‘เรือธง’ ลำใหม่นิด้า และ วาระ 55 ปี

August 08, 2021 6956

COVID-19 วาระแห่งโรคทั่วโลกที่กำลังส่งมอบ ‘วิกฤตการณ์ และความเสียหาย อย่างรอบด้าน’

ก่อเกิดเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สังคมทุกภาคส่วนต่างล้วนต้องร่วมเผชิญหน้ากับอุบัติการณ์ครั้งนี้ร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกัน โควิด-19 นอกจากปัญหายังส่งมอบโจทย์และบทเรียนครั้งใหญ่ที่รอการแก้ไขและพลิกเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นบทเรียนรู้ที่สำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา และวิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังอาจหมายถึง ‘โอกาสของนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีมาต่อความท้าทาย’ ซึ่งพร้องกับวลีที่หลาย ๆ ท่านมักกล่าวกันว่า ‘ในวิกฤติมีโอกาส’ และนั่นคือส่วนหนึ่งของมุมมองความคิดเห็นของ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่เผยต่อทีมงานนิตยสาร MBA เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

โควิด-19 : ความท้าทายและโอกาส

เมื่อได้รับการตั้งคำถามถึงความท้าทายและโอกาสจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อธิการบดีนิด้า ได้กล่าวถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลง การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยอ้างอิงว่า “ครั้งหนึ่งที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ เคยเล่าเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงองค์กร ในสมัยนั้นที่เข้ามาทำ Re-Engineering เพื่อยกเครื่องการบริหารจัดการธนาคารใหม่ โดยได้ถ่ายทอดประสบการณ์ประเด็นนี้ไว้ว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือ การพยายามเปลี่ยนในขณะที่คนในองค์กรคิดว่าทุกอย่างยังไปได้ดี และยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความเจ็บปวดที่สุดคือการถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน หากเราจะเปรียบกับช่วงเวลาในขณะนี้ การเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้เข้ามาเป็นทั้งตัวกดดันและตัวผลักดันให้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ภาคส่วน และหนึ่งในเรื่องที่ชัดเจนมากคือเรื่องการปรับนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และเข้ามาช่วยในการบริหารและการทำงาน เรื่องนี้ชัดมาก”

และเมื่อเชื่อมโยงเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภาคการศึกษา อธิการบดีนิด้า กล่าวว่า “ที่ผ่านมาทุกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนต่างล้วนแล้วก็รู้ว่า จะต้องพัฒนาและทำ Online learning หรือ E-learning เพื่อเตรียมรับมือกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง จากกระแสของ Disruptive education ถึงกระนั้นก็ตาม คณาจารย์หลาย ๆ ท่านก็ยังมีความคิดว่า ยังไม่ถึงเวลา ค่อยเป็นค่อยไปก็ย่อมได้ แต่ทันทีที่เกิดโควิด-19 ขึ้นมา ทางนิด้าเราออกประกาศทันทีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่านับแต่นี้การเรียนการสอนต้องเป็นออนไลน์ 100% นั่นคือการปรับตัวของอาจารย์ผู้สอนที่จะต้องนำเทคโนโลยีและระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาใช้ให้ได้โดยทันที เรื่องนี้ชัดเจนมาก”

อย่างไรก็ดี ศ.ดร. มองว่าผลกระทบด้านลบของโควิด-19 ที่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพจิตของผู้คนเป็นวงกว้าง และยังทำลายหลาย ๆ อาชีพในหลายอุตสาหกรรม และนำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะส่งผลต่อไปอีกระยะเวลาใหญ่ ๆ แต่ในอีกมุมมองก็คิดว่าก็จะมีการสร้างงานใหม่ ๆ อาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Platform ใหม่ ๆ ที่จะได้รับการพัฒนาจาก Startup ที่มองเห็นความต้องการหรือโอกาสใหม่ ๆ จากผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และคิดว่าในภาคการศึกษาจะต้องเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งในด้านเนื้อหาหลักสูตร และวิธีการสอน ซึ่งคิดว่าหากปรับตัว และเตรียมตัวได้ดี จะก่อเกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ก้าวหน้าขึ้น และในด้านความน่าจะพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในอนาคตได้ดีขึ้น

