จากการระดมฉีดวัคซีน ไปพร้อมกับผู้คนการ์ดยังไม่ตก อาทิ ภาคธุรกิจได้สกัดการระบาดของโรค เพื่อให้การผลิตสินค้าและบริการสามารถเดินหน้าอย่างไม่สะดุด ด้วยมาตรการป้องกันและควบคุมโรค (Bubble and Seal) และมาตรการแยกกักตัวที่บ้านและสถานประกอบการ (Home and Factory isolation) อย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของโควิด 19 หลายสายพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (Delta) ทำให้เชื่อว่าโควิด 19 จะไม่หมดไป ดังนั้น “การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด 19” จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยง โดยผ่านมุมมองของ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ได้เปิดมุมมองแนวคิดสำหรับภาคธุรกิจ มี “4 เทรนด์” สำคัญ ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันฝ่าภัยโควิด 19 “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”
เทรนด์แรกคือ “Automation” หรือระบบอัตโนมัติ จะไม่ใช่การลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจอีกต่อไป แต่จะเป็น “ความจำเป็น” ที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการนำ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ต่างๆมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม (Industry Automation) และภาคบริการ (Service Automation) เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารความเสี่ยงทางธุรกิจแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด 19 ระบบนี้ยังจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการสินค้าและบริการของลูกค้าจากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีความต้องการหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น อาทิ การนำ AI มาใช้ทำ Digital twin หรือแบบจำลองการผลิต ปรับสูตร หรือการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตโดยรวม เพื่อให้รู้ผลกระทบก่อนดำเนินการจริง เป็นต้น
เทรนด์ที่สอง “E-Commerce” หรือการรุกสู่ธุรกิจค้าออนไลน์ โดยโควิด 19 ถือเป็น “ตัวเร่ง” ให้ธุรกิจค้าออนไลน์เติบโตก้าวกระโดด โดยที่ผ่านมาเอสซีจี ได้รุกสู่ธุรกิจนี้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ “คิวช่าง” (Q-Chang) เพื่อให้เจ้าของบ้าน เลือกช่างมาให้บริการตามความเหมาะสมกับเนื้องาน แก้ปัญหาการหาช่างซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำบ้าน ,การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์ design connext ที่จะเป็นผู้ช่วยเจ้าของบ้าน ตั้งแต่เรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง การตกแต่ง และการบำรุงรักษา เป็นต้น
นอกจากนี้ เอสซีจี ยังทำเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (packaging) ให้เหมาะสมกับการขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า ยืดอายุสินค้าให้กับเหมาะสมกับการบริโภค และมีแม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่ให้บริการธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ด้านอาหาร เรียกว่า Dezpack ให้บริการออกแบบทำแบรนด์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง รวมถึงวัดความพึงพอใจลูกค้าให้ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี
เทรนด์ถัดมา คือ “Smart Farming” หรือ เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเอสซีจีมองว่า โควิด 19 จะส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งกลับถิ่นฐานไปอยู่ในแวดวงการเกษตร ซึ่งผู้คนเหล่านี้พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตามกว่า 70% ของภาคการเกษตรในไทยเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ทำให้ยากต่อการลงทุนในเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร แรงงานยังหายาก และขาดเทคโนโลยีในการเพาะปลูกที่สำคัญคือเรื่องของการขาย การตลาด ซึ่งจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ประกอบด้วย “Hard ware” หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต ในลักษณะร่วมกันใช้ (Sharing) เครื่องจักรกลการเกษตร ผ่านการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรแปลงเล็กเข้าถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยี ,”Software” หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมบริหารจัดการการเพาะปลูก ควบคุมความชื้น การให้น้ำ ให้ปุ๋ย การวางแผนเพาะปลูกชนิดของพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และการตลาด “Peopleware” หรือการให้ผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร การตลาด ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก และพันธุ์พืช
