ผลการศึกษา Cisco ชี้ Staff ไทยเชื่อปัจจัยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจคืออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเชื่อถือได้

April 08, 2022 1738

รายงานดัชนีบรอดแบนด์ (Broadband Index) ฉบับล่าสุดของซิสโก้ชี้ว่า พนักงานในไทยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่การทำงานแบบไฮบริดยังคงเป็นบรรทัดฐานอย่างต่อเนื่องในปี 2565 

นอกจากนี้พนักงานเชื่อว่าการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเชื่อถือได้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ตามผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 60,000 คนใน 30 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน คุณภาพ และการใช้งาน 

การทำงานแบบไฮบริดต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูง

ความสำเร็จของการทำงานแบบไฮบริดขึ้นอยู่กับคุณภาพและความพร้อมใช้งานของอินเทอร์เน็ต โดยพนักงานราว 86% ระบุว่า บริการบรอดแบนด์จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงอย่างมากเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่นี้  นอกจากความต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังต้องการคุณภาพและเสถียรภาพการเชื่อมต่อในระดับสูงอีกด้วย โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 8 ใน 10 คน (87%) ระบุว่า เสถียรภาพและคุณภาพของการเชื่อมต่อบรอดแบนด์มีความสำคัญต่อผู้ใช้งาน  ความจำเป็นในการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พนักงานในไทย 9 ใน 10 คน ใช้การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่บ้านอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน  ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าใน 63% ของครัวเรือนในประเทศไทย มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเวลาเดียวกัน 3 คนขึ้นไป 

บุคลากรจำนวนมากที่ทำงานจากที่บ้านต้องการการเชื่อมต่อที่มากกว่าระดับพื้นฐานเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวและการทำงาน  และในการตอบสนองความต้องการด้านการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ พนักงานในไทยที่ตอบแบบสอบถามเกือบ 2 ใน 3 คน (64%) มีแผนที่จะอัพเกรดบริการอินเทอร์เน็ตในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “เนื่องจากการทำงานแบบไฮบริดยังคงเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสำหรับบุคลากรในไทย ดังนั้นการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และไว้ใจได้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บุคลากรทำงานจากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ที่ซิสโก้ เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าในกลุ่มผู้ให้บริการเพื่อจัดหาโครงสร้างพื้นฐานและบริการอินเทอร์เน็ตที่ดีเยี่ยม ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อเสริมสร้างความสำเร็จให้แก่บุคลากรที่ทำงานแบบไฮบริดทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยบุคลากรจะสามารถประสานงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม” 

สำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ปัจจุบัน บุคลากรในไทยกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) ใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้านเพื่อ WFH หรือทำธุรกิจส่วนตัว ดังนั้นการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะจะช่วยรองรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่ได้มีทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเทียบเท่ากับองค์กรขนาดใหญ่ 

ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมธุรกิจดิจิทัลรูปแบบใหม่เริ่มมีการขยายตัวและช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและเกื้อหนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม  ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมต่อบรอดแบนด์จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาของธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งข้อมูลจากภาครัฐระบุว่าเมื่อปีที่แล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ประมาณ 3.1 ล้านราย 

ความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อให้สามารถทำงานได้จากทุกที่ พนักงานจำเป็นที่จะต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายและแอปพลิเคชันของบริษัทจากภายนอกสำนักงาน และจะต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวจากที่ต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย ซึ่งเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายสาธารณะและเครือข่ายส่วนตัว  ทุกวันนี้พนักงานมีความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้นว่าความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานแบบไฮบริด เฉกเช่นเดียวกับความเร็วและเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ต โดย 76% ของบุคลากรในไทยที่ทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา หรือทำงานในรูปแบบไฮบริด ยินดีที่จะจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสำหรับการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่ปลอดภัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมาก 

ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

นอกเหนือจากโลกธุรกิจแล้ว การปรับปรุงคุณภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 87% เชื่อว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเชื่อถือได้นับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และ 88% เชื่อว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและเสริมสร้างประชากรให้มีการศึกษาที่ดี  นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยในสัดส่วนเดียวกัน (87%) ระบุว่า ทุกคนต้องสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม 

กาย ดีดริช รองประธานอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมทั่วโลกของซิสโก้ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 40% ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการที่ประชากรราว 3.4 พันล้านคนไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นในฐานะผู้นำด้านธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เราจะต้องร่วมมือกันและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง” 

ข้อมูลจากรายงานดัชนีบรอดแบนด์ของซิสโก้ตอกย้ำข้อกังวลใจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี (Digital Divide) โดย 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่า การเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่เชื่อถือได้และไม่แพงจนเกินไปจะกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนทั่วไป เพราะทุกวันนี้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อการเข้าถึงโอกาสในการทำงานและการศึกษา  นอกจากนี้ บุคลากรในไทยราว 3 ใน 4 คน (75%) ระบุว่า ตนเองไม่สามารถเข้าถึงบริการที่สำคัญๆ เช่น การนัดหมายทางออนไลน์เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล การศึกษาทางออนไลน์ บริการด้านการดูแลทางสังคมและสาธารณูปโภคในช่วงที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ โดยเป็นผลมาจากการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่ขาดเสถียรภาพ 

ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัล

ความจำเป็นในการให้บริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมภายใต้ความร่วมมือและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 87% อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนงานเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อถือได้  ทั้งนี้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายบรอดแบนด์และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการแข่งขันของผู้ให้บริการ กระตุ้นการลงทุนที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และขยายขอบเขตการเข้าถึง  นอกจากนั้น บริษัทและหน่วยงานต่างๆ อาจสนับสนุนบุคลากรด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบการทำงานไฮบริด  ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการอาจร่วมมือกับภาครัฐเพื่อดำเนินโครงการที่มุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตอย่างเพียงพอ รวมทั้งปรับใช้ระบบเครือข่ายรูปแบบใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตสำหรับอนาคต (‘Internet for the Future’) เพื่อรองรับการใช้งานอย่างทั่วถึง 

“ขณะที่ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้ใช้งานมีการปรับใช้รูปแบบการทำงานไฮบริดสำหรับอนาคตเพิ่มมากขึ้น องค์กรต่างๆ จึงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบครบวงจรเพื่อมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นไร้รอยต่อให้แก่ผู้ใช้งาน โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของการใช้งานแอปพลิเคชัน การตรวจสอบ การรักษาความปลอดภัย และการเชื่อมต่อ และซิสโก้มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่เอื้อประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง” ทวีวัฒน์กล่าวเพิ่มเติม

 

X

Right Click

No right click