ประเด็นใหญ่และอนาคตของภาคการศึกษา

‘If we teach today’s students as we taught yesterday’s , we rob them of tomorrow’
‘หากเรายังสอนนักเรียนในยุคนี้เหมือนที่เราสอนนักเรียนในอดีต นั่นคือเรากำลังขโมยอนาคตของพวกเขา’

 

คือคำกล่าวของ จอห์น ดิวอี้ ที่กล่าวไว้  ซึ่ง ศ.ดร.กำพล มองว่าสอดคล้องและสะท้อนกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และนั่นก็เป็นหมุดหมายที่นิด้า กำหนดว่าต้องขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและคือสิ่งที่จำเป็น

‘ผู้นำ’ นิด้า ได้อัปเดตถึงแวดวงการศึกษาว่า ในต่างประเทศขณะนี้ความสำคัญของปริญญาบัตรเริ่มลดน้อยถอยลงแล้ว หลายองค์กรใหญ่ ๆ ได้ปฏิบัติให้เห็น อย่างเช่น กูเกิล หรือ เฟซบุ๊ก ที่ประกาศชัดเจนว่าการรับพนักงานใหม่ ไม่เน้นการดูปริญญาบัตร หรือที่ดีกรีการศึกษา ส่วนในประเทศไทย ได้เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวลักษณะนี้บ้างในภาคเอกชน แต่แน่นอนว่าส่วนราชการยังคงให้ความสำคัญกับวุฒิและปริญญาบัตร ซึ่งคาดว่าในอนาคตความสำคัญของปริญญาจะโน้มเอียง และหันทิศทางไปเน้นความสำคัญในประกาศนียบัตรด้านวิชาชีพ และนั่นคือหนึ่งใน Strategic move ของนิด้า

เน้นย้ำความสำคัญ Global Certificate

การได้ Global Certificate เป็นความได้เปรียบที่ชัดเจน โดยเฉพาะในตลาดงาน เป็นเสมือน Global passport เพื่อก้าวข้ามไปสู่โอกาสในการทำงานที่ไหนก็ได้ทั่วโลก

 

อธิการบดีนิด้าย้ำว่า "เราต้องการสร้างคนของเราทั้งในระดับปริญญาโทและเอก ให้ได้ Global certificate  ซึ่งเรามีความพร้อมโดยเฉพาะในด้านคณาจารย์ที่เรามีศาสตราจารย์ เป็นสัดส่วน 10% ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประเทศไทย และหลายท่านได้ทั้งตำแหน่งวิชาการ และ Global certificate ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก"  

ทั้งนี้ เมนูวิชา Global Certificate ยังเปิดกว้างสำหรับผู้สนใจเข้ามาลงเรียนเพื่อ Reskill หรือ Upskill เช่น ทั้งในสาขา Project  Management หรือ Data Analytic เป็นต้น ซึ่งหากว่าเรียนจบคอร์สแล้ว ต้องการปริญญาบัตรด้วย ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครดิตเพื่อไปต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้

‘เรือธง ลำใหม่’ @ นิด้า 2564

ศ.ดร.กำพล ได้เผยถึงหลักสูตรใหม่ในปีนี้ ที่จะเป็นหลักสูตรเรือธงของสถาบันฯ คือ Master of Science Program in Technology and Innovation Design for Sustainable Development (MSc in TIDSD) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการออกแบบให้เป็น สหสาขาวิชาชีพหรือ Multi-Disciplinary ซึ่งจะสอนโดยอาจารย์จากหลายคณะ เพราะจะต้องเรียนองค์ความรู้หลัก 5 เรื่องที่คนในอนาคตต้องมี เป็นศักยภาพของความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งทั้ง 5 ทักษะจะประกอบไปด้วย เรื่อง

1) Data Analytics Technology ซึ่งจะสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถิติประยุกต์ และ Partner จากDecision Science Institute (DSI) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และการตัดสินใจ

