×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Comanche มั่งมีจากมันสมอง

October 09, 2017 8894

มหาเศรษฐีของโลกยุคปัจจุบัน 4 ใน 10 อันดับแรก มาจากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเว็บไซต์เริ่มจาก บิลล์ เกตส์ (Microsoft) เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง (amazon.com) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Facebook) และ แลร์รี เอลลิสัน (Oracle Inc.) ขณะที่มหาเศรษฐีในประเทศไทยยังมาจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร ค้าปลีก เป็นหลัก

ข้อมูลนี้สะท้อนเศรษฐกิจของประเทศไทยเทียบกับโลกแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังขาดอุตสาหกรรมที่สร้างจากมันสมองและทักษะของผู้ประกอบการในการเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ต่างๆ เช่น การพิมพ์เอกสาร การตกแต่งรูปภาพ การบันทึกเสียง การช่วยจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม ทำบัญชี และอีกมากมายที่คอมพิวเตอร์กำลังช่วยให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งหากคอมพิวเตอร์ไม่มีซอฟต์แวร์ก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนหินก้อนหนึ่งที่เอาไว้ทับกระดาษ

โลกยุคสารสนเทศ ซอฟต์แวร์เป็นองค์ประกอบสำคัญช่วยขับเคลื่อนโลกอยู่เบื้องหลังในแทบทุกวงการ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานได้สารพัดอย่าง จากโทรศัพท์สมาร์ตโฟนในมือ แท็บเล็ตในกระเป๋า คอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน เปิดโอกาสให้เราสามารถสร้างสรรค์ผลงาน ติดต่อสื่อสาร และยังช่วยให้งานที่เคยซับซ้อนยุ่งยากในอดีตสะดวกรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาในยุคก่อนคอมพิวเตอร์ การใช้ชีวิตโดยไม่มีคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่จินตนาการได้ยากมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่

จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มคนที่คิดสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์จะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งติดอันดับโลก การสร้างความมั่งคั่งจากมันสมองและทักษะด้านการเขียนซอฟต์แวร์กลายเป็นทางเลือกที่คนรุ่นใหม่สนใจเลือกเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งของตน

เรื่องราวของ สมบูรณ์ ศุขีวิริยะ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านโรงแรมรายใหญ่ของประเทศไทย คือตัวอย่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยแท้ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เส้นทางความสำเร็จของสมบูรณ์และโคแมนชี่ สามารถเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ที่สนใจเลือกการเขียนซอฟต์แวร์เป็นหนทางสู่ความมั่งคั่ง เรื่องราวของพนักงานคีย์ข้อมูลในโรงแรมผู้ขยับสู่ตำแหน่ง ผู้บริหารด้านระบบคอมพิวเตอร์ในโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นเอ็มดีให้กับบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์โรงแรมรายใหญ่จากยุโรปก่อนออกมาก่อตั้งบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ไทยแท้ที่สามารถครองตลาดประเทศไทยและบุกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ จนล่าสุดนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนเพื่อขยายกิจการทำตามความฝันที่จะบุกต่อไปของสมบูรณ์ คือเส้นทางที่คนรุ่นใหม่อีกหลายคนใฝ่ฝันอยากจะเดินตาม และสมบูรณ์ก็พร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเอง

จากพนักงานสู่ผู้ประกอบการ
ขณะที่ทำงานประจำในโรงแรมอันดับต้นๆ ของประเทศสมบูรณ์เคยคิดกับตัวเองว่า คงจะเป็นมนุษย์เงินเดือนไปตลอดชีวิต เพราะงานที่ทำอยู่มีรายได้ที่มั่นคง แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาจากประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมมากว่า 10 ปี ใช้งานซอฟต์แวร์มาหลายประเภท และรู้ระบบงานต่างๆ ของโรงแรม ทำให้เขาตัดสินใจออกจากงานประจำมารับตำแหน่งเอ็มดีบริษัท Fidelio Software (Thailand) โดยได้หุ้นมา 15 เปอร์เซ็นต์ จัดจำหน่ายและดูแลลูกค้าที่ซื้อซอฟต์แวร์ของบริษัทนี้ไปใช้ เป็นการก้าวขาออกจากงานประจำที่เปลี่ยนชีวิตของผู้ประกอบการรายนี้

