January 22, 2025

จากเศษเหล็กสู่ธุรกิจพันล้าน

October 24, 2019 7716

บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เติบโตมาจากธุรกิจการค้าอะไหล่รถยนต์เก่าที่มีราคาแต่ละชิ้นหลักพันหรือหลักหมื่นบาท มาถึงทุกวันนี้

สามารถก้าวเข้าสู่ระดับสากลที่มีมูลค่าธุรกิจนับพันล้าน ผ่านแนวคิดและการวางกลยุทธ์ของ สมพล ธนาดำรงศักดิ์ บวกกับการสนับสนุนจากครอบครัว ทำให้ธุรกิจเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว

จากความมุ่งมั่นของเด็กวัย 10 ขวบ กับการเริ่มต้นธุรกิจครอบครัว แล้วผันตัวเองเข้าสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ผลิตจากพลาสติก และผู้จำหน่ายอะไหล่รถยนต์โดยมีฐานะลูกค้ากระจายอยู่ 115 ประเทศทั่วโลก ความสำเร็จแบบนี้มาจากฝีมือล้วนๆ

สมพล ธนาดำรงศักดิ์ ลูกชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 9 คนของครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ เขาเติบโตขึ้นท่ามกลางอะไหล่รถยนต์ เศษเหล็กเก่าๆ ในเชียงกง ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว ที่นำเข้าอะไหล่รถยนต์เก่าจากญี่ปุ่นมาขาย เมื่อ 39 ปีที่ผ่านมา

สมพล เข้าสู่วงการซื้อขายอะไหล่รถยนต์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยใช้เวลาช่วงปิดเทอมเดินทางไปญี่ปุ่นกับพี่ชาย เพื่อหาอะไหล่รถยนต์เข้ามาขาย ทำให้เขาเข้าใจและรู้จักอะไหล่รถยนต์อย่างลึกซึ้ง เพราะ จะต้องรู้ว่าควรจะนำอะไหล่แบบไหนอะไรมาขาย เนื่องจากเชียงกงขายอะไหล่เป็นเศษเหล็ก  ดังนั้น ต้องแปลงเศษเหล็กให้เป็นเงิน

“ผมว่าการจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นธุรกิจที่เรารัก รักในสิ่งที่ทำ จะทำงานไม่เหนื่อย แต่ถ้าธุรกิจไหนที่ทำแล้ว ถึงแม้จะได้เงินแต่ไม่ชอบ จะไม่มีความยั่งยืน ซึ่งความคิดแบบนี้ติดตัวผมมาตั้งแต่เด็กกับธุรกิจขายอะไหล่ คือ ผมไม่ต้องการเงิน แต่เป็นธุรกิจที่ผมชอบ” สมพล เล่า

นอกจากขายอะไหล่รถยนต์แล้ว ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ ยังขยายธุรกิจติดตั้งถังแก๊สรถยนต์ ปั๊มแก๊ส รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีพี่ๆ เป็นผู้ดูแล

ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ ทำธุรกิจนำเข้าอะไหล่รถยนต์เก่าจากญี่ปุ่นมาขายอยู่หลายปี ก็เริ่มมีแนวคิดในการผันเข้าสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เนื่องมาจากว่าธุรกิจขายอะไหล่ในเชียงกงเริ่มซบเซา ประกอบกับญี่ปุ่นเริ่มไม่ผลิตอะไหล่รถยนต์แล้ว แต่ถ้ามองถึงความต้องการอะไหล่รถยนต์เก่าๆ ในเมืองไทย ยังมีสูงมาก

ขณะที่สถานการณ์ธุรกิจเชียงกงเริ่มไม่เป็นใจ อะไหล่รถยนต์จากไต้หวัน เริ่มเข้ามาตีตลาดไทยแทนอะไหล่จากญี่ปุ่น แถมมีราคาถูกกว่าประมาณ 60% ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ จึงมองว่าน่าจะใช้โอกาสนี้ในการเป็นผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์

