และเครื่องดื่มได้รับการผลิตและปรุงแต่งเพื่อตอบโจทย์ในการขจัดทั้งความหิวและความโหยของมนุษย์ อีกทั้งยังฉายสะท้อนไปถึงความละเมียดและรสนิยมในการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมของสังคม และที่น่าสนใจคือ อาหารและการกินเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สอดแทรก แพร่กระจาย และแลกเปลี่ยนซึมซับข้ามไปมาระหว่างมนุษย์ในสังคมประเทศต่างๆ ในโลก
อย่างไรก็ดี ชุมชนในแต่ละพื้นที่ก็มีทั้งความสามารถและความจำกัดในการเพาะปลูกพืชผักและผลิตอาหาร ส่วนใหญ่ยังต้องอิงอยู่บนปัจจัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่จะอำนวย เป็นสิ่งที่ทำให้หลายพื้นที่ในภูมิศาสตร์โลกมีความโชคดีที่ไม่เท่ากัน แต่หนึ่งในประเทศที่โชคดีนั้นมีไทยเรารวมอยู่ด้วย
นอกจาก “ข้าว” พืชพระเอกทางการเกษตรที่โดดเด่น เพราะเรามีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ซึ่งหากมองบนพื้นฐานและเหตุผลของการปลูกข้าว เพราะนั่นคืออาหารหลักของวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนไทย ส่วนที่เหลือและที่เกินจึงควรขายเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้หากอยากให้ราคาข้าวสูงขึ้นมาได้ อาจหมายถึงการพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมการกินข้าวให้แพร่หลายเป็นสากล หรืออีกทางอาจหันมาพิจารณาพืชเกษตรที่มีศักยภาพและความเป็นสากลในการบริโภค ซึ่งหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น คือ “กาแฟ” ที่ไทยเรามีศักยภาพ และ กาแฟทุกวันนี้มีวัฒนธรรม (Coffee Culture) ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมแบบสากล (World Culture)
On the Coffee Road
หากย้อนเวลากลับไปกว่า 20 ปี ไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟป้อนเข้าตลาดโลก เมื่อครั้งที่ตลาดกาแฟเริ่มขยายตัวก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทั้งในต่างประเทศและขยับเข้ามาในเมืองไทย ก่อให้เกิดความต้องการเมล็ดกาแฟเพื่อป้อนเข้าโรงงานทั้งในไทย และอีกหลายประเทศที่ดื่มกาแฟแต่ปลูกไม่ได้ ภายใต้ความจำกัดของพื้นที่ที่ต้องอยู่ในรัศมี Coffee Belt ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
ตลาดกาแฟเติบโตและขยายตัวจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศอย่างมากตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยที่นอกจากการเป็นแหล่งผลิต ไทยยังเป็นตลาดที่เติบโตตามวิถีของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง จากสังคมเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม และกาแฟเป็นส่วนหนึ่งในอาหารและการดื่มกินที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงควบคู่กัน โดยผลิตภัณฑ์ด้านกาแฟจากผลผลิตของอุตสาหกรรม มีตั้งแต่กาแฟสำเร็จรูป หรือ instant กาแฟซองปรุงสำเร็จคือ coffee mix หรืออีกชื่อคือ all-in-one ไปจนถึง กาแฟกระป๋องพร้อมดื่มจากตู้แช่ที่เติบโตและมาแรงในตลาดแมสซึ่งขยายไปพร้อมกับความสะดวกในการซื้อหาจากการวางจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ มูลค่าตลาดกาแฟในประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลค่ารวมร่วม 30,000 ล้านบาท
มูลค่าตลาดกาแฟหลายหมื่นล้านบาทเป็นดัชนีที่ชี้ว่า มีอัตราการบริโภคที่แพร่หลาย แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ เริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งประเด็นในเรื่องนี้มีส่วนส่งมอบทั้งโอกาส อุปสรรค และความท้าทายให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านกาแฟในสังคมเศรษฐกิจของไทยเราอย่างมีนัย
