November 07, 2024

หัวเว่ย จัดงานโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในประเทศไทย

June 28, 2023 2165

เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้หญิงไทยในวงการไอที เนื่องในวันวิศวกรรมสตรีสากล

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเฉลิมฉลองวันวิศวกรรมสตรีสากล (International Women in Engineering Day) จัดงานโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในไทย จุดประกายการเรียนรู้ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้หญิงต้นแบบและผู้นำหญิงในสายไอที พบกับกิจกรรม Tech Talk และบูธจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่หัวเว่ยร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมกัน วัตถุประสงค์ของกิจกรรมโร้ดโชว์ครั้งนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาต่อในสาขาSTEM  (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน กิจกรรมนี้ยังเป็นการผนึกกำลังระหว่างหัวเว่ย องค์การยูเนสโก (UNESCO) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ในการบ่มเพาะและเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านไอซีทีให้กับโลกดิจิทัลของไทยในอนาคต

รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economy Forum) ระบุว่า อาชีพในสาขา STEM เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพสำคัญที่มีค่าตอบแทนสูง และจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่จำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพที่ไม่อยู่ในกลุ่ม STEM ผู้หญิงมีจำนวนมากถึงเกือบครึ่ง (49.3%) ในขณะที่ในอาชีพในสาขา STEM มีผู้หญิงเพียง 29.2% เท่านั้น หัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะผลักดันผู้หญิงเข้าสู่สายงานด้าน STEM มากขึ้น จึงเปิดตัวโครงการ ‘Women in Tech’ อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2563 โดยยึดแนวปฏิบัติ 3 เสาหลัก ได้แก่ Tech For Her, Teach With Her, Teach by Her ซึ่งปัจจุบัน โครงการมีการขยับขยายและดำเนินงานอยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  

“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเปิดตัวโครงการการแข่งขัน Women in Tech อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้นวัตกรและบุคลากรด้านดิจิทัล ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของประเทศ โดยทางสำนักงานมีความมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและพาร์ทเนอร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงหัวเว่ย เพื่อบ่มเพาะอีโคซิสเต็มของผู้ประกอบการนวัตกรรมและบุคลากรด้านดิจิทัล ตลอดจนผลักดันประเทศไทยให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรและบุคลากรด้านดิจิทัล

นางปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นกล่าวในงานครั้งนี้ว่า “หัวเว่ย ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี ยึดมั่นในภารกิจการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย และขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่มีความเท่าเทียม สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าเพาะบ่มบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ โครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ โครงการวิศวกรพลังงานดิจิทัล และการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล เช่น โครงการ Women in Tech นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้กันมากขึ้น”

ด้านนางมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมหัวเว่ยและพันธมิตรที่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น และได้เน้นย้ำพันธกิจขององค์การยูเนสโกในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผ่านทางระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และผ่านการวางแผนโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการฝึกอบรมครูอาจารย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุนันฑา สดสี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองฝ่ายวิชาการว่า “มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ และพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมอย่างหัวเว่ย เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”       

กิจกรรมโร้ดโชว์ Women in Tech จัดแสดงบูธให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับโลก ผู้ร่วมงานยังจะได้สัมผัสเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ โซลูชัน AR และ XR ที่เข้ามาช่วยส่งมอบความบันเทิงแห่งอนาคต และบูธนิทรรศการแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การยูเนสโก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย นอกจากนี้ ภายในงาน ผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ยได้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังนำ ‘รถดิจิทัลเพื่อสังคม’ มาจัดแสดงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก รถดิจิทัลคันนี้เป็นโครงการเพื่อสังคมที่หัวเว่ย ประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน คนงาน และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คนใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ โครงการดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมในโครงการแล้ว 27 โรงเรียน สะท้อนถึงความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงด้านการศึกษาดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล

กิจกรรมโร้ดโชว์ครั้งนี้ยังแสดงถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างหัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ ‘Girls in ICT’ ซึ่งหัวเว่ย ได้ส่งเสริมความรู้และฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยี 5G, คลาวด์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียนมากกว่า 40 คน ตัวแทนนักเรียนจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณหัวเว่ยและพันธมิตร พร้อมทั้งเชิญชวนนักเรียนคนอื่น ๆ ให้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเพื่อปลดล็อคโอกาสทางอาชีพที่น่าสนใจอีกมากมาย

สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ หัวเว่ย จึงได้ประกาศแผนการระยะเวลา 3 ปี เพื่อฝึกอบรมนักพัฒนาคลาวด์จำนวน 20,000 คน พร้อมทั้งจุดประกายนักเรียนนักศึกษา ทั้งชายและหญิง ให้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ย (Huawei Developer Program) โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแน่วแน่ของหัวเว่ย ในการขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านการผนึกกำลังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย       

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา หัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้รับรางวัล Prime Minister Award ด้าน ‘สุดยอดองค์กรดีเด่นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ (Best of Contributor in Human Capital Development Award) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลอันทรงเกียรตินี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของหัวเว่ยในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัล การสนับสนุนการเติบโตของอิโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยี 5G คลาวด์ รวมทั้งความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

X

Right Click

No right click