January 22, 2025

CMMU แนะ 3 ปัจจัย ช่วยรัฐปลุกดัชนีความเชื่อมั่น“นักท่องเที่ยวไทย-เทศ” ย้ำการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีน หนุนทุกธุรกิจยั่งยืน

July 18, 2021 1759

 

นักวิชาการด้านธุรกิจระหว่างประเทศและการจัดการความหลากหลาย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แนะทุกหน่วยงานช่วยรัฐเสริมความเข้มแข็งประเทศใน 3 ปัจจัย

รับแผนนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศรับไตรมาส 3  ดังนี้ 1) ส่งเสริมการจับจ่าย-ท่องเที่ยวในประเทศ (Domestic Tourism)  2) เชื่อมการท่องเที่ยวอาเซียนด้วยดิจิทัลโรดแมป (Digital Roadmap) 3) สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศและประชากรไทย พร้อมย้ำการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ช่วยหนุนธุรกิจอีกจำนวนมาก นอกเหนือจากธุรกิจท่องเที่ยวให้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

 

รศ. ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา นักวิชาการด้านธุรกิจระหว่างประเทศและการจัดการความ​หลากหลาย​​ วิทยาลัยการจัดการ ​มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้ประสานงานกลาง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจมีแนวโน้มเกิดการระบาดระลอก 4 รวมถึงแผนนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้น ประเทศต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเสริมความเข้มแข็งประเทศใน 3 ปัจจัย ดังนี้

  • ส่งเสริมการจับจ่าย-ท่องเที่ยวในประเทศ (Domestic Tourism) เมื่อผ่านขั้นตอนของการให้บริการวัคซีนแล้ว ประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่สามารถเดินทางได้ย่อมมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยควรวางกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวภายในประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ งดเว้นการกักตัวกรณีเดินทางข้ามจังหวัด หรือเลือกโชว์พาสปอร์ตท่องเที่ยวทดแทนการกักตัว ในกรณีที่มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยัน เช่น การรับวัคซีนครบโดส หรือมีส่วนลดพิเศษสำหรับค่าเดินทางด้วยเครื่องบิน โรงแรม กรณีท่องเที่ยวในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่กำหนดสำหรับผู้รับวัคซีนครบ ฯลฯ อันก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่ชุมชน ก่อนจะขยายวงกว้างไปยังระดับจังหวัดและประเทศเป็นลำดับ
  • เชื่อมการท่องเที่ยวอาเซียนด้วยดิจิทัลโรดแมป (Digital Roadmap) กรณีที่ภาพรวมสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต ประเทศควรกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค โดยเริ่มจากระดับเมืองต่อเมือง มากกว่าประเทศต่อประเทศ เพราะการควบคุมทำได้ยาก โดยประสานไปยังเมืองต้นทางนั้นๆ ระบุถึงกฎการเดินทางอย่างชัดเจน เพื่อขยายความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ ผ่านการใช้ ‘Digital Roadmap’ โรดแมปขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประชาคมอาเซียนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่าง ‘Digital Tourist’ การนำระบบ Digital Vaccine Passport มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สู่การสร้างคลังข้อมูลนักท่องเที่ยว (Big Data) เพื่อให้หน่วยงานในประเทศต่างๆ สามารถติดตามหรือตรวจสอบได้ ทั้งประวัติการเดินทาง ประวัติสุขภาพ การรับวัคซีน ฯลฯ
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างเทศและประชากรไทยผ่านการใช้นวัตกรรมและการสื่อสารข้อมูล เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้ย่อมเกิดจาก ความเชื่อมั่นในหมู่นักท่องเที่ยวและประชากรไทยที่มีต่อการนำนวัตกรรมที่ลดกระบวนการติดต่อระหว่างบุคคลในเมืองหรือประเทศนั้นๆ ว่าเมื่อตัดสินใจเดินทางแล้วจะได้รับความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูล โดยเฉพาะการรายงานเรื่อง ‘วัคซีน’ ทั้งในมิติวัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพ แผนการนำเข้า-จัดสรรวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ สถิติผู้เข้ารับวัคซีนของแต่ละจังหวัด ฯลฯ ซึ่งควรจัดสรรการให้บริการวัคซีนตามเป้าที่ระบุไว้คือ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ครอบคลุม 70% ของประชากรโดยแท้จริงภายในสิ้นปี 2564

อย่างไรก็ดี จากสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับตามมาตรฐานด้านสุขภาพสูงสุด ระบุว่า “ตามรัฐธรรมนูญขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี พ.ศ.2489 ทุกประเทศในโลกได้ร่วมทำข้อตกลงระหว่างประเทศและร่วมมือกับรัฐบาล ในการจัดการสิทธิด้านสุขภาพให้ประชากรทั่วโลกมีสุขภาพที่แข็งแรง รวมทั้งกำหนดหน้าที่รับผิดชอบนอกอาณาเขตสำหรับความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ” ดังนั้น ในสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนและความมั่นคงให้ประเทศ และหากพิจารณาจะพบว่า การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ เพราะเมื่อทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสตามจำนวนแล้ว จะช่วยเสริมสร้างรากฐานความแข็งแรง และต่อยอดสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศต่อไปในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน กล่าวคือ “ทุกคนมีสิทธิพึงได้วัคซีนอย่างเท่าเทียม” รศ. ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

X

Right Click

No right click