รายละเอียดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบุกเบิกโรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาด (Riyadh School of Tourism and Hospitality) ได้รับการเปิดเผยภายในงานวันท่องเที่ยวโลก (WTD) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด โดยมีการประกาศก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้เป็นครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยกระทรวงการท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบียและโครงการกิดดียะห์ (Qiddiya) ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO)

โรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดได้รับการคาดหวังให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของโลกที่จะรวมการฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยวในทุก ๆ ด้านที่จำเป็นเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับบรรดาผู้นำด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมรุ่นต่อไปจากทั่วโลก และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้มีทักษะด้านการท่องเที่ยว

พัฒนาการใหม่ ๆ นี้ได้รับการประกาศในระหว่างการแถลงข่าวซึ่งจัดโดย ฯพณฯ อาเหม็ด อัล คาตีบ (Ahmed Al-Khateeb) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบีย และคุณซูรับ โปโลลิคาชวิลี (Zurab Pololikashvili) เลขาธิการ UNWTO นอกรอบกิจกรรมงานวันท่องเที่ยวโลก โรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดจะจัดตั้งขึ้นที่กิดดียะห์ ศูนย์กลางโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านความบันเทิงของซาอุดีอาระเบีย โดยจะมีที่ตั้งชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยปรินซ์เซสนูเราะห์ (Princess Nourah University) โดยโรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดตอกย้ำจุดยืนของซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้นำในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก และเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้มีทักษะทั่วโลกเพื่อเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต โรงเรียนจะเปิดรับผู้เรียนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และตั้งเป้ารับผู้เรียนให้ได้มากกว่า 25,000 คนต่อปีภายในปี 2573

ในปัจจุบัน มีสถาบันการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการเรียนการสอนทั้งในสายวิชาการและสายอาชีพที่ครอบคลุมทุกด้านของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในสถาบันเดียว ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจึงจะเปิดหลักสูตรบุกเบิกแบบผสมทั้งสายวิชาการและสายอาชีพ และจะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้รวบรวมคนระดับหัวกะทิ เทคโนโลยีล้ำสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ล่าสุด และคณาจารย์ชั้นนำเพื่อสร้างโปรแกรมแบบองค์รวมที่ช่วยให้ผู้เรียนพร้อมประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว

คณะกรรมการบริหารของโรงเรียนจะประกอบด้วยผู้นำที่มาจากสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ไปจนถึงสาขาการลงทุนและเทคโนโลยีการศึกษา (Ed-Tech) นอกจาก ฯพณฯ อาเหม็ด อัล คาตีบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบียแล้ว กรรมการท่านอื่นยังรวมถึงคุณอับดุลลอฮ์ อัลดาวูด (Abdullah AlDawood) กรรมการผู้จัดการกิดดียะห์, คุณซูรับ โปโลลิคาชวิลี เลขาธิการ UNWTO, คุณเซบาสเตียง บาแซง (Sebastian Bazin) ซีอีโอบริษัทแอคคอร์ โฮเทลส์ (Accor Hotels), คุณเจอร์รี อินเซอริลโล (Jerry Inzerillo) ซีอีโอเครือหน่วยงานกำกับดูแลด้านการพัฒนาอัดดิรอียะฮ์เกต (Ad Diriyah Gate Development Authority), คุณมอร์แกน พาร์คเกอร์ (Morgan Parker) และคุณไค เรอมเมลต์ (Kai Roemmelt) ซีอีโอของยูดาซิตี (Udacity) และจะมีการประกาศรายชื่อกรรมการเพิ่มเติมให้ทราบต่อไป

ฯพณฯ อาเหม็ด อัล คาตีบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า "ความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยวนั้นขยายไปไกลกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั่วโลกในการจัดหาทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ให้กับผู้นำด้านการท่องเที่ยวในอนาคต"

"โรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดคือของขวัญจากซาอุดีอาระเบียต่อโลก ด้วยหลักสูตรบุกเบิกที่จะนำเสนอหลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่ครอบคลุมทุกด้านของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม โรงเรียนแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซาอุฯ ในการมอบการศึกษาที่ก้าวหน้าและครอบคลุมซึ่งเสริมศักยภาพให้กับบุคคลทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่เราลงทุนปลุกปั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เราไม่เพียงแต่รักษาอนาคตของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมมรดกแห่งความเป็นเลิศที่จะขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรือง กระตุ้นการเติบโตของประชาชนแต่ละคน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในปีต่อ ๆ ไปอีกด้วย"

