลนต่อไป” นางประภาศิริ กล่าว

ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาสาสมัครทีทีบี สามารถส่งฝาขวดมาได้ที่ โครงการอาสาช่วยกันทำ ที่อยู่ 1/31 ซ.เพิ่มสิน 39 แขวงออเงิน เขตสายไหม กทม. 10220

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้จ่ายในยุค “ดิจิทัล” ทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้น ช่วยให้กลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่าง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้แนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หลังเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในทองคำมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังซึ่งส่งผลบวกต่อการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ทองคำมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากขึ้น แนะภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเครื่องมือทางการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนสูงขึ้นจากปกติราว 6-7% เป็น 9-10% ซึ่งผันผวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสกุลเงินภูมิภาค ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากช่วงต้นไตรมาส 3 ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ แข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 (MTD) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.3% (YTD)

ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับเพิ่มมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ผันผวนและกำลังเป็นขาขึ้นจนพุ่งสูงถึง 21% จากต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 2,492 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 3 กันยายน 2567) ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยหากเทียบความผันผวนของราคาทองคำในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2558-2562) พบว่าราคาทองคำมีความผันผวนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,000 – 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จึงเป็นสาเหตุให้ผลตอบแทนของค่าเงินบาทถูกอธิบายด้วยผลตอบแทนราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น โดย ttb analytics มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรทองคำของคนไทย

ไทยมีปริมาณการค้าทองคำเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และมีสัดส่วนเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 2.5% ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งหากเทียบปริมาณการส่งออกทองคำกลุ่มดังกล่าวกับมูลค่า GDP ของไทยในช่วง 2 ปีหลัง จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.3% สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ไม่รวมเงินทุนสำรอง (Non-Monetary Gold) ของไทยที่ค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทองคำเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ทองคำมายาวนาน โดยตลาดในประเทศที่ยังนิยมการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาททั้งจากร้านค้าทองคำ (ขายฝาก) และระบบซื้อขายออนไลน์ ขณะที่บางส่วนเป็นธุรกรรมซื้อขายทองคำออนไลน์ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดการเงินโดยตรง จึงทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง และการซื้อขายทองคำโลกส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ หากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นสูง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะขายทองคำเพื่อทำกำไร ส่งผลให้มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับลดลง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะซื้อทองคำ และทำให้เกิดธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายทองคำโลกในช่วงเวลากลางวันของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทยยิ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัย

2) มุมมองต่อการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นในช่วงหลังช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ทองคำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากขึ้น โดยราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความผันผวน จากการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน และจากคุณสมบัติการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงความต้องการทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

3) ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเปราะบางมากขึ้น

นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทยก็กลับมาแข็งแกร่งมาโดยตลอด สะท้อนจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงติดต่อกันมายาวนานเฉลี่ย 4-10% ต่อ GDP อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 กลับยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งเช่นในอดีต เมื่อประกอบกับภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูงต่อไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำจะยังคงส่งผลเพิ่มเติมต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

กล่าวโดยสรุป จากพฤติกรรมการลงทุนทองคำของไทย ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนอยู่ในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) พร้อมตอกย้ำความเป็นพันธมิตรและที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ลูกค้าไว้วางใจ ในการสนับสนุนสินเชื่อระยะยาว และโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจร ให้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นำโดย นายอเล็กซานเดอร์ นนท์ แลงเฟลด์ (ที่ 3 จากซ้าย) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต และนางชนมาศ ศาสนนันทน์ (ที่ 2 จากซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โดยทีทีบี ได้สนับสนุนสินเชื่อทางธุรกิจระยะยาว รวมวงเงิน 3,000 ล้านบาท และโซลูชันทางการเงิน ให้แก่ บริษัทไทยออยล์ เพื่อให้แผนการดำเนินธุรกิจตอบสนองต่อทิศทางในอนาคตที่มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดและการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ตามแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีความพร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจและแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโลก (Mega Trend) เพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนระดับองค์กร 100 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”

ทีทีบีมุ่งมั่นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในอุตสาหกรรมหลักอย่างครบวงจร และพร้อมเคียงข้างสนับสนุนให้ลูกค้าธุรกิจสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ ก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

จัดโปรโมชันพิเศษช้อป 10,000.- รับส่วนลด 200 บาท ขยายโปรโมชันผ่อน 0% ทุกชิ้นทั้งร้าน

Page 1 of 63
X

Right Click

No right click