ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งผ่านข้อมูลเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีคนร้ายที่มองเห็นช่องโหว่ของการเชื่อมโยงที่มากขึ้น อาศัยจุดอ่อนที่เจอแฝงตัวเข้ามาก่อความวุ่นวาย ขโมยข้อมูลของผู้ใช้งาน หลอกลวง รวมถึงใช้ประโยชน์จากเครื่องมือของเราเองไปหาผลประโยชน์ให้กับตัวคนร้ายเหล่านั้น
ยิ่งในยุคของ Cryptocurrencies ที่มูลค่าของเหรียญต่างๆ ดึงดูดใจทั้งคนดีและคนร้าย แม้บล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่ยากต่อการโจมตี แต่ในระบบนิเวศยังมีช่องโหว่ที่คนร้ายมองเห็น จึงไม่แปลกที่รายงานภัยคุกคามของไซแมนเทคฉบับที่ 23 ระบุว่า cryptojacking เพิ่มจำนวนขึ้นมาในปีที่ผ่านมา
Cryptojacking เป็นภัยคุกคามประเภทใหม่ ที่ส่งผลต่อทั้งโลก วิธีการโจมตีคือการลักลอบใช้งานทรัพยากรระบบทั้งขององค์กรและบุคคล ไปในการขุดเหรียญดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นเป้าหมายของคนร้ายเหล่านี้จึงไม่จำกัดเพียงองค์กรแต่ยังครอบคลุมไปถึงคอมพิวเตอร์ตามบ้านอีกด้วย
จากสถิติพบว่ามีการโจมตีโดยพยายามฝังตัวขุดเหรียญดิจิทัลในเครื่องคอมพิวเตอร์ปลายทางเพิ่มขึ้นกว่า 8,500 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) หรือคิดเป็นอันดับที่ 18 ของการโจมตีประเภทดังกล่าวทั่วโลก
การโจมตีดังกล่าว จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ช้าลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการเรียกใช้หน่วยประมวลผลกลาง หรือ การ์ดประมวลผลกราฟิกเป็นจำนวนมาก และต่อเนื่อง ทำให้ระบบแบตเตอรี่มีความร้อนสูง รวมไปถึงอาจทำให้อุปกรณ์เสียหายจากการใช้งานอย่างหนักหน่วงตลอดเวลา และผลกระทบสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ คือทำให้เครือข่ายองค์กรตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะต้องปิดการทำงานลง รวมถึงการเรียกใช้ทรัพยากรบนระบบคลาวน์ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายขององค์กรพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหมั่นอัปเดตโปรแกรมต่างๆ ไม่ให้มีช่องโหว่ให้คนร้ายเข้ามาได้ รวมถึงการทำระบบป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ การไม่เลือกคลิกไฟล์ที่น่าสงสัย และหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องภัยออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพราะภัยชนิดนี้ สามารถแทรกซึมเข้ามาตามเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เราใช้ ตามวิถีชีวิตที่ผูกพันกับโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น