นอกจากนี้ คุณซูรับ โปโลลิคาชวิลี เลขาธิการ UNWTO กล่าวเสริมว่า "พัฒนาการล่าสุดของโรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดถือเป็นก้าวสำคัญในการแสวงหาภาคการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเข้มแข็งมากขึ้น การศึกษาคือรากฐานของความก้าวหน้า และการลงทุนในทักษะและความรู้ของผู้นำการท่องเที่ยวในอนาคตถือเป็นการเสริมสร้างรากฐานการเติบโตและการพัฒนาของอุตสาหกรรม"

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสร้าง GDP ของปี 2566 เป็นมูลค่าถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์นั้น มีการคาดการณ์ว่าภาคการท่องเที่ยวจะจ้างงาน 430 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2576 โดยเกือบ 12% ของประชากรทำงานในภาคธุรกิจนี้ ซาอุดีอาระเบียมีภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วที่สุดในตะวันออกกลางตามข้อมูลของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) และได้ฝึกอบรมพลเมือง 80,000 คนภายในปี 2565 สำหรับภาคดังกล่าว และมุ่งมั่นที่จะลงทุนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม

โรงเรียนการท่องเที่ยวและการโรงแรมแห่งริยาดเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของซาอุฯ ในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการเป็นเจ้าภาพงาน WTD 2023 ภายใต้ธีม "การท่องเที่ยวและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" (Tourism and Green Investments) ผู้เข้าร่วมงานจะสำรวจบทบาทสำคัญของการท่องเที่ยวและความร่วมมือระดับโลกในการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรือง การเชื่อมโยงวัฒนธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

SiteMinder ผู้นำแพลตฟอร์มระดับโลกด้านโฮเทลคอมเมิร์ซแบบ Open Platform เปิดตัวรายงานพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฉบับปี 2023 ที่เผยว่า 88% ของนักท่องเที่ยวไทยตั้งใจที่จะท่องเที่ยวอย่างน้อยเท่าๆ กับที่เคยท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว โดย 1 ใน 2 หรือประมาณ 53% คาดว่าจะท่องเที่ยวมากกว่าเดิม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเท่านั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 26% ในปีก่อน เป็น 49% ในปีนี้

รายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder เป็นข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คน จากทั้งในประเทศไทยและอีก 11 ประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นพฤติกรรมหลักๆ ได้ 4 ประเภท โดยแบ่งจากพฤติกรรมแผนการท่องเที่ยว และแรงจูงใจ ที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวโลกในอนาคตอันใกล้นี้

1. The enduring explorer: นักเดินทางที่จริงจังกับการท่องเที่ยว ค่าครองชีพไม่ใช่เรื่องสำคัญ

2. The digital dependent: นักท่องเที่ยวที่พึ่งพาเทคโนโลยี และอุปกรณ์การสื่อสาร

3. The memory maker: นักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่น่าจดจำ

4. The conscious collaborator: นักท่องเที่ยวที่พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการที่ัพักและชุมชน

แม้ยุคปัจจุบันจะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่เมื่อเป็นเรื่องของที่พัก นักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วโลกถึง 96% พร้อมที่จะใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าห้องพัก ผลการสำรวจนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากเกือบ 9 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวชาวไทยบอกว่า ความคาดหวังจากผู้ให้บริการที่พักของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ อาทิ การมีสถานที่ทำงานที่สะดวกสบาย และเหมาะกับการทำงาน คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไทยคาดหวัง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวกว่า 57% คาดว่าจะทำงานไปด้วยระหว่างทริป แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดน้อยลงกว่าตัวเลข 65% ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงดำรงตำแหน่งอันดับสอง ของประเทศที่คาดว่าจะทำงานระหว่างท่องเที่ยว ซึ่งตามหลังเพียงนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเท่านั้น

ในภาพรวมโลก นักท่องเที่ยวถึง 1 ใน 2 มองที่พักเป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนในตัวเอง โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจะใช้ ‘เวลาเกือบทั้งหมด’ หรือ ‘เวลาส่วนมาก’ ไปกับการพักผ่อนในที่พักในทริปถัดไป และในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยยิ่งสูงขึ้นอีกที่ 77%

 

คุณแบรด ไฮนส์ รองประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค บริษัท SiteMinder เผยว่ารายงานฉบับล่าสุดนี้ ช่วยชี้ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย รวมถึงการเป็นตัวแปรสำคัญของผู้ให้บริการที่พัก

“ตรงกันข้ามกับปีที่ผ่านๆ มา เราเห็นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงแผนการใช้จ่ายแม้จะมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูง” คุณแบรด ไฮนส์ กล่าว “นอกจากนี้ เรายังเห็นว่า สถานที่พัก กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว โดย 77% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเผยว่า สถานที่พัก ก็คือสถานที่ท่องเที่ยวที่พวกเขาต้องการไป”

แม้ว่าเกือบ 77% ของนักท่องเที่ยวชาวไทย จะเข้าใจถึงคุณภาพการบริการที่อาจจะลดลงกว่ามาตรฐานเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม ในรายงาน Changing Traveller Report 2023 ของ SiteMinder เผยว่า อุตสาหกรรมที่พักถูกมองว่ายังตามหลังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในแง่ของเทคโนโลยี โดยกว่า 60% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยมองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังอยู่ในค่าเฉลี่ย หรือตามหลัง ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ และกว่า 95% มองว่าการจองที่พักและประสบการณ์การพักผ่อนของพวกเขาจะดีมากยิ่งขึ้นได้ หากธุรกิจที่พักมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้มากยิ่งขึ้น

รายงานของ SiteMinder เผยถึงเทคโนโลยีที่มีการใช้ในหมู่ของนักท่องเที่ยว ได้แก่:

· AI - นักท่องเที่ยวทั่วโลกมากกว่าครึ่ง และสองในสามของมิลเลนเนียล มี ‘แนวโน้ม’ หรือ ‘มีโอกาสมาก’ ที่จะใช้ AI ในการแนะนำสถานที่พัก โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีโอกาสใช้ AI เพื่อแนะนำสถานที่พักมากขึ้นอีก โดยมีแนวโน้มถึง 86%

· โซเชียลมีเดีย - 70% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึง 9 ใน 10 ของ Gen Z บอกว่าโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเสาะหาที่พักของพวกเขา ในประเทศไทย โซเชียลมีเดีย ยิ่งมีอิทธิพลสูงมากยิ่งขึ้น โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 25% ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยดำรงตำแหน่งอยู่ในอันดับสอง รองจากนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเท่านั้น เมื่อวัดจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเสาะหาที่พัก

· เว็บไซต์จองที่พัก - แม้นักท่องเที่ยวถึง 4 ใน 5 เลือกที่จะทำการจองที่พักผ่านทางออนไลน์ แต่ 3 ใน 5 บอกว่าพวกเขาจะไม่ดำเนินการจองที่พักต่อ หากพบเจอการใช้งานที่ไม่ลื่นไหล โดย ขั้นตอนที่ยุ่งยาก รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูไม่ปลอดภัย นับเป็นสองเรื่องสำคัญอันดับแรกที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึง

“นักเดินทางชาวไทยในปัจจุบัน ยังคงชื่นชอบการท่องเที่ยว มีการพึ่งพาเทคโนโลยี และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งพวกเขาก็ตั้งใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ตราบเท่าที่จะท่องเที่ยวได้ และจากผลสำรวจ ทำให้เรารู้ว่า พวกเขามองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งนี่อาจจะเป็นสัญญาณสำคัญให้ผู้ให้บริการที่พักต่างๆ หันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อความต้องการและความคาดหวังของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน” คุณแบรด ไฮนส์ กล่าว

“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และหมวดท่องเที่ยวสายการบิน สนับสนุนการท่องเที่ยวไต้หวัน จัดแคมเปญ “The Challenge of Unseen Taiwan” พร้อมมอบรางวัลตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ – ไต้หวัน โดยสายการบินชั้นนำ รางวัลละ 2 ที่นั่ง ให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่มียอดใช้จ่ายสะสมสูงสุดจากแคมเปญดังกล่าว โดยนายสมบัติ อนันตรัมพร รับมอบตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ – ไต้หวัน สายการบินอีวีเอ แอร์ (EVA Air) มูลค่า 53,000 บาท และนายอนวัช ยิ้มแก้ว รับมอบตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ – ไต้หวัน สายการบินไชนา แอร์ไลน์ (China Airlines) มูลค่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบัตรฯ ที่มียอดใช้จ่ายสะสมสูงสุดได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ - ไต้หวัน โดยสายการบินไทยเวียตเจ็ท (Thai Vietjet Air) มูลค่า 40,000 บาท และสายการบินไทย สมายล์ แอร์เวย์ (Thai Smile Airways) มูลค่า 34,800บาท รวมมูลค่าของรางวัลทั้งสิ้น177,800 บาท

โดยพิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 11 อาคารสมัชชาวานิช 2 ต้นซอยสุขุมวิท 33 เมื่อเร็วๆ นี้

เคทีซีเปิดเวทีเสวนา “ทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมทะยานเวทีโลก” ฉายภาพการท่องเที่ยวแบบครบวงจร สายการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ประสานเสียงท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มฟื้นเกือบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 แนะภาครัฐปลดล็อคการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดผลกระทบต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรม ด้านเคทีซีพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มั่นใจยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ เติบโตตามเป้า

นายโชติช่วง ศูรางกูร อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) คาดว่า นปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกต่างประเทศประมาณ 7.5 ล้านคน ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) รายงานจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั่วโลก (International Flight) ปีนี้จะขยายตัว 70% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเท่ากับก่อนช่วงโควิด-19 ในปีหน้า พร้อมเสนอแนะเรื่องการคลายข้อจำกัดด้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินที่จะเก็บจากนักท่องเที่ยวขาเข้าและการเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยวขาออกจากประเทศ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน (VAT on Outbound) ขณะที่นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการจองสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มสำหรับการท่องเที่ยวมีเพิ่มมากขึ้น ถ้ามองในแง่ดีจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ตลาดท่องเที่ยวใหญ่ขึ้นขณะที่ผลต่อ Online Travel Agency (OTA) และบริษัททัวร์มองว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย

นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้และอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) มองว่า จากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 25 มิถุนายน 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 12,464,812 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 539% จากปีก่อนโดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นแต่ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวและยังเผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และอาจเป็นตัวแปรในการปรับขึ้นราคาห้องพัก รวมถึงการการจ้างงานที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น การใช้วิธีเหมาจ่ายตามปริมาณงาน หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โรงแรมขนาดใหญ่อาจมีการปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นการเข้าพัก แต่โรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ถ้าเป็นแบบนี้อาจส่งผลให้เกิดสงครามราคาที่ผู้ประกอบการแย่งลูกค้ากันเอง

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการบินพาณิชย์ (CCO) บริษัท การบินไทยจํากัด (มหาชน) กล่าวว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแบบชะลอตัว เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงหลายประการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมสายการบินจากการเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางใหม่มีมากขึ้น และสถานะการเงินของสายการบินยังค่อนข้างเปราะบางแม้จะเริ่มปรับตัวขึ้นจากรายได้ที่ฟื้นตัว ดังนั้นการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล สายการบิน และผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยต้องวางตำแหน่งอุตสาหกรรมการบินให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ

นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนกิจกรรมการตลาดด้านการท่องเที่ยว บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยวในปีนี้จะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญส่งผลต่อสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคาดว่าการเดินทางโดยอากาศยานของภูมิภาคเอเชียจะกลับมาขยายตัวได้ 70 – 80 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินของไทยยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินแข็งแกร่งเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศผ่านการเดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศ 2. ลดผลกระทบต้นทุนโดยภาครัฐควรกำหนดอัตราที่เหมาะสมของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพราะมีผลต่อการตั้งราคาบัตรโดยสาร รวมทั้ง ลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และ 3. แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรด้านบุคลากรการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากการลดขนาดองค์กรช่วงโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบิน ไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มความสามารถ เมื่อเทียบกับอุปสงค์ของการท่องเที่ยว