ต่อมามีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดบริษัทโคแมนชี่ขึ้นมาคือ Fidelio ถูกบริษัทจากสหรัฐอเมริกาซื้อกิจการไป ซึ่งทำให้สมบูรณ์ต้องมาคิดทางออกอยู่สองทาง คือ อยู่ต่อไป หรือ จะออกมาทำเอง

“ก็พบว่าไม่ไปต่อ มีเรื่องส่วนตัวด้วย และแนวคิดระยะยาวระยะสั้น ส่วนตัวผมคิดว่าผมทำกับ Fidelio เคมีผมเข้ากันกับคนที่เป็นประธานบริษัท ชอบเขาส่วนตัวเป็นเพื่อนกันได้ ทำงานสนุกไปด้วยกันได้ แต่พอเขาออกไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวเท่าไรแล้ว สองคือเราคิดว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างเองได้แล้ว เรากลับมาดูตัวเราทำโรงแรมมาสิบปี เรารู้เทคโนโลยี เรารู้ว่าด้านไอทีโรงแรมเป็นอย่างไร และเราก็รู้วิธีการทำงานของซอฟต์แวร์ รู้วิธีการผลิตซอฟต์แวร์ที่ดี รู้กระบวนการ ก็จุดประกายว่า เมื่อก่อนโรงแรม 3-4 ดาวขึ้นไป ต้องใช้ซอฟต์แวร์เมืองนอกหมดเลย ทำไมเราไม่ทำซอฟต์แวร์ให้คนไทยใช้เอง นี่คือจุดเปลี่ยน เราทำซอฟต์แวร์เองดีกว่าไหม เราเห็นตลาด เรารู้ตลาดดี เรารู้วิธีการดี แล้วทำไมเราไม่ทำเสียเองเลย”

อยากจะรอดต้องมีกลยุทธ์
สมบูรณ์แนะว่า คนที่จะทำซอฟต์แวร์ให้คนไทยใช้ ต้องมีกระบวนการคิด คือ 1. ผลิตภัณฑ์ต้องสู้ได้ 2. ราคาต้องสู้ได้ และ 3. บริการต้องสู้ได้ หากไม่สามารถตอบ 3 ข้อนี้ได้ก็ไม่ควรออกมาทำ เพราะอาจถึงขั้นเจ๊งเอาง่ายๆ

ในช่วงก่อตั้งบริษัทโคแมนชี่ สมบูรณ์ย้อนให้ฟังว่า เห็นโอกาสทางการตลาดด้วยการเติบโตของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยที่โรงแรมส่วนใหญ่ใช้ซอฟต์แวร์ของต่างประเทศยังไม่มีผู้ประกอบการชาวไทยที่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ หากตนเองสามารถทำราคาที่เหมาะสมก็น่าจะสู้ได้ ทางด้านการบริการเนื่องจากเป็นบริษัทในประเทศก็น่าจะได้เปรียบคู่แข่งจากต่างชาติ ส่วนตัวสินค้าที่จะออกมาดีกว่ารายอื่น เขาใช้หลักการว่า “ที่เขาบอกว่าดี ไม่ได้บอกว่าต้องมีให้หมดเหมือนที่เขามี เพราะที่เขามีไม่ได้หมายความว่าดีทั้งหมด”

