นับเป็นความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง นอกจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการแล้วยังมีศิลปินที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความพร้อมให้ภูเก็ตมีความโดดเด่นและสร้างแต้มต่อในขั้นตอนการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้
นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินผู้มีบทบาทในการพัฒนาเทศกาล (Festival Economy) เพื่อให้ภูเก็ตผ่านการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 กล่าวถึงเทคนิคการพรีเซนต์งานว่า “การสื่อสารและความรู้สึกต้องถูกส่งออกไปพร้อมๆ กัน” ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มีความสำคัญพอๆ กัน เพราะผู้นำเสนออาจไม่รู้ว่าจะเจอผู้ฟังรูปแบบไหนบ้าง ดังนั้นหากเสนอเนื้อหาที่เข้มข้นและมีหลักการ แต่ผู้ฟังเป็นคนที่เข้าใจหลักการอยู่แล้ว ก็ต้องใส่ความรู้สึก (Feeling) เข้าไปผสม และความรู้สึกที่สื่อออกไปก็ต้องมีความจริงใจด้วย เพราะผู้ฟังรู้อยู่แล้วว่าอะไรคือการนำเสนอ สิ่งใดเป็นของจริง และสิ่งใดถูกแต่งขึ้นมา
นิมิตร สรุป 4 เทคนิคการสื่อสาร เพื่อให้ผู้พูดใช้เวลาตลอดการนำเสนอให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อผู้ฟังมากที่สุด ได้แก่
- ปล่อยวางทุกสิ่งที่เป็น “ความกังวล”
มองบรรยากาศโดยรวมเพื่อสร้างความเคยชิน พยายามผ่อนคลายตัวเอง หายใจสบายๆ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ คิด และให้ความสำคัญกับ “ผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้า” ว่าพวกเขาจะสามารถรับรู้สิ่งที่เราจะสื่อออกไปได้มากน้อยเพียงใด และดึงผู้ฟังให้เข้ามาอ่านความคิดเราทีละนิดแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าฝืนตัวเองด้วยการซ้อมพูดจับเวลา ว่าต้องได้ความเร็วในการพูดเท่านี้ หากทำเช่นนั้นจะทำให้เรากลายเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งค่ามาเพื่อพูดอย่างเดียว
หากเวลาไม่พอ ไม่ต้องฝืนพูดข้อมูลให้ครบถ้วนจนสร้างความกดดัน แต่สามารถนำบทสรุปนั้นมาขมวดปมในช่วงท้ายของการนำเสนอแทน เพราะด้วยธรรมชาติของผู้ฟังที่ระหว่างทางอาจไม่ได้เก็บข้อมูลทั้งหมด มักจะเก็บข้อมูลที่รวบยอดมาแล้ว
ส่วนการนำสไลด์หรือเพาเวอร์พอยท์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ จะทำให้ความรู้สึกร่วมระหว่างผู้พูดและผู้ฟังน้อยลง เพราะผู้ฟังจะโฟกัสเนื้อหาบนสไลด์แทน หากต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์จะต้องทำสไลด์ที่มีเพียงภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น เพื่อไม่ให้ข้อความที่พูดออกไปถูกลดทอนความสำคัญลง
- พูดผิดไม่เป็นไร แก้ใหม่รอบหน้า
ในกรณีเกิดความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูล สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ 2 อย่าง คือปล่อยผ่านไปโดยที่ไม่ได้กล่าวขอโทษ และแสดงออกให้ผู้ฟังรับรู้ว่าเรารู้ตัวว่าเราผิด หรือกล่าวขอโทษก็ได้ (ซึ่งอาจจะโดนมองว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพมากพอ) แต่แนะนำให้หยิบข้อมูลที่เตรียมมาใช้แก้ไขสิ่งที่พูดออกไปเมื่อครู่ ให้ดูเหมือนว่ายกบริบทแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอ หากทำเช่นนี้ผู้ฟังจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจของเรามากขึ้น
“สุดท้ายแล้ว การสื่อสารการตลาดก็เป็นการนำข้อมูลจากหลายๆ บริบทมาวิเคราะห์ให้เกิดผลลัพธ์ที่หลากหลายไม่ไปทางใดทางหนึ่งจนกลายเป็นความลำเอียง”
- พูดเปิดให้ปัง ไม่พังแน่นอน
สำหรับวิธีการควบคุมให้ผู้ฟังเทความสนใจมาที่เราตลอดการนำเสนอ สิ่งแรกที่จะสามารถดึงดูดได้คือ “วิธีการพูดเปิด” (Opening) โดยการพูดเปิดให้น่าสนใจจึงเป็นเรื่องที่ผู้พูดต้องทำการบ้านมากพอสมควรว่าจะเข้าเรื่องอย่างไรให้ผู้ฟัง อีกวิธีหนึ่งคือการเรียกร้องให้ผู้ฟังทั้งหมดจับจ้องมาที่เรา เช่น ใช้วิธีเงียบจนกว่าผู้ฟังจะมองมา เพื่อให้ทุกคนรับใจความสำคัญที่จะพูดต่อไปนี้ได้ทัน
- ผู้ฟัง เปรียบเหมือนครูคนใหม่
หลายคนคงจะกังวลเช่นกัน หากเราต้องไปนำเสนองานให้คนที่เก่งกว่า มีข้อมูลที่อาจจะแน่นกว่าเรา ให้เราระลึกไว้เลยว่าสิ่งที่เราจะพูดออกไป เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่เราศึกษามาเท่านั้น
“สิ่งที่เราได้รับมาอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่เรารู้ เป็นเพียงหนึ่งในร้อยวิชาเท่านั้น”
ที่สำคัญ คืออย่าแสดงส่วนที่บกพร่องออกไป เช่น การพูดขอโทษก่อน หรือพูดแก้ตัวก่อนว่าเราเป็นมือใหม่ เตรียมตัวไม่ดี ตรงนั้นอาจจะทำให้เราขาดความน่าเชื่อถือได้ สิ่งที่เราควรทำ คือการแสดงความนอบน้อม และยินดีเปิดรับทุกความคิดเห็นเพื่อนำมาต่อยอดในโอกาสหน้า
อย่างไรก็ตาม “การสื่อสาร” เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับผู้คนรอบข้างหรือผู้ฟังของเรา ต่อให้เรามีการเตรียมบทพูดที่ดีพร้อมมากเพียงใด มีสไลด์ที่จะนำเสนอน่าสนใจเพียงใด แต่ถ้าพูดไปโดยที่ไม่ได้สนใจคนฟัง ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ฟังรู้สึกอย่างไร ขาดการสบตากับผู้ฟัง สิ่งที่เราพูดออกไปก็จะกองไว้แค่ที่ตรงนั้น
ในขณะเดียวกัน หากเราสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ฟังมีความรู้สึกอย่างไร แววตาเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเตรียมมาทั้งหมดจะมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จมากกว่า เพราะว่ามันมีบทสนทนาหรือมีการเชื่อมความรู้สึกระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เมื่อเราสามารถดึงผู้ฟังเข้ามาในความคิดของเราได้ จะทำให้เราสามารถควบคุมและโน้มน้าวให้ผู้ฟังคล้อยตามเราได้เช่นกัน