2) Strategic Foresight หรือ การคาดการณ์ในอนาคต โดยนักศึกษาจะได้รับการส่งเสริมความสามารถในการวิเคราะห์ Trend ต่าง ๆ ในอนาคต การวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินปัญหา โอกาส อุปสรรค ตลอดจนการออกแบบแนวทาง และเลือกการแก้ไขปัญหา ไปจนถึงการค้นหาโอกาสทางธุรกิจ โดยทางนิด้ามีพันธมิตรที่เข้มแข็งด้านนี้คือ East-West Center ที่ประเทศสหรัฐฯ และที่ Higher School of Economics ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจ นักวิชาการและนักคิดที่มากด้วยประสบการณ์และคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา

3) Design Thinking ซึ่งเป็นที่รับรู้และยอมรับกันในวงกว้างทุกวันนี้ว่า นิด้าเป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่เป็น University Innovation Fellow (UIF) กับ  d.School ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยนำหลักการของ Design Thinking บรรจุเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อหล่อหลอมเรื่องนวัตกรรม เข้าในกระบวนการคิดวิเคราะห์และออกแบบการแก้ไขโจทย์ปัญหาทั้งในภาคสังคม เศรษฐกิจรวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม

4) Creative Communication ซึ่งผนวกเรื่อง Creative Presentation เพื่อส่งเสริมความสามารถในการนำเสนองาน หรือขายไอเดีย เพราะเป็นทักษะที่สำคัญต่อ Startup จากประสบการณ์ของหลาย ๆ กรณีที่ Startup มีนวัตกรรมที่สร้างสรรค์แต่นำเสนอไม่ผ่าน เพราะทักษะด้านนี้ไม่ได้ “เพราะ 10 นาทีเพื่อการ pitching อาจหมายถึงอนาคตที่เปลี่ยนไป เพราะถ้า VC ซื้อไอเดีย” คือความเห็นของอธิการบดี

5) Sufficiency Economy Philosophy

อธิการบดีนิด้ายังเผยว่า ทั้ง 5 ศาสตร์ที่ผ่านการออกแบบจะเป็นการผนึกผสานการจัดการเรียนการร่วมจากหลายจากหลายคณะ ซึ่งนอกจากหลักสูตร MSc in TIDSD ที่จะเปิดใหม่ในปี 2564 นี้ ยังจะมีหลักสูตรใหม่จากอีก 3 คณะคือ

คณะสถิติประยุกต์ ซึ่งจะเปิด 3 หลักสูตรใหม่

1. Master of Science Program in Management of Analytic and Data Technology

2. Master of Science Program in Cyber Security Risk Management

3. Master of Science Program in Data Analytic and Data Science

ในส่วนของคณะรัฐประศาสน์ศาสตร์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสาขาของนิด้าที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในเรื่องนโยบายสาธารณะ หรือ Public Policy เพื่อให้เกิดความเทียบทันกับยุคสมัย ก็จะมีการนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาผสมในหลักสูตรและจะเปิดหลักสูตรใหม่ในชื่อว่า Master of Management Program in Digital Governance for Sustainability ในปีการศึกษาใหม่ 2564 นี้

โดยหลักสูตรเปิดใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเป็นสาขาเรือธง หรือ Flagship ของสถาบันฯในยุคสมัยที่กำลังจะก้าวสู่ยุค 5G ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าทุกหลักสูตรได้ผ่านการอนุมัติจากสภาฯ และพร้อมสอนเปิดในปี 2564 นี้

เป้าหมายมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

บนกลยุทธ์และเป้าหมายของแคมเปญ  นับตั้งแต่ ศ.ดร กำพล และคณะผู้บริหารเริ่มขับเคลื่อนการเปลี่ยนเพื่อเป้าหมายไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากองค์ประกอบสำคัญในด้าน Software หรือองค์ความรู้ทางวิชาการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญโดยรากฐานแล้ว อธิการบดีนิด้ายังกำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สถาบันฯ แห่งนี้มีองค์ประกอบแบบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ หรือ Smart University ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องระบบบริหารจัดการและ Infrastructure ที่จะเป็นในรูปแบบที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ดังเช่น Learning Management System, Smart Classroom,  ทั้งนี้ก็เพื่อการเปิดสภาพแวดล้อมที่จะส่งมอบ Learning Experience แบบใหม่ให้กับประชาคมนิด้าทุกภาคส่วนให้ก้าวเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