“ขนาดไปซื้อของเก่าๆ บุบๆ พังๆ มาขายยังขายได้ ถ้าผลิตเองก็น่าจะขายได้ดีเหมือนกัน” สมพล รำลึกความหลัง และในฐานะที่เขาชอบและรู้จักอะไหล่รถยนต์ ทุกคนในครอบครัวจึงตัดสินใจให้เป็นตัวตั้งตัวตีในการดำเนินการ

ล้มไม่เป็นท่า 

ปี พ.ศ. 2534 สมพลเริ่มต้นด้วยเงิน 10 ล้านบาท นำเข้าแม่พิมพ์ 2 ตัวจากไต้หวัน แล้วไปจ้างโรงงานอื่นผลิตเป็นอะไหล่รถยนต์ที่ทำจากพลาสติก แล้วทดลองทำตลาดในประเทศไทย

สมพลมองว่า ธุรกิจน่าจะไปได้สวย จึงตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัว ด้วยการขอเงินจากทางบ้านอีก 10 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทหน้ากระจัง กันชน และชิ้นส่วนรถยนต์อื่นด้วยพลาสติก ในชื่อ บริษัท ฟอร์จูนพาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด แล้วไปซื้อแม่พิมพ์ 20 รุ่น จาก บริษัท โปรฟอร์จูน อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไต้หวัน ขณะเดียวกัน ทั้งคู่ก็จับมือเป็นพันธมิตรกัน ด้วยการลงขันกันฝ่ายละ 20 ล้านบาท   

ถึงแม้ว่า ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ จะประสบความสำเร็จอย่างมากกับการนำอะไหล่รถยนต์เข้ามาขาย แต่เมื่อผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตเอง กลับประสบความล้มเหลว เพราะ 4 ปีแรกที่ทำธุรกิจ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

สมพลวิเคราะห์ถึงความล้มเหลว พบว่าปัจจัยสำคัญเกิดจากไม่มีความรู้ด้านการผลิต ทำให้เสียน้ำยา ชุบไปมาก เป็นการลองผิดลองถูก ทำให้ต้องไปนั่งเรียนเคมีใหม่และจ้างวิศวเคมีเข้ามาเพื่อหาสูตร ถึงแม้จะเชี่ยวชาญด้านการตลาดในประเทศก็ตาม แต่สำหรับตลาดต่างประเทศแล้วกลับมืดบอด แถมพันธมิตรไต้หวันไม่ได้ช่วยเหลือด้านการตลาดเลย ที่สำคัญสินค้าที่ผลิตได้ไม่มีความหลากหลาย

“ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ มีแม่พิมพ์แค่ 20 รุ่น ซึ่งการที่จะขายสินค้าแค่ 20 โมเดล ทั้งปีก็ได้แค่ 10 กว่าล้านบาท ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น นอกจากพวกเราจะไม่มีประสบการณ์แล้ว เวลาลูกค้าจะซื้อสินค้าจะสั่งออเดอร์เป็นร้อยๆ โมเดล จึงมองว่า ถ้าทำธุรกิจนี้แล้วไม่ครบวงจร จะไปต่อไม่ได้” สมพล เล่า

จบปี พ.ศ.  2537 ฟอร์จูนพาร์ท ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท     

ช่วงปี พ.ศ.  2538 ครอบครัวธนาดำรงศักดิ์ นั่งคุยกันอย่างเคร่งเครียดว่าจะเดินต่อไปหรือจะปิดโรงงาน เพราะตลอด 4 ปีที่ดำเนินธุรกิจ สมพลใช้เงินครอบครัวไปแล้ว 40 ล้านบาท แต่ทุกอย่างลอยไปกับสายลม ผลสรุปออกมา สมพลขอเงินครอบครัวอีก 10 ล้านบาท เพื่อมาต่อลมหายใจธุรกิจอีกครั้ง

“คุณพ่อถามผมว่า จะขายบริษัทหรือทำต่อ ผมก็บอกคุณพ่อว่า ธุรกิจที่ทำอยู่เปรียบเสมือนลูกชายคนโต  ดังนั้น จะดีหรือไม่ดีบริษัทยังเป็นลูกของเราอยู่ จึงขอทำต่อ คุณพ่อจึงให้เงินมาอีก 10 ล้านบาท แล้วบอกว่า ล้มแล้วก็ทำใหม่ได้” สมพล รำลึกความหลัง

