ซึ่งสวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนทรัพยากร การแก้ปัญหา คือ เปลี่ยนมุมมอง “ขยะ” ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างไม่มีวันหมด ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้มีขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด และนำขยะเหล่านั้นกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่
นี่คือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่” สมบัติ เทพรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ถอดบทเรียนจากเอสซีจี และนำวิธีการ “บ้านโป่งโมเดล” มาจัดการปัญหาขยะล้นเมือง โดยเริ่มต้นเรียนรู้จากต้นแบบชุมชนบ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ จนขยายผลมาสู่ ต.บ้านหนองไม้เฝ้า ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 17 ชุมชน ของ อ.บ้านโป่ง ที่เข้าร่วมโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โดยใช้เวลากว่า 1 ปีเพื่อให้หลุดพ้นวิกฤตขยะ จนก้าวขึ้นเป็นชุมชนการบริหารจัดการขยะยั่งยืนในระดับประเทศ
ก่อนที่บ้านหนองไม้เฝ้าจะประสบความสำเร็จเป็นชุมชนต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน คนในชุมชนก็ขาดความรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม ทำให้นับวันขยะกองโตยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนยากต่อการจัดการ บ้างก็ทิ้งไว้หน้าบ้านรอรถขยะมารับ บางรายก็ใช้วิธีการเผา เป็นสาเหตุมลพิษในชุมชน สุดท้ายก็ย้อนกลับมาส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้คนในชุมชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 4 ปี
“4 ปีก่อนในหมู่บ้านมีขยะเปียก เศษอาหาร ถุงพลาสติก เศษใบไม้ ชาวบ้านกำจัดโดยการเผา เพราะไม่มีความรู้การจัดการขยะถูกวิธี รู้จักแค่การเผาและฝังกลบ ใช้เวลา 2-3 วันไฟจึงมอด ก่อให้เกิดมลพิษทำให้คนในชุมชนป่วย การแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มรถรับขยะก็เป็นเพียงปลายเหตุที่สุดท้ายก็เก็บไม่ทัน” นายกอบต.เขาขลุง เล่าต้นตอของปัญหา
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขยะ แต่ต้องสร้างความเข้าใจว่า “การจัดการขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน”
ถือเป็นความท้าทายของอบต. ที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ พร้อม ๆ กับให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการปรับทัศนคติและสร้างพฤติกรรมให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยเอสซีจีได้มาช่วยอบรมวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน และพาชุมชนไปศึกษาดูงานที่ชุมชนต้นแบบบ้านรางพลับที่มีการแยกขยะในชุมชนอย่างครบวงจร
“บอกกับชาวบ้านว่าถ้าไม่อยากให้ชุมชนมีขยะล้น ต้องช่วยกันคัดแยกขยะครัวเรือนก่อน เริ่มจากพูดเสียงตามสาย จากที่ทำทีละน้อย หาแนวร่วม ร่วมกันคิด ร่วมใจกันทำ จากที่ทำเฉพาะช่วงเทศกาลก็ขยายวงกว้างขึ้น” สมบัติ เล่าถึงความมุ่งมั่น
มณีล้ำค่าจากกองขยะ
การศึกษาดูงานเรื่องการจัดการขยะที่บ้านรางพลับ ทำให้ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้า เห็นการจัดการขยะที่สามารถนำไปสร้างคุณค่าได้มากมายจนกลายมาเป็น 6 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1. ปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกอง 2. การจักรสาน 3. น้ำหมักชีวภาพ 4. ขยะเป็นศูนย์เพิ่มมูลค่า 5. การคัดแยกขยะแบบครบวงจร 6. ไส้เดือนพอเพียง
“เราเริ่มลงมือลองทำตามนโยบายที่เราวางแผนร่วมกันไว้ กำหนดกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน เรามีขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิล ขยะเปียกจากเศษอาหาร ขยะจากการทำการเกษตร ขยะอันตรายจากอุปกรณ์ใส่ยาฆ่าแมลง นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกเศษผ้าที่เหลือทิ้ง เราจึงแบ่งหน้าที่ออกเป็นกลุ่มเพื่อคัดแยกขยะออกมา และจัดการอย่างเหมาะสม ผลสำเร็จก็คือ เราได้ทั้งขยะที่นำไปรีไซเคิลใหม่ แล้วก็ขยะที่นำไปขาย” นายกอบต.เขาขลุง เล่าต่อ
“แต่ก่อนชาวบ้านไม่รู้จักวิธีการทำน้ำหมัก นำเศษอาหารมาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการเกษตรได้ และยังสามารถผลิตสินค้าแปรรูปจากวัสดุเหลือใช้ เป็นการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย” สุวรรณี รักทอง ชาวบ้านชุมชนหนองไม้เฝ้า เล่าเสริม
ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาขยะ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม รายได้จากการจัดการขยะรีไซเคิล สามารถนำไปตั้งกองทุนช่วยเหลือสาธารณประโยชน์และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเป็นทุนการศึกษาเยาวชนในชุมชน
ธงชมพู สัญลักษณ์ “บ้านปลอดขยะ”
วิธีสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมีหลากหลายระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน ที่มีการมอบหมายให้ทำหน้าที่ “นักเรียนคุมซอย” หมั่นตรวจตราความสะอาดขยะภายในซอย ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ธงสีชมพูที่แสดงถึง “บ้านปลอดขยะ” เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการก็เป็นการกระตุ้นส่วนที่เหลือหันมาเข้าร่วม จนพร้อมใจกันติดธงชมพูกันทั้งหมู่บ้าน
“เวลาแค่ 1 ปี ชุมชนของเราได้รับรางวัลชมเชยชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลที่มาจากความตั้งใจจริง ๆ แล้วมันเห็นผล คนอื่นก็เห็น เขาถึงมอบรางวัลนี้ให้กับเรา วันที่ได้รางวัลมาผมก็ประกาศเสียงตามสายบอกชาวบ้านว่าชุมชนเราได้รางวัลระดับประเทศแล้วนะ สิ่งที่เราลงมือทำกันมันไม่เสียเปล่า” สมบัติ เล่าอย่างภูมิใจ
“ไม่ใช่สะอาดอย่างเดียว แต่ยังได้ทำงานกับคนไม่รู้จักหรือเคยทะเลาะกันมาก่อน ทำให้หันหน้าคุยกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อหมู่บ้านได้รับคำชื่นชมก็ภูมิใจ มีกำลังทำต่อเนื่อง เพื่อให้คนรุ่นหลังร่วมกันสืบทอดให้ยั่งยืน “ สุวรรณี เสริมต่อ
การเปิดใจเรียนรู้ของผู้นำชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกคน ทำให้ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้า สามารถก้าวข้ามสิ่งที่ยากที่สุด คือการปรับทัศนคติและปลูกจิตสำนึก จากที่เคย “มองขยะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า” ก็เปลี่ยนมุมมอง “ขยะคือเงินทองที่มีมูลค่า” จนนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมจากใช้แล้วทิ้ง มาเป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือนซึ่งทุกคนในชุมชนร่วมกันสร้างพลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน จนก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบชุมชนบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และต่อยอดในระดับประเทศได้ต่อไป
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel