×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

 เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย Content Creator Platform

July 15, 2018 5060

การทำธุรกิจสื่อสารมวลชนในยุคอินเทอร์เน็ตและ4G เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารองค์กร เพราะด้วยเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในอัตราเร่ง สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เสพข่าวสารข้อมูลข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็ว

สื่อทีวีดิจิทัลแม้ผลประกอบการที่ออกมาส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถทำกำไรได้ และยังมีความท้าทายเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายสัมปทานที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐ ซึ่งต้องนำมาบวกลบคูณหารสร้างโมเดลทำธุรกิจสื่อในยุคใหม่ให้เกิดขึ้น

สำหรับวอยซ์ทีวี ความท้าทายยิ่งมีมากขึ้น จากชื่อผู้ลงทุนบางส่วนที่มีความเกี่ยวโยงกับการเมือง และรายการเชิงวิเคราะห์ที่ถูกจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแล การบริหารจัดการธุรกิจวอยซ์ทีวี จึงทวีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นจากสื่อทีวีรายอื่นๆ

MBA มีโอกาสไปนั่งคุยกับ เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด  เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์ และแนวโน้มของอุตสาหกรรมทีวี โดยเฉพาะของวอยซ์ทีวี ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับลดจำนวนบุคลากร ที่กลายเป็นโมเดลให้สื่ออื่นๆ ทำตามกันไป

Landscape of TV Industry

เมฆินทร์เล่าภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีว่ามีการเปลี่ยน Paradigm(กระบวนทัศน์) จากเดิมที่เป็นเรื่องของเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอและรูปแบบการออกอากาศคือรับชมผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ในครัวเรือน สู่ การสามารถรับชมเนื้อหาวิดีโอที่สามารถดูผ่านออนไลน์ ผู้ชมสามารถเลือกรับชมในเวลาและสถานที่ตามที่ต้องการผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความสะดวกสบายในการรับชมเพิ่มขึ้น

ผลที่ตามมาอีกประการคือ รูปแบบเนื้อหาที่ผู้บริโภครับข้อมูลข่าวสารที่ผสมผสานกันทั้งเป็นตัวอักษร เสียง และภาพเคลื่อนไหว ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่วิดีโอขนาดยาว  

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จากที่เขาเสพข้อมูลเป็น Article กับ VDO เปลี่ยนเป็นลักษณะ Short Form VDO Infographic การดูเนื้อหามีความหลากหลาย ไม่ใช่เป็นตัวหนังสือ เป็นนิตยสาร หรือวิดีโออย่างเดียว คือ ผสมผสาน  บวกกับการเข้าถึงคอนเทนต์ของอินเทอร์เน็ต ทำให้คนดูกระจายตัวจากการดู VDO Streaming หรือการดู VDO Format เป็นการดู Article หรือดู Short form VDO ผสมผสานกัน”

เมื่อรูปแบบการรับสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไปก็ส่งผลต่อช่องทางการหารายได้ของสื่อทีวีจากเดิมที่รายได้หลักของทีวีคือการโฆษณาที่ฉายคั่นอยู่ระหว่างเนื้อหา เป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์คุณสมบัติแบรนด์สินค้า ภาพลักษณ์องค์กร ไปสู่การ Tie-in วางโฆษณาในเนื้อหารายการ

“ภาพรวมๆ คือเปลี่ยนแปลงหมด มีเนื้อหาที่เป็นเครื่องมือทางการตลาดด้วย การนำเสนอก็มีลักษณะต่างๆ ที่เป็นโฆษณาในตัวด้วย  Outlet (ช่องทางการรับชม)ก็เริ่มดูได้หลายที่ดูเมื่อไรก็ได้ และที่มีผลอย่างมากคือ Interactive (การโต้ตอบ)ได้ วัดผลได้ นี่คือภาพของพัฒนาการของทีวี นี่คือบริบทที่เปลี่ยนไปทั้งหมด”

