ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับโครงสร้างภาคเกษตร ปรับเปลี่ยนจากเกษตรรูปแบบเดิมมาสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่ยั่งยืน ให้เป็นแหล่งจ้างงานสร้างอาชีพอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ยั่งยืน และสามารถประกอบอาชีพอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเองได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยแนวทางสำคัญในการพัฒนาไปสู่แนวทางเกษตรสมัยใหม่ คือ การบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิต รวมทั้งการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย
ทบทวนกลยุทธ์และปรับโครงสร้าง เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 เป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องกลับมาทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่มีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเอกชนและประชาชน รวมไปถึงการพิจารณาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และโครงสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ทั้งความมั่นคงด้านสุขภาพและด้านอาหาร เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศ พร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างสำคัญที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน ได้แก่
1) ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ปรับมารับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ ไม่เปิดโอกาสให้มีการรุกล้ำพื้นที่จนเกิดความเสื่อมโทรม และดูแลสิ่งแวดล้อม
2) ระบบการศึกษา ปรับปรุงระบบการศึกษา หลักสูตร และสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการศึกษายุคใหม่
3) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ภาครัฐควรผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
4) การบริหารจัดการน้ำ ปัญหาภัยแล้งรุนแรงสลับกับน้ำท่วมยังเป็นวิกฤตของประเทศมายาวนาน ส่งผลต่อความยากจนและการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก การดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการทำเกษตร
5) โอกาสจากความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านแรงงาน รวมถึงการพัฒนาสินค้าและบริการของไทย สิ่งสำคัญคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การบริหารจัดการน้ำ ช่วยคนไทยกลับบ้านเกิด
การพิจารณาการปรับโครงสร้างต่าง ๆ จำเป็นจะต้องยึดหลักและจัดตามความต้องการของประชาชน เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เริ่มตั้งแต่การจัดสรรน้ำ น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาน้ำท่วม หรือการขาดแคลนน้ำ แต่ต้องเป็นน้ำที่ใช้ เพื่อจะได้มีการกระจายให้เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกสิ่งสำคัญคือต้องยึดเป้าหมาย และปรับฟังก์ชั่นให้ตรงกับเป้าหมาย รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ ปัจจุบันมีประชาชนที่เคยอยู่ในธุรกิจบริการและกลับไปภูมิลำเนาเดิม เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีต้นทุนที่ดีเรื่องอาหารและการเกษตร ดังนั้น หากทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างจุดแข็งในเรื่องการเกษตรและควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น
“วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนโครงสร้างทางการเกษตรของไทย เมื่อคนรุ่นใหม่กลับต่างจังหวัด ใช้เทคโนโลยีทำเกษตรสมัยใหม่ควบคู่กับการจัดการน้ำ พัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ขายของออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอาชีพให้ประชาชนเพื่อสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองให้ได้โดยเร็ว เช่น การพัฒนาสินค้าการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อ สร้างโอกาสการค้าขายออนไลน์ เป็นต้น”
เกษตรสมัยใหม่ รู้จักจัดการน้ำควบคู่ใช้เทคโนโลยี
ในช่วงที่ผ่านมา เอสซีจีพยายามผลักดันเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ จ.ลำปาง ที่เอสซีจีเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการทำเกษตรประณีตซึ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่มากและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า สามารถพึ่งพาตัวเองด้วยการนำองค์ความรู้ต่างๆ ในการเกษตรมาบริหารจัดการเกษตรสมัยใหม่และพัฒนาผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันชุมชนบ้านสาแพะเหนือสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่คนในชุมชน 40-50 ครอบครัวสามารถปลดหนี้และมีเงินกองทุนของชุมชนกว่า 10 ล้านบาท
บ้านสาแพะเหนือ พลิกชีวิตและเศรษฐกิจจากการจัดการน้ำ นายธีระพงษ์ กลิ่นฟุ้ง ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ เล่าว่า ชุมชนเคยประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอเพื่อทำการเกษตร โดยแนวทางแก้ปัญหาเริ่มจากการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ ก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนลงมือแก้ไข และให้พี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมาแนะนำ ได้แก่ เอสซีจี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากนั้นจึงวางแผนแก้ปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นไม้ ควบคู่กับการดูแลรักษาป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำตามเส้นทางน้ำจากอ่างห้วยแก้ว สร้างแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ป้องกันตะกอนไหลลงสู่แหล่งเก็บน้ำ เพื่อเอาน้ำเก็บไว้ใช้ทำเกษตรในฤดูแล้ง
การใช้น้ำหมุนเวียนของลุ่มน้ำห้วยแก้วมี 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกคือ น้ำที่กระจายจากบ่อพวงคอนกรีต เข้าพื้นที่เกษตรรอบบ่อพวงแล้ว จะไหลลงไปในลำห้วยที่อยู่รอบข้างแปลงเกษตรทำให้ชุมชนสามารถสูบน้ำจากลำห้วยกลับขึ้นมาใช้ในแปลงได้อีก ส่วนอีกหนึ่งรูปแบบใช้น้ำในลำห้วยแก้วบริเวณตอนล่าง (พื้นที่ทุ่งหลวง) จะถูกสูบน้ำขึ้นมาใช้บริเวณพื้นที่เกษตรทุ่งหลวง และด้วยพื้นที่เป็นแบบเทลาดลง ทำให้น้ำไหลตามร่องน้ำและพื้นที่เทลาดไหลกลับลงมาในลำห้วยอีกครั้ง ในลำห้วยจะมีวังเก็บน้ำที่ชุมชนขุดไว้ ก่อนฝายใต้ทราย (ดิน) แต่ละจุดสามารถสูบน้ำขึ้นไปใช้ทำการเกษตรด้านบนได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนน้ำใช้ทำเกษตรได้หลายรอบ
ปัจจุบันบ้านสาแพะเหนือ เป็นชุมชนเกษตรกรรม 100% ทำการเกษตรตลอดทั้งปี ซึ่งการมีน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้ได้ผลผลิตดีมีราคาสูงขึ้น และสามารถต่อยอดการเพาะปลูกไปยังพืชผักอื่น ๆ แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยชุมชนได้เรียนรู้เรื่องน้ำหมุนเวียนในหลายระบบ และทำระบบให้ต่อกันมีการหมุนเวียนการใช้น้ำ 6-7 รอบ ถือเป็นการพลิกฟื้นชุมชนให้รอดแล้งและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน