January 22, 2025

วิกฤติอาหารโลก (Global food crisis) โอกาสท่ามกลางความเสี่ยงในระยะยาวสำหรับไทย

December 02, 2022 6318

วิกฤติอาหารโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันวิกฤติอาหารโลก  (Global food crisis) มีแนวโน้มขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าวิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นรอบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การแพร่ระบาดของ COVID-19 2) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ 3) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ในตลาดอาหารโลกในวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในระยะสั้น ไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ในฐานะประเทศผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารลำดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในฐานะครัวโลก (Kitchen of the world) มาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายและมีคุณภาพ รวมทั้งยังมีศักยภาพการผลิตในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศและเหลือสำหรับส่งออกอีกด้วย สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญบางสินค้า เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงในฐานะสินค้าทดแทนและปรับตัวสูงขึ้นมากหลังจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งมีผลให้อุปทานน้ำมันดอกทานตะวันจากทั้งสองประเทศหายไปทางตลาดโลก

อย่างไรก็ดี วิกฤติอาหารโลกก็กำลังกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในระยะยาว

แม้ว่าในระยะสั้น ไทยจะได้ร้บอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความกังวลในเรื่อง Food security กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้และมีความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) ด้านอาหารมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น  โดยได้เริ่มมีการวาง Roadmap ในเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารกันอย่างจริงจังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช พืชอาหาร ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในระยะยาว ทั้งในแง่ความต้องการนำเข้าอาหารจากประเทศคู่ค้าของเราที่อาจทยอยปรับลดลง หรือแม้แต่การที่คู่ค้าบางรายอาจพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารจนสามารถผันตัวเองมาเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต

ไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเติบโตอย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร

อนึ่งความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดขึ้น เป็นตัวเร่งให้ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม อาทิ Indoor farming หรือ Vertical farming หรือแม้แต่การมุ่งเน้นไปที่การทำการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงการมองหาโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารโลกแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารเชิงนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Value-based economy ในอนาคตต่อไป

วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารของโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากหลายปัจจัย

ปัจจุบันวิกฤติอาหารโลก  (Global food crisis) มีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารในระดับต้นน้ำทั้งในส่วนของการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ระดับกลางน้ำอย่างการแปรรูปและผลิตอาหาร เรื่อยมาจนถึงปลายน้ำอย่างการค้าขายและขนส่งสินค้าต่อไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ซึ่งวิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในรอบนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลาและสัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือ สอดคล้องกับรายงานของ Global Report on Food Crises ประจำปี 2022 ซึ่งระบุว่า ประชากรมากถึงเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน

ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลพบว่าวิกฤติอาหารโลกรอบนี้เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การแพร่ระบาดของ COVID-19 2) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ 3) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (รูปที่ 1)

สำหรับสาเหตุหลักประการแรก คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยน (Turning point) สำคัญที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวเร่งที่เข้ามาเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤติความมั่นคงด้านอาหารที่มีอยู่ก่อนแล้วให้กลับยิ่งเลวร้ายลงไปอีก รวมทั้งยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโลกทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

สำหรับผลกระทบต่ออุปสงค์นั้น แม้ว่า COVID-19 จะมีผลให้ความต้องการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทปรับตัวลดลงโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพและสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแพง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซาและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ตัวอย่างเช่น น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่ ข้าวสาร อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ผลไม้กระป๋อง ถั่วและผลไม้อบแห้ง ซีเรียล กาแฟสำเร็จรูป นมข้นหวาน รวมทั้งเครื่องปรุงรสและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น น้ำมันพืช ซอสปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นในการดำรงชีพและสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยไม่เน่าเสียง่าย ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการกักตุนสินค้าประเภทเหล่านี้ไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือนในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทขาดแคลนในระยะสั้น ๆ

ขณะที่ด้านอุปทาน เป็นผลกระทบต่อเนื่องที่มาจากการที่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารโลกต้องสะดุดลง (Supply chain disruption) ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศชั่วคราว มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการจำกัดการเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายและขนส่งสินค้า วัตถุดิบ รวมทั้งแรงงานระหว่างประเทศหรือระหว่างเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนนำไปสู่ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร

ตัวอย่างเช่นในกรณีของ “โค้ก ซีโร่” (Coke Zero) และ “ไดเอท โค้ก” (Diet Coke) ของ Coca-Cola  ที่กระบวนการผลิตต้องสะดุดลงจนเสี่ยงสินค้าขาดตลาด โดยมีสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าในการจัดส่งวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Artificial sweeteners) จากซัพพลายเออร์ในประเทศจีน หรือในกรณีของอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์หลายแห่งในสหรัฐฯ รวมทั้งโรงงานแปรรูปเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสมิธฟิลด์ ฟูดส์ ที่จำเป็นต้องประกาศหยุดผลิตอย่างไม่มีกำหนดในช่วงไตรมาสแรกปี 2020 (First wave) หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในโรงงานกว่า 300 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตระดับต้นน้ำอย่างฟาร์มปศุสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่สามารถส่งปศุสัตว์ในฟาร์มไปขายยังโรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปและโรงงานบรรจุเนื้อสัตว์ได้อันเป็นผลมาจากการหยุดกิจการชั่วคราว จนนำไปสู่ปัญหาอุปทานล้นตลาดและวิกฤติราคาเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงอย่างมากในที่สุด

สาเหตุประการถัดมา คือสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จนถึงปัจจุบันและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารโลก และทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมากจากอุปทานที่หายไปจากตลาด

ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญของโลกหลายชนิด (รูปที่ 2) โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก ขณะที่ยูเครนก็เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมัน ดอกทานตะวัน (42%) ข้าวโพด (16%) ข้าวบาร์เลย์ (10%) และข้าวสาลี (9%) เป็นต้น นอกจากนี้ การสู้รบที่เกิดขึ้นยังทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในบางพื้นที่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ราคาปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง ๆ ยังปรับตัวสูงขึ้นมากอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารแพงขึ้นตามไปด้วย

อนึ่ง ภาวะสงครามที่ยื้ดเยื้อรวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ยังส่งผลให้ประเทผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารบางประเทศ ตัดสินใจดำเนินนโยบายระงับหรือจำกัดการส่งออกอาหารเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารพื้นฐาน (Staple food) ในการดำรงชีพและน้ำมันพืช เพื่อไม่ให้กระทบต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสะสมสต็อกไว้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของ International Food Policy Research Institute (IFPRI) ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2022 พบว่าปัจจุบันมีประเทศที่ระงับหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมทั้งสิ้น 22 ประเทศ โดยครอบคลุมสินค้าอาหารพื้นฐานจำนวน 29 รายการ ตัวอย่างเช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง เส้นพาสต้า น้ำตาล ถั่วเหลือง ข้าวโพด ธัญพืชต่าง ๆ ผักผลไม้สดและแปรรูป เนื้อไก่ เนื้อวัว เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศตนเอง และจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง อาทิ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังกดดันให้ราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย โดยจากข้อมูลพบว่าดัชนีราคาอาหารโลก (Global food price index) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) (รูปที่ 3) ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 และได้พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 159.7 ในเดือนมีนาคม 2022 หรือเพิ่มขึ้นราว 40%YOY ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปีอีกด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้มีการปิดท่าเรือขนส่งสินค้าต่าง ๆ ของยูเครน สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนทั่วโลก และส่งผลให้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2022 รัสเซียได้ประกาศระงับข้อตกลงขนส่งธัญพืช (Grain deal) ผ่านทะเลดำ หรือ “Black Sea Initiative”[1] โดยอ้างว่ากองเรือของรัสเชียใกล้ท่าเรือเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่สุดของคาบสมุทรไครเมียและเป็นท่าเรือหลักในแถบทะเลดำ ได้ถูกโดรนของยูเครนจำนวน 16 ลำโจมตีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าของยูเครนเกือบ 200 ลำ ต้องตัดสินใจจอดทิ้งสมออยู่ที่ท่าเรือเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการเดินเรือภายใต้ภาวะสงคราม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาข้าวสาลีและข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านจิตวิทยาจากความวิตกกังวลในเรื่องปริมาณธัญพืชสำคัญที่อาจจะหายไปจากตลาดโลก ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดมาเลเซียก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดอกทานตะวันที่ส่งออกจากยูเครนที่อาจชะงักงันลง

