×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

เทวินทร์ วงศ์วานิช “The Last Man Standing : PTT”

March 23, 2018 27965

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำ ปตท. ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน

เทคโนโลยีพลังงานอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในการจัดการองค์กร วางแผนกลยุทธ์ให้องค์กรพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต

ช่วงหนึ่งของการสนทนาเขาเล่าถึงการ-วางแผนงานเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่าปตท. เตรียมตัวรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ต่ำลงด้วยคำพูดที่ใช้กันในการพูดคุยภายในว่า ปตท. จะต้องเป็น Last Man Standing หรือคนสุดท้ายที่ยืนอยู่ได้ถ้าสถานการณ์ลงไปถึงจุดที่แย่ที่สุด สะท้อนถึงความไม่ประมาทและการเตรียมพร้อมที่เขาทำมาแล้ว

ซีอีโอ ปตท. มาเล่ากลยุทธ์ที่ ปตท.ทำมาในช่วง 3 ปีและสิ่งที่ ปตท. กำลังจะทำต่อไปในอนาคตเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

Corporate Strategy

3-4 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันลง กลุ่มปตท. เริ่มระวังตัวมากขึ้น และมองภาพไปในอนาคตว่าธุรกิจน้ำมันอาจจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ราคาน้ำมัน 100 กว่าเหรียญคงไม่ได้เห็นแล้ว เราได้เริ่มปรับตัวตั้งแต่ตอนนั้น เราเริ่มปรับประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาช่วย การสร้างความร่วมมือภายในกลุ่ม เราเรียกว่า Productivity Improvement โดยเป้าหมายว่า ราคาน้ำมัน 30 เหรียญต่อบาร์เรล เราอยู่ได้ สิ่งที่ทำมากๆ คือการกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานในการทำงานต่างๆ ลดขั้นตอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินงาน ทั้งค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ใช้กระบวนการจัดหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราเริ่มมองความร่วมมือกันในบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม ปตท. ที่มีฐานการผลิตใกล้เคียงกัน มีวัสดุอุปกรณ์คล้ายกัน ก็มาร่วมมือกันเพื่อใช้ Spare Part, Inventory, Logistic ร่วมกัน และข้ามไปถึงการร่วมมือกับบริษัทนอกกลุ่มด้วย อย่างเช่นในอ่าวไทยมีหลายผู้ดำเนินการเราก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน ใช้เฮลิคอปเตอร์ใช้เรือด้วยกันอย่างนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ลดต้นทุนในการดำเนินงาน

Investment

ถ้าเราจะมองต่อไป สิ่งที่เราทำคือปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้ Performance เรากลับมาในระดับที่ไม่ตกแล้ว แต่ถ้าเราจะโตต่อเราต้องลงทุนต่อ เราก็แบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน

ส่วนใหญ่ยังลงทุนในธุรกิจที่เราทำ เรื่องพลังงานยังมีที่ยังทำได้อยู่ คือพวก Infrastructure ท่อก๊าซ LNG คือก๊าซธรรมชาติต่อไปจะเป็นรูปแบบของการซื้อก๊าซมาในรูปแบบก๊าซเหลว (LNG) ฉะนั้นก็จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพวกคลังรับ ธุรกิจน้ำมัน ขยายโมเดลที่เราทำซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศดีทีเดียว ปั๊ม ปตท. ก็เป็นจุดแวะพักของผู้คน เราก็ขยายจากน้ำมันเป็น Non-oil Retail เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านไก่ทอด ธุรกิจน้ำมันเราก็มุ่งไป Non-Oil มากขึ้น และขยายไปต่างประเทศ นี่ก็จะเป็นการเติบโตของธุรกิจหลักไปต่างประเทศ ก็ไปภูมิภาคแถวนี้ มีที่ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และเรากำลังเดินต่อไปเมียนมาฝั่งของโรงกลั่น ปิโตรเคมี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่มของเรา ไม่ว่าจะเป็นไทยออยล์ พีทีที โกบอล เคมิคอล ไออาร์พีซี เขามีแผนขยายโรงงานของเขา เพื่อสร้างประสิทธิภาพ ไทยออยล์ก็ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงกลั่นเดิมที่อายุ 50 ปีแล้ว ก็จะลงทุนเยอะพอสมควรเป็นแสนล้าน และจะลงทุนปิโตรเคมิคอลเพิ่มเติม ต่อยอดให้ครบ Value Chainทางฝั่งปิโตรเคมี พีทีที โกลบอล เคมิคอล ก็จะลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิต แทนที่จะใช้วัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) จากก๊าซธรรมชาติก็เป็นจากน้ำมัน สำหรับไออาร์พีซี เพิ่งลงทุนเสร็จปรับปรุงกระบวนการเสร็จ ตอนนี้กำลังเดินเครื่องที่ลงทุนไป