คำอธิบายจากประสบการณ์ของเขา คือ ส่วนที่ได้ใช้งานจริงในโปรแกรมคือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์อาจจะมีประโยชน์กับตลาดอื่นที่ไม่ใช่ตลาดไทย “เราก็ง่ายๆ เอา 60 ที่น่าจะมี มีให้ได้ก่อน เขามี 100 เราไม่ต้องมี คราวนี้เราไปหาจุดที่เขาไม่มีแล้วบ้านเราอยากได้ เรื่องนี้ผมได้เปรียบเพราะผมอยู่ในวงการมาโดยตลอด เริ่มแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์พอ แค่นี้ผมก็เท่กว่าแล้ว นั่นแหละครับแข่งได้แล้ว คุณไม่ต้องมีมากเท่าที่เขามี สินค้าของเราจะมีสิ่งที่ควรจะมีและมีบางอย่างที่ดีกว่าคนอื่น ผมว่าจุดนี้ขายได้ทุกเรื่องไม่เฉพาะเรื่องการผลิตซอฟต์แวร์”

เนื่องจากโรงแรมเป็นธุรกิจบริการที่ค่อนข้างซับซ้อน ซอฟต์แวร์ที่มาสนับสนุนจึงมีระบบที่หลากหลาย โดยระบบที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดคือฟรอนต์ออฟฟิศ นอกจากนี้ยังมี ระบบห้องอาหาร ระบบค่าโทรศัพท์ที่ใช้กันมากในอดีต ระบบบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้ ระบบสินค้าคงคลัง เป็นต้น

“ผมไม่เลือกทำอะไรที่แพงเลย ฟรอนต์ออฟฟิศนี่แพงที่สุด สมมติระบบ 1 ล้านบาท ฟรอนต์ออฟฟิศนี่ไปเกือบครึ่งเลย เพราะซับซ้อนที่สุด เราไม่ทำเพราะรู้ว่าทำนาน แล้วก็ต้องไปเจอยักษ์ แข่งยาก ผมก็ต้องหาโมดูลที่ไม่ถูกมาก แต่คุ้มทุนในการผลิต คนไทยสมัยก่อนเรียกกันว่าเขียนสั้นรันเร็ว เขียนกันไม่นาน ออกแล้วได้เงินเร็ว เพื่อเอาเงินมาหมุนต่อ ดังนั้นโปรแกรมแรกผมทำโปรแกรมคำนวณค่าโทรศัพท์”

เพราะเขารู้ว่าโปรแกรมนี้เขียนไม่ยาก และมีความต้องการจากโปรแกรมฟรอนต์ออฟฟิศที่ใช้เก็บค่าใช้จ่ายกับแขกที่มาพักโดยมากไม่เชื่อมต่อกับตู้สาขาโทรศัพท์ เวลาที่แขกโทรไปต่างประเทศต้องใช้ให้โอเปอเรเตอร์ต่อสายให้และจับเวลาบันทึกให้แคชเชียร์อีกทอดหนึ่ง และขณะนั้นก็เริ่มมีโปรแกรมคำนวณค่าโทรศัพท์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในประเทศแต่สมบูรณ์มองว่าน่าจะสู้ได้

“ตอนนั้นคนอื่นขาย 3-4 แสนผมขาย 2 แสนกว่าบาท ปรากฏว่าไม่กี่เดือนก็ขายได้ 6-7 ที่แล้ว มาแล้ว 2 ล้าน คือคุณต้องหาให้เจอ คุณไปสู้ฟรอนต์ออฟฟิศหรือไม่รู้กี่ปีจะเขียนเสร็จ ต้องมองหาที่เราทำได้เร็วและเอาเงินมาต่อยอดได้เร็ว พอเริ่มติดตลาดก็เริ่มสบาย จุดแข็งของเราคือเรารู้ว่าโพรดักต์เราทำได้ไม่แพง สองเรามีคอนเน็กชัน ผมขายให้ Fidelio มาเป็นร้อยโรงแรมผมก็รู้เลยโรงแรมไหนบ้างที่ยังไม่มีระบบนี้ เราก็กลับไปหา แสดงว่าเรามีการตลาดในหัวแล้ว ไม่ใช่เราห่ามๆ ออกมา ตัวนี้ก็ได้มาหลายตังค์ เอาเงินนั้นมาจ้างโปรแกรมเมอร์ต่อ”