เมฆินทร์บรรยายต่อว่า เมื่อผู้ชมสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ในรูปแบบใหม่รวมถึงความสามารถวัดผลได้ทันที จึงเกิดรูปแบบการทำธุรกิจที่เรียกว่า Content Creator ซึ่งไม่ยึดติดกับช่องทางการรับสารของผู้ชมว่าจะเป็นช่องทางใด แต่เป็นผู้ผลิตที่สามารถผลิตเนื้อหาได้เหมาะกับช่องทางที่เปิดกว้างขึ้น

ส่วนตัวเครื่องรับโทรทัศน์ ก็กลายเป็นอุปกรณ์ในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ทั้งในรูปแบบรายการทีวีแบบเดิม เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อรับชมเนื้อหาสาระทางอินเทอร์เน็ต เช่น VDO Streaming  ตามที่ต้องการ

แต่สิ่งที่ Content Creator ยุคนี้ จะต้องคำนึงถึงอีกข้อหนึ่งคือ รูปแบบการหารายได้

เมฆินทร์ บอกว่า การหารายได้ของ Content Creator มี 2 รูปแบบคือ โฆษณา ที่มีแบบเดิมคือลงโฆษณาคั่นในรายการหรือเป็นโมเดลทีวีช้อปปิ้ง หรือรวมอยู่ในเนื้อหารายการเลยก็สามารถทำได้ และ Pay Contentและอื่นๆ เช่นการจัดฝึกอบรม รับจ้างทำคอนเทนต์เฉพาะให้กับลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการ

เขายกตัวอย่าง Pay Content ในวงการบันเทิงว่า อาจจะมี 3 ระยะ คือระยะที่หนึ่ง เก็บเงินค่าชม เช่นภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดเมื่อสร้างเสร็จก็นำมาลงโรงภาพยนตร์ให้ผู้ชมที่เสียเงินเข้าดู ต่อมาก็เข้าสู่ระยะที่สอง คือเข้าสู่บริการอย่างเช่น Netflix หรือเคเบิ้ลทีวีที่ผู้ชมยังต้องจ่ายเงินเพื่อดูอยู่ และไปสู่ระยะที่สามคือเปิดให้ดูฟรีทางช่องทีวีต่างๆ

แต่เนื้อหาที่จะสร้างขึ้นมาในยุคนี้ เขาบอกว่าต้องเริ่มมีการหารายได้เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ Tie-in การจัดฝึกอบรม ทำเนื้อหาเพิ่มเติมให้กับแบรนด์ต่างๆ  

“อย่างอินเทอร์เน็ตถ้าเกิน 7 วินาทีเขาเปลี่ยนแล้ว ดังนั้นผมว่ามันเป็นประสิทธิภาพของการเข้าถึงคอนเทนต์ ประสิทธิภาพของวิวัฒนาการทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาให้ดี”

อีกโจทย์หนึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจทีวีคือต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งมีคน 2 กลุ่มคือ Digital Immigrant ที่ยังชอบดูทีวีแบบเดิมแต่ก็ใช้งานอุปกรณ์และแอพพลิเคชันในโลกออนไลน์ไปด้วย และ Digital Native ที่คุ้นเคยกับโลกอินเทอร์เน็ตไม่เปิดทีวีดู แต่รับชมเนื้อหาต่างๆ ผ่านอุปกรณ์เช่นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต และมีพฤติกรรมการเสพสื่อที่แตกต่างไปเช่น ชอบชมคลิปวิดีโอสั้นๆ มากกว่ารายการทีวียาวๆ  

 

Voice TV Content Creator

จากภาพกว้างของอุตสาหกรรมทีวี สู่วอยซ์ทีวีที่เป็นสถานีข่าว เมฆินทร์อธิบายรูปแบบที่เปลี่ยนไปว่า ในยุค เทคโนโลยีอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเก็บข่าวสารข้อมูลในพื้นที่ของตนเองได้ แต่การรายงานข่าวยังต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เพราะการจะนำสารต่างๆ ออกสู่สาธารณะยังต้องใช้ความสามารถในการสื่อสาร มีความสามารถในการเข้าถึงตรรกะของข่าว รวมรวมข้อเท็จจริงได้ครบถ้วนรอบด้านอยู่