ดังนั้นกลุ่มโรงกลั่น ปิโตรเคมี ก็เริ่มทยอยปรับตัว หนึ่งจากการที่วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวมีแนวโน้มลดลง เขาจะปรับไปใช้วัตถุดิบจากน้ำมัน โรงกลั่นที่เคยกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปเยอะๆ ก็จะเปลี่ยนจากน้ำมันสำเร็จรูปที่สเปกไม่ค่อยสูงนัก ที่เป็นยูโร 4 ให้สเปกดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับตลาดใหม่ เป็นมาตรฐานใหม่ ขณะเดียวกันก็จะทยอยปรับสัดส่วนการผลิตจากเดิมผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเยอะมากจะทยอยปรับไปผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่าคงมาแล้ว จากใช้น้ำมันไปใช้รถไฟฟ้าแต่คงใช้ระยะเวลา เราค่อยๆ ปรับพอร์ตการผลิตของเรา นี่คือทิศทางในการโตจากสิ่งที่มีอยู่
เรามีธุรกิจไฟฟ้าเล็กๆ ก็คือบริษัท GPSC ตอนนี้ก็ผลิตไฟฟ้า ส่วนใหญ่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมของเราเองในมาบตาพุด ตอนนี้ก็เริ่มขยายไปลงพวกพลังงานทดแทนมากขึ้น พลังงานแสงอาทิตย์ก็ไปลงทุนในญี่ปุ่นเริ่มเดินเครื่องปลายปีที่แล้ว ไปลงทุนในเขื่อนที่ลาวขายไฟฟ้ามาไทย คิดว่าปลายปีนี้ต้นปีหน้าก็น่าจะเดินเครื่องได้ และกำลังดูโครงการอื่นๆ รวมถึงเตรียมการในการเข้าใจเทคโนโลยี ศึกษาเทคโนโลยี และซื้อเทคโนโลยี แบตเตอรี่ เพื่อมาประกบกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทำให้โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ Reliable (เชื่อถือได้) มากขึ้น


ถ้าเรามีวิชัน เรารู้ว่าอะไรที่จะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หนึ่ง เราเตรียมตัว ให้สิ่งที่จะถูก Disrupt แข็งแรงพอที่จะเป็นคนสุดท้ายที่จะยืนอยู่ สอง เราเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงโดยมองแล้วเข้าไปกำหนดทิศทางข้างหน้า สามคือ เมื่อเราวางกลยุทธ์แล้ว เราเตรียมตัวองค์กรเราให้พร้อม สำคัญคือคนต้องเหมาะกับงานที่เราจะเตรียม


New S Curve

S Curve ใหม่ นอกจากธุรกิจหลักที่เราทำอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็มีฐานคือ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กำลังวิจัยอยู่ เรามีการลงทุนใน Venture Capital (CVC) โดย ปตท. เอง ก็เริ่มลงทุนในกองทุนที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพหรือเทคโนโลยีทั่วโลก แต่เราไปลงทุนใน 4 กองทุนที่อเมริกา รวมกันทั้งหมดประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นกองทุนที่ทำเรื่อง Energy, Robotic, Artificial Intelligent เรามีทีมคนรุ่นใหม่ของ ปตท. ที่วันนี้มาทำเรื่องสตาร์ตอัพกันเอง

เวลาเราไปลงทุนเราขอส่งคนเข้าไปอยู่ในกองทุนเพื่อติดตามสตาร์ตอัพ เราไปเรียนรู้ประสบการณ์ว่า การทำให้สตาร์ตอัพที่เขามีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ พวก Venture Capital เขาทำได้เก่ง แต่ไม่ใช่เราลงทุนแล้วนั่งมองเฉยๆ พอเขาสำเร็จแล้วเราค่อยไปลงทุนกับเขา ก่อนที่เขาจะสำเร็จจะต้องมีโค้ชชิ่ง ไม่ใช่แค่เลือกสตาร์ตอัพที่ดีแล้วปล่อยเขาไปตามยถากรรม จริงๆ สตาร์ตอัพเขาอาจจะมีความรู้ความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยี เขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือเรื่อง Marketing Commercial Financing เรื่อง Management ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ VC เข้าไปช่วย

