ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจจึงผุดไอเดียส่งต่อความรู้สู้กระแสดิสรัปชั่นและความไม่แน่นอน กับโปรเจค “THE CHANGE MASTER หนึ่งในโครงการภายใต้บริการ Krungsri Business Empowerment ในการให้ความรู้ มุมมอง และแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจ ซึ่งได้ออกอากาศไปแล้วในรายการ Business Watch จับกระแสธุรกิจ ทางช่อง TNN 16 เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา จับมือ 4 ผู้บริหารระดับซีอีโอจาก 4 องค์กรธุรกิจแถวหน้าของไทยมาแบ่งปันประสบการณ์ฝ่าวิกฤต เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนให้ลูกค้าและนักธุรกิจสร้างความเปลี่ยนแปลง รับกระแสดิสรัปชั่นและความไม่แน่นอน โดยผู้นำทั้ง 4 ท่าน ต่างก็ให้ข้อคิดสำคัญในการ “บริหารธุรกิจภายใต้ความไม่แน่นอน”
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) แนะนำว่า “ในวิกฤตเราต้องเปลี่ยนโหมดให้เป็น High Speed ไม่อย่างนั้น แก้ปัญหาไม่ทันแน่นอน ซึ่งอะไรคือ การทำงานแบบ High Speed นั้น ต้องเอา End Game เป็นตัวตั้ง โดยดูว่าหากต้องการความสำเร็จแบบนี้ ต้องวางแนวทางแบบไหน และต้องแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นต้องทำให้คนที่อยู่หน้างานสามารถมี Authorize มากขึ้น มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นและลดขั้นตอนการขออนุมัติ เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น”
อีกทั้งพยายามมองหาโอกาส อย่างเช่นสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำเพิ่มในเรื่องส่งออก ก็คือไปดูประเทศที่เรามีคู่ค้า และประเทศเหล่านั้นได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และผลที่เกิดขึ้น คือ เราได้โอกาสส่งออกเนื้อไก่หลายพันตันไปยังสิงคโปร์ สานต่อสู่โปรเจคใหญ่ที่จะมีส่วนช่วยซัพพลายเชนให้สิงคโปร์มีความปลอดภัยด้านอาหาร หรือโรงงานตั้งอยู่ที่อู่ฮั่น แต่รัฐให้ซีพีเป็นเจ้าเดียวที่กระจายอาหารในมณฑลได้ เกิดเป็นเรียนรู้โลจิสติกส์ และได้องค์ความรู้กลับมา อีกทั้งยังทำให้คนทำงานทุกเจเนอเรชันยอมรับและใช้ไอที ส่งผลให้จัดการงานเร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง มีการใช้ AI เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิต เช่น การใช้ Voice Technology เช็คคุณภาพหมู ใช้กล้องประเมินน้ำหนักไก่ ซึ่งเป็นไอเดียให้ทุกคนควรเลือกใช้เทคโนโลยีและหาวิธีการใช้ให้เหมาะกับธุรกิจแต่ละคน
“ผมไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ ไม่เคยหยุดที่จะปรับปรุง ไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ” นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญของ ‘เฮียฮ้อ’ ที่กลายเป็นคำแนะนำเปรียบดั่งขุมทรัพย์ ซึ่ง สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้นำไม่หยุดเรียนรู้ แต่ต้องแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ แล้วส่งต่อ Passion ไปยังคนในองค์กรให้ได้
“พรุ่งนี้ คือวันนี้ของเรา เราอยู่กับการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เป็นธุรกิจที่ต้องคอยติดตามเทรนด์ เป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวตลอด โลกซับซ้อนกว่าอดีต คาดการณ์ยาก ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม อะไรที่ยังไม่ชัดเจนให้ทำไป แก้ไป เรียนรู้ไป ต้องเร็ว กล้าคิด กล้าทำ คิดเร็ว ทำเร็ว แก้ไขเร็ว แก้ไม่ได้ก็ต้องเลิกให้เร็ว และหน้าที่ของผู้นำต้องเป็นซีอีโอที่ติดตาม พยายามทำองค์กรให้ไปในทิศทางที่เราวางไว้ อย่าให้สปีดลดลง ต้องมีความเข้มข้นในการหาสิ่งท้าทายใหม่เสมอ ใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี เตรียมความพร้อม ไม่ประมาท และรู้จักลูกค้าให้มากที่สุด”
สิ่งที่สะท้อนกระบวนทัศน์ของอาร์เอสมากที่สุด คือการเปลี่ยนตัวเองมาเป็น “Entertainmerce” ธุรกิจบันเทิงบวกคอมเมิร์สเต็มตัว จากแนวคิดจะทำธุรกิจแบบ B to C เปลี่ยนคนดูให้เป็นลูกค้าให้ได้ เกิดเป็น RS Mall ที่ไม่ใช่โฮมชอปปิ้ง แต่เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนแล้วนำมาสร้างจุดแตกต่างให้ได้ เน้นไปที่การเชื่อมโยงกับลูกค้า สะสม DATABASE 1.5 ล้านคน และใช้กลยุทธ์เก้าอี้ 4 ขา กลยุทธ์กระจายรายได้มากกว่า 2 ขา ลดความเสี่ยง เปลี่ยนบทบาทตัวเอง เปลี่ยนคนฟังให้เป็นลูกค้าผ่าน COOLanything สร้างศิลปินเป็น influencer มองหาธุรกิจใหม่เสริม Ecosystem ของอาร์เอส
