เอสซีจี ขับเคลื่อน Inclusive Society สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้คนรุ่นถัดไป ชวนทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และสานต่อภารกิจความยั่งยืนให้อยู่คู่สังคมไทย ในงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน...กับโลกที่ยั่งยืน”

นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และยุคสมัย เอสซีจีจึงยกระดับการขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ Inclusive Society ร่วมกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป โดยมุ่งผลักดันสังคมเติบโตไปด้วยกัน 4 ด้าน

ฟื้นน้ำ สร้างป่า ดำเนินงานมาเกือบ 20 ปี อาทิ โครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ ถ่ายทอดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชนนำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำเกษตรตลอดปี พร้อมจับมือกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายปลูก ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า 3 ล้านไร่ในปี 2593 ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี

พัฒนาอาชีพมั่นคง พัฒนาทักษะอาชีพ ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ โครงการ ‘พลังชุมชน’ พัฒนาศักยภาพชุมชน แก้จนด้วยความรู้คู่คุณธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่นมีอัตลักษณ์และตอบโจทย์ตลาด จนถึงปัจจุบันสร้างอาชีพไปแล้ว 4,942 คน สร้างรายได้เพิ่มกว่า 4-5 เท่า เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อาทิ โครงการสุภาพบุรุษนักขับของ ‘โรงเรียนทักษะพิพัฒน์’ จัดหลักสูตรฝึกอบรมขับรถบรรทุกให้ผู้ว่างงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกมืออาชีพ  ‘แพลตฟอร์มคิวช่าง’ เปิดศูนย์ฝึกอบรมช่าง Q-CHANG ACADEMY เพื่อพัฒนาทักษะและยกระดับอาชีพช่างในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทักษะด้านความรู้ อารมณ์ การเข้าสังคม และธุรกิจ

ส่งเสริมสุขภาวะ สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข อาทิ โครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’ ใช้นวัตกรรม DoCare ระบบ Tele-monitoring และ Telemedicine ของเอสซีจี ดูแลผู้ป่วยทางไกลด้วยระบบติดตามสุขภาพ เก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง พร้อมระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลจึงสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลา ประหยัดค่าเดินทาง ปัจจุบันขยายผลใช้กับโรงพยาบาลแล้ว 13 โรงพยาบาล 1 วิสาหกิจเพื่อสังคม ครอบคลุม 12 จังหวัดทั่วไทย พร้อมตั้งเป้าขยายอีก 10 โรงพยาบาล ใน 10 จังหวัด ภายในปี 2567

สนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ความร่วมมือบูรณาการระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน (PPP: Public-Private-People Partnership) เปลี่ยนจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ความร่วมมือในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ ลดก๊าซมีเทน การปลูกหญ้าเนเปียร์พืชพลังงานสูง และนำของเหลือจากการเกษตรและขยะชุมชนไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งร่วมกับชุมชนในการสร้างป่าชุมชนต้นแบบของจังหวัดที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน”

สำหรับงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน...กับโลกที่ยั่งยืน” เป็นการรวมพลคนจากหลากหลายภาคส่วน ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่าง ๆ โดยมี 4 ตัวแทนผู้นำชุมชน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ พร้อมส่งต่อพลังบวก ได้แก่ นางวันดี อินทรพรม กำนันตำบลแกลง จังหวัดระยอง ผู้เปลี่ยนความแห้งแล้งของเขายายดา ให้เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาบจันทร์ ด้วยการ ‘สร้างฝายชะลอน้ำ’ จากองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมกับเอสซีจีซี จนป่าเขายายดากลับมาเขียวชอุ่ม ไม่เกิดไฟป่าในฤดูแล้ง และกลายเป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่างด้านการจัดการน้ำระดับประเทศ โดยเรื่องราวความมุ่งมั่นของนางวันดีและชุมชนมาบจันทร์ในการเรียนรู้และร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำเพื่อความอยู่รอดของชุมชน ยังได้ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสารคดี ‘The Rain Keepers’ ซึ่งมีกำหนดฉายทางออนไลน์ผ่านช่อง VIPA ของไทยพีบีเอส ในเดือนกรกฎาคมนี้  นางอำพร วงค์ษา ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม จังหวัดลำพูน หนึ่งในสมาชิก ‘โครงการพลังชุมชน’ ผู้พลิกวิกฤตของชีวิตเป็นแรงผลักดันสร้างโอกาสให้กับตัวเอง พร้อมทั้งเดินหน้าสร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน และผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทำงาน  นางจิตรา ป้านวัน ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ’ เพื่อแก้ปัญหาขยะ สร้างความร่วมมือภายในชุมชน เชื่อมเยาวชนและผู้สูงวัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พัฒนาชุมชนให้สะอาด น่าอยู่ พร้อมมุ่งสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ  นางนิโลบล ลิจุติภูมิ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ดิจิทัลจากโครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัวหนังสือ ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเอสซีจีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด E-book ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ได้ที่ https://www.scg.com/pdf/th/the-power-of-collaboration.pdf 