เราตั้งทีมขึ้นมาในการหาธุรกิจ S Curve ใหม่ เราก็ไม่จำกัดว่ามาจากเราเองหรือมาจากข้างนอก ข้างในเราก็ตั้งทีมเมื่อสัก 2 ปีที่ผ่านมา ชื่อทีม Express Solutions หรือ ExpressSo ทีมนี้คือทีมเด็กรุ่นใหม่ของ ปตท. ที่เป็นเด็กทุนเก่งมากๆ จบเกียรตินิยมมาไปเรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอกที่ท็อปยูทั่วโลกกลับมาเราจับมาอยู่ในทีมนี้ประมาณ 4-5 คนตอนเริ่มต้น พวกนี้เขาจะทันกับเทคโนโลยี สิ่งที่ให้เขามาดูก็คือว่า ให้เขามาดูภายใน มาระดมสมองกันว่าใครมีแนวคิดนวัตกรรมอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ เรากระตุ้นอยู่แล้ว Innovation เป็น Core Value หนึ่งของ ปตท. ก็กระตุ้นให้พนักงานช่วยกันคิดหาวิธีการหรือข้อเสนอหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ มา ช่วยให้เราทำงานได้เก่งขึ้น ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกด้านคือหาธุรกิจใหม่ๆ คือคิดจากภายในและทีมนี้จะเป็นทีมที่เอาไอเดียพวกนั้นไป Incubate ไปทำสตาร์ตอัพต่อ ทำ Prototype ทำ Innovation Lab เสร็จแล้วเมื่อออกมามีศักยภาพเราก็จะ Scale Up ซึ่งตรงนี้ยังท้าทายอยู่นิดหนึ่ง เพราะเราอยู่ในช่วงที่กำลังทำสตาร์ตอัพกันอยู่ ทำ Proof of Concept แต่พอจะ Scale Up เรากำลังจะเริ่มดูว่า จะต้องมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีประสบการณ์มากสักหน่อยในอุตสาหกรรมไปทำ ผมคิดว่านี่เป็นโมเดลที่น่าสนใจ อาจจะใหม่สำหรับเรา ส่วนใหญ่เราจะทำ Conventional Business เราก็จะรู้ว่าขั้นตอนนี้การเดินต่อไปเป็นอย่างไร แต่พอมาทำเรื่องธุรกิจ New S Curve คือ ธุรกิจรุ่นใหม่ที่เราเห็นสตาร์ตอัพเกิดขึ้นมามากมายและประสบความสำเร็จเป็นสิ่งหนึ่งที่ปตท.กำลังทำ วันนี้สิ่งที่เรารู้ได้อย่างหนึ่งคือ ถ้าเราเอาคนรุ่นเก่ามาทำมันจะตามไม่ทัน เราเอาคนรุ่นใหม่และมอบหมายความรับผิดชอบให้เขา และเขารู้ด้วยนะว่าเขากำลังกำหนดอนาคตของปตท. สำหรับรุ่นเขาเอง เขาจะเข้าใจเทคโนโลยี เขาจะเข้าใจผู้บริโภค

New S Curve อีกกลุ่มหนึ่ง คือที่มาในเชิง Top Down Policy ซึ่งประเทศไทยเราได้กำหนดไว้ว่า เรามี EEC มีไทยแลนด์ 4.0 และมีพื้นที่ EEC ซึ่งจะมีธุรกิจ มีอุตสาหกรรมที่อยู่ใน EEC หลากหลาย เราก็มานั่งดูว่า มีอะไรที่ ปตท. มีความพร้อม มีศักยภาพจะจะเข้าไปคว้าโอกาสพวกนี้ ขณะเดียวกันสนับสนุนนโยบายรัฐ Bio-Based Industries ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ใน EEC ซึ่งเราตั้งใจว่าจะเริ่ม Bio-Based อยู่แล้วเพราะว่า ประเทศไทยมีวัตถุดิบทางด้านเกษตรกรรมอยู่มาก และเชื่อมโยงไปได้หลายอย่าง Biofuel ก็ทำได้อยู่แล้ว เอทานอล ไบโอดีเซล Biochemical ทางบริษัทลูกเราที่ทำปิโตรเคมีก็เริ่มไปแล้วเพราะมันจะเป็น
เทรนด์ใหม่ที่เข้ามา Biopharmaceutical ก็ตามมา เป็นที่มาว่าเราคิดว่าน่าจะยังมีโอกาสอยู่ และเราก็มีความพร้อมจึงไปจับกับทางองค์การเภสัชฯ ที่จะเข้าไปเรื่องยา เพราะโลกยุคต่อไปเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Aging Society

อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นเป้าหมายคือเรื่อง Robotic, Automation และ Digitization เรารวมกลุ่มพวกนี้ด้วยกันหมดเลย คือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการทำให้โรงงานมีประสิทธิภาพ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ เป็นอีกด้านที่เรากำลังเข้าไป
ก็ตั้งภารกิจภายในว่าจะทำเรื่องพวกนี้ และให้สถาบันวิจัยของ ปตท. ซึ่งเป็นฐานอยู่เริ่มเข้ามาดูเรื่องนี้ประสานกับบริษัทในกลุ่มที่เริ่มใช้เทคโนโลยีพวกนี้แล้ว ให้เกิดเอกภาพขึ้นมา