โคแมนชี่จ้างโปรแกรมเมอร์เพิ่มเติมมาช่วยผลิตโปรแกรมห้องอาหารที่ใช้งานกับพีซี ซึ่งคำนวณแล้วประหยัดกว่าการใช้งานแบบเดิม ขณะเดียวกันก็ซุ่มพัฒนาโปรแกรมฟรอนต์ออฟฟิศของตัวเอง เพื่อให้ภาพฝันที่วางคือมีโปรแกรมที่เกี่ยวกับโรงแรมครบวงจรสมบูรณ์

“คราวนี้จะมาแข่งกับเรายากแล้วเพราะเขาจะมีไม่ครบอย่างเรา คือบางเจ้าจะเก่งเรื่องฟรอนต์ไม่มีโปรแกรมห้องอาหาร บางเจ้าไม่มีโปรแกรมบัญชี บางเจ้าไม่มีคำนวณค่าโทรศัพท์ คือต้องมีการวางกลยุทธ์สักนิดหนึ่ง ก็คิดว่าเรามีกลยุทธ์พอสมควร”

ฝ่าไปทีละด่าน
หากเปรียบการทำธุรกิจกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เป้าหมายในแต่ละช่วงของธุรกิจก็คงเหมือนกับแต่ละสเตจในเกมที่ผู้เล่นต้องฝ่าไปให้ โดยที่เรายังไม่รู้ว่าด่านสุดท้ายอยู่ที่ใด โคแมนชี่ในช่วงแรกที่สามารถสร้างซอฟต์แวร์โรงแรมจนครบวงจรและเริ่มตีตลาดซอฟต์แวร์โรงแรมใประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นก็เปรียบเหมือนการผ่านสเตจ 1 มาได้แล้ว และเมื่อสามารถรักษาพื้นที่ในประเทศไว้ได้แล้ว ด่านต่อไปจึงเป็นตลาดต่างประเทศ เพราะเขามองว่า เมื่อสามารถสู้ภายในประเทศได้แล้ว ก็น่าจะสามารถออกไปสู้ในสนามอื่นได้เช่นกัน การรุกตลาดต่างประเทศของโคแมนชี่จึงเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนปัจจุบันมีโรงแรมที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์โคแมนชี่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยประมาณ 800 แห่ง

สมบูรณ์ฉายภาพการต่อสู้ของซอฟต์แวร์ไทยแท้ว่า ในภาพรวมเราอาจจะสู้กับซอฟต์แวร์ต่างประเทศได้ยาก แต่หากมองเห็นคลัสเตอร์ หรือในกลุ่มธุรกิจที่คนไทยมีศักยภาพแล้ว ซอฟต์แวร์ไทยก็สามารถไปแข่งขันได้ เช่นที่ซอฟต์แวร์โรงแรมของโคแมนชี่แข่งขันได้เพราะมาตรฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสูง ช่วยให้สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่มีมาตรฐานดีแข่งกับคนอื่นได้ “ถ้าเรามาตรฐานไม่สูง ซอฟต์แวร์ก็ทำได้ไม่สูงเหมือนกัน ไปแข่งกับชาวบ้านยาก”

ขั้นตอนที่โคแมนชี่ทำจึงเป็นบททดสอบที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยสามารถนำไปปรับใช้ได้ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู้ในประเทศให้ได้ก่อนแล้วจึงขยับออกไปภายนอก โดยอาจจะต้องมองหาอุตสาหกรรมที่ไทยมีความโดดเด่นอยู่แล้ว

เพราะคนไทยเขียนซอฟต์แวร์ได้ดี แต่ปัญหาที่สมบูรณ์มองคือไม่รู้ว่าจะเขียนซอฟต์แวร์อะไร “โคดดิงคนไทยเก่ง แต่ดีไซน์นี่อีกเรื่อง จะเก่งได้อย่างไรถ้าคุณไม่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น เหมือนผมอยู่โรงแรมแล้วเขียนโปรแกรมได้ ยิ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เราเก่งอยู่แล้ว มันรังสรรค์ผลงานออกมาได้กระจาย”