“ถึงแม้เราจะยังว่ายน้ำไม่ไหวในวันนี้ แต่เราจะลอยคอไปด้วยกัน” คำกล่าวนี้สะท้อนปรัชญาองค์กรและยังสอดแทรกด้วยสปิริตนักสู้เต็มเปี่ยมของผู้นำไทยแอร์เอเชีย อย่าง ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) เผยความรู้สึกถึงการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เปราะบางที่สุด แม้จะเผชิญกับทุกความเสี่ยงมาตลอด แต่ทุกวิกฤตมัดรวมกันยังไม่เท่าโควิด-19 เพียงครั้งเดียว
แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคที่แอร์เอเชียต้องยอมจำนน หนทางรอดคือต้องปรับตัว ทั้งจัดการต้นทุน ปรับลดค่าใช้จ่ายโดยการพิจารณาแต่ละส่วน แล้วประเมินความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ แม้ค่าใช้จ่ายจะหนักหนา แต่หัวใจสำคัญของจัดการคือ พนักงาน ทุกคนจะลอยคอไปด้วยกันจนกว่าวิกฤตโควิดจะผ่านไป พร้อมเผยแพลตฟอร์ม Our Market แนวคิดเปิดพื้นที่ขายของระหว่างพนักงานกันเองกว่า 8,000 คน ซึ่งผลลัพธ์เกินคาดหมายสามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงเป็นแรงขับเคลื่อนต่อในการหาอาชีพเสริมให้พนักงาน และไม่ลืมที่จะสื่อสารให้กำลังใจกัน
“สิ่งที่ผู้นำควรทำคือการสื่อสารกับคนในองค์กรในช่วงวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายคนในองค์กรต้องรู้ก่อน ต้องมีความชัดเจนในการประชาสัมพันธ์ และต้องห้ามท้อ ห้ามถอดใจ ต้องสู้ให้ถึงที่สุด เราจะเป็น Last Man Standing เราควรจะได้รับประโยชน์จากการยืนหยัดที่ผ่านมา รายได้ที่จะมาในอนาคตจะต้องมาจุนเจือส่วนที่ขาดหายไปในตอนนี้ให้ได้”
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เห็นพ้องกับกระแสดิสรัปชั่นและการทำ Business Transformation ว่า “การเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ต้องไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น”
ถึงแม้ว่าธุรกิจด้านพลังงานบริสุทธิ์จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากเท่าธุรกิจอื่น แต่วิกฤตคือการเปลี่ยนแปลง มีทั้งคนที่ได้และเสียประโยชน์ นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยแข็งแกร่งจากการคิดบวก และเอาผลกระทบมาเป็นประสบการณ์ในอนาคต นี่คือตัวผลักดันที่ช่วยยกระดับมาตรการป้องกันธุรกิจที่เคยวางแผนไว้ ทำให้ผู้นำองค์กรต้องจินตนาการถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิด แล้วคิดแผนเพื่อเดินต่ออย่างมั่นคง คิดได้ครบ รอบคอบ
“การมาของโควิด-19 ทำให้โลกแห่งพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด แล้วยังกระตุกให้เราต้องคิดทำอะไรก่อนหลัง อย่างกรณีรถ EV เราคิดถึงรถใหญ่ที่ยังไม่มีผู้นำตลาด เพราะต้องการให้เกิด New S-Curve ต่อยอดจากสิ่งที่เราทำ และตระหนักถึงการคืนกลับสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม การนำความรู้ความสามารถไปเติมหรือทำของที่มีคุณค่าออกมาสู่ตลาด ทำพลังงานไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ที่สำคัญต้องไม่ให้ธุรกิจ Disturb กันเอง และอย่าให้กระทบกับคนอื่น ยกตัวอย่างธุรกิจไบโอดีเซล อีกหนึ่งธุรกิจของพลังงานบริสุทธิ์ เราต้องพัฒนาเทคโนโลยี เปลี่ยนเป็นกรีนดีเซล รวมทั้งเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์ม ขายในโปรดักส์อื่น เพื่อทำให้เกษตรกรยังสามารถขายปาล์มและอยู่รอดได้ด้วยเช่นกัน”
นับเป็นโอกาสยอดเยี่ยมที่หาได้ยาก กับการรวมตัวผู้บริหารระดับสูงทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ที่นำพาองค์กรผ่านทุกสถานการณ์รอดพ้นทุกวิกฤตมาแล้ว พวกเขาตอบรับคำเชิญจากโปรเจค “THE CHANGE MASTER” ผนึกกำลังกันมาถ่ายทอดมุมมองต่อการปรับตัวทางธุรกิจผ่านวิธีคิดอันแยบยลและประสบการณ์ของแต่ละท่าน ซึ่งสามารถกระตุกต่อมคิด สร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ชมได้อย่างมาก
ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมายจากซีอีโอทั้งสี่ที่จะเปลี่ยนแง่คิดและช่วยชี้ทางให้นักธุรกิจไทยเดินออกจากปัญหาที่รุมเร้าได้ทุกสถานการณ์ ผู้สนใจสามารถติดตามย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊ก Krungsri Business Empowerment