S. ISHIMITSU & CO.,LTD. นักพัฒนาตลาดกาแฟจากญี่ปุ่นสู่ไทย
ด้วยบรรยากาศที่ร้อนแรงจากอัตราการเติบโตอย่างพุ่งพรวด ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาของเหล่าบรรดานักดื่มกาแฟแนวใหม่ และการผุดขึ้นอย่างหลากหลายของร้านคาเฟ่ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และสไตล์กระจายครอบคลุมไปทั่วประเทศ กลายเป็นอีกวัฒนธรรมในแบบที่เรียกว่า Café Culture ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ผลิผลขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมภาคบริการในบ้านเรา ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็เป็นการสะท้อนถึงการตอบรับกับวัฒนธรรมการกินดื่มในแบบตะวันตก ที่ซึมซับและรับมาจากวิถีในทางอ้อมเช่นจากภาพยนตร์และวิถีในทางตรงจากร้านกาแฟข้ามชาติที่โด่งดังอย่างเช่น สตาร์บัคส์
MBA มีโอกาสสัมภาษณ์ รับฟังทรรศนะและความคิดเห็นอันพึงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สนใจในสาขาการพัฒนา ธุรกิจกาแฟจาก ชิเกรุ โมริโมโต้ (Shigeru Morimoto / President, Executive Officer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท S. ISHIMITSU & CO.,LTD. บริษัทผู้ค้า และพัฒนาตลาดกาแฟชั้นแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเปิดดำเนินกิจการในฐานะผู้เชี่ยวชาญในตลาดอาหารและกาแฟมากว่า 110 ปี โดยโมริโมโต้ มีมุมมองต่อตลาดกาแฟในเมืองไทยว่า
จากประสบการณ์ที่เดินทางมาประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับพบว่ารสชาติของกาแฟที่เสิร์ฟ ไม่ว่าจะอยู่ในร้านอาหารหรูหราราคาแพงเพียงใด หรือแม้แต่ในโรงแรมชั้นนำ ส่วนใหญ่จะมีรสชาติที่ยังไม่ถึงระดับกาแฟพรีเมียม ทั้งที่ประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งปลูกกาแฟแห่งหนึ่งของโลก พอได้เข้ามาศึกษาทั้งเรื่องพื้นที่และการเพาะปลูกกาแฟของไทยซึ่งมีอยู่ทั้งในภาคใต้และภาคเหนือ และเรื่องของสายพันธุ์ จนกระทั่งได้ขึ้นไปสำรวจพื้นที่จริงในภาคเหนือ จึงรู้สาเหตุอันเป็นที่มาของรสชาติกาแฟที่ยังไม่ได้มาตรฐานว่าเป็นเพราะ
“ปัญหาเรื่องต้นทุน เกิดขึ้นเพราะผลผลิตเมล็ดกาแฟส่วนใหญ่ภายในประเทศ เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) ซึ่งมีราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า (Arabica) ซึ่งมีคุณภาพและรสชาติดี เป็นที่นิยมในการนำมาคั่วชงเป็นกาแฟสด ให้รสชาติความเป็นพรีเมียม และกลิ่นหอมที่เป็นอโรมา แต่กาแฟ
อาราบิก้า สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่จำกัดทางภาคเหนือ และที่รับรู้มาปริมาณผลผลิตของอาราบิก้าในไทยก็ผลิตได้ไม่มากนัก ประมาณแค่ 2-3% ของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้นร้านค้ากาแฟที่ต้องการอาราบิก้าเกรดดี จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เมื่อต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าที่สูง จึงทำให้ราคาเมล็ดกาแฟสูงตามจนมีผลต่อต้นทุน นำมาซึ่งราคากาแฟที่แพง เพื่อจัดการเรื่องราคาที่ผู้ซื้อต้องเป็นผู้จ่าย ร้านอาหารส่วนใหญ่จึงต้องใช้เมล็ดกาแฟภายในประเทศที่เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า ผสมเป็นส่วนใหญ่ทำให้รสชาติไม่ดีพอ เพราะที่จริงแล้วเหมาะสมจะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม”
