September 19, 2024

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) ประกาศความสำเร็จคว้า 3 รางวัลความเป็นเลิศด้านทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย ได้แก่ รางวัลสรรหาบุคลากรยอดเยี่ยม ระดับ Gold (Excellence in Talent Acquisition) รางวัลกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนรวมยอดเยี่ยม ระดับ Silver (Excellence in Total Rewards Strategy) และรางวัลยอดเยี่ยมด้าน AI โซลูชันสำหรับทรัพยากรบุคคล ระดับ Bronze (Excellence in AI-Powered HR Solutions) จากเวที HR Excellence Awards Thailand 2024 ซึ่งจัดโดย Human Resources Online ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเชิดชูความสำเร็จขององค์กรที่มีกลยุทธ์และนวัตกรรมด้านการบริหารบุคลากรโดดเด่น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่ม SCBX ในการนำเทคโนโลยี AI มายกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะพนักงานขององค์กรให้สามารถอยู่ในกระแสความต้องการของโลกปัจจุบัน

นางพัตราภรณ์ สิโรดม Chief Talent Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวว่า “SCBX มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างแท้จริง หรือ AI-first Organization การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เราจึงมีการประยุกต์นำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อช่วยยกระดับกระบวนการทำงานด้าน HR ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยโซลูชันที่ช่วยเฟ้นหาบุคลากรที่เหมาะสมกับองค์กร ลดเวลาและต้นทุนการทำธุรกิจ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพื่อรักษาและดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ (Talent) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง โดยภายในสิ้นปี 2024 พนักงานกว่า 80% ขององค์กรต้องมีความเข้าใจพื้นฐานด้าน AI จึงได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์และสื่อการฝึกอบรมด้าน AI ให้กับพนักงาน รวมถึงบริษัทยังสนับสนุนเครื่องมือ AI ให้กับพนักงาน เพื่อปลูกฝังและสร้าง AI Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง AI อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการของโลกการทำงานแห่งอนาคต”

รางวัล HR Excellence Awards Thailand ประจำปี 2024 ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดโดย Human Resources Online ประเทศสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องความสำเร็จและนวัตกรรมที่โดดเด่นของบริษัทชั้นนำในประเทศไทยที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ยอดเยี่ยม ภายใต้ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการจัดการทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตัดสินจากหลักเกณฑ์ภายใต้ 38 หมวดหมู่ ครอบคลุมวิสัยทัศน์ เป้าหมายองค์กร การดำเนินธุรกิจ และแนวทางการพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรในมิติต่างๆ

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ประกาศวิสัยทัศน์ “AI for All Thais” ตอกย้ำความมุ่งมั่นเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรในประเทศไทยด้วยพลังแห่ง Generative AI อันล้ำสมัย ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างทักษะ เสริมขีดความสามารถ และสานต่อความมั่นคง ตอกย้ำพันธกิจของไมโครซอฟท์ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตและชีวิตที่ดีให้กับคนไทยและประเทศไทย 

12 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย จากการมาเยือนของนายสัตยา นาเดลลา ที่ได้ประกาศพันธสัญญาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในยุค AI และคลาวด์ ผสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในโครงการใหม่ๆ เพื่อยกระดับประเทศไทย และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน Datacenter region เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์จากไมโครซอฟท์ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น มอบเสถียรภาพและสมรรถนะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กรมากยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน 

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามายกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนไทยและประเทศไทย ทั้งภาคการศึกษา  
การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น พันธกิจที่เราได้ประกาศออกไปเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน AI และคลาวด์  
ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศไทย ประสบความสำเร็จในเวทีโลก จึงเป็นที่มาของการประกาศวิสัยทัศน์ “AI for All Thais” ด้วยเจตนารมณ์ที่จะมอบพลังและศักยภาพของ AI ให้คนไทย ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ สร้างทักษะ AI เสริมขีดความสามารถให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง และสานต่อความมั่นคงเพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งส่งเสริมอีโคซิสเท็มของ AI ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้” 