สมพล ปรับกลยุทธ์จากเงิน 10 ล้านบาทก้อนล่าสุดที่ได้มา ด้วยการทำแม่พิมพ์เป็นของตัวเอง โดยใช้เทคโนโลยีจากพันธมิตรไต้หวัน เพื่อเพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้น ประกอบกับทำตลาดต่างประเทศด้วยตัวเอง

ปลายปี พ.ศ. 2538 สมพลไปเปิดตลาดต่างประเทศครั้งแรกที่ไต้หวัน และได้รู้จักกับคู่ค้าในอีกหลายประเทศโดยเฉพาะตะวันออกกลาง จากนั้นก็บินไปเปิดตลาดแถวจอร์แดน อียิปต์ ดูไบ ซีเรีย “เหตุผลที่ไปหาตลาดแถบตะวันออกกลาง เพราะว่ามีการใช้รถปิกอัพเยอะมาก และแม่พิมพ์ชุดแรกก็ผลิตใช้กับรถปิกอัพทั้งหมด  ดังนั้น ถ้าจะขายสินค้าให้ได้ก็ต้องไปหาลูกค้าแถบตะวันออกกลาง หรือไม่ก็แอฟริกา” สมพล เล่า

กลุ่มลูกค้ารายแรก คือ ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถกระบะโตโยต้า “ไมตี้” ซึ่งสมพลได้นำมาใช้ตั้งชื่อลูกชายคนแรกด้วย และปี พ.ศ. 2539 ทำให้พลิกชีวิตโรงงานเป็นการลงทุนแม่พิมพ์เพื่อผลิตให้กับ “ไมตี้” ประมาณ 1.5 ล้านบาท ใช้เวลา 3 เดือนคืนทุนทั้งหมด เนื่องจากได้ลูกค้าจากสั่งสินค้า 3,000 ชุด และถือเป็นจุดเปลี่ยนและทำให้รู้ว่าตลาดต่างประเทศ คือ หัวใจสำคัญ

สมพลเริ่มเห็นภาพตลาดจึงบุกตลาดแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาทันที พร้อมๆ กับลงทุนเพิ่มแม่พิมพ์อย่างต่อเนื่อง “ผมไปเจอตลาดแอลจีเรียกับอิหร่าน ปีเดียวขายสินค้าได้ 20,000 ตัว ทำให้ภาพธุรกิจเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือทันที”

สมพลมั่นใจกับอนาคตของฟอร์จูนพาร์ท ตัดสินใจขอเงินทางบ้านอีก 10 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนแม่พิมพ์ ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ แล้วเปิดตลาดใหม่ๆ แต่ยังคงมุ่งเน้นประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเป็นหลัก

วิกฤติเศรษฐกิจ มีดีและร้าย

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาท ทำให้ฟอร์จูนพาร์ท ได้รับผลกระทบจากการมีหนี้ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกู้มาเพื่อขยายธุรกิจ “ผมกู้เป็นดอลล่าร์สหรัฐ เพราะต้นทุนทางการเงินต่ำมาก แค่ 2% ถ้ากู้เป็นสกุลบาทจะเจอดอกเบี้ย 8-9%” สมพลบอกถึงเหตุผลที่ไปกู้เงินเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐ

ตอนสมพล กู้เงินมาคิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 บาทต่อดอลล่าร์ หรือมีหนี้ประมาณ 62.5 ล้านบาท แต่หลังลดค่าเงินบาท เขาต้องแบกหนี้ราวๆ 130 ล้านบาท “เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตอนปี พ.ศ. 2540 มียอดขายแค่ 100 กว่าล้านบาท เมื่อเจอภาระหนี้ก้อนนี้เข้าไป แถมยังมีหนี้กับทางบ้านอีก ธุรกิจเริ่มมีปัญหา”

สมพลต้องเข้าไปเจรจาต่อรองกับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป โชคดีเจ้าหนี้ยอมให้ยืดการคืนหนี้ออกไปได้

