January 15, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

นาคะบะ ชินโด ประธานใหญ่ ธนาคารยามานาชิ

December 29, 2017 4456

พลังผลักวงล้อเศรษฐกิจ แห่งยามานาชิ
บทบาทสำคัญของสถาบันการเงินในโลก โดยหลักการแล้วล้วนตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินกิจการ

และกิจกรรมด้านการเงินเพื่อเป็นกลไกในการรองรับและสนับสนุนการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจ ธนาคารยามานาชิ ชูโอ (The Yamanashi Chuo Bank, LTD) ซึ่งเป็นธนาคารหลักที่สำคัญของจังหวัดยามานาชิก็เฉกเช่นกัน ด้วยบทบาทของการยืนหยัดอยู่เคียงข้างพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการค้าของ SME และกิจการทั้งเล็กและใหญ่ของจังหวัดยามานาชิมาโดยตลอดมากกว่า 100 ปี


ในวาระที่ทีมงานนิตยสาร MBA ได้เยี่ยมพบและสัมภาษณ์ นาคาบะ ชินโด (Nakaba Shindo) ประธาน ธนาคาร ยามานาชิ ชูโอ (Chairman /The Yamanashi Chuo Bank, LTD) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2017 ที่สำนักงานใหญ่ เมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ที่ได้เผย
ให้เห็นถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจของจังหวัดและความเข้มแข็งของยามานาชิ และอีกหลายมิติต่อความสัมพันธ์กับคนไทยทั้งด้านการค้า การร่วมทุน การท่องเที่ยวตลอดจนด้านการศึกษา

 

Q : อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของจังหวัดยามานาชิ มีพื้นฐานและความโดดเด่นเป็นลักษณะใด?
A : หากเจาะจงลงไปที่อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดยามานาชิ ให้มองเป็นสองส่วนคือ อุตสาหกรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น และอุตสาหกรรมที่ขยายตัวและพัฒนาต่อยอดขึ้นมาบนปัจจัยของการมีเทคโนโลยีเข้าไปยกระดับ กล่าวได้ว่าตัวเลข GDP 30-40% ของจังหวัด (3,489 ร้อยล้านเยน/ ตัวเลข ปี 2014) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิต (Menufacturing) นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นการก่อสร้าง และการค้าขาย ซึ่งยามานาชิมีสินค้าท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น กระดาษสา การทอผ้า จิวเวลรี่หินสี และโดยเฉพาะด้านการเกษตร การปลูกผลไม้ของจังหวัด ได้รับการจัดอันดับและยอมรับว่า เป็น No. 1 ของประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น พีช (Peach) และองุ่น


ซึ่งเหตุผลที่จังหวัดยามานาชิ สามารถปลูกผลไม้ที่ให้รสชาติที่ดี และเป็นที่ยอมรับติดอันดับ 1 ได้ก็เพราะปัจจัยของการมีภูมิประเทศแบบภูเขาสูง และที่สำคัญคือสภาพของภูมิอากาศของยามานาชิ ที่อุณหภูมิมีความแตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน คือคีย์สำคัญที่ทำให้ ผลไม้ของยามานาชิมีรสชาติที่หวานอร่อยอย่างโดดเด่น นอกจากนั้น การมีแหล่งกำเนิดของน้ำแร่ธรรมชาติ ที่ได้รับการจัดอันดับว่าดีที่สุดของประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของ ความเข้มแข็งของทางจังหวัด และด้วยการที่จังหวัดยามานาชิ มีีแหล่งน้ำผลไม้ที่ดีที่สุดคือ องุ่น จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สามารถผลิตภัณฑ์ “ไวน์” และได้รับการยอมรับว่าเป็นไวน์อันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ในประเภทไวน์ที่ผลิตจากองุ่นของประเทศญี่ปุ่นเอง โดยไวน์เนอรี่ที่จังหวัดยามานาชิมีมากถึง 70 แห่ง และกล่าวได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัด ทั้งเพื่อการบริโภค ส่งเสริมเศรษฐกิจ และรองรับนักท่องเที่ยวที่เจาะจงที่จะมา ดื่มด่ำกับรสชาติเฉพาะของไวน์ของจังหวัดแห่งนี้


ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ทางจังหวัดมี 2 กิจการระดับข้ามชาติ ที่เติบโตจากท้องถิ่น และขยายตัวไปในตลาดโลก คือบริษัท FANAC ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์ (Robot) ที่มิใช่เพียงเป็นอันดับหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น แต่กล่าวได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลกอีกด้วย ส่วนอีกกิจการที่มีบทบาทสำคัญ คือ โตเกียวอิเล็กโตรอน ซึ่งทั้งสองกิจการนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของทางจังหวัดเป็นอย่างมาก

 

 

 

Q : ความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SME ที่จังหวัดยามานาชิ มีลักษณะเป็นอย่างไร ?
A : หากจะกล่าวถึง SME ที่มีความเป็นมาจากรากฐานการผลิตดั้งเดิม กล่าวได้ว่า ยามานาชิโดดเด่นในด้านงานช่างฝีมือที่มีทักษะสูงมากตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี อย่างเช่น งานฝีมือด้าน อัญมณี จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่มีการค้นพบอัญมณีหินสีจำนวนมาก และเป็นเหตุผลที่ยามานาชิ มีช่างเจียระไนอัญมณีที่มีฝีมือชั้นสูงนับแต่อดีต ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน อัญมณีและหินสี ที่เป็นวัตถุดิบจะไม่เหลืออยู่แล้วในท้องถิ่นและพื้นที่ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่และไม่เคยสูญหายและหมดไปคือ ทักษะงานฝีมือชั้นสูงของช่าง ทั้งในด้านงานเจียระไน หรือแม้แต่ช่างฝีมือในด้านหัตถกรรม ที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานตั้งแต่อดีตมาหลายร้อยปี เช่นงานทอผ้า พิมพ์ลายลงรักบนผลิตภัณฑ์จากหนังกวางก็ยังคงได้รับการพัฒนา และอนุรักษ์เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจของท้องถิ่นที่มีคุณค่าและมูลค่า ล่าสุดบริษัทอัญมณีของเมืองโคฟุ ยังได้เดินทางไปร่วมในนิทรรศการ Jewelry Fair ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในเดือนกันยายน ถึง 21 กิจการ และคาดหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าหรือการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในอนาคต

 

Q : อุตสาหกรรมในด้านบริการที่จังหวัดยามานาชิ มีอะไรบ้าง ?
A : จังหวัดยามานาชิ คือเมืองเพื่อการท่องเที่ยว เพราะทั้งจังหวัดเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามเป็นจำนวนมาก มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งภูเขา ป่าไม้น้ำตก และออนเซ็น ที่สวยงามและมีชื่อเสียง มีภูเขาที่อยู่บนพื้นที่ของจังหวัดอยู่เป็นจำนวนนับร้อย ที่มีชื่อเสียงนอกจาก ภูเขาไฟฟูจิ ยังมี มินามิแอลป์ ชึ่งก็เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวที่สวยงาม ยังไม่นับว่า ยามานาชิ ยังเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเมืองที่มีอารยธรรมตกทอดมานานนับพันปี เราจะพบว่ามีศาลเจ้า หรือพิพิธภัณฑ์ อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่สามารถเข้าไปศึกษาและเยี่ยมชมได้ จังหวัดยามานาชิ มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่รองรับได้ทั้ง 4 ฤดูตลอดปี

 