Seed the Opition

ปตท. มีการปรับโครงสร้างและตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งมีผลต้นปีนี้เอง คือ Chief Technology Officer

ตั้งเมื่อต้นเดือน ม.ค. นี้ เป็นคนรวบรวมข้อมูลวิจัยทางด้านเทคโนโลยีทั้งหลายที่เป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ทีม EspresSo และเราก็มีหน่วยงานที่เรียกว่า Energy Solution คือพวกทีม Process Engineering, Process Design พวกนี้มาช่วยทำ Scale Up รวมมาอยู่ใต้ CTO โปรดักส์ที่ต้องการเห็นคือธุรกิจ S curve ใหม่ของ ปตท. ถามว่าจะมีอะไรบ้างวันนี้ยังไม่รู้เลย แต่เราจะลองหมดเลย ที่เล่ามา Bio Industries สตาร์ตอัพทั้งหลาย แบตเตอรี่ EV อาจจะรวมไปถึง Smart Grid Energy Solution อื่นๆ ต่อไปถึงเรื่องของ Robotic ผลิตหุ่นยนต์ใช้โดรนในแอปพลิเคชันต่างๆ ในอุตสาหกรรม และต่อไปถึง Big Data ที่จะให้เซอร์วิสเริ่มจากภายในแล้วอาจจะกระจายไปภายนอก จะเป็นสิ่งที่เราลองหมดเลย ภาษากลยุทธ์เขาเรียกว่าวันนี้เรา Seed the Option เราหว่านเมล็ดไปใน Option ทั้งหลาย เมื่อทำไปสักพักเราเริ่มเห็นทิศทางแล้วว่าต่อไปเราจะไปทางไหน ที่จะเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจพลังงาน

แต่วันนี้เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเรียกว่า Electricity of Value Chain คือสายโซ่ไฟฟ้าเป็น Big Bet ที่เราจะลงแล้ว คือผลิตไฟฟ้า Energy Storage แบตเตอรี่ ไปจนถึง EV รถไฟฟ้า ไปถึงสถานีชาร์จไปถึงเรื่องของ Smart Grid ในการกระจายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าย่อยๆ เต็มไปหมด นี่คือ Value Chain ที่เราคิดว่าเป็น Big Bet ของเราต่อไป ส่วนที่เหลือค่อยทยอยตามมา

นี่เป็นทิศทางใหญ่ๆ ที่ทำให้เห็นว่าเรากำลังปรับตัว ปตท. พอสมควร และทั้งหมดนี้เริ่มเป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเราเซตเป้าหมายและตั้งทีมทำ

สิ่งที่อยากจะแชร์คือ ถ้าเรามีวิชัน เรารู้ว่าอะไรที่จะมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หนึ่ง เราเตรียมตัว ให้สิ่งที่จะถูก Disrupt แข็งแรงพอที่จะเป็นคนสุดท้ายที่จะยืนอยู่ สอง เราเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงโดยมองแล้วเข้าไปกำหนดทิศทางข้างหน้า สามคือ เมื่อเราวางกลยุทธ์แล้ว เราเตรียมตัวองค์กรเราให้พร้อม สำคัญคือคนต้องเหมาะกับงานที่เราจะเตรียม ถ้าเรายังใช้คนรุ่นผมไปทำสตาร์ตอัพนี่เจ๊ง ต้องระดับคนรุ่นใหม่ โลกต่อไปคือโลกคนรุ่นใหม่เขาจะเป็นคนกำหนดอนาคต 

 

รถพลังงานไฟฟ้าในความเห็น CEO PTT

ผมว่าช่วงการเปลี่ยนผ่านมี Barrier คือ Charger กับรถ และแบตเตอรี่ ราคาแบตเตอรี่ เวลาในการชาร์จและความจุในการเก็บที่สามารถอยู่ในรถได้ เทคโนโลยีผ่านได้แน่ เพียงแต่ว่าจะมาเร็วมาช้า แต่พฤติกรรมของคนก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องผ่าน เราต้องมีความมั่นใจพอสมควร ในการที่เราแวะเติมได้ แบตเตอรี่ต้องชาร์จเร็ว ตัวสถานีชาร์จก็ต้องมี แต่อาจจะไม่ได้ใช้บ่อยเหมือนเติมน้ำมัน เพราะเราอาจจะชาร์จที่บ้าน ที่ออฟฟิศ นอกจากเดินทางไกลถึงไปชาร์จตามปั๊ม ดังนั้นพฤติกรรมจะเปลี่ยน ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรม ผมว่าอาจจะใช้เวลา เนื่องจากยังมีคนรุ่นเก่าที่คุ้นกับวิถีชีวิตเก่าๆ ก็ยังคงใช้แบบเดิม

 

Rate this item
(3 votes)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:48
X

Right Click

No right click