ขณะที่กำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้ท่วมบริษัท สมพลกลับมีความสุข เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะขายสินค้าเป็นสกุลดอลล่าร์ “บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่าหนี้ที่มีอยู่ ผมจึงนำไปจ่ายหนี้ได้หมดภายในปี พ.ศ. 2541” สมพล บอก    

บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ทำให้สมพลเข้าใจว่า ถึงแม้ตัวเองจะเรียนจบด้านการเงินมา และเวลาวางกลยุทธ์ทางธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างมาก แต่เมื่อนำเอาแผนการวางเอาไว้ไปปฏิบัติใช้จริงกลับคนละเรื่อง

“ในโลกความจริงแล้วมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบต่อการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา อย่างเช่น กู้เงิน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็ต้องดิ้นรนแก้ปัญหา” สมพล เล่า

หนูทดลองเข้าตลาด

แม้สมพลจะจบด้านการเงิน แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่ได้อยู่ในความคิดของเขาเลย เนื่องจากธุรกิจยังมีขนาดเล็ก ยอดขายยังระดับร้อยล้านบาท ที่สำคัญยังเข็ดขยาดกับการเป็นหนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงสมพลจะใช้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจค่อนข้างระมัดระวัง แต่ยอดขายกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 เขาตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

เหตุผลที่ต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียน เนื่องจากว่าสมพลและครอบครัวมองว่า คู่แข่งของฟอร์จูนพาร์ท ล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการชิ้นส่วนรถยนต์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ “ถ้ายังใช้เงินทุนส่วนตัว และต้องการขยายธุรกิจเพื่อเติบโต อาจจะไม่ยั่งยืน” สมพล เล่า

ประกอบกับธุรกิจของครอบครัวมีหลายบริษัท จึงตกลงกันว่า ควรให้ธุรกิจที่มีขนาดเล็กที่สุดเข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งธุรกิจของพี่น้องคนอื่นๆ ยังไม่กล้าเข้าตลาด ทำให้ฟอร์จูนพาร์ทกลายเป็นหนูทดลองในการเข้าตลาดหลักทรัพย์

“เมื่อเข้าตลาดแล้ว พี่ๆ แซวผมว่า ฟอร์จูนพาร์ท รวยสุดในบรรดาธุรกิจของครอบครัว” สมพล เล่าติดตลก

เมื่อตัดสินใจแบบนี้ สมพลเริ่มวางแผนเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจ ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ ใช้เงินเกือบ 500 ล้านบาท เป็นการกู้จากธนาคารพาณิชย์ 300 กว่าล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินทุนส่วนตัว เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เป็นหุ่นยนต์แทนแรงงานคน เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้า และสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขณะเดียวกันได้จ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อเข้ามาวางโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่อยู่ในกระบวนปรับปรุงเครื่องจักรและสร้างโรงงาน ฟอร์จูนพาร์ทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 30% ทำให้ปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากยอดขายหล่นฮวบลงอย่างรวดเร็ว เพราะรายได้ส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ทำให้ปี พ.ศ. 2548 ขาดทุนเกือบ 60 ล้านบาท

“เมื่อธุรกิจขาดทุน เลยต้องเลื่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ออกไป  ทั้งๆ ที่เตรียมความพร้อมทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว” สมพล เล่า

ฟอร์จูนพาร์ทขาดทุนปีเดียว จากนั้นก็กลับมาสร้างผลกำไรได้อีกครั้ง แต่กว่าจะจ่ายหนี้ก้อนที่กู้มาครั้งล่าสุดหมดต้องใช้เวลา 3 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 แนวคิดการเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็กลับมาอีกครั้ง “เมื่อบริษัทไม่มีปัญหาทางด้านการเงินแล้ว จึงมองว่าน่าจะมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไป ซึ่งการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม” สมพล กล่าว

ประกอบกับช่วงนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังขยายตัวอย่างมาก ซึ่งฟอร์จูนพาร์ทได้รับประโยชน์โดยตรง ส่งผลให้ยอดขายวิ่งไประดับ 500 ล้านบาทแล้ว “โอกาสมา แต่ไม่มีเงินก็ทำธุรกิจต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีแหล่งเงินทุน ถ้าโอกาสมาก็พร้อมจะลุย”

