December 22, 2024

KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยยังชะล่าใจไม่ได้ โตได้เพียงชั่วคราวแม้มีการแจกเงินปีหน้า

November 29, 2023 975

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปรับประมาณการ์เศรษฐกิจปี 2023 เหลือ 2.4% และประมาณการณ์ปีหน้าเป็น 3.7% หาก Digital Wallet ผ่านและ 2.9% กรณีไม่รวม Digital Wallet

ทั้งนี้  GDP ไตรมาส 3 ที่ได้รับการเผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยโตในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.5% ในขณะที่ GDP ในฝั่งการอุปสงค์โตได้ถึง 5.6% ความแตกต่างกันค่อนข้างมากของ GDP ฝั่งอุปสงค์และอุปทานนำมาสู่ข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรกันแน่ KKP Research ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอกว่าที่ตัวเลขแสดง

เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอกว่าที่เห็น

การบริโภคของ GDP ไตรมาส 3 โตสูงถึง 8% ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและภาคธนาคารชะลอการปล่อยกู้สินเชื่อภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าเมื่อพิจารณาประกอบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ แล้ว การใช้จ่ายในประเทศน่าจะโตได้น้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก ภายใต้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1) ยอดขายบ้านและรถยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเกิดจากทั้งรายได้ในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้า การปล่อยกู้ของสินเชื่อภาคธนาคารที่ตึงตัวขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็วทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น

2) ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนออกมาอ่อนแอต่อเนื่องสวนทางกับเลข GDP ในฝั่งการใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างแย่ และมีจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ( Earning) ลง มากกว่าจำนวนหุ้นที่ถูกปรับการคาดการณ์รายได้ ขึ้น ขณะที่กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ลดลงมากว่า 10% จากต้นปี 2023 ซึ่งลดลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวมากกว่าฟื้นตัวได้ดี

3) อัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same store sale growth) ของบริษัทจดทะเบียนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยชะลอตัวลงทั้งในกลุ่มของสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย และมีแนวโน้มปรับเป็นติดลบในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

4) สินเชื่อในภาคธนาคารหดตัว สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงชะลอการปล่อยกู้ลง

5) ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีภาษีที่ผ่านมา ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งควรสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หดตัวประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ปรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงแล้ว ซึ่งผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง

จากทั้ง 5 ชุดข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศไม่น่าจะขยายตัวได้ดีมากนัก โดยทั้งการบริโภคสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทน และการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั้งหมด

ปรับ GDP ปี 2024 เป็น 3.7% หลังรวมผลของนโยบาย Digital Wallet แม้ KKP Research จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอและไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Digital Wallet) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า 2) การท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัวได้โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 35 ล้านคนในปี 2024 และ 3) การส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออกโลก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันมาตรการ Digital Wallet เพราะข้อจำกัดด้านการคลังและกฎหมาย ในกรณีที่ไม่รวมผลจากมาตรการนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงเหลือ 2.9% ในปี 2024 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการเติบโตในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายแจกเงินส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด และกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราว

KKP Research ประเมินว่าหากนโยบาย Digital Wallet สามารถออกใช้ได้ตามที่รัฐบาลแถลง จะมีต้นทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับต้นทุน โดยประเมินตัวคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่ 0.3 เท่า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ GDP ประมาณ 0.8% ในปี 2024 โดยผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้าหากมีการออกใช้จริง และเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากนั้น (ดู KKP Research นโยบายรัฐได้ไม่คุ้มเสีย) เนื่องจากสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้น มากกว่าประเด็นการลดลงของรายได้ชั่วคราว นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบยังรวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ท่องเที่ยวฟื้นช้ากว่าคาด

KKP Research คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวแต่น่าจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องในปีหน้า แม้มีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวได้ จากแรงสนับสนุนทั้งวัฏจักรการผลิต การย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ (Reshoring) จากภาวะการย้อนกลับของโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) และมาตรการกระตุ้นการลงทุนซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2024 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาค โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 2.0%

อย่างไรก็ตาม KKP Research ปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2024 จาก 38 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคนในปีหน้า จากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเกิดจากทั้งปัญหาภายในของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวไทยที่แย่ลงหลังเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลด้านความปลอดภัยที่ทำให้คนจีนลดความสนใจในการมาท่องเที่ยวประเทศไทย

เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยสูง

KKP Research ประเมินว่าจากทิศทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอจะทำให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% เท่านั้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยลดลงอย่างรวดเร็วและเริ่มเติบโตติดลบในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มคงที่ ซึ่งเงินเฟ้อในไทยถือว่าปรับตัวลดลงเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลกต่างจากหลายประเทศที่เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงยาวนาน ในขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจส่งสัญญานทิศทางไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายทำได้ยากขึ้น โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศจะยังคงดอกเบี้ยที่ 2.5% ไปตลอดทั้งปี 2024 ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินไทยจะอยู่ในภาวะที่เริ่มตึงตัวมากเกินไป ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงขึ้นที่ประมาณ 2.5% ซึ่งมากกว่าสหรัฐ ฯ ที่ประมาณ 2% ในกรณีที่นโยบาย digital wallet ไม่เกิดขึ้นได้จริง โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีสูงขึ้น

ประเด็นสุดท้าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยชั่วคราวแต่มีส่วนสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ทำให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตกต่ำลงต่อเนื่อง โดยศักยภาพการเติบโตของไทยในปัจจุบันอาจลดลงเหลือประมาณ 2.4% ตามแนวโน้มการเติบโตใหม่ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

X

Right Click

No right click