เพราะ บริษัท S.ISHIMITSU เป็นผู้ค้าส่งเมล็ดกาแฟสำหรับผู้ใช้ในกิจการร้านค้า ร้านอาหารและสถานบริการอย่างหลากหลาย มีเครือข่ายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญในการค้นหาแหล่งเพาะปลูกที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อจัดซื้อ นำมาคัดสรรและคั่วผลิตเป็นเมล็ดกาแฟชั้นดีจัดส่งให้กับคู่ค้าในเครือข่าย ภายใต้องค์ความรู้ที่สั่งสมมา ประธานบริหารของ S. ISHIMITSU แบ่งปันถึงที่มาของคำว่า คุณภาพและความเป็นมาตรฐานของกาแฟว่า
“คุณภาพและมาตรฐานเกิดจากทุกปัจจัย เริ่มตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก ดิน น้ำ และอากาศ ตลอดจนสายพันธุ์ และชนิดของเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงโนว์ฮาว หรือเทคโนโลยีในการควบคุมและคัดเกรด ตลอดสายการผลิตจนถึงการคั่ว โดยทั่วไป กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า จะมีความซับซ้อนมากกว่าในการปลูกและดูแล โดยพื้นที่เพาะปลูกควรมีระดับความสูงประมาณ 1,000-1,500 เมตร และต้องการความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละวันค่อนข้างมาก จากร้อนไปเย็นในวันเดียวกัน ต้องการร่มเงาที่เพียงพอ และมีลมพัดระบายอากาศอยู่ตลอด ที่สำคัญคือ การดูแลที่ต้องการความใส่ใจอย่างจริงจัง เพราะต้องหมั่นกำจัดวัชพืชอยู่ตลอดเวลาเพื่อควบคุมให้ได้มาตรฐาน รสชาติของผลผลิตอย่างที่ต้องการ ในส่วนของการดูแลต้นกาแฟ การตัดแต่งกิ่งย้ำว่าต้องทำอยู่เสมอๆ เพราะความสั้นและความยาวของกิ่งก้าน ล้วนส่งผลต่อขนาดของเมล็ดที่จะออกมาได้มาตรฐานด้วย”
นอกจากนี้ในกระบวนการให้ได้มาซึ่งเมล็ดกาแฟชั้นดีและมีคุณภาพ บริษัท S.ISHIMITSU ยังต้องลงไปในรายละเอียดของขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ที่เน้นย้ำเป็นสำคัญว่าจะต้องไม่เก็บเมล็ดที่ยังไม่สุกโดยเด็ดขาด เพราะการปะปนของเมล็ดกาแฟทั้งสุกและดิบจะส่งผลให้คุณภาพและรสชาติที่ตามมาไม่ได้มาตรฐาน
ความเห็นต่อเทรนด์ของตลาดกาแฟในเมืองไทย
โมริโมโต้ มีความเชื่อว่า ตลาดผู้ดื่มกาแฟไทยในที่สุดก็จะปรับเปลี่ยนไปเหมือนผู้บริโภคกาแฟในญี่ปุ่น ซึ่งในระยะเริ่มต้นก็ดื่มกาแฟในแบบสำเร็จรูป หรือ instant เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนแบ่งตลาดกาแฟในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ในระยะแรกก็จะเป็นกาแฟสำเร็จรูป แต่ในปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของกาแฟที่เติบโตขึ้นมา และในวันนี้มีมูลค่ามากกว่าตลาดกาแฟสำเร็จรูปแล้วคือ กาแฟในแบบที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า เรกิวรา คอฟฟี ซึ่งในสากลเรียกกันว่า Roasted Coffee หรือกาแฟคั่วแล้วนำมาบดชง ในลักษณะที่คล้ายกาแฟสดที่เรียกกันในไทยเรา แต่ เรกิวรา คอฟฟียังมีรายละเอียดในการชงที่มีวิธีการเป็นขั้นตอน เริ่มจากการบดแล้วจึงค่อยนำมาชงผ่านวิธีในแบบที่เรียกว่า ดริปคอฟฟี (drip coffee) โดยจะผ่านเครื่องชงหรือกระดาษกรอง ขึ้นกับการบริโภคของผู้ดื่ม
พัฒนาการของตลาดกาแฟสำเร็จรูปของญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ได้เริ่มผลิตกาแฟผ่านรูปแบบในลักษณะของ เรกิวรา คอฟฟี โดยกาแฟไม่ได้ทำจากผงกาแฟอีกต่อไป แต่เปลี่ยนใหม่โดยใช้วิธีดริปกาแฟ ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับทั้งรสชาติและการตลาดของกาแฟอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ตลาดเรกิวราคอฟฟีในญี่ปุ่นทุกวันนี้มีส่วนแบ่งมากกว่า กาแฟสำเร็จรูปไปเรียบร้อยแล้ว โดยปริมาณการบริโภคกาแฟในญี่ปุ่นในปัจจุบัน เป็นตลาดเรกิวรา คอฟฟีที่ประมาณ 279,000 ตัน (แบ่งเป็นยอดการขายส่งร้านอาหาร ประมาณ 80,000 ตัน และใช้ในส่วนค้าปลีก ประมาณ 80,000 ตัน และส่วนที่เหลืออีก ประมาณ 100,000 ตันคือส่วนที่ใช้ผลิตกาแฟกระป๋อง) ในขณะที่กาแฟสำเร็จรูปหรือ instant ในญี่ปุ่นตอนนี้มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 45,000 ตัน (ซึ่งใช้ผลิตทั้ง ประเภทสำเร็จรูปและ all-in-one)