สร้างทักษะ 

เพื่อตอกย้ำความตั้งใจในการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ ไมโครซอฟท์ เตรียมเปิดตัวโครงการ ‘AI National Skill Initiative’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับคนไทย 1 ล้านคนภายในปีหน้า ผ่านหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นหลักสูตรภาษาไทยกว่า 80% ซึ่งออกแบบให้ครอบคลุมผู้ใช้งานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใช้งานทั่วไป ผู้บริหาร และนักพัฒนา เพื่อนำศักยภาพของ AI ไปประยุกต์ใช้เพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ด้วยฝีมือคนไทย  

เสริมขีดความสามารถ 

ไมโครซอฟท์ มุ่งมั่นเสริมศักยภาพให้กับคนไทยและองค์กรไทยได้รับประโยชน์จากขุมพลังอันไร้ขีดจำกัดของ AI เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในวงกว้างทั้งระดับบุคคลและองค์กร โดยในระดับบุคคล ไมโครซอฟท์ พร้อมขับเคลื่อนการใช้งาน AI ให้กับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ข้าราชการ และอีกมากมาย โดยเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงเครื่องมือและประสิทธิภาพของเครื่องมือและบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI อันหลากหลาย เช่น Copilot บน Windows และ Edge, Microsoft Designer บนแอปพลิเคชันและผ่านเว็บ, Cocreator และ Paint บน Windows 11, ฟีเจอร์ Reading progress ใน Microsoft Teams และ Reading immersive ใน Microsoft Words, GitHub Copilot รวมถึง  Copilot+ PC ยุคใหม่ของพีซีที่มอบสมรรถนะสูงสุดและคุณสมบัติการใช้งานที่ชาญฉลาดที่สุดบนแพลตฟอร์ม Windows  

ในระดับองค์กร ไมโครซอฟท์ ขับเคลื่อนการนำศักยภาพของ AI ที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก จนกลายเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรยุคใหม่ และช่วยรับมือความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก ด้วยนวัตกรรมโซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัว เพื่อให้ทุกภารกิจสำเร็จได้อย่างราบรื่น โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม 

สานต่อความมั่นคง 

ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องมี เพราะผู้ใช้ต้องเกิดความไว้วางใจก่อน จึงจะสามารถได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นๆ ซึ่งการทำงานด้านความปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยไมโครซอฟท์จะขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ เสริมทักษะด้านการใช้ AI เพื่อความปลอดภัยไซเบอร์ และแนวทางการใช้งาน AI อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ 

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย โดยส่งเสริมทักษะ AI และขยายการเข้าถึงเทคโนโลยี และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์จากศักยภาพ AI ที่พัฒนาไปอย่างก้าวล้ำในระดับโลก และสนับสนุนทุกคนและทุกองค์กรในประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไปพร้อมกัน 

 

Artificial Intelligence (AI) กำลังพลิกโฉมในทุกแวดวง แม้กระทั่งวงการสาธารณสุข เมื่อเร็ว ๆ นี้ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการแพทย์ (Healthcare Provider) ดำเนินกิจการที่ประกอบด้วยเครือโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เปิดเผยถึงการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI และ ML ร่วมกับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการในทุกมิติ ในขณะเดียวกัน เล็งเห็นว่าการจะใช้งานนวัตกรรมเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนา User Adoption ทั้งกับบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการ

OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP ขอนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์บางส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมอภิปรายในหัวข้อ AI-Driven Innovation for Longevity ในงาน TMA Digital Dialogue 2024 ที่บอกเล่าศักยภาพของเทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ การปรับตัวของบุคลากรและผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ทักษะการใช้งาน, Mindset (วิธีคิด) และโครงสร้างของระบบ ว่าจะมีบทบาทและสนับสนุนความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร

ศักยภาพของ AI เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์

ผู้บริหารฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืนจากองค์กรผู้ให้บริการทางการแพทย์ กล่าวว่าในธุรกิจมีการใช้งาน AI ร่วมกับ IoT กลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่สนับสนุนการรักษามานานกว่า 20 ปี ทั้งในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการรักษา การวิจัย และฝึกอบรมบุคลากร (Simulation / Scenario Training) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก ทำให้เกิดปัจจัยที่ช่วยการเห็นภาพ (Visibility) ที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพิ่มความแม่นยำ และลดระยะเวลาในการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งในระยะหลัง AI ได้ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของข้อมูลทางด้านพันธุกรรม โดยช่วยอ่านค่าผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการ นำมาสู่ “แผนการรักษาและการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” (Personalized Medicine) ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ติดตัวแต่กำเนิด ข้อมูลเชิงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของบุคคลนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบ

 ความท้าทายและขอบเขตการมีส่วนร่วมของ AI

ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้ข้อมูลว่า AI ทางการแพทย์นั้น มีการพัฒนาและใช้งานมาหลายสิบปีแล้วในรูปแบบของ Machine Learning ตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ Healthcare API ที่ใช้ในการตรวจเบาหวานขึ้นจอประสาทตา สามารถอ่านผลเอ็กซเรย์เพื่อบ่งชี้ระดับอาการของโรคเพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งมีการนำมาทดสอบและใช้งานแล้วกับผู้ป่วยหลายหมื่นรายในประเทศไทย สำหรับการพัฒนาในรูปแบบ Generative AI จะอยู่บนพื้นฐานของการนำข้อมูลจำนวนมากมาใช้งานบน Large Language Models (LLMs) เพื่อให้ส่งคำตอบที่เป็นคำอธิบาย หรือสรุปใจความจากเอกสารมากมายที่ป้อนข้อมูลให้ มากกว่าตอบเพียงว่าใช่หรือไม่ ตัวอย่างเช่น รายงานของแพทย์

แน่นอนว่าความสามารถในระดับที่สร้างปรากฏการณ์นี้ ย่อมมีความท้าทายในหลาย ๆ ด้านตามมา เช่น ความรับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนบุคคล การด่วนสรุปและตัดสินใจด้วยข้อมูลจาก AI โดยขาดวิจารณญาณและการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบด้าน รวมถึงความเสี่ยงจากการใช้งานในทางที่ผิดจริยธรรม ฯลฯ ความท้าทายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผู้ใช้งานจะต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อหลักธรรมาภิบาลเพื่อป้องกันผลกระทบในภาพรวม

 ในแง่ขอบเขตการมีส่วนร่วม เมื่อมีการนำ AI ไปใช้งาน การตระหนักรู้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาท “เป็นส่วนหนึ่งกับมนุษย์และอาชีพต่าง ๆ” ไม่ว่าแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข หรืออาชีพใด ๆ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง โดยอาศัยการปรับมุมมองและวิธีคิดว่า AI จะไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์หรืออาชีพไหน แต่จะเข้ามาสนับสนุน และส่งเสริมความสามารถในการทำงานและการใช้ชีวิต (AI / Human-in-the-loop)

ส่งเสริมการเรียนรู้ เพิ่มทักษะให้ผู้ใช้งาน

ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้จากสถาบันอุดมศึกษา ให้มุมมองของ AI ต่อการเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเข้าสู่ตลาดแรงงานว่า นอกเหนือจากการที่ผู้เรียนจะต้องเพิ่มทักษะการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกวิธีแล้ว วิธีคิด (Mindset) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้ AI นั้นเกิดคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อองค์กร อนาคตหลาย ๆ องค์กรอาจจะไม่ได้เสาะหาคนเก่งในเชิงวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะหาคนที่ใช้ AI ได้เก่งและชำนาญด้วย เพราะจะนำมาซึ่งผลิตภาพ (Productivity) ทั้งในแง่มูลค่า ปริมาณ และเวลาที่มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทักษะทางด้าน “Prompt Engineering” จะกลายเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพื่อให้ชุดคำสั่งที่ป้อนเข้าสู่เครื่องมือ AI มีความชัดเจนตามโจทย์และวัตถุประสงค์ นำมาซึ่งคำตอบที่ต้องการครบถ้วน ได้คุณภาพ

ในแง่สถาบันการศึกษาเองก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ปรับโครงสร้างหลักสูตรทางวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้เหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ตัวอย่างหนึ่งของสถาบันพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ คือ การนำ AI มาใช้ฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้ช่วยสำหรับหัวข้อ เนื้อหาวิชาขั้นพื้นฐาน หรือกิจกรรมที่ต้องทำเป็นประจำ (Routine Task) เพื่อเพิ่มเวลาให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์กับเคสผู้ป่วยจริงมากขึ้น ยกระดับทักษะและการเรียนรู้โดยใช้เวลาที่สั้นลง

 ใช้งาน AI อย่างไร ให้เกิดความยั่งยืน

หนึ่งในปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการใช้งาน AI ในองค์กร ผ่านมุมมองของผู้บริหารฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วมและความไว้วางใจในเครื่องมือ AI ของเหล่าแพทย์และบุคลากร ซึ่งจะได้รับสิทธิในการทดสอบและประเมินว่าเครื่องมือ AI ประเภทไหนจากผู้พัฒนารายใดมีความเหมาะสม สามารถสนับสนุนการทำงานได้ตรงจุด และราบรื่นสอดรับกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน

ผู้พัฒนานวัตกรรมหลากหลายที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนา AI เพื่อธุรกิจที่มีแนวโน้มความต้องการใช้งานสูงขึ้นเรื่อย ๆ (Market Pull) ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพระดับประเทศ ยังไม่มีผลงานมากนักในระดับสากล แต่มีจุดเด่น คือ ความเป็นผู้ประกอบการที่มีไอเดีย มีมุมมองที่แตกต่าง มีทีมนักพัฒนาที่มีความสามารถ และแพสชั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ (Technology Push) ซึ่งเป็นส่วนที่ทดแทนกันได้ มีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืนในระยะยาว

ภาพรวมของเทคโนโลยี AI นั้นมีศักยภาพสูงในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ทั้งในแง่การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาใช้งานในทางที่เหมาะสมและยั่งยืนยังคงต้องอาศัยการพัฒนาทักษะและการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรทั้งผู้พัฒนาและผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ตลอดจนมีการปรับตัวของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบ ท้ายที่สุดแล้ว การสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้อย่างยั่งยืน

Meta ประกาศอัปเดตเวอร์ชันล่าสุดของ AI ของ Meta ได้แก่ ‘Llama 3.1’ (ลาม่า) ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) การเปิดตัวในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ Meta ในการส่งเสริมนวัตกรรมและความร่วมมือภายในชุมชน AI โดยการมอบเครื่องมือ AI ที่ล้ำสมัยมากขึ้นให้แก่นักพัฒนา นักวิจัย และธุรกิจต่างๆ 

การเปิดตัวได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้ 

 มีอะไรใหม่ใน Llama 3.1 

Llama 3.1 มาพร้อมกับโมเดล 8B และ 70B ซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดตัว Llama 3 405B ซึ่งเป็นโมเดลแบบโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ นำเสนอประสิทธิภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ใช้งานได้ง่าย และมีความสามารถมากกว่าที่เคย 

  • ประสิทธิภาพที่เหนือชั้น: เป็นเอไอระบบเปิดที่นำเสนอ ประสิทธิภาพของโมเดลไม่แพ้ระบบปิด (โคลสซอร์ส) ชั้นนำทั้งหมด 
  • เพิ่มภาษาที่รองรับ: เพิ่มภาษาที่ให้บริการถึง 9 ภาษา รวมถึงภาษาไทย 
  • ปรับปรุงความสามารถในการสนทนา: ขยายการรองรับความยาวเนื้อหามากถึง 128k ช่วยให้การโต้ตอบมีความหลากหลายมากขึ้น 
  • ให้เหตุผลได้น่าเชื่อถือมากขึ้น: จัดการกับงานที่ซับซ้อนด้วยความสามารถในการใช้เหตุผล (Reasoning) ที่ดีขึ้น 
  • การปรับปรุงระบบการทำงาน: รองรับการสร้างข้อมูลสังเคราะห์และการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโมเดล (Model distillation) 
  • AI ที่มีความรับผิดชอบ: องค์ประกอบด้านความปลอดภัยในระบบแบบใหม่ ช่วยให้เกิดการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ 
  • อีโคซิสเต็มที่เติบโต: พันธมิตรมากกว่า 30 รายมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนา Llama 3.1 ตั้งแต่เริ่มต้น 