LMS@ NIDA ระบบที่ตอบสนองและรองรับความท้าทายโควิด-19 และ Disruptive education

“โควิด ทำให้เราพยายามปรับห้องเรียนเป็นแบบ Hybrid Classroom ที่อาจารย์สามารถสอนในห้องเรียนโดยทีนักศึกษามีทางเลือกที่จะไม่ต้องมาที่นิด้า แต่ Login เข้าห้องเรียนจากที่ไหนก็ทำได้ ซึ่งพบว่านักศึกษามีความพอใจกับการเรียนผ่านระบบ  เพราะสามารถดูย้อนหลังได้ และเมื่อทำการประเมินความคิดเห็นของนักศึกษาเรื่องรูปแบบการเรียนออนไลน์ 100% พบว่านักศึกษา ยังต้องการการเรียน Onsite เพื่อที่จะได้มีโอกาสพบปะ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะการทำโครงงานร่วมกัน อย่างไรก็ดี ข้อดีของ Hybrid classroom ในเรื่องความคล่องตัวมีมาก ทางนิด้าจึงมีแผนที่จะทำห้องเรียน Hybrid ให้ครบทั้งมหาวิทยาลัยในที่สุด” ศ.ดร.กำพล กล่าว

อธิการบดีนิด้าได้เผยถึงงานวิจัยเรื่องห้องเรียน และการเรียน In class ที่มีข้อสรุปว่า การเรียนในห้อง ไม่ได้เป็นข้อรับประกันผลสำเร็จเสมอไปว่านักศึกษาจะเข้าใจสิ่งที่เรียน แต่ระบบการเรียนการสอน (Learning Management System) แบบออนไลน์ที่นิด้าได้จัดทำ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการประเมินความสนใจ การทำ Test ทำ Quiz หรือแม้แต่การทำ Poll ที่สามารถทำแบบเป็นรายบุคคลได้เลย และยังสามารถกระตุ้นและสร้างความสนใจของนักศึกษาได้ด้วยศักยภาพของระบบ

ทั้งนี้ ศ.ดร.กำพล มองว่าการลงทุนในเทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นสำคัญคือการใช้งานที่คณาจารย์ผู้สอนควรต้องใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพของ Smart Classroom เพราะมิเช่นนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับห้องเรียนปกติ ซึ่งที่นิด้าได้มีการส่งเสริมให้อาจารย์ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งาน และเทคนิค

“ตอนนี้เรามี 8 หลักสูตร ที่พัฒนาระบบเป็น Interactive โดยนักศึกษาสามารถสร้าง Community และทำการอภิปราย discuss กันเองได้ และปรึกษาอาจารย์ได้ โดยที่กำลังจะเปิดใช้งานอีก 10 หลักสูตร สิ่งนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำให้แตกต่างจากสถาบันอื่น”

ระบบ LMSที่นิด้า จะแบ่งสัดส่วนการเรียนออกเป็น E-learning  เน้นการมี Material ให้นักศึกษาเข้าไปค้นคว้าเองส่วนหนึ่ง แต่ยังมีการเข้าห้องเรียนจริงเพื่อพบอาจารย์ผู้สอน และที่สำคัญคือการได้พบ Practitioner ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของสถาบัน

เหนือสิ่งอื่นใด จุดแข็งสำคัญของสถาบันฯแห่งนี้ที่ อธิการ ดร.กำพล ยังเน้นย้ำคือ เรื่อง Case Study สามารถกล่าวได้ว่า นิด้าคือสถาบันที่มี Case Study ของเมืองไทยมากเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งต่อไป กรณีศึกษาเหล่านี้จะถูกหยิบมาจัดทำและนำเสนอในรูป Animation เพื่อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนรู้ไปร่วมกับ Practitioner จริง

“จุดเด่นของ LMS ของนิด้า คือการผสมผสานทั้งเรื่ององค์ความรู้ ผู้สอนทั้งอาจารย์และ Practitioner ผู้มีประสบการณ์ ผสมผสานกับเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ผ่านระบบการบริหารจัดการที่เรามั่นใจว่า นิด้าเรามีความทั้งหมดแล้ว” ศ.ดร.กำพล

