November 21, 2024

จับชีพจรคนไทย (ต้อง)ไปต่อให้ได้ ในวันที่โควิดยังครองเมือง

October 14, 2021 1963

ข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 ชี้ว่ามีคนไทยกว่า 32 ล้านราย

หรือประมาณ 49% ของประชากรทั้งประเทศ[1] ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สะท้อนสถานการณ์การรับมือมหาวิกฤตโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ความเป็นอยู่และการเอาตัวรอดจากผลกระทบของการระบาดครั้งใหญ่นี้คือสิ่งที่หลายคนอาจกำลังสงสัย

“ประคองตัว ไม่กลัวเปลี่ยนแปลง”

คุณเพียงใจ เพียงสกุล เจ้าของร้านอาหารเพียงใจ ในจังหวัดขอนแก่น เลือกลดจำนวนโต๊ะในร้านและเพิ่มการทำเดลิเวอรี่ สอดคล้องกับร้านอาหารอีกหลายๆ ร้านในพื้นที่ ที่ต้องปรับตัวให้ธุรกิจไปต่อได้ ในวันที่ลูกค้าต่างกังวลที่จะออกมากินอาหารนอกบ้าน

“จากการระบาดรอบเดือนเมษายน ยอดขายเราลดไปครึ่งหนึ่ง จริงๆ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย เคยหยุดร้านไปพักหนึ่งด้วย เพราะเราก็กลัว และยอดก็ตกมาก เลยหยุด ขอทำใจก่อน เราปรับลดจำนวนโต๊ะในร้านลง มีคำแนะนำให้ลูกค้าจองโต๊ะก่อน แต่ก็มีลูกค้าไม่มากที่ทำตามนั้น อย่างไรก็ดีตอนนี้โอกาสที่โต๊ะเต็มก็เกิดขึ้นน้อยมาก ตอนนี้ก็พยายามประคองร้านไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ ถ้าไม่มีระลอกใหม่ปลายปีก็คงดีขึ้น กลุ่มลูกค้าที่ร้านน่าจะมีกำลังซื้อ แต่ปัญหาหลักคือคนกลัว หรือไม่ออกจากบ้านมาทำงานหรือเรียนหนังสือ ต้องยอมรับว่าทุกร้านก็โดนกันหมด ร้านที่ขายดีมากๆ ก็ดูว่าคนยังเยอะ แต่ร้านก็บอกว่าน้อยลงชัดเจน ร้านระดับกลางถึงบนก็รับทำข้าวกล่อง หรือปรับตัวในรูปแบบต่างๆ แบบที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น มีระดับภัตตาคารมาขายอาหารสำเร็จรูป เน้น delivery (รัฐไม่ได้ห้ามนั่งกินที่ร้าน) หรือรับทำอาหารกล่อง”

เจ้าของธุรกิจร้านอาหารซึ่งเปิดมานานเกือบ 6 ปี เผยว่าเธอเชื่อมั่นว่าทางออกคือวัคซีนที่ต้องได้ฉีดทุกคน

“การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ ถ้ามีการฉีดทั่วถึงพอ เมื่อลูกค้าได้ฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งก็จะมั่นใจที่จะออกมา แต่อีกส่วนก็ยังคงไม่ออกอยู่ดี ต่างจังหวัดคนไม่แออัดเหมือนกทม. เพราะร้านไม่ได้ถูกปิด พนักงานที่ร้านเป็นนักศึกษาพาร์ทไทม์ ซึ่งเพิ่งได้คิวฉีดเข็มแรก แต่บางคนก็ยังกลัว เราก็พยายามกระตุ้นให้ไปฉีดวัคซีน ถ้ามีช่องทางเราก็พยายามติดต่อให้สำหรับคนที่ยังไม่ได้คิวฉีด วัคซีนคือทางออกเดียวเลย เราก็เฝ้ารอวันที่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนทุกคน”

นอกเหนือไปจากกิจการร้านอาหารที่เฟื่องฟูดังเดิม อีกสิ่งที่เธอคิดถึงไม่แพ้กันคือการได้กลับมาเจอหน้าคนที่รักอีกครั้ง

ในมุมส่วนตัว พี่มีสามีเป็นคนอิตาเลียน ซึ่งปกติจะเจอกันปีละ 3-4 ครั้ง แต่ตอนนี้ไม่ได้เจอกันมาเกือบจะสองปีแล้วตั้งแต่โควิดระบาด แม้ว่าช่วงนี้จะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ก็ต้องมากักตัวอีก 14 วัน ซึ่งเขาไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้น เพราะต้องทำงานด้วย เราจึงไม่ได้เจอกันเสียที ส่วนในมุมเจ้าของธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่พี่รักคือการได้พบปะผู้คน ได้จัดงานที่เพื่อนฝูง หุ้นส่วน หรือลูกน้องได้มาพบปะกัน มันคือสีสันของชีวิตที่ทำให้เรารู้ว่าเรามีกันและกันนะ พี่ก็รอวันนั้นอยู่เหมือนกัน มันคิดถึง