หลังจาก Meta ได้เปิดตัวโมเดล Llama รุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 300 ล้านครั้ง และมีการพัฒนาโมเดลต่อยอดกว่า 20,000 โมเดลสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ปัจจุบัน Meta AI เป็นผู้นำทั้งในด้านความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในภาพรวม ที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความชาญฉลาด และเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคย 

  • ความคิดสร้างสรรค์: ฟีเจอร์ “Imagine Yourself” จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้ได้ปลดปล่อยจินตนาการของตนเอง ด้วยการสร้างรูปภาพตนเองขึ้นมาใหม่ได้ในทุกสถานการณ์ เครื่องมือแก้ไข AI ใหม่เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่งรูปภาพที่ Meta AI สร้างขึ้นได้อย่างละเอียด ทำให้ผู้ใช้สามารถเพิ่ม ลบ หรือเปลี่ยนองค์ประกอบในรูปได้ตามที่ต้องการ 
  • ความชาญฉลาดในการประมวลผล: Meta AI ช่วยให้ผู้ใช้รับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนได้อย่างง่ายดาย โดยจะได้รับผลลัพธ์หรือคำตอบที่แม่นยำขึ้นสำหรับปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ หรือการเขียนโค้ด รวมถึงจะได้รับประสบการณ์ AI ที่ดีขึ้น โดยมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องจากความคิดเห็นของผู้ใช้งาน 
  • การเข้าถึง: ขณะนี้ Meta กำลังนำ Meta AI เข้าไปใช้ในผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Meta เช่น WhatsApp, Facebook และอีกมากมาย การเพิ่มภาษาที่ให้บริการนั้นยังช่วยให้ Meta AI เข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยโมเดลแบบโอเพนซอร์สของLlama จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถปรับแต่งและฝึกฝนโมเดลของตนเอง รวมถึงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และช่วยพัฒนาระบบให้แข็งแกร่งได้ ทั้งนี้ทีม Meta กำลังเร่งการทำงานขยายฟีเจอร์ให้ใช้ในหลากหลายภูมิภาคต่อไป 

การขยายการรองรับภาษาไทยของ Llama 3.1 

ภายในงาน คุณราฟาเอล แฟรงเคิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Meta ได้กล่าวถึงแผนงานเกี่ยวกับ Llama 3.1 ในประเทศไทยไว้ว่า "Llama 3.1 อัปเดตล่าสุดของเรากำลังยกระดับมาตรฐานสำหรับโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สอีกครั้ง โดยการเปิดตัว Llama 3 405B ครั้งนี้นับเป็นการเปิดตัวโมเดลโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ Llama 3.1 ยังรวมถึงการอัปเดตโมเดล 8B และ 70B ซึ่งขณะนี้รองรับภาษาไทยแล้ว โมเดลโอเพนซอร์สนี้จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยได้มากขึ้น เราเชื่อว่า AI มีศักยภาพมากกว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่มนุษย์ รวมถึงยังช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมปลดล็อกความก้าวหน้าให้กับธุรกิจและชุมชนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย" 

นักพัฒนาสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้เพื่อเข้าถึงการใช้งานโมเดล Llama ได้ที่ https://llama.meta.com/  

ปลดล็อกโอกาสด้าน AI สำหรับธุรกิจและชุมชนในประเทศไทย 

นอกจาก Llama AI จะเพิ่มการรองรับภาษาไทยแล้ว Meta ยังจะจัดการอบรมและโครงการต่างๆ เพิ่มเติมและให้ทุนสนับสนุนมูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักพัฒนาและองค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย 