นายชนะ ภูมี กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอภายในงานนี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ที่เอสซีจีร่วมมือกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน มุ่งมั่นมาตลอดการดำเนินธุรกิจกว่า 111 ปี โดยเอสซีจียังคงเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และสุขภาวะ 50,000 คน ภายในปี 2573  อย่างไรก็ตาม เส้นทาง ‘การพัฒนา’ ไม่มีวันสิ้นสุด เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน สังคมที่น่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

บริษัทเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล (SCG International) จำกัด และบริษัทบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น (BigBloc Construction) จำกัด ร่วมลงทุนเปิดโรงงานแผ่นผนังมวลเบา (Autoclaved Aerated Concrete Wall) ภายใต้ชื่บริษัทสยาม ซีเมนต์ บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น เทคโนโลยี ไพรเวท ลิมิเต็ด (Siam Cement BigBloc Construction Technologies Pvt Ltd) โดยเป็นการเปิดตัวโซลูชันผนังด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแห่งแรกในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ภายใต้แบรนด์ 'ZMARTBUILD WALL by NXTBLOC' ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 650 ล้านรูปี (285 ล้านบาท) และมีกำลังการผลิตมากถึง 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยในงานเปิดตัวได้รับเกียรติจากนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณะรัฐอินเดีย เป็นประธาน และนายบัลวันต์ซินห์ ราชปุต รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม MSME รัฐบาลคุชราต ได้ส่งสาส์นมาร่วมแสดงความยินดี รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล และบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชัน เข้าร่วมงาน

ในปี 2564-2565 บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น ได้ร่วมลงทุนทางธุรกิจกับเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตแผ่นผนังมวลเบา ในเขตเคดา ใกล้เมืองอาห์เมดาบัด (รัฐคุชราต) โดยบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น ถือหุ้นร้อยละ 52 ขณะที่เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้นร้อยละ 48 นับเป็นการลงทุนครั้งแรกในประเทศอินเดียของบริษัทในเครือเอสซีจี

นายนาเรช ซาบู กรรมการผู้จัดการ บริษัทบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด กล่าวว่า “การร่วมทุนครั้งนี้เป็นมากกว่าความร่วมมือทางธุรกิจ แต่ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและวัฒนธรรม โรงงานนี้ก่อตั้งและเริ่มกระบวนการผลิตในเดือนกันยายน ปี 2566 นำเสนอโซลูชันวัสดุก่อสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถของทั้ง 2 บริษัท พร้อมสร้างการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมแผ่นผนังมวลเบา รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างของอินเดียในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพัฒนากำลังการผลิตเป็น 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีในระยะที่ 2”

นายอบิจิต ดัตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้รวมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้างที่มีมากกว่าศตวรรษของเอสซีจี และความเข้าใจความต้องการในตลาดท้องถิ่นของบิ๊กบล็อก โดยนำเสนอโซลูชันนวัตกรรมแผ่นผนังมวลเบาจาก 'ZMARTBUILD WALL by NXTBLOC' ที่จะสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมก่อสร้างของอินเดีย”

บริษัทเอสซีจี อิเนตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SCG International) เป็นผู้นำด้านซัพพลายเชนระหว่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินการในประเทศอินเดียตั้งแต่ปี 2561 ผ่านชื่อ ‘เอสซีจี อิเนตอร์เนชั่นแนล อินเดีย’ เน้นธุรกิจวัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และการจัดหาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรมอื่น ๆ โครงการนี้เป็นการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (FDI) ครั้งแรกในประเทศอินเดีย หลังจากที่ใช้เวลาในการศึกษาตลาดอินเดีย เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ตัดสินใจร่วมมือกับบริษัท บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด และเลือกรัฐคุชราตเป็นสถานที่แรกสำหรับการลงทุน เนื่องจากมีวัฒนธรรมการทำงานและสภาพแวดล้อม รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนในอนาคตของเอสซีจี

บริษัทบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด (BigBloc Construction) ก่อตั้งเมื่อปี 2558 เป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่แห่งวงการอิฐมวลเบา (AAC Block) ด้วยกำลังการผลิต 1.075 ล้านตารางเมตรต่อปี โดยโรงงานตั้งอยู่ที่อุมารกอน (วาปิ) และกะพัดวานจ์ (อาห์เมดาบัด) ในรัฐคุชราต และวาดา (ปาลการ์) ในรัฐมหาราษฎระ บริษัทนี้เป็นบริษัทหนึ่งในวงการ AAC ที่สามารถสร้างเครดิตคาร์บอนได้  ทั้งนี้ บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ผลิตอิฐมวลเบาชั้นนำของอินเดีย จำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ 'NXTBLOC' โดยดำเนินโครงการมากกว่า 2,000 โครงการจนถึงปัจจุบัน และยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากกว่า 1,500 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีบริษัทที่เป็นลูกค้า ได้แก่ โลธา (Lodha), อดานี เรียลติ (Adani Realty), อินเดียบูลส์ เรียล เอสเตส (IndiaBulls Real Estate), เพรสติช(Prestige), พิรามาล (Piramal), โอเบรอย เรียลติ (Oberoi Realty), เชิร์ก กรุ๊ป (Shirke Group), ชาปูร์จี ปัลลอนจิ กรุ๊ป (Shapoorji Pallonji Group), ราเฮจา (Raheja), พีเอสพี โปรเจคส์ (PSP Projects), แอล แอนด์ ที แอนด์ ซันเทค (L&T, and Sunteck), อินฟราสตรัคเจอร์ เซเธีย ไพรเวทลิมิเต็ด (Infrastructure Sethia Pvt Ltd), ดอสติ กรุ๊ป (Dosti Group), ปัววันการา ลิมิเต็ด (Purvankara Ltd) รวมถึงบริษัทอื่น ๆ

