ภาพ “ผู้สูงอายุไร้ฟัน” อาจเป็นภาพที่ชินตาและดูเป็นเรื่องปกติของใครหลายๆ คน แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว เรื่องดังกล่าวส่งผลต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และความมั่นใจที่หายไป
การไม่มีฟัน นอกจากลดประสิทธิภาพในการช่วยบดเคี้ยวอาหารแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมา ทั้งโรคขาดสารอาหาร เบาหวาน ความดัน ท้ายที่สุดกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และภาพจำในสายตาคนทั่วไปว่า “การไม่มีฟัน” เป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัย แต่แท้จริงแล้วประเด็น “สูงวัยไร้ฟัน” เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาให้ลดลงได้
“ปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้สูงวัย” ฝุ่นใต้พรม ที่รอการปัดกวาด
ตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุ อาทิ เบาหวาน ความดัน โดยหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มักถูกมองข้าม จนอาจเปรียบได้กับฝุ่นใต้พรมที่รอการมองเห็น นั่นก็คือ ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน
รศ.ดร.ทพ.ชูชัย อนันต์มานะ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสําคัญกับเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุข รวมไปถึงสุขภาพช่องปากและฟัน โดยมีโครงการในระดับชาติหลายโครงการที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทย และการดูแลด้าน ทันตกรรมที่รวมอยู่ในความครอบคลุมของระบบประกันสังคม แต่ก็ยังพบว่า กว่า 58% ของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอายุระหว่าง 60-74 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียฟัน ส่งผลให้มีฟันตามธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่
สาเหตุหลักของเรื่องนี้ เพราะคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในช่องปากและฟันอย่างถูกวิธีตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำให้ละเลยต่อการใส่ใจในสุขภาพช่องปากและฟัน ส่งผลเป็นห่วงโซ่สำคัญที่ทำให้ต้องสูญเสียฟันอย่างถาวรเมื่อมีอายุมากขึ้น
“ไร้ฟัน” บ่อเกิดปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพกายและใจ
คุณหมอชูชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ผู้สูงอายุต้องสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาสุขภาพ เนื่องจากช่องปากถือเป็นปราการด่านแรกของการนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย เมื่อผู้สูงอายุไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารที่มีประโยชน์อย่างที่เคยรับประทานได้ ผู้สูงอายุก็จะเลือกบริโภคอาหารอ่อนๆ อย่าง ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป แทน ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงได้อาจได้รับสารอาหารบางประเภทเกินความต้องการที่ร่างกายจะนำไปใช้ เช่น อาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต แป้งส่วนเกินจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลแทน ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ ตามมา ตั้งแต่โรคขาดสารอาหาร โรคอ้วน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า การได้บดเคี้ยวอาหารมีส่วนช่วยทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน จึงมีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไปด้วย
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพกายแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพใจก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะผู้สูงอายุจะขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน ไม่กล้าพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากรู้สึกอายที่จะพูดหรือยิ้ม ผู้สูงอายุหลายคนจึงเลือกที่จะใช้เวลากับตัวเองและอยู่บ้านเพียงลำพัง จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาในภายหลัง
“ชุดฟันเทียม” ทางออก “สูงวัยไร้ฟัน”
ความเชื่อเกี่ยวกับ “การใส่ฟันเทียม” เป็นเรื่องน่าอาย ใส่ก็ยุ่งยาก ผู้เชี่ยวชาญการันตีไม่ใช่อย่างที่คิดเสมอไป คุณหมอชูชัย อธิบายเพิ่ม การไม่มีฟันต่างหากเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทางออกที่ดีที่สุดคือ การทำชุดฟันเทียม แต่การทำชุดฟันเทียมแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขั้นต่ำคือหลักพันบาท ไม่รวมค่าเดินทางมาพบหมอ ค่าตรวจ ค่าเอ็กซเรย์ต่างๆ ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไปทำกับโรงพยาบาลของรัฐแทน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่ก็ต้องยอมแลกกับคิวที่ยาว ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุรอคิวทำชุดฟันเทียมอีกหลายแสนราย