  1)  ทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants จาก Meta 
 
ทุนสนับสนุน Llama Impact Grants ของ Meta เป็นโปรแกรมระดับโลกที่เปิดรับข้อเสนอโครงการต่างๆ ที่ใช้ Llama AI และฟีเจอร์อื่นๆ ในโมเดล เพื่อเสริมสร้างผลกระทบทางสังคมและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) 

Meta เปิดรับสมัครสำหรับทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป องค์กรที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์สามารถส่งข้อเสนอโครงการที่เล่าถึงการใช้ Llama 3.1 ในการแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชนของตน โดยผู้ชนะที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการสูงสุดถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ การประกาศผู้ชนะคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปีพ.ศ. 2568 

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants ได้ที่นี่ และสมัครเข้าร่วมได้แล้ววันนี้ 

  2)  โครงการ AI Accelerator Program สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 
Meta จะจัดโครงการในระดับภูมิภาคเพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายสำหรับนักพัฒนา AI ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

หนึ่งในกิจกรรมอีกมากมายที่จะจัดขึ้นคือโครงการ AI Accelerator Program สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาคที่นักพัฒนา Llama จะส่งข้อเสนอโครงการที่แสดงให้เห็นว่า Llama AI สามารถใช้แก้ไขปัญหาสังคมในประเทศของตนได้อย่างไร ผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon ออนไลน์ในสิงคโปร์ เพื่อชิงทุนพิเศษสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยโครงการที่มีศักยภาพสูงสุดจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลพิเศษมูลค่าถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ 

ในประเทศไทย Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)AI Governance Clinic และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย  (AIAT)  เพื่อจัดการแข่งขันและคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศจำนวนหนึ่งรายเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคในสิงคโปร์ 

  3)  หลักสูตร AI สำหรับ SMEs ในประเทศไทย

Meta ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเปิดหลักสูตรการตลาดด้วย AI สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ 

นอกจากนี้ Meta จะจัดงานสัมมนาด้านการตลาด Meta Marketing Summit ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 800 รายเข้าร่วมงานเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือและบริการด้าน AI ของ Meta 

การจ้างบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI นั้นเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับนายจ้างชาวไทยกว่า 9 ใน 10 ราย แต่ 64% กลับประสบปัญหาในการสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ที่เพียงพอ สื่อให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนทักษะด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

 อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com ได้เผยแพร่การศึกษาล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถูกนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ บุคลากรไทยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI มีโอกาสเห็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างมากกว่า 41% โดยสองหมวดที่มีโอกาสเพิ่มรายได้สูงที่สุดคือพนักงานด้าน IT (54%) และด้านการดำเนินธุรกิจ (51%)

AWS ได้ร่วมมือกับบริษัท Access Partnership เพื่อทำการศึกษาในระดับภูมิภาคหัวข้อ “การยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI): การเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่งานแห่งอนาคต” เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการใช้งาน AI ที่กำลังเกิดขึ้นและทักษะที่เป็นที่ต้องการในองค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาค APAC ได้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการสำรวจพนักงานกว่า 1,600 คนและนายจ้าง 500 รายในประเทศไทย

 นอกจากโอกาสในการเพิ่มค่าจ้าง บุคลากรในประเทศไทยอีก 98% คาดว่าการเพิ่มทักษะด้าน AI จะส่งผลให้พวกเขามีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การเพิ่มความมั่นคงในอาชีพ และส่งเสริมความใฝ่รู้ให้แก่พวกเขา บุคลากรในประเทศไทย 95% ระบุถึงความสนใจในการพัฒนาทักษะ AI เพื่อโอกาสในการก้าวหน้าในสายงานอาชีพไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอายุรุ่นไหน ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าบุคลากร 93% ในกลุ่ม Gen Z 95% ในกลุ่ม Gen Y และอีก 95% ในกลุ่ม Gen X รายงานถึงความต้องการเรียนรู้ทักษะด้าน AI ในขณะที่ 97% ในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักอยู่ในช่วงเกษียณอายุแล้ว กลับรายงานว่าพวกเขาสนใจจะลงทะเบียนในหลักสูตรเพื่อยกระดับทักษะด้าน AI หากได้รับโอกาส