สำหรับการดำเนินการในปี 2566-2567 บริษัทรายงานรายได้จากกิจกรรมการดำเนินงานทั้งหมดที่ 2,432 ล้านรูปี (1,067 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.55 ต่อปี  EBITDA ที่ 561.5 ล้านรูปี (246 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 ต่อปี และ PAT ที่ 306.9 ล้านรูปี (134 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.83 ต่อปี

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมของโซลูชันนวัตกรรมแผ่นผนังมวลเบา จาก 'ZMARTBUILD WALL by NXTBLOC' ได้ที่ https://www.zmartbuild.com/in/zmartbuild-wall-panel/

หนุนสังคมแห่งความหลากหลาย ร่วมสร้างสรรค์ทุกความเป็นไปได้ไปด้วยกัน

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าภารกิจพิทักษ์ทะเลเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศทางทะเล ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ที่ส่งเสริมด้าน Low Waste & Low Carbon โดยได้ขับเคลื่อน นวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ทะเล (Innovation for Better Marine) อาทิ นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ บ้านปลาเอสซีจีซี รวมทั้งได้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย “Nets Up” โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทะเลยั่งยืน เปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว สู่ Marine Materials วัสดุทางเลือกใหม่จากนวัตกรรมรีไซเคิล 

ในโอกาสวันทะเลโลก (World Oceans Day) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ปลุกกระแส แก้วิกฤตมหาสมุทร” (Awaken New Depths) SCGC ได้มอบ “ทุ่นกักขยะลอยน้ำโมเดลใหม่ : SCGC - DMCR Litter Trap Gen3” จำนวน 25 ชุด ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปกักขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำลำคลองสาขาต่าง ๆ ไม่ให้หลุดรอดสู่ทะเล โดยมีพลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับมอบ ณ Sea Life Bangkok Ocean World สยามพารากอน  ทั้งนี้ SCGC ได้ร่วมกับ ทช. ติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำไปแล้วกว่า 47 ชุด ใน 17 จังหวัดชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ สามารถกักขยะได้กว่า 86 ตัน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566)

นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะในทะเล เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม SCGC ได้ขับเคลื่อนภารกิจพิทักษ์ทะเลร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึง ชุมชน เยาวชน และพนักงานจิตอาสามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้นำความเชี่ยวชาญมาออกแบบนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ SCGC - DMCR Litter Trap ตั้งแต่ปี 2562 โดยร่วมมือกับสำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และกลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง สำหรับทุ่นกักขยะลอยน้ำ SCGC - DMCR Litter Trap ที่มอบให้กับ ทช. ในโอกาสวันทะเลโลกปีนี้นั้น เป็นโมเดล Generation ที่ 3 ซึ่งออกแบบโดยเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ สามารถลดน้ำหนักทุ่นได้ถึง 50% ประกอบติดตั้งได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง นอกจากนี้ SCGC ยังได้นำทีมพนักงานจิตอาสาร่วมกิจกรรมวันทะเลโลกที่จัดขึ้น ณ จังหวัดระยอง อีกด้วย

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้กำหนดวันทะเลโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้จัดกิจกรรมในหัวข้อรณรงค์ Awaken New Depths หรือ “ปลุกกระแส แก้วิกฤตมหาสมุทร” มุ่งเน้นถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษยชาติและมหาสุมทร อีกทั้งความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องระบบนิเวศที่สำคัญ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต พร้อมเผยจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กร และแพร่ความรู้และรณรงค์ส่งต่อไปยังประชาชนทั่วโลกผ่านเครือข่ายต่าง ๆ ซี่งทุ่นกักขยะลอยน้ำดีไซน์ใหม่ นวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ทะเลจาก SCGC เป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะทะเลได้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายเร่งด่วนที่มหาสมุทรกำลังเผชิญ” 

งานวันทะเลโลก ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ Sea Life Bangkok Ocean World สยามพารากอน มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคีเครือข่าย สถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเล อีกทั้งกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเลสืบไป

X

Right Click

No right click