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2022 หรือหลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน รัสเซียก็ได้กลับลำโดยออกมาประกาศเตรียมกลับเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำได้อย่างปลอดภัย โดยระบุถึงสาเหตุการตัดสินใจครั้งล่าสุดว่ามีขึ้นหลังจากที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลยูเครนว่าจะไม่ใช้พื้นที่ส่งออกสินค้าเกษตรที่เรียกว่า ‘ระเบียงธัญพืช’ ในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อโจมตีรัสเซีย ซึ่งภายหลังจากการประกาศท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย ราคาธัญพืชสำคัญต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเรพซีด (Rapeseed) ได้ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนถึงการคลายความกังวลต่อสถานการณ์วิกฤติอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่โลกยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น ความจำเป็นในการเก็บสต็อกธัญพืชพื้นฐานเหล่านี้ รวมทั้งสินค้าอาหารที่มีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีพให้อยู่ในระดับที่มากเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอยู่

และประการสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate change ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มีส่วนทำให้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความผิดเพี้ยนจากปกติ รวมทั้งยังมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัดและหนาวจัด คลื่นความร้อน พายุไต้ฝุ่น รวมทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมไปถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด รวมไปถึงแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 4) ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเหมาะสมทางกายภาพในการทำเกษตรกรรม การทำฟาร์มปศุสัตว์ รวมทั้งยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมในระบบนิเวศอีกด้วย และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของโลกโดยรวมมีแนวโน้มปรับลดลง

หนึ่งในตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน คือกรณีของวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเพาะปลูกพริกในแหล่งผลิตหลักอย่างรัฐแคลิฟอร์เนียโดยเฉพาะแถบบริเวณ Central valley ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตซอสพริกชื่อดังอย่างแบรนด์ “Huy Fong Foods” จำเป็นต้องหยุดผลิตชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดจากการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างพริกขี้หนูสีแดงสำหรับผลิตซอสพริกดังกล่าว อีกทั้งผลผลิตพริกที่เก็บเกี่ยวได้ก็ยังไม่มีคุณภาพอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคในระดับปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ร้านอาหารและสถานบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ซอสพริกชนิดนี้เป็นส่วนผสมหรือเครื่องปรุงอีกด้วย นอกจากนี้ วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น กระเทียม มะเขือเทศ และอโวคาโด และทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

หรือแม้แต่ในกรณีของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลและแม่น้ำทั่วโลกอุ่นขึ้น และกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ สูญพันธุ์ลง โดยข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และรายงานของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบว่า บรรดาปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ มีความเสี่ยงสูงมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะไข่ปลาและตัวอ่อนของปลาที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส จากภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้สายพันธุ์ปลาต่าง ๆ ทั่วโลกมากถึง 60% ไม่สามารถรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ และสูญพันธุ์ลงภายในปี 2100 หรืออีกเพียงแค่ราว 1 ชั่วอายุคน (78 ปี) ต่อจากนี้

สำหรับในระยะสั้น ไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากทั้งปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น

EIC มองว่าการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารของไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากวิกฤติขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารลำดับต้น ๆ ของโลก (รูปที่ 5) และมีบทบาทสำคัญในฐานะครัวโลก (Kitchen of the world) อยู่แล้ว เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อีกทั้งยังสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นพืชอาหารสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ซึ่งไทยเป็นผู้นำหรือผู้ส่งออกลำดับต้น ๆ ในตลาดโลกอยู่แล้ว รวมทั้งผลไม้สดอย่างทุเรียน หรือสินค้าเกษตรและประมงแปรรูปอย่างสับปะรดกระป๋องและทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันและครองตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน

ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน คือผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีส่วนช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยบางตัวปรับตัวดีขึ้นจากปกติค่อนข้างมาก อาทิ ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทยในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย. 22 ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 37.7%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปเพื่อทดแทนการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันจากยูเครนและรัสเซียที่หายไปจากตลาด ซึ่งทั้งสองประเทศถือเป็น Supplier หลักของน้ำมันดอกทานตะวันในตลาดโลก โดยมีปริมาณส่งออกรวมกันมากถึงกว่า 60% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากนโยบายระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราวเป็นระยะเวลาราว 1 เดือน (เมษายน-พฤษภาคม 2022) ของอินโดนีเซียเพื่อกักตุนน้ำมันปาล์มไว้ใช้เองในประเทศ รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานในสวนปาล์มของมาเลเซีย ซึ่งอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังช่วยหนุนให้ราคาส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