เทรนด์สุดท้ายคือ “Green (Sustainable) Construction” หรือ การก่อสร้างสีเขียว การก่อสร้างตอบโจทย์ความยั่งยืน ต้องยอมรับว่าโควิด 19 เป็นตัวเร่งเทรนด์ดังกล่าว อาทิ จากข้อจำกัดในการเข้าไซด์งาน ทำให้ต้องหาเทคโนโลยีจำกัดเวลาก่อสร้าง ลดปัญหาฝุ่น ลดของเสียในการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันมีถึง 30% ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เอสซีจี ได้นำระบบ BIM (Building Information Modelling) เพื่อวางแผนกระบวนการก่อสร้างผ่านแบบจำลอง โดยนำมาใช้ร่วมกับระบบการก่อสร้าง Modular Construction เพื่อลดกระบวนการทำงาน ลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพงานก่อสร้าง เช่นเดียวกับเทรนด์อาคารสีเขียว (Green building) โดยเฉพาะการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ดูแลความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้ที่อยู่ในอาคาร จะเป็นทิศทางที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างจะมุ่งไป
“จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 เทรนด์พูดถึงการดำเนินงานเป็นแพลตฟอร์ม ไม่เฉพาะคนซื้อกับคนขาย และพูดถึงทั้ง Ecosystem อาทิ ในภาคก่อสร้าง อาจรวมถึงคนออกแบบ คนให้บริการ แพลตฟอร์มที่ดีคือการทำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาในการทำงาน สร้างมูลค่า หากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคบริการ มองเห็นโอกาสของ 4 เทรนด์นี้ และนำไปใช้ ก็จะช่วยฟื้นธุรกิจจากโควิด 19 ไปด้วยกัน” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
สำหรับเอสซีจี ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่มากเท่ากับอีกหลายธุรกิจที่กระทบตรง อย่างธุรกิจสายการบิน ท่องเที่ยว นอกจากนี้หากมองผลกระทบเชิงบวกทำให้เอสซีจีปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจค้าออนไลน์สำหรับวัสดุก่อสร้าง และการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล มาใช้ในการทำการตลาด การกระจาย จำหน่าย และการขนส่ง รวมถึงการคำนึงถึงเรื่องการก่อสร้างสีเขียว และระบบ modular construction เพื่อลดเวลาการก่อสร้าง
ผลกระทบของโควิด 19 ทำให้เอสซีจีมีการทบทวนแผนการดำเนินงานใหม่และมีการ “set zero” เพื่อพิจารณาการลงทุนใหม่ จัดอันดับความสำคัญใหม่ว่าแผนเดิมยังเหมาะต่อสถานการณ์ในปัจจุบันหรือหลังโควิด 19 หรือไม่ ขณะที่ผลพลอยได้ที่สำคัญจากวิกฤติทำให้เห็นความเป็นผู้นำของผู้บริหารเอสซีจีหลายคน รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานนอกสำนักงาน (Hybrid Workplace) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการทำงานในอนาคต ขณะที่ผลกระทบทางลบจากโควิด 19 ทำให้โอกาสการลงทุนในอาเซียนต้องช้าออกไป จากข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้การทำงานเป็นทีมในฐานการผลิตแต่ละประเทศทำได้ไม่ง่าย
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ ที่เอสซีจี ได้นำมาใช้ปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการซัพพลายเชน การเข้าถึงลูกค้า รวมถึงการพัฒนาสินค้าบริการเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (well-being) อีกตัวอย่างที่เป็นความสำเร็จช่วงโควิด 19 คือ การนำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (SCGP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปลดล็อกสร้างการเติบโตในอาเซียน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญในการศึกษาการปรับโครงสร้างของธุรกิจเคมีภัณฑ์ให้เติบโตในอนาคต
“โควิดเหมือนเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง แต่เราผ่านไปได้แม้จะเจ็บหนัก คำถามคือหลังจากเรารอดมาได้ เราจะยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมไหม การกิน การออกกำลังกาย การดูแลตัวเอง หรือเราจะปรับการใช้ชีวิตให้ต่างจากการใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนเกิดโควิด ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส สร้างความเข้มแข็ง ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวทิ้งท้าย