สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดกิจกรรมเสวนาในชื่อ Technology, Skills, and the New Trend of Work: ทักษะดิจิทัลใหม่ เรียนจบไม่ตกงาน
โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวในการเสวนาเรื่อง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและแนวโน้มความต้องการบุคลากรของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ด้วยเหตุนี้ ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา จึงเร่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มของนิสิตและนักศึกษา รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 2 ปี ทั้งในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (IT) และสาขาทั่วไป (Non IT) ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความพร้อมผ่านการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพสากลก่อนป้อนเข้าสู่ระบบ ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่นักศึกษาวัยหางาน ด้วยการส่งเสริมทักษะสำคัญในสาขาที่ขาดแคลนอย่าง AI, IoT, Machine Learning, Cloud Computing และ Digital Marketing รวมจำนวนกว่า 1,000 คน
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า ไม่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชนด้าน IT อาทิ Amazon Web Services (AWS), Microsoft, SCB Academy, Salesforce สมาคมไทยไอโอที และกลุ่มธุรกิจการค้าชั้นนำ เพื่อออกแบบหลักสูตรในการยกระดับทักษะผู้เข้าร่วมโครงการให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ก่อนมอบประกาศนียบัตรเพื่อเป็นใบเบิกทาง และเมื่อผ่านการยกระดับทักษะแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้พบกับผู้ประกอบการที่มีความต้องการบุคลากรในสาขาดังกล่าวผ่านกิจกรรม Job Fair ซึ่งจะเป็นการรับประกันว่าเกิดการจ้างงานจริงในระบบเศรษฐกิจ
“นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางาน โดยจะสนับสนุนเงินเดือนไม่เกิน 50% แก่ภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานกำลังคนในสาย IT และร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนเงินเดือนแก่ภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานกำลังคนในสาย Non IT ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 120 อัตรา เพื่อให้กำลังคนเหล่านั้นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจไทยต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ด้าน นายไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ประธานสถาบันเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม (ICTI) กล่าวว่า เมื่อปี 2562 มีการสำรวจข้อมูลความพร้อมและความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 201 องค์กร โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 64% มองว่า องค์กรของตนเองมีบุคลากรด้าน IT ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีบุคลากรด้าน IT ในองค์กร ประมาณ 1-5 คน ขณะที่รูปแบบของการจัดจ้างบุคลากรส่วนใหญ่เลือกที่จะจัดจ้างแบบ Outsource Service มากที่สุดถึง 38% โดยตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ งานบริหารด้าน IT (IT Management) งานนักเขียนโปรแกรม (Programmer) งานผู้ดูแลระบบและเครือข่าย (Network Admin Jobs) งานด้านพัฒนาและดูแลระบบ CRM / ERP และงานเว็บไซต์ ตามลำดับ
“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย สถาบันเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม และ ดีป้า เล็งเห็นปัญญาในจุดนี้ จึงร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางาน ในสาขา Non IT ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 2 ปี โดย สถาบันฯ จะสนับสนุนเงินเดือนไม่เกิน 50% สูงสุด 6,500 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 1 ปีแก่นายจ้างที่ต้องการจ้างงานน้อง ๆ กลุ่มดังกล่าว 100 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางานเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ววันนี้ – 15 กันยายนนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.icti.fti.or.th” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าว