January 22, 2025

ก้าวให้ทันโลก! กองทุน ววน. เปิดเวทีรับฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญเกาหลี มุ่งพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย

May 16, 2023 5942

สกสว. ร่วมมือ บพข. จัดสัมมนาเชิงนโยบาย “Technology Development in Thailand from Korean Perspectives: การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้” เพื่อพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงานสัมมนาเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.จยอง ฮ๊อบ ลี ที่ปรึกษาอาวุโส บพข. เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญเกาหลีใต้” โดยมี คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม สกสว. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประธานกรรมการบริหาร ผู้บริหารระดับสูง ของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) และประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจ (Strategic Agenda Team: SAT) เข้าร่วมการสัมมนา ดังกล่าว ณ โรงแรม วี กรุงเทพฯ

ศ. ดร.จยอง ฮ๊อบ ลี กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะสร้างมูลค่าสูง ล้วนต่างต้องพึ่งพาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยจึงมีความสำคัญในการข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่จำเป็นต้องวางแผน ขับเคลื่อน และมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (Collective System) ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนที่มีศักยภาพ การพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ โดยอาจเริ่มต้นจากการเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ พร้อมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีประสบการณ์ นำไปสู่การขยายกำลังการผลิตในการเพิ่มโอกาสของการพัฒนาตลาดและการสร้างงานที่เพิ่มขึ้น ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในลักษณะของกลุ่มความร่วมมือมากกว่าการพยายามพัฒนาเพียงองค์กรเดียว เพื่อนำไปสู่การแบ่งบันความรู้ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ดังที่มีการดำเนินการอยู่แล้วใน EECi และท้ายที่สุดได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น คือ 1) ประเทศไทยและเกาหลีอาจมีความร่วมมือในลักษณะของ strategic partner โดยเฉพาะความร่วมมือในอุตสาหกรรมสุขภาพร่วมกับการพัฒนาด้านดิจิทัล เพราะเป็นการผนวกศักยภาพของแต่ละประเทศไว้ด้วยกัน 2) การพัฒนาแบบ Collective System มากกว่าการพัฒนาแบบแยกส่วน (individual) และ 3) แนะนำ 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีสำหรับประเทศไทยอย่างมีกลยุทธ์

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับการพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยร่วมกับผู้บริหาร กสว. สกสว. สอวช. บพข.และประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ สกสว. เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ สกสว. ที่เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยยังต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดย BCG economy ยังเป็นประเด็นสำคัญที่เหมาะสมกับบริบทประเทศที่มีทรัพยากรที่หลากหลายและมีศักยภาพ แต่อาจต้องมีแนวทางการพัฒนาที่มองไปยังตลาดโลกมากขึ้น โดยแนวทางของการเลือกประเด็นสำคัญที่จะมุ้งเน้นอาจพิจารณาทั้งส่วนของความต้องการของการตลาด และโอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยี ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าการตลาดได้จริงจึงต้องดึงภาคเอกชนและการบูรณาการของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์

ด้าน รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยควรต้องมีการกำหนดประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ชัดเจน มีการจัดลำดับความสำคัญและควรต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ให้เกิดการทำงานอยู่บนแนวทางที่มุ่งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน

โดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า สำหรับการหารือในครั้งนี้ ได้แนวทางการขับเคลื่อนงาน ววน. 5 ประเด็น คือ 1) การมองถึงตลาดระดับโลกมากขึ้น 2) การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและจัดลำดับความสำคัญ 3) การขับเคลื่อนแบบ Collective System ซึ่งระบบ ววน. อาจต้องพัฒนาไปสู่ Collective System เพิ่มมากขึ้น 4) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และ 5) การแก้ไขระเบียบข้อบังคับส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น หรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป้าหมายมากขึ้น อีกด้วย

X

Right Click

No right click