เอสซีจี ร่วมแบ่งปันมุมมองบนเวที Techsauce Global Summit 2024 ชี้ประเด็น เราจะอยู่กันอย่างไร? หากอุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่าจุดที่จะแก้ไขและอยู่ได้ โจทย์ความยั่งยืนวันนี้จึงต้องเร่งทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ฟื้นฟูธรรมชาติ และดูแลสังคม โดยใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญ
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ร่วมแบ่งปันมุมมองบนเวทีเสวนา The World after Sustainability: What's the Next Global Agenda ในงาน Techsauce Global Summit 2024 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ต่อสถานการณ์โลกเดือดในปัจจุบัน ที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงถึง 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มขึ้นแตะ 2.5-3 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของโลกที่ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไป เปลี่ยนผืนป่าสู่ทะเลทราย เมื่อถึงจุดนั้น สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเกินกว่าจะเยียวยา ทุกคนต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิม ความท้าทายนี้ทำให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สังคม มีความสำคัญมากขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
“เอสซีจีตั้งเป้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ Net Zero 2050 ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อไปถึงเป้าหมายในอีก 26 ปีข้างหน้า แต่สถานการณ์โลกเดือดที่ผ่านมาเป็นตัวบอกว่าต้องเร่งมือเพิ่มขึ้น ทั้งการลดและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยีและความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญ”
นายธรรมศักดิ์ ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวเดินเรื่องในการฟื้นฟูธรรมชาติ “ระบบนิเวศทางท้องทะเลได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของปะการังเสื่อมโทรม เอสซีจีจึงนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาสร้างสรรค์ ‘บ้านปะการัง’ ที่มีความคล้ายกับปะการังจริง กลมกลืนกับธรรมชาติ มีประสิทธิภาพในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ผลิตจากปูนซีเมนต์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แข็งแรง ทนทาน มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย
ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยให้โลกค้นพบความเป็นไปได้ของนวัตกรรมลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้น และเอสซีจีเร่งเดินหน้าพัฒนา เช่น SCGC (เอสซีจีซี) ร่วมกับ Avantium ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (Renewable Chemistry) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต ‘พอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ’ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติและในทะเล นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ Braskem ผู้นำพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล ใช้จุดเด่นของประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม นำผลิตผลจากภาคเกษตรมาพัฒนาเป็น ‘พลาสติกชีวภาพ’ พลาสติกรักษ์โลกที่ผลิตคาร์บอนเป็นลบ (Negative Carbon Footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป”
ความร่วมมือเป็นอีกหนึ่งเครื่องเร่งสำคัญที่จะทำให้เราและโลกอยู่รอด นายธรรมศักดิ์ เล่าว่า “เอสซีจีเริ่มพัฒนานวัตกรรมกรีน ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ เมื่อหลายปีที่แล้ว ในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อว่าจะทำสำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเดียวกัน ลูกค้า และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ แต่ผลลัพธ์จากการพัฒนาครั้งนี้ สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากสัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 ในปี 2566 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ความตั้งใจนี้คงไม่มีวันเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ยังเน้นย้ำว่า ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กลุ่มคนตัวเล็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เราจำเป็นต้องช่วยเหลือกันซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนเปลี่ยนผ่านไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
“เอสซีจีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนน่าอยู่ถึงคนทุกรุ่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อีกมาก เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง ถ้าหากทำเพียงลำพัง อุณหภูมิโลกก็จะยังสูงเกินกว่าทุกคนจะรับไหว เวลานั้นไม่ว่าใครก็จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด”
Techsauce Global Summit 2024 งานประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ธีม ‘The World of Tomorrow With AI’ โดยมีผู้นำทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญสายเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขา รวมกว่า 350 ท่าน มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ ความรู้ และประสบการณ์ ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
