นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศ เพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการเจริญเติบโตด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงลึกในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมมุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs) ขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถปรับตัวและพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน สิ่งทอทางการแพทย์ (Medical textiles) สิ่งทอทางการเกษตร (Agro-textiles) สิ่งทอเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial textiles) สิ่งทอยานยนต์ (Automotive and Aerospace) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญคือการยากที่จะนำงานวิจัยส่วนใหญ่ออกสู่เชิงพาณิชย์ บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหรรมสิ่งทอ ดำเนิน “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสิ่งทอด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านนาโน วัสดุ ชีวภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ สู่อุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve” ปีงบประมาณ 2567 โดยช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตสู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นคนกลางและเป็นกลไกบริหารงาน (Intermediary) และเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (IBDS) โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมี IDEs อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีรายได้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี และเติบโตสู่การมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ในอนาคต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ในฐานะสถาบันฯเป็นคนกลางและเป็นกลไกบริหารจัดการ (Intermediary) และดำเนินงานหลักภายใต้กิจกรรมดังกล่าว ในปี 2567 นั้น ได้วางแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการหรือ IDEs ประกอบไปด้วย 3 แนวทางคือ การหมุนเวียน (Circularity) การสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และ การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digitalization) โดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1.สร้างนวัตกรรมให้กับสินค้า (Product Innovation) 2.ยกระดับกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรม (Process Innovation) 3.พัฒนาด้านการตลาดด้วยนวัตกรรม (Market Innovation) และ 4.การพัฒนารูปแบบธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Organization Innovation) โดยมุ่งให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Business Plan) และการพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Innovation Transfer) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้ามูลค่าทางเศรษฐกิจคือ เพิ่มยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในระบบ มูลค่าทางด้านสังคม ผู้บริโภคได้ใช้นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากสามารถผลิตเองได้ภายในประเทศ มูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกระบวนการ จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของสารพิษต่าง ๆ ลดการปล่อยของเสีย ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการดังกล่าวในภาพรวม คาดว่าจะสามารถยกระดับผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ (IDEs) และต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าในรูปแบบของนวัตกรรมแบบเปิดได้ ส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org และ facebook : Thailand Textile Institute