ประธานบริหารของ S.ISHIMITSU เชื่อว่าในอนาคต ตลาดกาแฟไทยก็จะมีทิศทางของผู้บริโภคและตลาดที่ปรับเปลี่ยนไปในแนวทางนี้เช่นกัน
เป้าหมายและการเข้ามาของ S.ISHIMITSU ในไทย
โมริโมโต้ เผยถึงเป้าหมายการเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยว่า “เพราะ S. ISHIMITSU & CO.,LTD. มี Motto หรือ คติพจน์ขององค์กรว่า Think together, work together, For Multual Prosperity นั่นก็คือความตั้งใจที่เราอยากจะจับมือ และร่วมงานกับเครือข่ายและคู่ค้า เพื่อร่วมสร้างความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน ดังนั้นเมื่อเราเข้ามามองหาแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟดีๆ ในเมืองไทย เราจึงได้ร่วมมือกับโครงการดอยตุง เพื่อขอนำเทคโนโลยีและสายพันธุ์กาแฟที่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการเผยแพร่และส่งเสริมการปลูกพร้อมรับซื้อกลับ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับให้กับเกษตรกรผู้ปลูกให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากราคาที่ลูกค้ายินดีจ่าย สำหรับเมล็ดกาแฟคุณภาพดี โดยที่ผ่านมาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟมาถ่ายทอดโนว์ฮาวในพื้นที่กาแฟที่เพาะปลูกสายพันธุ์ใหม่ เป็นโมเดลต้นแบบ ซึ่งปลูกมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว และอีกไม่นานก็จะได้เวลาเริ่มเก็บเกี่ยว ซึ่งในระหว่างที่รอผลผลิต สิ่งที่ S. ISHIMITSU จะทำได้คือการนำเมล็ดกาแฟชั้นดีเข้ามาแนะนำร้านคาเฟ่ชั้นนำ อาทิ ร้าน Roast ที่ห้างดิเอ็มควอเทียร์ หรือ ร้านกาแฟ อัลโต (Alto Coffee) เพื่อให้นักดื่มกาแฟในไทยได้ลิ้มลอง”
ทรรศนะและความคิดเห็นต่อตลาดกาแฟไทย
ในฐานะผู้บริหารกิจการค้ากาแฟระดับชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในตลาดสากล Shigeru Morimoto ให้ความคิดเห็นต่อการพัฒนาตลาดกาแฟของไทยว่า ความสำคัญนั้นอยู่ที่ทัศนคติและมุมมอง ซึ่งถ้าตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ต้องให้ตลาดกาแฟเป็นตลาดที่ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด มิใช่ถูกกำหนดจากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเป็นหลัก เพราะความต้องการเป็นสิ่งที่มาจากผู้บริโภค ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ ซื้อ หรือ ไม่ หากมุมมองและแนวคิดเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่า การพัฒนาตลาดก็จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง และนั่นคือแนวทางของการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งการเติบโตอย่างเหมาะสม การโอบอุ้มและปกป้องเกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่ จะด้วยกลไกกำแพงภาษีที่ทำให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันจากภายนอก แต่นั่นก็เป็นการปิดกั้นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศจากการลุกขึ้นมาพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในสถานการณ์และตลาดที่เป็นจริง ซึ่งอาจหยุดนิ่งเพราะอยู่ภายใต้การโอบอุ้ม ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาและปรับตัวของเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟให้เท่าทันและสอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนไปก็ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็น และไม่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่