“สำนักข่าวเป็นบรรณาธิการ เป็นผู้วิเคราะห์เนื้อหา เป็นโปรดักชันที่มีคุณภาพสูง นี่คือสำนักข่าว”

เขาอธิบายต่อว่าการจะเลือกเป็น Content Creator ด้านข่าวมี 2 แกน หนึ่งคือสนามข่าว และอีกแกนคือวิเคราะห์ข่าวที่วอยซ์ทีวีเลือก ตามกลุ่มผู้ชมผู้มีอำนาจซื้อซึ่งติดตามข่าวสารลักษณะนี้

“สำนักข่าวคือ Content Creator ที่เป็น News Content ดังนั้น Business Model เปลี่ยน ที่เคยจับคู่กันระหว่าง Content creator ประเภทวิดีโอ กับทีวีช่องนี้ เปลี่ยนใหม่เป็นว่า คุณเป็น Content Creator คุณจะออกกี่อุปกรณ์ จะออกมือถือ ออกอินเทอร์เน็ต ออกทีวี ออกหนังสือพิมพ์ ได้หมดเลย ออนไลน์คุณจะออก Youtube ก็ได้ ออกเพจคุณเองก็ได้ ห้างร้านต่างๆ ที่เคยโฆษณาเขามีโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของตัวเอง เขาต้องการทำคอนเทนต์ที่เป็นของเขา ผมทำให้ทรู เป็นสารคดีเรื่อง Mega Trend ของโลก100 คลิป แล้วผมก็เอามาออกทีวี ออนไลน์ ให้เขาเป็น Exclusive ออกก่อน Mega Trend 3-6 เดือนก็ยังเป็น Mega Trend ของโลกอยู่ ภาพรวมคือวิวัฒนาการของทุกมิติมาหมดเลย ทั้งContent Creator ผู้บริโภค อินเทอร์เน็ต เราต้องถอยตัวเองกลับมาว่าเราคือ Content Creator และเราจะทำเนื้อหาสำหรับแพลตฟอร์มอะไรบ้าง และ Revenue Model คืออะไร” เมฆินทร์ยกตัวอย่างสิ่งที่วอยซ์กำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบัน

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของวอยซ์ทีวีแบ่งเป็น 4 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย  

1 TV Operator ที่เป็นลักษณะที่เคยทำมา คือสำนักข่าวเผยแพร่ทางโทรทัศน์

2 Online News & Publishing เป็นคอนเทนต์ออนไลน์ที่เป็นทั้งข่าวและการรวบรวมนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ (Publishing)

3 Creative House รับจ้างผลิตเนื้อหาประเภทต่างๆ เช่น คลิปออนไลน์ บทความ 

4 Creative Activity คือ Voice Space เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ 

จากโครงสร้างธุรกิจ งานแรกของเขาคือการปรับลดคนในองค์กรเปลี่ยนขนาดขององค์กรให้เหมาะกับธุรกิจที่คิดจะทำ โดยเหลือคนในส่วนของธุรกิจทีวี 88 คน Online News & Publishing 44 คน Creative House 17 คน และ Creative Activity 7 คน ส่วนที่เหลือคือคนทำงานด้านเบื้องหลัง เช่นฝ่ายธุรการ การเงิน ไอที เป็นต้น

“ถ้าคุณบอกว่าคุณอยากทำ Online Publishing หาคนรุ่นใหม่มาทำเยอะ เพราะเป็น Growth Area ดังนั้นความท้าทายของทีวีก็เหนื่อยหน่อยแน่นอน แต่ไม่เป็นไร เพราะความเป็นสำนักข่าวไม่ใช่ทีวี ดังนั้นฐานของเราคือสำนักข่าว คุณจะออกทีวี จะออกออนไลน์ก็คุณก็อยู่ที่เดียวกันนั่นแหละ ในการประชุมข่าว ของทีมออนไลน์กับทีวี ทีมเดียวกัน 4 แผนกนี้อยู่ที่เดียวกันหมด แล้วเขาก็ทำทั้งทีวีทั้งออนไลน์ เพราะทีวี Digital Immigrant ก็คือออนไลน์อยู่แล้ว คือทำรายการวิเคราะห์ข่าว 2 ชั่วโมงแล้วก็ตัดคลิปสั้นมา ทำให้คนดูแบบสรุปได้”

เมฆินทร์บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทำอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลประกอบการของวอยซ์ทีวีเริ่มดูดีขึ้น แม้จะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ แม้เรตติ้งโดยรวมจะอยู่ในอันดับท้ายๆ  เขาอธิบายเรื่องเรตติ้งว่า

“ผมไม่ได้สนใจ เรตติ้งรวม 24 ชั่วโมง 7 วัน ผมสนใจเรตติ้งที่(รายการ)ผมลงช่วงไพร์มไทม์เท่านั้น เป็น Target Rating  และสนใจ Growth Area ของเรา คือการที่คุณไปเผาเงินทำ 24 ชั่วโมง ทำรายการให้ครบ ผมไม่เอา ผมทำรายการวิเคราะห์ข่าว และวิเคราะห์ข่าวเหมาะกับไพร์มไทม์ตรงไหนผมทำตรงนั้น เราคือสถานีวิเคราะห์ข่าว ดังนั้นวิเคราะห์ข่าวที่ดีที่สุดของประเทศไทยต้องอยู่ที่นี่ ส่วนออนไลน์พับลิชชิ่ง เราจะต้องทำข่าวออนไลน์ที่เป็นเชิงวิเคราะห์ มีคุณค่า และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่ดี เข้าไปดูวอยซ์ออนไลน์ก็จะเห็นว่าผมเปลี่ยนจากเดิม ที่ไม่ใช่สำนักข่าวที่มีข่าววันละ 100 ข่าว เรามีข่าววันละ 20 ข่าว แต่เป็น 20 ข่าวที่มีจำนวนผู้ชมเยอะเลย อย่างเดือนที่แล้วมีคลิปข่าวของเราที่มีคนดูเกินล้านคน 6 คลิปอย่างนี้เราแฮปปี้ แปลว่าเราลงทุนคน 44 คน 44 คนเราแม่นยำ เราเจาะ 44 คนตัวจริงมาได้”

เรตติ้ง เอเจนซีก็ต้องปรับปรุง

                เมฆินทร์ให้มุมมองว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้ชมสามารถโต้ตอบกับสื่อได้โดยตรงมากขึ้น มีการวัดผลได้ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับกับวัดเรตติ้งที่เคยทำกันมา ด้วยการนำกล่องไปวางตามบ้านจำนวนหนึ่งแล้วมาคำนวณสถิติต่างๆ ออกมา

                “แต่อินเทอร์เน็ตนี่ดูเลยว่า คนดูประเภทไหน ดูกี่นาทีแล้วเลิก แถมมีคอมเมนต์ด้วย วิเคราะห์ได้หมดเลย เพราะฉะนั้นการวัดผล ก็อีกวิวัฒนาการหนึ่ง จากการวัดเชิงสถิติ เป็นการวัดจากข้อมูลจริงๆ จากการตอบโต้กับผู้ชม เรตติ้งเอเจนซีก็ต้องปรับปรุง”

โมเดลการสร้างคอนเทนต์

ความท้าทายของอุตสาหกรรมคือ ทำเนื้อหาที่คนอยากจะชม เราสรุปโมเดลจากสร้างคอนเทนต์คุณภาพจากสิ่งที่เมฆินทร์เล่ามาว่า

คอนเทนต์ที่คนอยากชม(มีคุณค่ากับผู้บริโภค ความบันเทิง ความสุข ความรู้) นำไปสู่ Business Model (สร้างรายได้) และนำเงินไปจ้างคนเก่งมาสร้างคอนเทนต์

เมฆินทร์เล่าถึงเป้าหมายในการผลิตเนื้อหารูปแบบต่างๆ ว่า

“เป้าหมายคือเราทำคอนเทนต์ให้คนได้ความรู้ ให้คนรู้สึกเป็นเพื่อน รู้สึกคุ้นเคย รู้สึกสง่างามนี่คือสิ่งที่เราทำ แต่คอนเทนต์นั้นจะเป็นเสียงเป็นภาพ เป็นวิดีโอยาวๆ ถ้าเขาประเมินแล้วเขาไม่เอา คุณก็ไม่ผ่าน คุณต้องทำคอนเทนต์ที่เขาได้ความรู้สึกนั้น คือคอนเทนต์ทำเพื่อให้คนได้ประสบการณ์ ไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณทำของชิ้นนี้ประเภทนี้ดีๆ หนึ่งชิ้น เขาไม่สน สมมติทำวิดีโอ 1 ชั่วโมง เจ๋งมาก แต่เขาดู 2 นาทีแล้วเลิกดู ไม่ได้”

“แต่ถ้าเราเริ่มด้วยเราเป็นเจ้าของปรัชญาคอนเทนต์ที่เป็นนักวิเคราะห์ขึ้นมาเมื่อไร เวลาเราจะพัฒนาไปทางอื่นมันง่าย เพราะคอนเทนต์เราลึกจริง”

เมฆินทร์สรุปว่า การประกอบการธุรกิจทีวีสิ่งสำคัญคือต้องกำหนด Positioning ของตัวเอง เช่นวอยซ์เลือกด้านการวิเคราห์ข่าวเป็นแกนแล้วทำออกมาให้ดีที่สุด สำหรับทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ชมสามารถเลือกชมเนื้อหาที่ทำออกมาได้อย่างมีความสุข

“Supply (จำนวนช่อง)ก็เยอะ อินเทอร์เน็ตก็มา ราคาของอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้สูงเท่าทีวี เล็กกว่า แต่มีการเติบโต  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะอย่างนี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะ กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มี ขณะเดียวกันปรับอย่างไรให้เป็นไปตามการเติบโตของอุตสาหกรรม เก็บหรือพัฒนาทรัพยากรที่แข็งแกร่งตาม Positioning ของเรา ก็เป็นความท้าทายของผู้บริหาร”

รูปแบบการหารายได้

กลไกการสร้างรายได้ของวอยซ์ทีวี เมฆินทร์เล่าว่า ตัวรายการวอยซ์ทำเอง 60 เปอร์เซ็นต์ มีพาร์ตเนอร์ภายนอกทำอีก 40 เปอร์เซ็นต์  โดยจะเลือกพาร์ตเนอร์ที่มาร่วมทำรายการออกอากาศอย่างพิถีพิถัน แม้จะเป็นรายการไลฟ์สไตล์ก็ต้องเป็นการใช้ชีวิตแบบมีคุณค่า มีความคิด เพื่อให้รายการนั้นๆ สามารถมีอายุการใช้งานได้ยาวนาน เหมาะกับการลงทุนที่ทำไป

ในขณะที่การหารายได้ของทีวีดิจิทัลก็มีหลากหลายรูปแบบ กับพาร์ตเนอร์ที่วอยซ์ใช้รูปแบบการแบ่งรายได้  อีกประเภทหนึ่งคือลูกค้าที่เข้ามาแล้วจ่ายตามยอดขาย หรือ การที่ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับสินค้าหรือบริการ เช่น กดดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน

รายได้อีกประเภทหนึ่งคือโฆษณาที่เหมาะกับเนื้อหาเป็นโฆษณาที่คั่นรายการต่างๆ อีกโมเดลของวอยซ์คือการทำรายการตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น วอยซ์ทำเรื่องเมกกะเทรนด์ โดยมีทรูเป็นสปอนเซอร์

 อนาคตทีวีไทย

เมฆินทร์ให้ความเห็นว่า ทีวีดิจิทัลของประเทศไทยจริงๆ แล้วเกิดมาตั้งแต่ปี 2538 ที่ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ล การเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2557 คือการเปลี่ยนเสาภาคพื้นดินที่เป็นอนาล็อคมาเป็นดิจิทัล หรือเป็นทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ซึ่งในช่วงเวลานั้น ทั้งกสทช. และผู้ประกอบการ คาดการณ์ผิดพลาดว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลนี้จะดีมาก ขณะที่เขามองว่า เป็นการเปลี่ยนจาก Limited Supply ที่ผู้ผลิตรายการทีวีต้องไปหาทางได้เวลาออกอากาศจากช่องทีวีอนาล็อคเดิม เปลี่ยนเป็นมีช่องออกอากาศ 24 ช่อง  Production House ที่เคยต้องไปหาเวลาออกอากาศตามช่องต่างๆ ก็หันมาเป็นเจ้าของช่องโทรทัศน์เองแทน ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือ เวลาในโทรทัศน์ที่เดิมเคยมีไม่เพียงพอ กลายเป็นมีมากเกินพอ ระบบเศรษฐกิจที่เดิมมีอยู่ 6 ช่อง ขยายตามการเพิ่มจำนวนช่องทีวีดิจิทัลไม่ทัน

ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาแทรกแทรงคือ อินเทอร์เน็ต จึงทำให้การเติบโตของธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นไปได้ยาก การที่ผู้ประกอบการไปเจรจากับกสทช. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเงินที่จ่ายไปแล้วกับรายได้ที่กลับเข้ามายังไม่สมดุลย์กัน เพราะทั้งผู้ประกอบการและกสทช. ล้วนประเมินผิด ขณะเดียวกัน กลไกต่างๆ ก็ยังไม่สมบูรณ์ เช่นหากดูตัวเลขของนีลสัน จะพบว่า มีกล่องที่ติดดูทีวีดิจิทัลจาก 22 ล้านบ้าน เพียงแค่ 8 ล้านกล่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปกติ

“ผมว่าท้าทายสำหรับทุกคน ผมว่าอีก 2 ปีจากนี้วันนี้ กสทช.เขาก็รู้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจอย่างนี้ สมมติว่าปล่อยไป จ่ายเงินไม่ไหวค่าสัมปทานค่าเช่าโครงข่าย MUX คุณจ่ายไม่ไหว พอคุณล้ม แบงก์การันตีที่อยู่กับ กสทช. ก็ยุ่งแล้ว แบงก์ก็ต้องไปเรียกหาทรัพย์สินมาจ่าย กสทช. นี่จะยุ่งหมดเลย แต่ถ้าเกิดว่า 2 ปีนี้บรรเทา เขาก็รู้ปัญหาที่เขาทำไม่สมบูรณ์ เขาก็ลด มาเอาเงินที่จะไปลงทุนแจกกล่องเพิ่ม ซึ่งไม่ได้ผลแล้ว ก็เอามาสนับสนุนค่า MUX เสียก็เป็นปัญหาที่เขาสร้างกันไว้ อีกอันคือค่าสัมปทานก็แทนที่จะจ่ายตามกำหนดเดิม ก็เลื่อนแล้วไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย นี่ไม่ใช่ส่วนลดนะ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นม.44 ครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเก่า ผมยังไม่ได้มองว่าเป็นการสนับสนุนเอกชนเลย ผมมองว่าเป็นการบริหารสถานการณ์คือ แทนที่จะเอาเงินที่เก็บไปแล้วไปแจกกล่องต่อหรือสร้าง Mux เพิ่มมันไม่เกิดประโยชน์ ซัพพลายมันไปต่อไม่ได้แล้ว ก็เอามาสนับสนุนค่า Mux 2 ปี ในช่วง 2 ปีนี้ ก็บริหารกันได้อยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจจะมาตามนัดหรือเปล่า อีก 2 ปีก็จะต้องมาดูกันว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นความท้าทาย ผมอยากให้ทุกคนทำให้สำเร็จ เพราะ Content Creator หรือ Content Provider เป็นสถาบันที่สำคัญของประเทศ อยากให้กำลังใจ ให้ทำให้สำเร็จ”

อนาคตของการดูทีวี

จากการเฝ้าดูความคืบหน้าในวงการทีวี เมฆินทร์บอกว่าผู้ชมจะไม่เลิกดูทีวี แม้ในประเทศที่ก้าวหน้ากว่าไทย โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตก็อยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือพฤติกรรมของผู้ชมที่จะเลือกดูรายการที่ชอบตามเวลาที่สะดวก หรือดูทีวีจากออนไลน์ อาจจะผ่านอุปกรณ์พกพาหรืออุปกรณ์อื่นๆ โทรทัศน์ยังคงเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่อยู่กับบ้านเรือนของผู้คน


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 04 October 2019 06:29
X

Right Click

No right click