20 กันยายน พ.ศ. 2555 ฟอร์จูนพาร์ทซื้อขายวันแรก

สมพลบอกว่า ในช่วงแรกๆ ที่เตรียมตัวเข้าตลาดรู้สึกอึดอัดกับความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์อยู่บ้าง เช่น ในอดีตเวลาซื้อวัตถุดิบบางอย่าง ก็จะซื้อกับธุรกิจญาติพี่น้องตัวเอง แต่เมื่อจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องเขียนรายงานถึงเหตุผลเรื่องการสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทใกล้ชิด รวมถึงต้องหาราคาเปรียบเทียบ

หรือแม้กระทั่งเรื่องบัญชี ในอดีตแทบจะไม่รู้เลยว่าปิดงบบัญชีไปแล้วกำไรเป็นเท่าไหร่ แต่เมื่อเป็นบริษัทมหาชนแล้ว จะมีระบบคอยตรวจสอบการทำงานตลอดเวลา ทำให้การทำงานโปร่งใสขึ้น ซึ่งระบบต่างๆ ที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์คอยตรวจสอบ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใส

“ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้จะมีกฎระเบียบเข้มงวด แต่ทำให้การบริหารจัดการมีความเป็นสากล และการดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืน” สมพล เล่า “ถ้าไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ พวกเราคงไม่ได้เห็นและไม่ทำ ถึงแม้จะเป็นระบบที่ยุ่งยากแต่ก็เป็นระบบที่ดี เช่น ระบบบัญชีที่เข้ามาตรวจทุกขั้นตอน การบริหารความเสี่ยง การไปอบรมด้านจรรยาบรรณ ความโปร่งใส ซึ่งผมมองว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถหาซื้อด้วยเงินได้”

นอกจากนี้ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้บริษัทชื่อเสียง ทำให้คู่ค้า ลูกค้าให้ความไว้วางใจต่อการทำงาน เช่นเดียวกับพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน จากผลตอบแทนที่ได้มาตรฐานสูงขึ้น ที่สำคัญทำให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และสามารถเจรจาต่อรองกับธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้น

จากฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากเข้าตลาดทรัพย์ และทำให้มีช่องทางหรือทางเลือกในการระดมเงินทุนมากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการขยายธุรกิจในอนาคตทั้งสิ้น ล่าสุดฟอร์จูนพาร์ท ออกหุ้นกู้แปลงสภาพแบบเฉพาะเจาะจงจำนวนไม่เกิน 10 ล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ ให้กับ Advance Opportunities Fund (AO Fund)

“ผมมองว่า ถ้าได้พันธมิตรจากต่างประเทศก็จะเป็นการกระจายความเสี่ยง อีกทั้งทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ”  

ฟอร์จูนพาร์ท ถือเป็นบริษัทแรกของประเทศไทยและรายแรกของจังหวัดปทุมธานี ที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายใต้โครงการ “หุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด” ซึ่งเป็นโครงการ ของ ก.ล.ต.

“ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของบริษัท และรางวัลเกียรติยศนี้น่าจะเป็นดัชนีที่สะท้อนในเห็นถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญการเข้าไปโครงการนี้ จะได้สิทธิประโยชน์ในการเข้าตลาดมากมาย”

สมพลปิดท้ายด้วยคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า ก่อนอื่นต้องมองธุรกิจตนเองว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร คู่แข่งเป็นใคร จะเจาะตลาดอย่างไร “เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างเช่น เมื่อตลาดอาเซียนเปิดออกมา จะทำให้เปิดกว้างในการทำธุรกิจอย่างมาก ถ้าเข้าจดทะเบียน อย่างน้อยๆ ทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ระบบการบริหารจัดการมีมาตรฐาน และถ้าได้กินส่วนแบ่งตลาดแค่ในอาเซียน ก็ทำให้เติบโตอย่างมาก”

ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ต้องการตลาด การแข่งขันระดับต่างประเทศ การเข้าตลาดหลักทรัพย์นับเป็นช่องทางในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันในระยะยาวได้


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

-----------------------------
หนังสือ หุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 17 February 2021 07:51
X

Right Click

No right click