ด้วยความห่วงใยและความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว ทางโรงพยาบาล จึงร่วมมือกับ เฮลีออน ในประเทศไทย (Haleon) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพระดับโลก เดินหน้าต่อยอดแคมเปญ “เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน” (Smiles Can’t Wait) เพื่อเปิดรับบริจาคทุนเพื่อจัดทำฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุที่ขาดโอกาสจริง โดยเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากประชาชน สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ขาดโอกาสและค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียมได้เป็นอย่างดี
ไร้ฟัน ไร้สุข : มีฟัน มีสุข
สำหรับคนไข้ที่ได้รับฟันเทียมจากแคมเปญ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การมีฟันช่วยคืนวิถีชีวิตในอดีตให้กลับคืนมา พร้อมรอยยิ้มที่มีความสุขได้อีกครั้ง นางสาวอุบลรัตน์ สุนทรพิทักษ์กุล หรือพี่อุบลรัตน์ วัย 67 ปี ได้เล่าถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่มีฟันและการมีฟันให้ฟังว่า สมัยเด็กไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการแปรงฟัน คิดว่าไม่น่าเป็นอะไร ทำให้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเกิดปัญหาฟันผุเรื้อรัง
“ตอนที่ไม่มีฟันเวลาทานอาหารก็ยากมาก ต้องใช้ลิ้นช่วยดุน ทำให้เลือกที่จะทานอาหารอ่อนๆ อย่างโจ๊กหรือข้าวต้ม แล้วเวลาจะออกไปข้างนอกก็ไม่มั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม ไม่กล้าออกไปพบปะผู้คน แต่พอได้มาพบคุณหมอ คุณหมอแนะนำให้เข้าร่วมแคมเปญ ได้ใส่ชุดฟันเทียมของตัวเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้การใช้ชีวิตกลับมายิ้มกว้างเหมือนเดิม ได้ทานผลไม้ที่ชอบอย่าง แอปเปิ้ล ฝรั่ง ใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น แคมเปญนี้ช่วยเติมเต็มรอยยิ้มและชีวิตที่มีความสุขแบบนี้ค่ะ (ยิ้ม)” พี่อุบลรัตน์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายสุรเดช ปลื้มจิตร หรือพี่โอม ผู้มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันตั้งแต่อายุ 30 ปีต้นๆ เนื่องมาจากความไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ทำให้มีฟันผุสะสม ส่งผลต่อรากฟัน ประกอบกับพฤติกรรมส่วนตัวในการบริโภคที่ไม่ระมัดระวังในการบดเคี้ยวอาหาร ชอบแทะของแข็งอย่างกระดูกไก่ ทำให้เกิดปัญหาฟันแตก จึงต้องเข้ารับการรักษา โดยการอุดฟัน รักษารากฟัน ครอบฟัน และถอนฟันบางส่วนออก พร้อมกับต้องใส่ฟันเทียมใหม่ 4 ซี่ เพื่อไม่ให้ฟันซี่อื่นล้ม
“โชคดีที่ได้ฟันเทียมจากแคมเปญ Smiles Can’t Wait ลำพังหากทำครบก็คงใช้เงินหลายหมื่นบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากจนส่งผลให้ชะลอการทำฟันเทียม กระทบสุขภาพ แต่พอได้เข้าแคมเปญ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก แถมยังคืนความสุขในการใช้ชีวิตให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกด้วย หลังจากนี้จะให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้มากขึ้น เพราะการไม่มีฟันคือฝันร้ายของการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่พอมีกำลังทรัพย์ ร่วมสมทบทุนให้กับผู้สูงอายุ และผู้ขาดโอกาสเข้าถึงชุดฟันเทียม เพื่อให้กลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขในทุกช่วงเวลา” พี่โอม กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ยังมี “ผู้สูงอายุไร้ฟัน” อีกหลายราย ที่รอการเติมเต็มใส่ใจในสุขภาพช่องปากและฟัน ทางโครงการ “เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน” (Smiles Can’t Wait) ขอเดินหน้าเต็มกำลัง โดยปักหมุดวันผู้สูงอายุ วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นวันที่เปิดให้ประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนจัดทำฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุเป็นวันแรก
สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมสมทบทุน โดยการสแกน QR CODE ของโรงพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิคณะทันตแพทยศาตสร์มหิดล เลขที่บัญชี กสิกรไทย 0732885072, โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่บัญชี กสิกรไทย 0262345183, กองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เลขที่บัญชี ทหารไทยธนชาติ 0382303733, หรือติดต่อมูลนิธิ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 02-354-3699