Q : นอกจากการสนับสนุนด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการ ธนาคารฯ มีบทบาทหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ในด้านอื่นบ้างหรือไม่? อย่างไร?
A : ในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนเรามีโครงการอยู่ 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกจะเป็นการส่งเสริมในด้านการสร้างแบรนด์ โดยธนาคารฯ จะช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าของจังหวัด ผ่านเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่นที่ผ่านมา ธนาคารฯ ก็ได้ดำเนินกลยุทธ์เรื่องนี้กับ ผลิตภัณฑ์ไวน์ และจิวเวลรี่ของจังหวัด แต่ทั้งนี้ทางธนาคารฯ ก็จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็งเพื่อกำหนดแนวทางในการสนับสนุนให้สอดคล้องกับกิจการของลูกค้า สำหรับข้อสอง เป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับกิจการเริ่มใหม่ หรือ Startup ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้ให้การช่วยเหลือไปประมาณ 75 กิจการอยู่ในวงเงินประมาณ 110 ล้านเยน โดยการช่วยเหลือในส่วนนี้ครอบคลุมไม่เพียงกิจการแต่ยังรวมถึง “คนทำงาน” ที่อยากย้ายมาทำงานที่จังหวัด ยามานาชิ ก็จะมีเงินช่วยเหลือในระยะเริ่มต้น ซึ่งในส่วนนี้ ทางธนาคารฯ ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายทางด้าน CSR นอกจากนี้ ยังมีอีกโครงการซึ่งได้เริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อนคือ การส่งพนักงานของธนาคารฯ ไปทำงานกับบริษัทในท้องถิ่น คนละ 1 ปีโดยที่กิจการนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ทำงานให้กิจการนั้นๆ ด้วยเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้พนักงานของธนาคารได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ ของลูกค้า เพื่อที่จะช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมายที่สุด ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านั้นก็ได้ประโยชน์
ที่ผ่านมา 5 ปีมีพนักงานอยู่ในโครงการนี้ประมาณ 50 คน

 

Q : เกี่ยวกับประเทศไทย ผู้ประกอบการของจังหวัดยามานาชิ ที่ไปลงทุนทำธุรกิจในไทยมีจำนวนเท่าไหร่? และเป็นกิจการประเภทไหน และเหตุใดจึงเลือกลงทุนในประเทศไทย ?
A : สำหรับตัวเลขจังหวัดนั้นยังไม่ได้สำรวจแน่ชัด แต่สำหรับลูกค้าของธนาคารฯ ที่ยามานาชิ มี 20 บริษัทฯ แต่ธนาคารมีสาขาที่โตเกียวด้วย ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขที่ไปลงทุนในไทยก็ประมาณ 50 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประเภทส่วนประกอบรถยนต์ ความแม่นยำ และผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ มีบ้างที่เป็นกิจการผลิตอาหาร เช่น บริษัท SUN FOODS (THAI) ซึ่งผลิตและจำหน่าย ซอส โชยุ เครื่องปรุงอาหาร ส่วนเหตุผลของการเลือกลงทุนในประเทศไทยนั้น ประเมินกันว่าน่าจะมาจาก 2-3 ปัจจัยคือ 1) คนไทยชอบคนญี่ปุ่น และ 2) ค่าแรงไม่สูง และอีกเหตุผลคือเป็นเพราะมีการชักชวนกันไปจากผู้ประกอบการที่ไปลงทุนก่อนหน้าแล้วผลตอบรับดี จึงกลับมาชักชวนและบอกต่อ

 

 

 

Q : การลงทุนใน AEC ของผู้ประกอบการจากยามานาชิเป็นอย่างไร ?
A : มีลงทุนทั้งในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาร์ แต่ในไทยเรียกได้ว่ายังมากที่สุดในขณะนี้

 

Q : มีนโยบายจะไปตั้งสำนักงานในประเทศไทย หรือขยายสาขาไปต่างประเทศหรือไม่ ? อย่างไร ?
A : ธนาคารฯ มีสำนักงานที่ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ ส่วนที่ประเทศไทย ธนาคารฯ มีความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพฯ โดยได้ส่งพนักงานตัวแทนไปประจำที่ธนาคารกรุงเทพฯ สำนักงานใหญ่ เป้าหมายก็เพื่อสนับสนุนบริษัทฯ ที่ไปลงทุนในประเทศไทย และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อจัดประชาสัมพันธ์สิ่งต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวของยามานาชิไปยังประเทศไทย ซึ่งรูปแบบแบบนี้เรายังมีความร่วมมือกับธนาคารฯ ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