ขณะเดียวกันการสร้างซอฟต์แวร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกก็สำคัญ โคแมนชี่จึงต้องทำมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) ซึ่งเป็นเหมือน ISO ในวงการซอฟต์แวร์ จากสถาบันวิจัยซอฟต์แวร์ระดับโลก เพื่อยืนยันว่าโคแมนชี่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่ดีมีมาตรฐาน โดยโคแมนชี่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตซอฟต์แวร์ระดับ 3 และมาตรฐานการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ ระดับ 3 มาทั้งคู่ แม้จะต้องลงทุนเกือบ 2 ล้านบาท แต่ก็ยังมีโครงการสนับสนุนจากซอฟต์แวร์ปาร์คมาประมาณ 800,000 บาท

สมบูรณ์ให้ความเห็นว่า “โครงการนี้ห้ามยกเลิก คุณต้องช่วยให้คนไทยได้อย่างนี้เยอะๆ ได้มาตรฐาน แล้วจะดีเอง ผมไปเมืองนอก เขาถามคุณมีหรือเปล่า ผมมี คุณอยู่ตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า ผมอยู่ แล้วใครจะมาแข่งกับเรา”

การรุกตลาดต่างประเทศของโคแมนชี่จึงสามารถขยายไปได้อย่างเป็นขั้นตอน โดยวิธีเลือกตลาดที่จะรุกเข้าไปสร้างดีลเลอร์ในแต่ละประเทศ สมบูรณ์ใช้เกณฑ์ประกอบด้วย ต้องเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ภายในประเทศนั้นยังไม่แข็งแรง เพราะหากไม่ศึกษาตลาดให้ดีการรุกไปในตลาดที่มีการแข่งขันสูงจะทำให้เสียเวลาและทรัพยากร

ความมั่งคั่งจากสมอง

เป้าหมายหนึ่งของการทำธุรกิจคือสร้างความมั่งคั่ง บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ เช่นโคแมนชี่ก็เช่นกัน ด้วยความสามารถ การมองเห็นตลาดและโอกาส การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ซอฟต์แวร์โรงแรมของบริษัทสร้างรายได้ให้กับสมบูรณ์มาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ยังมีความท้าทายอื่นๆ เช่นการตอบสนองความฝันของผู้ประกอบการ สเตจ 3 สำหรับโคแมนชี่สมบูรณ์จึงมองไปที่การทำซอฟต์แวร์ท่องเที่ยวครบวงจร โดยมีสิ่งที่จุดประกายคือการมานั่งคิดถึงความมั่งคั่งของประเทศไทยคืออะไร ซึ่งคำตอบที่เขาได้คือ การท่องเที่ยว เรามีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม การทำการตลาดที่ยอดเยี่ยมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ให้บริการงานบริการที่หาคู่แข่งได้ยาก

“ผมก็มอง ซอฟต์แวร์โรงแรมทำไมเราทำได้ดีกว่าเขา เพราะความต้องการของคนที่ทำงานด้านโรงแรมต้องการอะไรแปลกๆ ดีๆ ที่ช่วยให้เขาบริหารงานได้ดีขึ้น จะได้ทำงานเร็วขึ้น บริการดีขึ้น การท่องเที่ยวประเทศไทยมาตรฐานความต้องการสูง ผมก็ต้องทำโพรดักต์ให้สูงตามอัตโนมัติ ผมก็คิดว่าถ้าใครจะทำซอฟต์แวร์การท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทยได้ก็น่าจะเป็นเรานะ การท่องเที่ยวไม่ได้มีแค่โรงแรม ถ้าเรานึกตัวเราเองเป็นนักท่องเที่ยวต้องการอะไรบ้าง จองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม เช่ารถ สปา ตีกอล์ฟ เที่ยวผับบาร์ กินอาหารร้านหรู ซื้อของกลับบ้าน และทุกขนาดน่าจะมีระบบรองรับ ก็คิดว่าทำไมเราไม่มีให้ครบเลย ถ้ารวมหมดได้จริงๆ คุณจะสร้างผลิตภัณฑ์มาต่อยอดได้อีกมากมาย เหมือนรวมขุนพลไว้เยอะๆ จะต่อยอดอะไรก็ง่ายและการต่อเข้ามาจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลโดยไม่รู้ตัวก็ได้”

การจะทำงานใหญ่เช่นนี้สมบูรณ์มองว่า จะใช้รูปแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาเมื่อแรกตั้งโคแมนชี่โดยค่อยๆ ทำไปทีละเรื่อง อาจจะต้องใช้เวลานาน จึงต้องปรับแนวคิดเป็นการหาพาร์ตเนอร์ที่มีผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับแผนงานที่วางไว้ ด้วยการควบรวม ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรายอื่น

ตลาดทุนเป็นทางออกที่สมบูรณ์มองเห็น เขาตัดสินใจนำบริษัทโคแมนชี่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเขาบอกว่านี่คือ wealth ของจริงที่เกิดขึ้น จากบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 67 ล้านบาทเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้วมูลค่าบริษัทกลายเป็น 1,045 ล้านบาท

มูลค่าที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงนำทุนที่ระดมมาทำความฝันของบริษัทให้ก้าวสู่ความเป็นจริง แต่ยังสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของบริษัทคือสมบูรณ์ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นระดับร้อยล้านจากการนำหุ้นเข้าตลาด 

“wealth ผมยังอยู่ในนั้น 750 ล้านผมว่านี่คือ wealth ตัวจริง คุณทำได้ไหมถ้าไม่เข้าตลาดทุน สตาร์ตอัปก็ยังทำไม่ได้ เขาต้องรอให้ใครมาซื้อไปเรื่อยๆ”

สมบูรณ์เห็นความมั่งคั่งที่เขาได้มาแล้วมองต่อไปว่า อยากจะให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ให้สมกับยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก และบริษัทซอฟต์แวร์ก็นับเป็นหนึ่งในบริษัทนวัตกรรมเช่นเดียวกัน เขาจึงอยากใช้เรื่องราวของเขานำมาเป็นกรณีตัวอย่างให้กับพี่น้องในวงการซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ต่อไป

Startup SME for IPO
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างกำไรได้สูง เนื่องจากต้นทุนการคิดค้นจะหนักในช่วงต้น แต่ในเวลาขายยิ่งขายได้มากก็เท่ากับต้นทุนในการผลิตจะลดลง ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสินค้าที่ผลิตขึ้นมา รายได้จากการขายซอฟต์แวร์จึงเป็นอีกหนึ่งรายได้ที่น่าสนใจสำหรับเศรษฐกิจประเทศไทย

สมบูรณ์ยกตัวอย่างโคแมนชี่ที่คิดจะสร้างซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และในประเทศไทยยังมีบริษัทซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่มีความสามารถโดยหากเลือกตลาดอุตสาหกรรมที่จะทำซอฟต์แวร์เพื่อตอบสนองได้อย่างถูกต้องโอกาสในการแข่งขันระดับสากลก็ยังมีอยู่

สมบูรณ์เล่าว่า “คนอื่นเขาอาจจะคิด อย่างเกษตร โลจิสติกส์ แล้วถ้ามีสัก 10 บริษัทใน 3 ปี เรากำลังพูดถึงมาร์เก็ตแคป 10,000-20,000 ล้าน นี่คือเป้าหมายใหญ่ต่อไป ก็จะมีโครงการขึ้นมาโครงการหนึ่ง เป็นโครงการส่วนตัว ว่าจะทำอย่างไรให้ไอทีไทยที่เป็นซอฟต์แวร์พันธุ์แท้ ที่มี IP (intellectual property) ของตัวเอง เข้าตลาดให้เยอะๆ เพื่อวันหนึ่งเราจะกลายเป็น IP Hub ของเอเชียก็ได้ ผมอยากให้เพื่อนซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเจริญเติบโตด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์

