เช้าวันที่ 3 ของทริปยามานาชิ ไกด์อาสาคือคุณป้าโอนิชิ และตัวแทน ททท.ของเมืองโคฟุ มารับทีม MBA ไปพบประสบการณ์ “รับพลังชีวิต เพิ่ม” พลังคิดบวก” ที่ Power Spot จุดสำคัญของเมืองโคฟุ คือศาลเจ้าคะนะซากุระ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 2,000 ปี
ถนนโชเซ็นเคียวได คือเส้นทางที่ทอดขึ้นไปสู่ศาลเจ้าอันเป็นเป้าหมาย ตลอดทางที่ขับขึ้นเขา คุณป้าโอนิชิบอกเล่าตลอดเส้นทางอย่างภูมิใจว่า “ดอกซากุระที่นี่จะมีสีสันแตกต่างจากที่อื่น กลีบจะมีสีเหลืองเหมือนสีของขมิ้นในฤดูที่ซากุระบานเวลากระทบกับแสงอาทิตย์ จะเห็นเป็นภาพดอกซากุระเหลืองอร่าม ราวกับเป็นซากุระสีทองทั่วไปทั้งป่าและเขา จึงเรียกซากุระนี้ว่า อุกอน ซากุระ โดยเชื่อกันว่า ณ ที่แห่งนี้เป็นหนึ่งใน Power spot หรือจุดรับพลังที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่จะส่งเสริมในเรื่องโชคลาภโดยเฉพาะในด้าน เงินทอง” ดังนั้น คุณป้าโอนิชิจึงชักชวนให้มาชมซากุระสีทองที่ภูเขาแห่งนี้ในช่วงปลายเดือนเมษา-ต้นพฤษภาคมให้ได้
ศาลเจ้าคะนะซากุระตั้งอยู่บนภูเขาสูงกว่า 2,500 ฟุต จนรู้สึกได้ถึงอาการหูอื้อเป็นระยะจากระดับของความสูงที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่รถแล่นไต่ระดับเขาขึ้นไป แต่ความงดงามของทิวทัศน์ก็ไต่ระดับความงามขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ชอบการขับรถและเที่ยวชมธรรมชาติแนวป่าเขา เราเชื่อว่า โซเซ็นเคียวได แห่งนี้เป็นคำตอบที่ดีเยี่ยม
เมื่อขึ้นมาถึงที่ศาลเจ้า เป็นศาลที่ถูกก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ในปี 1958 เพื่อทดแทนศาลเจ้าเดิมที่ถูกไฟไหม้ เสาสองต้นของศาลเจ้าด้านหน้ามีการแกะสลักรูปมังกรหันหัวขึ้นและลงสลับกัน ซึ่งคุณป้าโอนิชิอธิบายว่า ศาลเจ้าโบราณแห่งนี้น่าจะรับอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนในสมัยโบราณ เพราะชาวจีนนิยมสลักรูปมังกร เพราะความเชื่อว่าเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และมังกรแกะสลักทั้งสองนี้แกะสลักขึ้นใหม่ เพื่อให้เหมือนของเดิมในอดีต คุณป้าโอนิชิยังเล่าต่ออีกว่า ในช่วงซากุระบานศาลเจ้าจะมีเทศกาลและพิธีกรรม บางครั้งก็มีการจัดแสดง “ละครโน” (ใส่หน้ากากที่ทำด้วยเครื่องเขิน) ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีความสนุกสนานมาก
Power Spot หรือจุดรับพลัง เป็นกระแสในความนิยมของคนรุ่นใหม่ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าในสถานที่ที่พิเศษจะบรรจุพลังพิเศษเก็บงำไว้ และหากไปยังที่มี Power Spot ก็จะได้รับการเพิ่มพลัง ซึ่งมักเป็นเรื่องการคิดบวก โดยแตกต่างไปจากการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างไรก็ดีการรับพรจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ โคฟุ มิได้จำกัดเฉพาะเพียงแต่ “ผู้คน” ทว่า “รถยนต์” ก็ยังมีความนิยมนำมาทำพิธีรับพรเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย สังเกตว่าจะเห็นการ “ตีเส้น” กำหนดจุดบนลานจอด บอกพิกัดตำแหน่งสำหรับรถที่จะเข้าพิธีกรรมอย่างมีระเบียบวินัย สมกับเป็นคุณลักษณะของรถและชาวญี่ปุ่นโดยแท้