January 02, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 800

หญ้าหวาน สารหวานไร้แคลอรีที่ไม่อาจมองข้าม

March 15, 2017 7860
    ENTREPRENEUR หญ้าหวาน สารหวานไร้แคลอรีที่ไม่อาจมองข้าม ENTREPRENEUR หญ้าหวาน สารหวานไร้แคลอรีที่ไม่อาจมองข้าม mbamagazine.net

ที่จริงแล้ว ยังมีคนไทยอีกมากที่ไม่รู้จัก หญ้าหวาน และสรรพคุณของหญ้าหวาน (Stevia) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่ให้รสหวานตามธรรมชาติ.

มีความโดดเด่นคือ เมื่อนำไปสกัดเป็น สารหวานจากหญ้าหวาน (Steviol Glycosides) จะให้รสหวานกว่าน้ำตาลทรายปกติ 200-300 เท่า โดยไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และยังมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความอ้วน ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ซึ่งผู้บริโภค ผู้ป่วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน ใส่ใบหญ้าหวานหรือสารสกัดจากหญ้าหวานในอาหารหรือเครื่องดื่ม บริโภคแทนน้ำตาลได้อย่างปลอดภัย และในหลายประเทศก็ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่ม เบเกอรี่ กันเป็นเรื่องปกติ

แต่หลังจาก ดร.เครือวัลย์ สมณะ เจ้าของบริษัท เบคไทย กรุงเทพอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ จำกัด และอดีตที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นคนไทยป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสนใจทำเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยนำหญ้าหวานซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้มาวิจัย พัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการปลูกในประเทศไทย เพื่อผู้บริโภคชาวไทย ตลอดจนผลักดันสารสกัดจากหญ้าหวานให้ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทุ่มเทเวลารวมเกือบ 10 ปี ปี 2559 จึงสามารถออกผลิตภัณฑ์สารสกัดจากหญ้าหวานที่มีตรา อย. มาจำหน่ายในท้องตลาดในชื่อ ซูกาเวีย (Sugavia) ได้สำเร็จ ทั้งในรูปของผงบรรจุซอง น้ำเชื่อมเข้มข้น และชาสมุนไพรใบหญ้าหวาน

คลุกวงในกับธุรกิจหญ้าหวานครบวงจร

 

 ซูกาเวีย ได้เป็น 1 ใน 10 รางวัลนวัตกรรม TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2013 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จากข้อมูล บริษัท ซูกาเวีย จำกัด เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ผลิตสารหวานจากหญ้าหวานอย่างครบวงจร โดย ดร.เครือวัลย์ ประธานกรรมการบริษัท ซูกาเวีย เปิดเผยว่า ที่ทวีปอเมริกาใต้มีการบริโภคหญ้าหวานมานานนับพันปี ส่วนเมืองไทยมีการนำเข้าเมื่อ 100 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งปี 2556 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาว่า อนุญาตให้ สตีวิออลไกลโคไซด์ (Steviol Glycosides) เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้ (อ่านเพิ่มเติมที่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/091/37.PDF) สตีวิออลไกลโคไซด์จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

 

 

 

สาเหตุที่ ดร.เครือวัลย์มุ่งมั่นนำแนวคิดไปทำงานวิจัยพัฒนาสตีวิออลไกลโคไซด์จนเป็น commercial เป็นเพราะ “เราอยากจะช่วยคนที่เป็นเบาหวานกับคนที่เป็นโรคอ้วน ซึ่งเมืองไทยมีคนที่เป็นเบาหวานแล้ว 5.5 ล้านคน ส่วนคนอ้วน 16 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ชาย 5 ล้านคน ผู้หญิง 11 ล้านคน รวมแล้วเป็นประชากรไทยกว่า 20 ล้านคน ซึ่งปีปีหนึ่งรัฐบาลจะต้องใช้งบรักษาคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนจำนวนมาก เราจึงทำวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งเราเน้น End User เพราะถ้าทุกคนรักสุขภาพก็จะเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง รัฐก็ประหยัดงบค่ารักษาพยาบาลได้อีกมาก คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น”

 

 

 

ผลผลิตใบหญ้าหวาน 100 กิโลกรัม ตากแห้งแล้วจะเหลือ 10 กิโลกรัม สกัดแล้วจะเหลือเพียง 0.5 กิโลกรัม อัตราส่วนที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ ยิ่งจำเป็นต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่อยู่ในสภาพภูมิอากาศประเทศไทยได้ ทนโรค ให้ความหวานสูง โดยต้องปลูกง่าย ตายยาก ออกดอกน้อย เพื่อคุณภาพสูงสุด

 

 

 

“ทุกอณูของสารที่เราสกัดเป็นสีขาว สกัดจากใบหญ้าหวาน 100% ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (Non-GMOs) เราลงทุนไปเกือบ 10 ล้านบาท แล้ว อย. ก็ไม่กล้ารับรอง เพราะไม่มีเครื่องมือรับรอง เลยไปหามาตรฐาน CODEX มาตรฐานสากลที่องค์การอาหารและยา (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ แล้วเราก็ได้มาตรฐานดีด้วย เรียกว่า Steviol Glycosides ทำไมถึงเป็น Glycosides แปลว่า เราไม่ได้ใช้สารตัวเดียวเป็นสารให้ความหวาน แต่มีสารอื่นอีก 8-9 ตัว แต่ละตัวเป็นสมุนไพร กินแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลง ทำให้เกิดสมดุลโดยเข้าไปเร่งใช้อินซูลิน และยังช่วยให้กล้ามเนื้อที่เป็นส่วนอ่อนๆ แข็งแรงขึ้น เช่น โรคกระเพาะอาหาร ก็รักษาได้เหมือนกัน และเราทำตามหลักวิชาการทั่วไปจนพิสูจน์ได้ว่า สารนี้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลธรรมดาถึง 320 เท่า และวิจัยทางวิชาการแล้วว่าสามารถนำไปหุงต้ม ใช้อุณหภูมิได้ถึง 220 องศา และมันปลอดภัยต่อมนุษย์ 100%”

 

 

 

ในพื้นที่ปลูกหญ้าหวาน 400 กว่าไร่ที่เขาใหญ่ ตลอดจนพื้นที่ของเกษตรกรที่เป็น Contract Farming และโรงงานผลิต ซึ่งทุ่มงบไปกว่า 350 ล้านบาท ดร.เครือวัลย์บอกว่า ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในทุกขั้นตอนการผลิต และการปลูกตามวิธีของซูกาเวีย ในปีหนึ่งๆ เกษตรกรจะตัดหญ้าหวานส่งเข้าโรงงานได้ประมาณ 10 รอบ ให้ผลผลิตที่เป็นสารสกัดประมาณ 5 ตันต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 110,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งได้ราคาดีกว่าการปลูกกล้วยหอม ดังนั้น หญ้าหวานจึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่น่าสนใจสำหรับเมืองไทย และยิ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเลือกใช้หญ้าหวานเป็นส่วนประกอบ โอกาสสร้างรายได้ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ก็ยิ่งมีมากขึ้น

 

 

 

X

Right Click

No right click