ผมเรียกโพรเจ็กต์ว่า Startup SMEs for IPO จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เป็นกลุ่มอาสาสมัครไม่มีใครเป็นเจ้าของ จะมีผมเป็น moderator ตรงกลาง ผมไปเชิญที่ปรึกษาทางการเงินที่สนใจมา มาฟรีนะไม่ได้เงิน จะมีนักกฎหมาย ผู้ตรวจสอบภายใน ภายนอก และคนจากตลาดซึ่งน่าจะเป็น mai คนจากซอฟต์แวร์ปาร์คหรือซิป้า ซึ่งทุกฝ่ายตอบรับมาหมดแล้ว หากบริษัทฯ ที่สนใจเป็นสตาร์ตอัปก็ได้อาจจะใช้เวลาหลายปีหน่อย หรือถ้าเป็นเอสเอ็มอี 3 ปีก็เข้าได้แล้ว ก็ต้องมีการสรรหากัน เจ้าภาพอาจจะเป็นซอฟต์แวร์ปาร์คหรือซิป้า คัดคนมา คณะทำงานตรงนี้ก็เข้ามาดูบิสเนสโมเดล ที่น่าสนใจจะเป็นดาวรุ่งเข้าตลาดได้จริงก็แยกไปอีกกองหนึ่ง มีโปรแกรมให้ความรู้ ซีซัน 2 ก็อีกสัก 2 เดือนต่อไป เราเตรียมเขาไปเรื่อยๆ พอเขาจะเข้าจริงๆ เขาก็ต้องจ้างตัวจริงแล้ว จะจ้างคนที่อยู่ในนี้หรือจ้างคนอื่นก็แล้วแต่ พอถึงตรงนั้นก็หมดหน้าที่แล้ว ผมก็ทำไปเรื่อยๆ ผมมั่นใจว่า 3 ปีผมทำได้ 10 บริษัท”

สมบูรณ์มองว่าการนำบริษัทซอฟต์แวร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นการช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเขายกตัวอย่างตัวเองในสมัยที่ยังต้องแข่งกับซอฟต์แวร์ต่างประเทศโดยไม่มีอะไรการันตีซึ่งมีความยากลำบากมาก ขณะที่ปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดช่วยสร้างจุดขายเรื่องความเชื่อมั่นในองค์กรให้ทั้งภายในและภายนอก

“คุณขาดอะไรล่ะ แรงบันดาลใจ ผมเข้าไป (ตลาดหลักทรัพย์) ผมเปลี่ยนโฉมมหาศาลเลยนะ คนก็มอง บริษัทธรรมดาเข้าได้นี่ ผมก็บอกว่าคุณรู้ไหมเข้าไปแล้วดีแค่ไหน ผมก็ร่ายจะเป็นอย่างนี้ เงินเอามาทำอย่างนี้ได้ ส่วนมากตาลุกหมดเลย จะทำอย่างไร ลงทุนเอามาอย่างไร เจอผู้ตรวจสอบภายในภายนอกขนาดไหน ต้องใช้เงินก่อนเข้าตลาดเท่าไร เป็นสิบล้านนะครับ ความยุ่งยากในการเตรียมตัว ไม่มีใครบอก 360° ได้ ผมเป็นคนต้นๆ ที่รอดเข้าไปได้ ผมก็น่าจะเหมาะที่สุดที่จะเอาเรื่องพวกนี้มาเล่ามาชักจูงมาเสาะหา เพื่อให้มีคนสนใจเข้าตลาด” สมบูรณ์เล่าถึงการไปแบ่งปันเรื่องราวการสร้างความมั่งคั่งให้กับสมาชิกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (TSEP) ฟังเป็นกลุ่มแรกๆ

วันนี้โคแมนชี่ จึงเป็นตัวอย่างของคนไทยที่ใช้มันสมองของตนเอง ผสมกับทักษะความรู้ การมองโอกาสและการวางกลยุทธ์ สร้างธุรกิจบนพื้นฐานความสร้างสรรค์ และสร้างความมั่งคั่งไปพร้อมกัน

เรื่อง : วีระพงษ์ เจตน์พิพัฒนพงษ์  
ภาพ : ฐิติวุฒิ บางขาม

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Tuesday, 15 March 2022 18:13
X

Right Click

No right click