January 15, 2025

“ผู้นำเอสซีจี” ฉายภาพ โอกาส และ ทางออก ในยุค New Normal ผ่านแนวโน้ม “อาเซียน”

March 25, 2022 6383

ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงในหลายด้านที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19 เงินเฟ้อและสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย

“เอสซีจี” เดินหน้าปรับวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที พร้อมมุ่งมั่นมองหาโอกาส (Opportunity) และทางออก (Solution) รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ New Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังวิกฤตถึงจุดสิ้นสุด ตอบโจทย์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว   

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย มีผลกระทบไปทั่วโลกในหลายด้าน โดยเฉพาะราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ถือเป็นประเด็นหลักในขณะนี้ ซึ่งเอสซีจีได้ติดตามสถานการณ์มาต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาวัตถุดิบหลักในธุรกิจเคมิคอลส์ของเอสซีจี นอกเหนือจากต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยองค์ประกอบสถานการณ์ที่นำมาวิเคราะห์มี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สถานการณ์สู้รบในยูเครน 2.สงครามเศรษฐกิจ (Sanction) ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน 3. เรื่องพลังงาน ทั้งปริมาณการผลิต (Supply) และความต้องการใช้(Demand) ของน้ำมัน รวมถึงก๊าซ และ 4. แนวโน้มความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรป รัสเซีย นาโต สหรัฐฯ และจีน รวมถึงระยะเวลาการจบเรื่องนี้ ซึ่งจะจบแบบไหน และส่งผลอย่างไร

เปิดผลกระทบต่อ 3 ธุรกิจหลัก “เคมิคอลส์” หนักสุด

สำหรับผลกระทบต่อ 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจีจะมีไม่เท่ากัน โดยธุรกิจเคมิคอลส์ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะนอกจากแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว วัตถุดิบหลักของธุรกิจยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับราคาน้ำมัน ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง จะกระทบในเรื่องของต้นทุนพลังงาน เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นมากเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีกสองธุรกิจ เพราะพลังงานไม่ได้เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนยังไม่สะดุด โดยคนส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไกลตัว  

“ผลกระทบครั้งนี้แรงมาก เพราะธุรกิจเคมิคอลส์เป็นครึ่งหนึ่งของเอสซีจี ต้องเจอทั้งเรื่องราคาวัตถุดิบหลักและต้นทุนพลังงานพุ่งสูงมาก ทั้งสี่ปัจจัยเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ในการวิเคราะห์ว่าต้องรับมืออย่างไร และนำวิธีอะไรมาใช้รับมือตรงนี้ แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยทั้งสี่เรื่องนั้น เราแทบทำอะไรไม่ได้เลย เพราะควบคุมไม่ได้ จึงต้องมาดูว่าอะไรที่เราควบคุมได้และต้องทำ เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก และเรื่องการลงทุน เป็นต้น ส่วนเรื่องขึ้นราคาสินค้าแม้จะทำได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของการแข่งขัน ซึ่งต้องดูว่าตลาดตรงไหนสามารถปรับราคาได้ ไม่กระทบกับผู้บริโภคโดยตรง และการขึ้นราคาต้องโปร่งใสและเป็นธรรม มีการบอกต้นทุนเก่าและใหม่ให้ชัดเจน เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

“บริหารความเสี่ยง-ปรับแผนลงทุน-ทำตัวให้เบา” รับมือต้นทุนพุ่ง 

สำหรับกลยุทธ์ในการรับมือกับสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียนั้น เอสซีจีเน้นเรื่องบริหารความเสี่ยง การรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมทั้งทำตัวให้เบา คือ right sizing หรือ slim sizing พยายามบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยสิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกเป็นการปรับแผนการลงทุน ที่แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หนึ่งโครงการที่ดำเนินการอยู่ใกล้จะเสร็จสิ้นก็พร้อมสานต่อให้จบ สองโครงการที่กำลังเริ่มและต้องใช้เวลานานคงต้องพักไว้ก่อน สุดท้ายโครงการที่ควรลงทุนในระยะยาว เช่น เรื่องพลังงาน energy transition ซึ่งตรงกับ low carbon strategy หรือไปถึง net zero เรื่องของดิจิทัล รวมทั้งทำให้ Supply chain เข้มแข็ง

มองภาพยุค New Normal ปักหมุด “อาเซียน” โอกาสในการลงทุน

ผลกระทบกับเศรษฐกิจในแต่ละกลุ่มประเทศจะไม่เท่ากัน เช่นในอาเซียน ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันมากจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่พึ่งพาน้อย จึงต้องมาคิดปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานให้น้อยลงและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในระยะยาวแม้สถานการณ์คลี่คลายแต่ราคาน้ำมันคงไม่กลับมาเท่าเดิม และสงครามเศรษฐกิจอาจยังคงอยู่ ดังนั้น New Normal คือ ราคาต้นทุนพลังงานที่สูง และความร่วมมือแบบเดิมของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ก็ยากขึ้น ซึ่งมองว่าอาเซียนจะได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมีกำลังซื้อสูงจากจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน หากมีการประชาสัมพันธ์ให้ดีจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุน โดยขณะนี้นักลงทุนได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ หันไปลงทุนในตลาดที่ตัวเองขาย ไม่ใช่ต้นทุนถูกที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของประเทศไทย จึงต้องทำตัวให้โดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่มองหาตลาดแรงงานที่มีความรู้และทักษะพร้อม ที่สำคัญคือมีระบบป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี เพราะนักลงทุนจะกลัวเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก

“ทางรอดของธุรกิจ นอกจากเงื่อนไขเรื่องความเข้าใจในสถานการณ์ความขัดแย้ง และองค์ประกอบ 4 เรื่องแล้ว ในระยะสั้นทุกคนต้องประเมินความเสี่ยงก่อน ว่าทำอะไรได้แค่ไหน และเตรียมพร้อมอยู่เสมอคือ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นำมาใช้ในการทำงานอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับตัวในแง่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุน กลยุทธ์การหาตลาดให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ทำตัวให้เบา บริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ดี ระมัดระวังในการก่อหนี้ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้งในปีนี้ ตลอดจนทำ supply chain ให้เข้มแข็ง รวมถึงการลดใช้พลังงานในระยะยาว”

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 26 March 2022 03:37
X

Right Click

No right click