“ปรับตัวรอวันฟื้น ยืนอยู่บนวินัย”

เสียงจากนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คุณชยันต์ กุลวงศ์  เจ้าของบริษัทก่อสร้าง ระยองอินทาเนีย ในจังหวัดระยอง เผยว่าหลายโรงงานในพื้นที่ไม่ต้องหยุดชะงักเพราะมีวัคซีนช่วยเสริมเกราะความมั่นใจ

“วัคซีนช่วยได้เยอะมาก เพราะบางโรงงานมีนโยบายให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าไปทำงานในอนาคตได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเข้าในพื้นที่ของโรงงาน โดยวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และเนื่องจากการทำงานรับเหมาก่อนสร้างในเขตนิคมอุตสาหกรรมนั้นเป็นการทำงานของหลายบริษัทในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้นฉีดวัคซีนจึงทำให้บุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆมีความสบายใจและมั่นใจในการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องคอยระแวงระหว่างทำงานว่าจะติดโควิดหรือไม่ ถ้าหากติดโควิดก็สามารถลดความรุนแรงได้ และเนื่องจากบริษัทอยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้มและได้รับสิทธิ์ในการฉีดจากสำนักงานประกันสังคม จึงมีการรณรงค์ให้พนักงานและคนในองค์กรไปรับการฉีดวัคซีนขณะนี้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 90% ของบุคลากรทั้งหมด”

อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิด-19 กระทบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างมาก เพราะต้องรักษาวินัยในการเว้นระยะห่าง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

 

“ธุรกิจเราชะลอตัวอย่างมากเนื่องจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างในเขตนิคมอุตสาหกรรมเป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก บริษัทผู้ว่าจ้างหลายๆ โรงงานจึงได้มีการหยุดการทำงานเป็นระยะทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง โดยแผนการรับมือคือแบ่งกลุ่มการทำงานให้เล็กลง หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีคนติดเชื้อโควิดก็จะมีการจำกัดวงที่มีคนติดเชื้อโควิดดังกล่าวออกจากส่วนรวม นอกจากนี้ทีมงานความปลอดภัยและชีวอนามัยของบริษัทยังรณรงค์ในบุคลากรในบริษัทอยู่บ้าน และให้ความรู้ในการป้องกันตัวอย่างดีหากต้องมีธุระนอกบ้าน กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากถึงมากที่สุด ทางบริษัทผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาที่เข้าทำงานในพื้นที่ได้ตกลงกันให้มีการตรวจเป็นระยะก่อนเข้าทำงานในพื้นที่ และปรับแผนการทำงานให้ไม่เกิดความแออัดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงเน้นให้ความรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการชะลอหรือหยุดการทำงานในอนาคต”

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงสร้างผลกระทบอย่างหนัก คุณชยันต์ในฐานะหัวเรือใหญ่ของธุรกิจและหัวหน้าครอบครัว มองว่าต้องห้ามหมดหวัง โดยยังคงมองไปข้างหน้าสู่วันที่มีภูมิคุ้มกันหมู่

เราได้รับผลกระทบเยอะมาก เพราะกว่า 30% ของรายได้หายไป เนื่องจากมีการเลื่อนและชะลอการทำงานจากบริษัทผู้ว่าจ้างเป็นระยะเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ที่สำคัญไม่แพ้ผลกระทบต่อธุรกิจ คือเรื่องของการเลี้ยงดูครอบครัว เราในฐานะเสาหลักของบ้าน ซึ่งก็ไม่ต่างจากบุคลากรในบริษัทหลายๆ คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้เช่นกัน คือต้องหารายได้แต่ละเดือนให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ก็อยากมั่นใจ ว่าจะมีเงินเลี้ยงดูครอบครัว และที่สำคัญคือไม่เอาความเสี่ยงเข้าบ้านไปหาคนที่เรารักและห่วงใย ส่วนความหวังที่ธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้นั้นน่าจะเป็นช่วงไตรมาสหนึ่งของปี 2565 ผมเชื่อว่าภาครัฐควรเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากและเพียงพอต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก

“สร้างความสบายใจแก่กัน แม้ในวันที่ต้องลุยฝน”

คุณนฤมล ชมดอก Content provider และ Blogger เจ้าของ Go2AskAnne เพจพูดคุยเรื่องอาหารและ Fooducation เพจพื้นที่การเรียนรู้เรื่องอาหาร จากจังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย เชื่อว่าเราต่างมองหาความมั่นใจระหว่างกันและกัน ในวันที่ใครๆ ก็โหยหาการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน

“วันนี้ยังมีคนที่รอวัคซีน เขายังไม่ได้สักเข็ม ถ้าเขาจะออกไปกินข้าวนอกบ้าน เขาก็จะมองหาร้านที่ฉีดแล้ว เพราะแปลว่าโอกาสติดเชื้อน้อย จากที่พี่สัมผัส คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณนึงเลย เพราะเรายังอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีน หรือบางคนจ่ายเงินไปแล้ว เขาก็เลือกที่จะรอวัคซีนที่เขาจ่ายไปแล้ว ทุกคนมีทางเลือกของเขานะ แต่ที่ทุกคนต้องทำคือไม่อยู่เฉยๆ มีโอกาสได้ฉีด ก็ไปฉีด มันคือการป้องกันตัวเอง ไม่งั้นเราก็ไปไหนกันต่อไม่ได้ ถ้าถามพี่ เจ้าของร้านไหน ถ้าทางรัฐเรียกไปฉีด ก็ควรไปเลย ความปกติสุขมันรออยู่นะ เราต้องช่วยกัน ไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยงงอน”  

 

สำหรับคุณนฤมล ผู้มักต้องออกไปทำงานนอกสถานที่และพบปะคนมากหน้าหลายตา วัคซีนคือตัวขจัดความกลัว

“พี่ทำงานออนไลน์อยู่แล้ว ดังนั้น WFH ไม่เกิดปัญหาต่อการทำงานในฐานะ Content provider แต่สำหรับกลุ่มการรีวิวก็กระทบบ้าง สำหรับพี่ เราต้องมั่นใจว่าเราไปไหน เราจะไม่ไปติดโรคจากใคร และไม่ไปเอาโรคไปติดใคร วัคซีนคือความสบายใจ ถ้าเราทุกคนได้วัคซีนกันหมด ก็จะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ความกลัวหายไป เราต้องไม่กลัววัคซีน เมื่อมีโรคระบาด วัคซีนมันก็มา แล้วมันก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นปกติของมันแบบนี้อยู่แล้ว”

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้คนยังกลัววัคซีนคือข่าวปลอม ซึ่งคุณนฤมลมีประสบการณ์ตรงและกำลังปวดหัวอยู่ไม่น้อย

สังคมเราจำเป็นต้องจัดการ Fake news โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้อาจจะแยกแยะไม่ได้นะ ว่าอะไรจริงหรือเท็จ ตัวอย่างที่เราเจอกับตัวคือแม่ ซึ่งอยู่ชุมชนสวนดอก เสี่ยงนะ ควรฉีดวัคซีนที่สุด แต่แม่พี่เดินไปศูนย์ฉีดสองรอบแล้วเดินกลับ เพราะกลัว เขาเชื่อ Fake news ว่าฉีดวัคซีนแล้วอาจจะตาย จนตอนนี้คือต้องรอวัคซีนรอบใหม่ มันเหนื่อยนะ กับคนแบบเราที่อยากให้แม่ของเราแท้ๆ ปลอดภัย แต่ก็จะมีข่าวปลอมออกมาเพื่อ discredit วัคซีนอยู่ตลอด

ทว่าในวันที่พายุโควิดยังคงโหมกระหน่ำ คุณนฤมลยังคงคิดบวกเพราะเธอมองว่าชีวิตท่ามกลางโรคระบาดคือเรื่องปกติ

“ชีวิตเราคือการเดินทาง ถ้าฝนตกแต่เราอยากออกจากบ้าน ก็ต้องเลือกว่าจะติดอยู่กับบ้านเพราะไม่มีร่มหรือเสื้อกันฝนหรือเปล่า วัคซีนก็เหมือนร่มหรือสื้อกันฝน เราอาจจะเปียกนะ แต่เราออกจากบ้านได้แน่ๆ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์กว่าร้อยคนใน 23 ประเทศเชื่อว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่จะอยู่คู่ชีวิตเราเรื่อยไป ไม่ต่างไปจากโรคไข้หวัดที่เราแทบจะไม่หวั่นเพราะรู้ดีว่ามีหนทางในการป้องกัน[2] โดยหากสถานการณ์เป็นจริงตามที่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกคาดการณ์ เราทุกคนคงต้องเริ่มทำตัวให้คุ้นชินกับแนวทางการปกป้องสุขภาพของตนเองจากโควิด-19 ได้แก่ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก การหมั่นล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีน เพื่อให้ชีวิตของเราก้าวต่อไปได้อย่างมั่นใจ


[1] https://www.facebook.com/informationcovid19/photos/pcb.419289699689360/419288786356118

Nature survey; https://www.nature.com/articles/d41586-021-00396-2

X

Right Click

No right click