S. ISHIMITSU & Co.,LTD. องค์กร 110 ปี ผู้นำพาวัฒนธรรมกาแฟมาสู่ประเทศญี่ปุ่น
ในปี ค.ศ. 1906 หรือ 110 ปีที่ผ่านมา ซูเอโอะ อิชิมิตสึ (Sueo Ishimitsu) ได้ก่อตั้งบริษัท S. Ishimitsu ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ Ishimitsu Sueo Company ณ ขณะนั้น เขามีเป้าหมายสำคัญคือต้องการทำตลาดขายสินค้าให้กับชาวญี่ปุ่นที่อพยพไปอยู่อาศัยที่อเมริกา โดยสินค้าที่นำไปก็จะมีทั้งอาหารและสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้มีการขยายสาขาไปที่ซานฟรานซิสโก และกลับมาเปิดสำนักงานการค้าที่ประเทศญี่ปุ่นตามลำดับ
ในระหว่างที่ใช้ชีวิตและทำธุรกิจในอเมริกา ซูเอโอะ อิชิมิตสึ มีข้อสังเกต หลังดื่มกาแฟเสร็จ ในเช้าวันหนึ่งว่า ผู้คนในสหรัฐฯ ซึ่งอพยพมาจากประเทศยุโรป ซึ่งมีวัฒนธรรมและรากฐานในการดื่มชา แต่พอย้ายมาที่สหรัฐฯ กลับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นการดื่มกาแฟ แม้แต่ตัวเขาเอง ก่อนที่จะมาจากญี่ปุ่นก็ดื่มชาเชียว ซึ่งต่อมาก็ยังเปลี่ยนมาดื่มกาแฟ เขาจึงเริ่มมองว่าต่อไปเมื่อวัฒนธรรมมีการหลั่งไหล และเปลี่ยนแปลงไป กาแฟจะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ของการดื่มกินที่มีโอกาสซ่อนอยู่ ซูเอโอะ อิชิมิตสึ จึงเริ่มศึกษาและหาความรู้เรื่องกาแฟ ตั้งแต่การปลูก วิธีการคั่วไปจนถึงการชงกาแฟ ในรูปแบบต่างๆ อย่างลึกซึ้ง และต่อมาได้นำเอาความรู้เรื่องกาแฟและวัฒนธรรมการดื่มกาแฟกลับไปเผยแพร่และส่งเสริมตลาดกาแฟในประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่า เขาคือผู้บุกเบิกตลาดการค้ากาแฟเป็นเจ้าแรกของประเทศญี่ปุ่น จนทุกวันนี้ กาแฟ เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศญี่ปุ่น และมีสถิติที่บ่งชี้ว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ดื่มกาแฟมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกกาแฟได้ แต่ในฐานะกิจการที่ต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ และต้องเป็นตัวกลางระหว่าง ผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ บริษัท S. ISHIMITSU ต้องสั่งสมองค์ความรู้ตั้งแต่พื้นที่การเพาะปลูกและทุกขั้นตอนในการผลิตไปจนถึง ข้อมูลทางการตลาด บนความเป็นมืออาชีพ ที่ต้องประกอบไปด้วย ความเชี่ยวชาญในการค้นหาเมล็ดกาแฟชั้นดี จากแหล่งผลิตชั้นเลิศ ในทุกมุมโลก ต้องมีเทคโนโลยีในการคัดสรร ตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการคั่วด้วยกรรมวิธีที่มีมาตรฐาน เพื่อป้อนให้กับคู่ค้าในเครือข่าย ภายใต้รูปแบบการเป็นผู้ค้าส่งให้เครือข่ายของบริษัทที่อยู่ ในสาขาด้านบริการที่หลากหลาย อาทิ โรงแรมชั้นนำ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลอดจนร้านคาเฟ่ชั้นดี การมีผลิตภัณฑ์คุณภาพเกรดพรีเมียม จึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทางบริษัท ส่งทีมงานไปศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีเรื่องการผลิตกาแฟ ตั้งแต่ไร่จนถึงโรงคั่วที่ประเทศบราซิล และยินดีที่จะร่วมถ่ายทอดให้กับเครือข่ายเกษตรกรที่มีเป้าหมายต้องการผลิตกาแฟคุณภาพ อันเป็นความสอดคล้องกับคติพจน์และเป้าหมายขององค์กรที่ว่า Think together, work together, For Multual Prosperity.