Infrastructure @NIDA

  • Co-working space เพื่อส่งเสริม Startup ทั้งภายในและภายนอกที่มีศักยภาพ
  • AI Innovation Hub ศูนย์ส่งเสริมความรู้ด้านบริหารจัดการโดยการนำเทคโนโลยีอันประกอบด้วย Data
  • Analytics Technology และ AI เพื่อการประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ และประกอบการธุรกิจ
  • เทคโนโลยี EPOS (Electronic –point-of-sale) ในคอนเซ็ปต์เดียวกับ Amazon go

 

ภาพรวมการขับเคลื่อนนิด้าสู่อนาคตวันนี้ คือเป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ หรือ Smart University

 

นิด้า 55 ปี

นิด้าก่อตั้งขึ้น ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จฯ รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงมีพระราชปณิทานในเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์ความรู้ที่นิด้ามีมากที่สุดของประเทศไทย และภายใต้การเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของนี้ของทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยท่านรัฐมนตรีฯ ที่ให้ความสำคัญของเรื่องวิทยาศาสตร์มากพอ ๆ กับ สังคมศาสตร์ จึงได้ก่อตั้งหน่วยงานชื่อ ‘วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปะศาสตร์’ หรือ ‘ธัชชา’ (Thailand Academy of Social Science, Humanities and Arts-TASSHA) เป้าหมายเพื่อให้เกิดสมดุลแห่งการพัฒนาระหว่างวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์

'ธัชชา' ประกอบไปด้วย 5 สถาบันได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา  โดยมีอธิการบดีของนิด้าเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับอีก 4  โดย ศ.ดร.กำพล กล่าวถึงพันธกิจที่ ธัชชา ว่า

“เรามีจุดมุ่งหมายให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็น International Model สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะสามารถประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ภายใต้เป้าหมายนี้ทางสถาบันฯ ก็เตรียมผลักดันการทำงานผ่านความร่วมมือกับองค์กรสากล ซึ่งตอนนี้ก็คือการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Yunus Foundation ซึ่งก่อตั้งโดย ศ.ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลจากบังกลาเทศเจ้าของคอนเซ็ปต์ Micro Finance Grameen Bank และ Social Innovation โดยทางนิด้าเราได้เชิญท่านร่วมเป็นองค์ปาฐกร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงฯ อว. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในงานครบรอบนิด้า 55 ปีนิด้า ในต้นเดือนเมษายนนี้ โดยความร่วมมือครั้งนี้ก็เพื่อการผลักดันการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เวทีโลก ซึ่งเป้าหมายนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของสถาบันฯ ในวาระ 55 ปีของสถาบันฯอีกด้วย”

มองอนาคตหลังโควิด

“เมื่อเริ่มโปรแกรมวัคซีนกันแล้ว เราจำเป็นต้องเตรียมพลิกฟื้นตัวจักรสำคัญด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การเงินและธุรกิจ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจครั้งนี้ คิดว่ารัฐฯควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมและภาคบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเริ่มจะพยุงตัวเองไม่ไหวแล้ว”

สำหรับบทบาทในภาคการศึกษา อย่างโครงการของกระทรวง อว. ดังเช่น U2T หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่มีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยช่วยชุมชน มีการจ้างงานเพื่อชะลอผลกระทบจากโควิด ในระยะเวลา 1 ปี โดยเฟสแรก 3,000 กว่าตำบล ซึ่งนิด้าเราก็มีส่วนร่วมดูแลอยู่ด้วย 50 ตำบล ซึ่งแนวคิดโครงการรูปแบบนี้ จะมีส่วนในการพยุงและช่วยเหลือชุมชนได้ทั้งในด้านการศึกษาวิเคราะห์ ช่วยแก้ปัญหา รวมไปถึงการจ้างงานในชุมชนทั้งประชาชนทั่วไปและนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ได้เป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำความชัดเจนกับเราอีกครั้งว่า ประเทศไทยเราสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้การมีฐานการผลิตภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องรีบเร่งส่งเสริมเรื่อง Innovation และการเพิ่มมูลค่าเพื่อต่อยอดผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมของประเทศเราให้มีความมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยสืบต่อไป” ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดี นิด้า


เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Sunday, 08 August 2021 06:57
X

Right Click

No right click