 

Q : บนมุมมองและวิสัยทัศน์ของท่านมองว่า จังหวัดยามานาชิ ในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีแนวโน้มการเติบโตไปในทิศทางไหน ?
A : อีก 10 ปี รถไฟสาย Linear จะเริ่มวิ่งจากชินากาวะ มาถึงยามาโกย่า และต่อมาที่ยามานาชิ ความหมายก็คือ การเดินทางจากโตเกียวมาที่ยามานาชิ จะใช้เวลาเพียง 15 นาที ในขณะที่ปัจจุบันนี้คือ 1.30 ชม. โดยรถไฟ และ 2 ชม. โดยทางรถยนต์ ในขณะเดียวกันอีกสองปีจะมีการเปิดทางด่วนเส้นใหม่ เชื่อมระหว่างจังหวัดยามานาชิ และจังหวัดชิสุโอกะ การคมนาคมที่สะดวกขึ้นจะเป็นตัวส่งเสริมสำคัญให้เกิดการพัฒนาโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งทุกวันนี้นักท่องเที่ยวและคนส่วนใหญ่ยังรู้จักจังหวัดยามานาชิน้อยมาก แต่จะรู้จักภูเขาไฟฟูจิ กันอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการเชื่อมโยงและขยายผล จึงจะมีโครงการ Fuji Valley ขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพและโอกาสของทางจังหวัด

 

Q : โครงการ Fuji valley คืออะไร?
A : โดยภูมิประเทศแล้ว ยามานาชิเป็นหุบเขาที่รายรอบไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ เหมือนเป็น Valley ที่เราเรียกว่า Yamanashi-Fuji Valley แต่เป็นวัลเล่ย์ที่เปิดออกจากมุมมองของโลกที่จับจ้องมาที่ยามานาชิ ภายใต้ภาพลักษณ์ของหุบเขาที่มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และกิจกรรมท้องถิ่นที่ยังคงกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และเป็นเมืองที่มีการผสมผสานทั้งอุตสาหกรรมและความเป็นท้องถิ่น และยามานาชิ จะเป็นอีกจุดหมายปลายทาง (Destination) ของการท่องเที่ยว จากทั้งภายในและต่างประเทศทั่วโลก

 

Q : อยากทราบถึงปรัชญาที่ท่านยึดถือ และเป้าหมายในการบริหารงาน
A : สำหรับเป้าหมายในการบริหารงาน ที่มักบอกกล่าวกับพนักงานของธนาคารฯ เสมอๆ คือ อักษร 4 ตัวที่บ่งชี้เป้าหมายในการทำงานคือ CS ES โดย CS คือ Customer satisfaction ส่วน ES ที่สำคัญไม่ได้น้อยไปกว่ากันก็คือ Employee satisfaction และเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความพอใจของทั้งสองฟากฝ่ายให้บรรลุสู่ความเป็นอันดับหนึ่งให้ได้ สำหรับปรัชญาที่ประธานธนาคารยามานาชิ ชูโอ นาคาบะ ชินโดะ ได้เผยกับนิตยสาร MBA ก็คือ ธนาคารยามานาชิ เป็นธนาคารของท้องถิ่น ยืนหยัดอยู่คู่และเคียงข้างกับท้องถิ่นยามานาชิแห่งนี้มาถึงปัจจุบัน 140 ปี สิ่งที่เป็นปรัชญาของธนาคารก็คือ การดำเนินกิจการเพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนมีชีวิตที่ดี ซึ่งปรัชญาที่ นาคาบะ ชินโดะ ยึดถือก็คือการพยายามรักษาไว้ซึ่งปรัชญาของธนาคารยามานาชิ ชูโอ ให้คงอยู่ต่อไปให้ได้อย่างยั่งยืน

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 04 October 2019 06:32
X

Right Click

No right click