November 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6855

เข้าใจในความหลากหลาย ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

July 06, 2022 2104

เพราะโลกของเรามีหลากสีสัน การยอมรับความแตกต่างของบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำ ทั้งนี้ยังมีเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมต่างๆ ที่สังคมควรตระหนักและทำความเข้าใจถึงความหลากหลายอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนชายขอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวสี ชาวชนบท ผู้ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ฯลฯ เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม เคารพในความหลากหลายและยอมรับในความแตกต่างของบุคคลทุกคน

เมื่อเร็วๆ นี้ Thoughtworks  บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร่วมกับ Coinbase  Lineman Wongnai  และ True Virtual World ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล Pride Month เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความหลากหลายของผู้คน ในหัวข้อ “A meaningful  change beyond Pride” ผ่าน Live สด เพื่อเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้สังคมได้ตระหนักและเข้าใจถึงความหลากหลายและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะเดือนมิถุนายนที่ฉลองเทศกาล Pride Month เท่านั้น โดยมี ชัญนัน เศรษฐ์พิทักษ์  Scrum Master จาก True Virtual World รัชพล บางสาลี Quality Analyst จาก Thoughtworks อริยา ตัณฑสุทธิ์  UX-UI Designer จาก Lineman Wongnai  และ ธนาอร ปุญเกษม Senior Product Designer จาก Coinbase ดำเนินรายการโดย รัตนวลี กิดาการ  Experience Designer จาก Thoughtworks

ประเด็นแรกจากเวทีสนทนาเริ่มต้นที่ความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA+  ซึ่งทางกลุ่ม LGBTQIA+  ต้องการให้ทุกคนปฏิบัติกับพวกเขาเฉกเช่นคนปกติทั่วไป เพราะสุดท้ายทุกๆ คน จะมีความเท่าเทียมกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทต่างๆ จะตระหนักในเรื่องนี้  ก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัท จะมีการถามว่าจะให้เรียกสรรพนามว่า เขาหรือเธอ เพราะบางคนไม่สามารถดูจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ เช่น มี Transgender บางคนอยู่ในเพศสภาพผู้ชายแต่ใจเป็นผู้หญิงต้องการให้คนเรียกเป็นเขาหรือเธอ ก็ควรเคารพเขาในจุดนั้นและไม่ควรตัดสินใครจากเพศสภาพ  

สำหรับอุปสรรคในการทำงานของกลุ่ม LGBTQIA+ จากการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานในองค์กรสาย Tech พบว่าสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่เคยเจอปัญหาบูลลี่ หรือทำให้ไม่สบายใจ แต่กิจกรรมนอกเหนือการทำงาน เช่น สังคมภายนอกยังต้องพบเจอคนที่มี Mindset มองกลุ่ม LGBTQIA+ แบบไม่เหมาะสมนัก รวมถึงในกลุ่มเพื่อน ซึ่งพอประกาศตัวว่าเป็นคนกลุ่มนี้ เพื่อนๆ ก็จะเริ่มหายไป ที่สำคัญ คำนำหน้านามที่ใช้ในสถานที่ต่างๆ ไม่ควรมาแยกแยะ และไม่ควรมีสิ่งที่ต้องมากำหนดคำนำหน้า เพราะทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้คำนำหน้าตัวเอง อย่างเช่น กรณีไปโรงพยาบาล มีคนเรียกคำนำหน้าว่านาย ทั้งที่เพศสภาพเป็นหญิงสาว ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีต่อหน้าสาธารณะ จะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตในสังคมของกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง อาจจะไม่รบกวนปัญหาในชีวิตประจำวันแต่รบกวนสภาพจิตใจ

ในฝั่งของประเทศที่ก้าวหน้ามากอย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่เรียกได้ว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ทว่าในแต่ละรัฐก็จะแตกต่างกันออกไป ด้วยผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ปรากฏว่าบริษัทสตาร์ทอัพในแถบตอนใต้ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Conservative) ในเรื่องนี้  โดยมองภาพของผู้หญิงว่าจะต้องไว้ผมยาวและใส่กระโปรง ทำให้ผู้จัดการตั้งคำถามกับพนักงานในกลุ่ม LGBTQIA+ ว่า “คุณเป็นผู้หญิงทำไมไม่ไว้ผมยาวและไม่ใส่กระโปรง” ซึ่งพนักงานคนนั้นได้ตอบกลับไปว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งตัดสินว่าผู้ชายต้องไว้ผมยาวหรือผมสั้น ผู้หญิงต้องไว้ผมยาวและต้องใส่กระโปรง” พร้อมกับพยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างว่าท้ายที่สุดแล้วเป็นทางเลือกของเขาคนนั้น และเป็นสิทธิ์ที่จะใส่ในสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ในที่สุดผู้จัดการก็เข้าใจ หลังจากที่เปลี่ยนมาทำงานในบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน บริษัทค่อนข้างจะตระหนักในเรื่องนี้ โดยจัดคอร์สฝึกอบรมเรื่องการเคารพและยอมรับคนที่มีความแตกต่างกันด้วย