สยามคูโบต้า โดยนายจูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วย นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส และนายได วาตานาเบ้ Director and Executive Vice President คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในภาคการเกษตร กับ นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนางจันทิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนของธุรกิจและภาคเกษตรกรรมไทย ผ่าน 3 โซลูชัน Green Energy ศึกษาการใช้เทคโนโลยีระดับสูงและพลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิต Green Innovative Product พัฒนานวัตกรรมสินค้าและโซลูชันการทำเกษตร และ Green Farming พัฒนาโซลูชันการเพาะปลูกไปจนถึงการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมไทยสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้จาก Agri Waste เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
นายปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี (ที่ 2 จากซ้าย) นายพิศาล สัญญะเดชากุล Corporate Innovation Director (ซ้ายสุด) , และ Origgin Ventures CEO บริษัท Origgin Ventures (ที่ 2 จากขวา), Mr. Clarence Tan, Origgin Ventures Director และ Ms. Lum Yi Chyi (ขวาสุด)เพื่อสร้างความร่วมมือในการนำนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา มาสร้างโอกาสทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ ประกอบไปด้วย 1. Licensing-out (Tech Outsourcing) และการสร้างสรรค์ธุรกิจร่วม (Venture Co-Creation) ซึ่งจะช่วยผลักดันนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของเอสซีจี เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ 2. Licensing-in (Tech Insourcing) การคัดสรรนวัตกรรมจากเครือข่ายระดับภูมิภาคที่กว้างขวางของ Origgin Ventures เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมให้กับเอสซีจี
งานดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากสององค์กรร่วมงาน ทั้งนี้ ดร. สุวิทย์ คุณกิตติ Chairman Origgin Ventures Thailand กล่าวถึงความสำคัญของการผสานพลังจากสององค์กรชั้นนำในครั้งนี้ว่า “Origgin Ventures เป็นบริษัทระดับนานาชาติที่มีสาขาในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน มีความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือในรูปแบบของ Venture Co-Creation ซึ่งเป็นการสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
ดร. ชวลิต กมลสถิตกุล, Head of IP Management, Corporate Innovation Office เอสซีจี กล่าวเสริมว่า “เอสซีจี มีโปรแกรม IPWealth สำหรับการทำ Licensing-out และวางแผนในการสร้าง License Ecosystem เพื่อเพิ่มความสามารถในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเข้าสู่ตลาดใหม่ และเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งทาง Origgin Ventures มีเครือข่ายระดับภูมิภาคที่กว้างขวาง ซึ่งทำให้งานดังกล่าวประสบความสำเร็จ”
เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล (SCG International) เปิดตัวโครงการนวัตกรรม “ไมโครกริด บางซื่อคอมเพล็กซ์” (Microgrid Bangsue Complex) นำทีมโดยผู้บริหารเอสซีจี นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล และนายอบิจิต ดัตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับนายพูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานบริษัทอีโวลท์ เทคโนโลยี (Evolt Technology) และนางสาวพิชชารีย์ กีรติธากุล นักพัฒนานวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ด้วยการติดตั้งลานชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Carpark) และระบบจัดการพลังงานภายในอาคาร (Energy Management Software) เพื่อบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าที่เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ ให้เป็นระบบไมโครกริด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากการติดตั้งลานชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยขนาดกำลังการผลิต 735.9 kWp คาดว่าจะทำให้มีการใช้พลังงานทดแทนภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 จากปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ที่ร้อยละ 10
โครงการไมโครกริด บางซื่อคอมเพล็กซ์ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานและการควบคุมขั้นสูงเข้าด้วยกัน ถือเป็นการนำระบบจัดการพลังงานภายในอาคารมาใช้ได้อย่างครบวงจร ในด้านการจับมือเลือกบริษัทอีโวลท์ เทคโนโลยี มาติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถดึงข้อมูลการใช้พลังงานภายในอาคารและการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ได้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบ API (Application Program Interface) และมีคุณสมบัติจัดการพลังงานขั้นสูง เช่น การจัดการโหลดแบบไดนามิก การรวมพลังงานทดแทน ตอบสนองความต้องการในการทำงานร่วมกับระบบไมโครกริด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบโดยรวม
การเปิดตัวโครงการดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญของเอสซีจี ที่จะสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้งานภายในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งสู่การสร้างสังคม Net Zero ตามเป้าหมายองค์กร โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการพลังงาน และสร้างประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของเอสซีจีแล้ว ยังสามารถต่อยอดขยายผลร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ที่มุ่งหวังจะใช้พลังงานสะอาดขับเคลื่อนการทำธุรกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
