นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า งาน User Conference หรือ UC 2022 เป็นเวทีสัมมนาด้านเทคโนโลยี GIS ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดโดย Esri Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ มุ่งหวังจะนำเทรนด์เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ภายใต้ธีม GIS—Mapping Common Ground ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ของใช้งาน GIS กว่า 15,000 คนจากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก เพื่ออัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของเทคโนโลยี GIS ภายในงานยังได้นำเสนอวิสัยทัศน์ด้านความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี GIS โดย นายแจ็ค เดนเจอร์มอนด์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Esri ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวย้ำถึงความสามารถของเทคโนโลยี GIS ในการแก้ปัญหาความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ทั้งการจัดการภัยพิบัติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการทำแผนที่ ซึ่งเปรียบเสมือนภาษาพื้นฐานที่ช่วยให้แสดงรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูล เห็นมุมมองที่แตกต่าง เชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจแบบองค์รวมอย่างครอบคลุมร่วมกัน ทั้งยังเปิดโอกาสสู่การค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดร่วม สนับสนุนการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ต่างกำลังเผชิญอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ สู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับโลกของเรา พร้อมจับกระแสความเปลี่ยนแปลงของความเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่ง GIS เองสามารถพัฒนาเท่าทันทุกความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีการนำเสนอตัวอย่างผลงานชั้นแนวหน้าจากผู้ใช้ GIS ในแวดวงต่าง ๆ ทั่วโลก และภายในงานยังมีหัวข้อการบรรยายกว่า 150 หัวข้อ และบูธนิทรรศการกว่า 180 บูธ นำเสนอและสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ArcGIS และเทคโลยีที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมการทำงานทุกรูปแบบ การันตีความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้
สำหรับ 3 เทรนด์เทคโนโลยี GIS ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากจากงาน UC 2022 ที่สหรัฐอเมริกา คือ
- Big Data & Real-time เทคโนโลยี GIS ที่จะเข้าไปเพิ่มคุณค่าและยกระดับการทำงานด้วยชุดเครื่องมือที่หลากหลายและพร้อมใช้งาน ช่วยจัดการ วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่และซับซ้อนมาใช้งานได้รวดเร็ว ช่วยประกอบการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ ArcGIS ได้พัฒนาคุณสมบัติและเพิ่มความสามารถให้มีความทันสมัย ผ่าน 2 โซลูชันที่ตอบโจทย์ด้าน Big Data โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ArcGIS Velocity ทำงานร่วมกับ Big Data และ Real-time บน Cloud เชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ หรือ IoT และจัดเก็บข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึก อาทิ การแจ้งเตือนเมื่อทรัพย์สินย้ายหรือเปลี่ยนแปลง รองรับปริมาณข้อมูลตามการใช้งาน ลดขั้นตอนการติดตั้ง และต้นทุนในการบริหารจัดการระบบ และ ArcGIS GeoAnalytics โซลูชันการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบ Big Data สามารถหาคำตอบหรือ Pattern จากข้อมูล Big Data รองรับการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล Big Data หลายแหล่งภายในระบบขององค์กร ช่วยเร่งเวลาในการประมวลผล ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
- เทคโนโลยีการสร้างแผนที่อัตโนมัติจากภาพถ่ายด้วยระบบประมวลผลอัจฉริยะ (GeoAI & Machine Learning) แปลงข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็นแผนที่ดิจิทัลได้โดยไม่ต้องใช้คน ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วย Pretrained Deep Learning Model ซึ่งเป็น Model สำเร็จรูปพร้อมใช้งานบน ArcGIS Living Atlas ที่สามารถดาวน์โหลดไปวิเคราะห์และแปลงข้อมูลได้แบบอัตโนมัติ ลดขั้นตอนการทำ Training Model ตั้งต้น อาทิ การหาตำแหน่งที่ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ (Solar Panel Detection) การจำแนกข้อมูลขอบเขตอาคาร (Building Footprint Extraction) การจำแนกข้อมูลถนน (Road Extraction) การจำแนกประเภทสิ่งปกคลุมดิน (Land Cover Classification) เป็นต้น
- เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในรูปแบบดิจิทัล (Digital Twins) การสร้างแบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพเพื่อให้สามารถจำลองเหตุการณ์ได้เหมือนกับวัตถุจริง เพื่อนำไปวิเคราะห์ คาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยี GIS เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยสร้างและบูรณาการข้อมูลดิจิทัล และข้อมูล Sensors ต่าง ๆ มาแสดงผลในรูปแบบแผนที่ โดยสามารถสร้างแบบจำลองเมืองเพื่อช่วยบริหารจัดการเมือง Smart City ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งแบบจำลองข้อมูลด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้เป็นข้อมูล 3 มิติ ทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อดูความเชื่อมโยงของข้อมูลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูล BIM (Building Information Model) มาจำลองรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่าง ๆ ทั้งภายในและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผน และประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
จากงาน UC 2022 ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้และอัปเดตนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี GIS ทาง Esri Thailand ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการระบบภูมิสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือ Thailand User Conference 2022 (TUC 2022) ครั้งที่ 26 ภายใต้ธีม GIS—Mapping Common Ground ธีมเดียวกับงาน UC 2020 ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงศักยภาพ แนะนำ และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบภูมิสารสนเทศและงานสำรวจอย่างครบวงจรให้กับผู้ใช้งาน GIS ในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอและโซลูชันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเทคโนโลยีจากพันธมิตรผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน TUC ในครั้งนี้ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในภาครัฐ เอกชน และกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
งาน TUC 2022 จะจัดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 นี้ ณ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชัน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://www.esrith.com/events/tuc2022/ ลูกค้าของ Esri Thailand สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานโดยมีค่าใช้จ่าย 6,500 บาท ทั้งนี้ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 สิงหาคม 2565