ในบริษัทสาย Tech  คนทำงานจะค่อนข้างเปิดรับในเรื่องต่างๆ จึงไม่เจอปัญหากับคนหัวเก่าหรือถ้าเจอแต่น้อยมาก ซึ่งอาจจะเฉพาะในวงการสาย Tech เท่านั้น แต่ในวงการทำงานในไทยทั่วไป ในกลุ่ม LGBTQIA+ ยังมีปัญหาอยู่บ้างในการใช้คำจำแนก ให้แตกต่างหรือไม่ยอมรับความแตกต่างตรงนี้ ตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ พยาบาล สิ่งที่เขาอึดอัดมาตลอดคือ ไม่สามารถแต่งกายเพื่อสะท้อนเพศสภาพได้ ซึ่งอาจจะต้องมาทบทวนกันใหม่ว่ามีผลต่อการดูแลคนไข้หรือมีผลต่อวัตถุประสงค์ของอาชีพจริงๆ หรือไม่ บางบริษัทที่ประกาศว่าสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ในใบสมัครยังมีระบุข้อความผู้ชายให้แต่งกายแบบนี้ หรือผู้หญิงให้แต่งกายแบบนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วแค่แต่งกายให้สุภาพก็น่าจะเพียงพอโดยไม่ต้องแบ่งแยกหญิงชาย เพราะการแบ่งแยกหญิงชายเป็นการแบ่งทางชีวภาพเท่านั้น จะเห็นได้ว่ายังมีมุมมองแบบนี้ในวงการการทำงานในไทยอีกมาก 

สำหรับการระบุการแต่งกายของพนักงาน น่าจะขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการให้พนักงานแต่งกายตามที่ต้องการ ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนมุมมองว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน พนักงานจะแต่งตัวแบบไหน แต่งหน้าแบบไหนก็ทำงานได้ เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าถ้าแต่งตัวแบบนี้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง ขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาเรื่องการแต่งตัวในการทำงานเพื่อสะท้อนเพศสภาพเหมือนประเทศไทยแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะสังคมค่อนข้างมีเสรีภาพ (Liberal)  คือมีระบบกฎหมายที่ครอบคลุมชัดเจน ทั้งกฎหมายและนโยบายของบริษัท ถ้าต้องประสบกับเหตุการณ์แบบนั้น ก็สามารถแจ้งฝ่าย HR  ได้ทันที ค่อนข้างให้คนเคารพในความแตกต่างค่อนข้างมาก ไม่เฉพาะเพศสภาพอย่างเดียว รวมถึงการบูลลี่ต่างๆ ด้วย  

ในโลกของการทำงาน กลุ่ม LGBTQIA+ มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของ LGBTQIA+  สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ คือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากเผชิญกับอุปสรรค (Resilience) ในหลายๆ เรื่อง  โดยเฉพาะการทำงานสาย Tech และสายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะต้องนำสิ่งที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ถ้าสามารถสร้างวัฒนธรรมของทีมงาน ที่ทุกคนยอมรับในเรื่องความแตกต่าง (Diversity) จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้ และสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เพื่อแบ่งปันความคิดและมีโซลูชันใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค

อีกหนึ่งมุมมองที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของคนกลุ่มนี้คือ การก้าวผ่านจุดที่ยากที่สุดของชีวิต หลังจากที่ประกาศต่อสังคมและเจอ Feedback ที่ไม่ดี และในที่สุดก็ผ่านตรงนั้นมาได้ ทำให้สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ไม่ตรงกับมุมมองของเราได้ดีขึ้น ทำให้เข้าใจว่าทุกคนมีความหลากหลายด้านความคิด มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในมุมที่แตกต่างกัน โดยนำจุดแข็งตรงนี้มาปรับใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิต ทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ ทำงานได้อย่างอึดและอดทน 

ทุกวันนี้ยังมีคำนำหน้า หรือเพศที่ระบุในบัตรประชาชนของไทย ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของกลุ่ม LGBTQIA+ เมื่อจะต้องใช้ชีวิตในต่างแดน โดยมีข้อเสนอให้ยึดคำนำหน้าจากพาสปอร์ตและบัตรประชาชน สำหรับพาสปอร์ตไทยควรจะเปิดกว้างให้เจ้าของยืนยันและเลือกคำนำหน้าตามที่เจ้าตัวต้องการ ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลา แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยพัฒนาในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก หวังว่าในเร็วๆ นี้ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้สามารถเลือกคำนำหน้าในเอกสารสำคัญทางราชการได้  และอีกไม่นานคงได้เห็นประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เท่าเทียมกัน 

X

Right Click

No right click