ผลการศึกษายังพบว่าประสิทธิผลที่ได้รับจากบุคลากรไทยที่มีความพร้อมด้านทักษะ AI นั้นอาจมีมากอย่างมหาศาล ผลสำรวจจากนายจ้างคาดว่าประสิทธิภาพขององค์กรจะเพิ่มขึ้น 58% เนื่องจากเทคโนโลยี AI สามารถพัฒนาการสื่อสารได้ถึง 66% ปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ 65% และส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ถึง 60% นอกจากนี้ จากผลสำรวจบุคลากรเชื่อว่า AI สามารถยกระดับประสิทธิผลในการทำงานของตนเองได้มากถึง 56% อีกด้วย

องค์กรในประเทศไทยเดินหน้าเต็มที่กับ AI

พัฒนาการของ AI ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 98% ของนายจ้างมองว่าบริษัทของตนจะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายในปี 2571 ในขณะที่นายจ้างส่วนใหญ่ (97%) เชื่อว่าแผนก IT จะได้รับประโยชน์มากที่สุด พวกเขายังมองว่าแผนกอื่น ๆ นั้นสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงฝ่ายวิจัยและพัฒนา (95%) ฝ่ายการเงิน (95%) ฝ่ายการดำเนินธุรกิจ (94%) ฝ่ายขายและการตลาด (93%) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (91%) และฝ่ายกฎหมาย (90%)

อภินิต คาอุล ผู้อำนวยการบริษัท Access Partnership กล่าวว่า “คลื่นยุคใหม่แห่ง AI กำลังขยายตัวทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมไปถึงประเทศไทย และกำลังเปลี่ยนวิธีดำเนินธุรกิจและวิธีการทำงานในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ผลการศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่าสังคมโดยรวมจะได้รับผลประโยชน์จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นสำหรับบุคลากรในไทยที่มีทักษะ และด้วยจำนวนองค์กรที่คาดว่าจะใช้โซลูชันและเครื่องมือ AI เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้นายจ้างและภาครัฐต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับความก้าวหน้าของ AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

Generative AI เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ AI ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาและไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา นิยาย รูปภาพ วิดีโอ เพลง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีนี้ได้พลิกโฉมการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 98% ของนายจ้างและลูกจ้างในผลสำรวจคาดว่าจะมีการนำเครื่องมือด้าน Generative AI มาใช้ในที่ทำงานภายในห้าปีข้างหน้า โดยมีนายจ้างจำนวน 74% มองว่าการ ‘เพิ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์’ จะเป็นประโยชน์อันดับแรกที่องค์กรจะได้รับ ตามด้วยการปรับงานซ้ำซ้อนให้เป็นระบบอัตโนมัติอีก 66% และการสนับสนุนการเรียนรู้อีก 62%

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ประจำ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า “Generative AI มอบโอกาสพลิกโฉมธุรกิจในประเทศไทยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และผลการศึกษาในครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในอนาคตด้านทักษะ AI สำหรับพนักงานอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ปรับตัวใช้ AI อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่บริการทางการเงินไปจนถึงการก่อสร้าง การค้าปลีก หรือแม้แต่ภาครัฐที่มุ่งเน้นพัฒนานโยบายด้านการส่งเสริม AI จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานที่มีทักษะด้าน AI ถึงมีความสำคัญในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงานในประเทศไทย ที่ AWS เราได้ช่วยองค์กรต่าง ๆ เช่น DailiTech ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย ในการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตแห่งยุค Generative AI”

 ดร.วิชญ์ เนียรนาทตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท DailiTech กล่าวว่า "การฝึกอบรมบุคลากรของเราให้มีความพร้อมด้านทักษะ AI และ Generative AI เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้มาใช้ในธุรกิจของเราให้เกิด transformation อย่างแท้จริง ที่ DailiTech เราได้พัฒนา framework ในการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลูกค้าของเรา launch นวัตกรรมใหม่ ๆ สู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น"

ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนด้านทักษะ AI ในประเทศไทย

ผลการศึกษานี้เปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนทักษะด้าน AI ในบุคลากรไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อปลดล็อกศักยภาพและประโยชน์ของ AI ได้อย่างเต็มรูปแบบ การจ้างบุคลากรที่มีความพร้อมในทักษะ AI ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ในกลุ่มนายจ้างไทยเก้าในสิบราย (94%) โดย 64% ในนี้ระบุว่าไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ AI ตามที่พวกเขาต้องการได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้เห็นถึงช่องว่างด้านการฝึกอบรม โดย 89% ของนายจ้างระบุว่าพวกเขาไม่รู้วิธีการดำเนินโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI และพนักงานอีก 81% กล่าวว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าทักษะด้าน AI จะเป็นประโยชน์แก่สายอาชีพใดได้บ้าง

ผลการศึกษาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการศึกษา เพื่อช่วยให้นายจ้างไทยสามารถดำเนินโครงการฝึกอบรม AI และแนะแนวทางให้แก่พนักงานของตนได้ เพื่อจับคู่ทักษะและความสามารถด้าน AI ของบุคลากรกับตำแหน่งที่เหมาะสมภายในองค์กรได้

เจฟฟ์ เพย์น กรรมการผู้จัดการ Asia Internet Coalition กล่าวว่า “ผลรายงานนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงนำพลังแห่งเทคโนโลยี AI มาปรับใช้อยู่เรื่อย ๆ ในการพลิกโฉมวิธีการทำงานและดัดแปลงให้เข้ากับชีวิตประจำวัน ภาครัฐเองก็มีโอกาสในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าผ่านนโยบายที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในอนาคต

ดร. รูพา ชาญดา ผู้อำนวยการกองการค้า การลงทุน และนวัตกรรม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การฝึกอบรมบุคลากรในด้าน AI ที่ตั้งอยู่บนกรอบและหลักการที่มีจรรยาบรรณไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเชิงกลยุทธ์ แต่เป็นภารกิจสำคัญสำหรับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก รายงานนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมบุคลากรให้มีความพร้อมด้านทักษะ AI เพื่อรองรับงานในอนาคตที่มีความท้าทายใหม่ ๆ รวมไปถึงความพร้อมเปิดรับโอกาสในการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเสมอภาค ตลอดจนนวัตกรรมที่ครอบคลุม”

 เร่งการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลในประเทศไทย

AWS ได้ฝึกอบรมผู้คนมาแล้วกว่า 50,000 คนในประเทศไทย ในทักษะด้านคลาวด์นับตั้งแต่ปี 2560 แต่ด้วยการนำเทคโนโลยีที่พึ่งพาระบบคลาวด์ในการใช้งานเช่น AI มาใช้อย่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะบุคลากรในวงกว้าง เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตได้ในอนาคตแห่งยุค AI

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัท Amazon ได้เปิดตัวโครงการ ‘AI Ready’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ AWS มี ในการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้กับผู้คนจำนวน 29 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2568 แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการ ‘AI Ready’ มอบหลักสูตรฝึกอบรมด้าน AI และ Generative AI แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เหมาะกับผู้เรียนไม่ว่าจะต้องการเน้นทักษะเทคนิคเฉพาะทางหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเสริมสร้างทักษะด้าน AI ในแบบที่ต้องการ โครงการนี้ยังไม่รวมหลักสูตรอบรมและเนื้อหาการเรียนการสอนด้าน AI แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning : ML) และ Generative AI อีกกว่า 100 รายการที่ AWS มอบให้ผ่านช่องทาง AWS Skills Builder และ AWS Educate ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้บนระบบดิจิทัลของเรา เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นสูง ล่าสุด AWS ได้มีการประกาศนวัตกรรม Generative AI ใหม่ ภายในงาน AWS re:Invent 2023 อย่าง Amazon Q ซึ่งเป็นผู้ช่วยรูปแบบ Generative AI ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจได้อย่างง่ายดาย

 

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click