เอสซีจี ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับบริษัทเดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (The LivingOS) ผู้นำระบบ On Cloud ERP (Enterprise Resource Planning) ในการบริหารงานหลังบ้านจัดการคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านทั่วประเทศไทย ผ่านการควบรวมกิจการและแลกเปลี่ยนหุ้นกับ Urbanice บริษัทสตาร์ตอัปของเอสซีจี พร้อมตั้งเป้าส่งแพลตฟอร์ม The LivingOS ให้บริการและเข้าถึงผู้อยู่อาศัยครบ 1 ล้านรายภายในปี 2569 ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการผนวกจุดแข็งของเอสซีจีในฐานะผู้นำด้านวัสดุก่อสร้าง กับเทคโนโลยีของ The LivingOS ซึ่งจะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านการอยู่อาศัยและการดูแลบ้านได้ครบวงจรยิ่งขึ้น ตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจค้าปลีกและการจัดการชุมชนในอาเซียนของเอสซีจี นอกจากนั้น ความร่วมมือดังกล่าวยังส่งผลให้ The LivingOS มีมูลค่าสูงเกือบ 1 พันล้านบาท ขึ้นแท่นเบอร์ 1 แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการบริหารงานหลังบ้านจัดการคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน ที่เข้าถึงเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยกว่า 3 แสนรายต่อเดือนได้โดยตรงมากที่สุดในประเทศอีกด้วย
นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล กล่าวว่า “เอสซีจีลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมขององค์กร โดยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างและการอยู่อาศัยอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการร่วมมือกับ The LivingOS จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem ของธุรกิจดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล และเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ ‘SCG HOME Online’ แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน และ ‘คิวช่าง’ แพลตฟอร์มสำหรับหาช่าง ทั้งงานติดตั้ง ต่อเติม และบริการหลังการเข้าอยู่อาศัย เป็นต้น
การลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ในการเติบโตด้วยนวัตกรรมของเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ที่มุ่งเน้นการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยตลอด Ecosystem ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ครอบคลุมตั้งแต่การก่อสร้าง จัดจำหน่าย และอยู่อาศัย อีกทั้งจะช่วยเสริมให้เอสซีจีสามารถต่อยอดธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มี และสามารถขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การนำความแข็งแกร่งของเอสซีจีในด้านการเป็นผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างของไทยและอาเซียน มาผนวกกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของ The LivingOS จะช่วยตอบสนองความต้องการด้านการอยู่อาศัยและการดูแลบ้านได้อย่างสมบูรณ์”
นางสาวธนาวดี เชี่ยวชาญโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเดอะ ลีฟวิ่ง โอเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ภายหลังการลงทุนของเอสซีจี การผนวกกันของ 2 แพลตฟอร์ม ทำให้บริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจระบบบริหารงาน Property & Community Management มากกว่าร้อยละ 50 ในไทย และยังมีแผนขยายการเข้าถึงผู้อยู่อาศัยครบ 1 ล้านรายภายในปี 2569 โดยแพลตฟอร์มของเราจะสร้างคุณค่า 3 ระยะ คือ ระยะแรก - ต่อยอดโดยนำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาพลิกโฉมการบริหารโครงการแบบ Smart Property Management รวมถึงยกระดับความปลอดภัยภายในโครงการด้วยระบบ Smart Security ระยะที่ 2 - พัฒนาให้ The LivingOS เป็น ‘Smart Life Buddy’ ของลูกบ้าน ที่จะใช้ Data Analytics ประมวลผลและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใน Ecosystem ของเอสซีจี มาตอบสนองความต้องการเรื่องบ้านและการใช้ชีวิตในชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และระยะที่ 3 - มีแผนเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเจ้าของบ้านและผู้เช่าด้วยแนวคิด Smart Property Matching ในอนาคต โดยนำฐานข้อมูลคอนโดมิเนียมและบ้านกว่า 1 ล้านยูนิตในระบบ มาสร้างโอกาสซื้อ-ขาย-เช่า ให้กับเจ้าของ นักลงทุน และผู้ซื้อผู้เช่าที่ต้องการ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค”
The LivingOS สตาร์ตอัปสัญชาติไทย เป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการอาคารคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน โดยเชื่อมต่อตั้งแต่ระบบหลังบ้าน อาทิ ระบบวางแผนทรัพยากรในองค์กร (ERP) ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับลูกบ้านผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน โดยได้รวบรวมและประมวลผล Big Data จากกว่า 2,500 โครงการ ครอบคลุมที่อยู่อาศัยกว่า 1 ล้านยูนิต มาพัฒนาเป็นฟีเจอร์ที่แก้ปัญหาให้นิติบุคคลและผู้ดูแลอสังหาริมทรัพย์ ช่วยลดต้นทุนในการบริหารโครงการ ซึ่งตลอด 5 ปีที่ให้บริการ The LivingOS บริหารโครงการ ดูแลการเงินผ่านระบบแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีลูกบ้านที่ใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อจัดการที่อยู่อาศัยและเลือกซื้อสินค้าและบริการ ประมาณ 1 แสนรายต่อเดือน
ด้าน Urbanice เป็นธุรกิจสตาร์ตอัปที่เอสซีจีลงทุนมาตั้งแต่ปี 2561 จากการเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมที่ขาดช่องทางติดต่อสื่อสารและการบริหารงานด้านอื่น ๆ Urbanice จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแอปพลิเคชันสำหรับลูกบ้านในการจัดการชุมชน ทั้งงานพัสดุ การสื่อสารในชุมชน รวมถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของลูกบ้าน ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน (Active User) กว่า 200,000 รายต่อเดือน จากประมาณ 1,000 โครงการทั่วประเทศ ถือเป็นเบอร์ 1 แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับบริหารชุมชนคอนโดมิเนียมและหมู่บ้าน ที่มีลูกบ้านและนิติบุคคลใช้งานมากที่สุด