รวมทั้งพบปะเกษตรกรเพื่อหารือเกี่ยวกับการทำนาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้ให้กับเกษตร รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแปลงนา ณ กลุ่มนาแปลงใหญ่ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
การเยี่ยมชมงานในครั้งนี้ ยังประกอบด้วย นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว
ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ส่งผลให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นโครงการไทย ไรซ์ นามา จึงมุ่งพัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาลดโลกร้อนให้แก่เกษตรกรตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
คณะฯ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมการสาธิตวิธีการและเทคนิคการปรับระดับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling -LLL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี 4 ป. หลักสำคัญของการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการแปรสภาพฟางข้าว และจัดการตอซังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี 4 ป. ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=xhsaQv6aptM) ซึ่งการปรับระดับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการปฏิบัติเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
เทคนิคการทำนาลดโลกร้อนที่โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรยังสอดคล้องกับ “ข้อตกลงกลาสโกว์” ในการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงในการเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608
โครงการไทย ไรซ์ นามา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility ซึ่งมีรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและ สหราชอาณาจักรเป็นผู้ให้ทุนหลัก ภายใต้การดำเนินงานโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของไทยใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 - สิงหาคม พ.ศ. 2566