แต่ในทางกลับกัน วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น กำลังกลายเป็นความเสี่ยงในระยะยาวสำหรับประเทศผู้ส่งออกอาหารอย่างไทย

แม้ว่าในระยะสั้น ไทยจะได้ร้บอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง Food security ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้และมีความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) ด้านอาหารมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น  โดยได้เริ่มมีการวาง Roadmap ในเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารกันอย่างจริงจังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ทำเกษตรกรรมและการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในภาคเกษตร เพื่อเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติและอุปสรรคต่าง ๆ

จีน คือตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารที่น่าจับตามอง โดยรัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าปฏิรูปด้านอุปทานภาคการเกษตรแบบครบวงจรในเชิงรุก เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตทรัพยากรอาหารให้มากเพียงพอสำหรับความต้องการของประชากรในประเทศกว่า 1,400 ล้านคน โดยได้กำหนดให้ “นโยบายเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร” (รูปที่ 6) เป็นนโยบายที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศ เพื่อยกระดับความสามารถในการพึ่งตนเองทางด้านอาหารในระยะยาวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (Modern agriculture) เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว พร้อมกำหนดเป้าหมายที่จะพึ่งพาผลผลิตการเกษตรของตนเอง และยกระดับความมั่นคงด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านทรัพยากรเมล็ดพันธุ์ด้วย ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในการค้นคว้าพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ เพื่อทำให้จีนสามารถพึ่งพาแหล่งเมล็ดพันธุ์ของตนเอง พร้อม ๆ ไปกับการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญให้มีความปลอดภัยและเพียงพอสำหรับป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ชามข้าวของคนจีน จะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง”

นอกจากการปฎิรูปภาคเกษตรกรรมภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันจีนยังเร่งสยายปีกการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในต่างประเทศอีกด้วย ผ่านการควบรวมธุรกิจด้านการเกษตรระดับโลก ตั้งแต่การกว้านซื้อที่ดิน โกดังเก็บธัญพืช รวมทั้งโรงงานแปรรูปอาหารหลายแห่งในหลายภูมิภาคทั่วโลก ตัวอย่างเช่น Shuanghui International Holding ที่เข้าซื้อกิจการของบริษัท Smithfield Foods ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติสหรัฐฯ เมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นข้อตกลงการซื้อกิจการของสหรัฐฯ โดยบริษัทจีนที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารด้านโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ท่ามกลางความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐวิสาหกิจของจีนเองอย่าง COFCO Group ก็มีการขยายการลงทุนด้านการเกษตรไปทั่วโลกนับตั้งแต่ ปี 2014 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการไล่ซื้อบริษัทธัญพืชข้ามชาติหลายแห่ง อาทิ Nobel Agri บริษัทด้านการเกษตรในฮ่องกง และ Nidera ผู้ค้าเมล็ดพืชสัญชาติดัตช์ รวมทั้งยังได้เข้าซื้อบริษัทไวน์ของชิลีอย่าง Bisquertt Vineyard และบริษัทไวน์ฝรั่งเศส Chateau de Viaud รวมถึงซื้อหุ้น 80% ในบริษัท Tully Sugar ผู้ผลิตน้ำตาลของออสเตรเลีย และเข้าซื้อกิจการของธุรกิจค้าธัญพืชของ Criddle & Co. ในอังกฤษ รวมทั้งยังเป็นเจ้าของท่าเรือและโกดังเก็บธัญพืชหลักทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี ทำให้ COFCO Group กลายเป็นผู้ส่งออกธัญพืชจากอาร์เจนตินารายใหญ่ที่สุด รวมถึงเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในบราซิลอีกด้วย โดยเราเชื่อว่ากลยุทธ์การสร้างความมั่นคงด้านอาหารแบบ Inorganic growth นี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของทางการจีนที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง คือความร่วมมือภายใต้โครงการด้านการเกษตรระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลอียิปต์ในปี 2017 โดยการใช้ Greenhouse technologies เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศแห้งแล้งอย่างทะเลทรายของอียิปต์ให้กลายเป็น “พื้นที่สีเขียว” ที่สามารถทำประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมได้ เพื่อมุ่งพัฒนาให้ภาคเกษตรกรรมของอียิปต์ก้าวไปสู่การเกษตรยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้มีการก่อสร้างโรงเรือนกระจก หรือ Greenhouse ขนาดใหญ่จำนวน 600 หลังบนพื้นที่ขนาด 6,250 ไร่ กลางทะเลทรายเพื่อปลูกพืชผักและผลไม้ โดยที่วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด รวมทั้งช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องล้วนถูกส่งตรงมาจากจีนทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในการเอาชนะธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ

EIC มองว่าการดำเนินนโยบายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารเชิงรุกของคู่ค้าอย่างจีน ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช พืชอาหาร ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในระยะยาว เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง และหันไปพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น และ/หรือ นำเข้าจากพันธมิตรทางธุรกิจของตนเองในต่างประเทศแทน ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มพืชอาหาร เกษตรแปรรูป และอาหารของไทยไปยังตลาดจีนทยอยปรับลดลงตามไปด้วย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทยในสินค้าอาหารหลายชนิด อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งผลไม้สดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนและลำไย เป็นต้น

ภายใต้บริบทแวดล้อมต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น คือจุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองของการทำเกษตรกรรมในโลกแห่งอนาคต และกำลังมีส่วนสั่นคลอนบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก เพราะโมเดลการเติบโตของธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตกำลังถูกขับเคลื่อนโดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นตัวนำร่อง ไม่ใช่จากความโชคดีของทำเลที่ตั้งทางกายภาพของประเทศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแบบในน้ำมีปลาในนามีข้าวเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมจึงเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบเซ็นเซอร์มาปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) และลดต้นทุน รวมถึงการมุ่งไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) โดยเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก อาทิ การเก็บข้อมูลระยะใกล้จากเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดสภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ความเป็นกรดเป็นด่าง และค่าต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูก รวมไปถึงระบบสั่งการและควบคุมการให้น้ำหรือให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ หรือแม้แต่การเก็บข้อมูลระยะกลางจากกล้องที่ติดกับโดรนและการเก็บข้อมูลระยะไกลจากภาพถ่ายดาวเทียม รวมทั้งการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big data เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาช่วยวิเคราะห์และระบุสภาพพื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืช สถานะการเจริญเติบโต และปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร นอกจากนี้ การทำการเกษตรภายในสิ่งปลูกสร้างอย่าง Indoor farming หรือ Vertical farming เพื่อควบคุมสภาวะแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาสูง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เพาะปลูก และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีแนวโน้มผิดเพี้ยนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นสิ่งที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินทุนไม่มากนัก และกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันได้มีการนำระบบแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์จาก Economies of scale โดยการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจับคู่เกษตรกรที่มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรหรือโดรนให้เช่า กับเกษตรกรผู้อยากเช่าเครื่องจักรกลเหล่านี้เพื่อสร้างระบบตลาดเช่าที่สมบูรณ์ หรือการระดมทุนเพื่อซื้อเทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีราคาสูงด้วยวิธี Crowdsourcing ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่สามารถช่วยปลดล็อกการเข้าถึงเครื่องจักรกลสมัยใหม่และเทคโนโลยีทางการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยในหลายประเทศ และเป็นสิ่งที่ไทยอาจพิจารณานำมาปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างจีน เพื่อรองรับกับความท้าทายด้านต่าง ๆ จากการที่จีนจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับไทยในอนาคต รวมไปถึงการแสวงหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารใหม่ๆ เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกเดิม ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามและต้องเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย และขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารเชิงนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับระบบเศรษฐกิจที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Value-based economy ของไทย


[1] “Black Sea Initiative” คือ ข้อตกลงที่สหประชาชาติและตุรกี ร่วมเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพื่อเปิดทางให้มีการนำเรือขนส่งธัญพืชออกจากท่าเรือต่าง ๆ ในยูเครน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกได้อย่างปลอดภัย เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติอาหารโลกที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากมีสินค้าจำนวนมาก อาทิ ธัญพืช อาหาร และปุ๋ย ตกค้างจากภาวะสงคราม โดยข้อตกลงดังกล่าวได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน เพื่อช่วยทำให้มีการขนส่งธัญพืชต่าง ๆ มากกว่า 9 ล้านตันออกจากท่าเรือยูเครน และล่าสุดข้อตกลงดังกล่าวได้มีการต่อเวลาออกไปอีก “อย่างน้อย 120 วัน” จากกำหนดเดิมซึ่งครบในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022


ผู้เขียนบทวิเคราะห์

โชติกา ชุ่มมี (This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.)
ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต

X

Right Click

No right click