นายนิติกร คมกฤส ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินกลับมาคึกคักและแข่งขันกันอีกครั้ง โดยการกำหนดราคาค่าโดยสารยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ สะท้อนจากการงดออกแคมเปญโปรโมชันช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว สำหรับปัญหาและอุปสรรคในอุตสาหกรรมการบินคือ เรื่องทรัพยากรบุคคลตามสนามบินต่างๆ ที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติการแต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศกำลังพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้กลับมาดำเนินการได้ ขณะที่สายการบินไทยเวียตเจ็ท มองเห็นโอกาสจากเส้นทางระหว่างประเทศรอง อาทิ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงและนักเดินทางมีศักยภาพ และกลุ่มนักเดินทางช่วงนี้จะเป็น กลุ่มนักเดินทางอายุน้อย ในขณะที่จำนวนนักเดินทางเพื่อธุรกิจปรับลดลง

นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดท่องเที่ยวหมวดสายการบิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายในหมวดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตเคทีซีปรับตัวดีขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวโดยครึ่งปีแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตขึ้น 25% จากช่วงปี2562 โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ สูงสุดแยกตามหมวด ได้แก่ สายการบิน เอเย่นต์ท่องเที่ยว (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) โรงแรม รถเช่า-รถไฟ-การเดินทางขนส่ง และแหล่งท่องเที่ยว/กิจกรรมสันทนาการ นอกจากนี้ หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ ส่งผลให้สมาชิกวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเรียงลำดับประเทศยอดนิยมดังนี้ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส ฮ่องกง และเวียดนาม โดยยอดเฉลี่ยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีต่อสมาชิกในหมวดท่องเที่ยวอยู่ที่ 17,000 บาท

ทั้งนี้ KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางและท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต เคทีซีเดินหน้ากลยุทธ์การตลาดภายใต้ 3 S ประกอบด้วย

1. Service: การให้บริการด้านการเดินทาง ท่องเที่ยว เน้นความสะดวกสบาย น่าเชื่อถือ โดยสร้างการรับรู้ผ่าน #บินเที่ยวครบจบที่ KTCWorldTravelService

2. Segmentation: การบริหารกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมถึงการขยายช่องทางการสื่อสารในหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงสมาชิกบัตรเครดิตและตอบโจทย์การเดินทางท่องเที่ยวได้มากที่สุด

3. Synergy: การทำงานร่วมกับพันธมิตรหลักครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ สายการบิน เอเย่นต์ทัวร์ โรงแรม รถเช่า สมาคมท่องเที่ยว และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความแตกต่างผ่านกิจกรรมการตลาดในหลากหลายรูปแบบ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าในการเดินทางท่องเที่ยวให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี

4 กรกฎาคม 2566, - บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สานต่อเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืนของทั้งสององค์กรในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ลงนามความร่วมมือสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการคุณภาพระดับเมกะโปรเจกต์ให้เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลก (Mega global destination) ร่วมนำมาตรฐานใหม่เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ สร้างคุณค่าองค์รวมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมถึงสนับสนุนโครงการริเริ่มต่างๆ เพื่อพัฒนาความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาสังคมในอนาคต พร้อมร่วมสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลงทุนอย่างต่อเนื่องของ AWC ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของประเทศ เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอนาคตทางเศรษฐกิจไทยที่กำลังดีขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในทุกมิติ จึงมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) จำนวน 20,000 ล้านบาท แก่ AWC เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการใหม่ๆ และการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ AWC อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคาร และธุรกิจภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 ธนาคารมีความเชื่อมั่นในศักยภาพทางธุรกิจของ AWC และเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทางการเงินจำนวน 20,000 ล้านบาทในครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ AWC ผ่านการพัฒนาโครงการคุณภาพมากมาย ที่จะสร้างความน่าตื่นเต้นให้แก่วงการอสังหาริมทรัพย์ และเพื่อสนับสนุนประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนระดับโลก”

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “AWC มีความประทับใจ SCB ต่อความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ที่ร่วมกันด้านความยั่งยืน ที่ได้ออกสินเชื่อด้านความยั่งยืนเป็นรายแรกของประเทศ ควบคู่การเดินหน้าผนึกกำลังร่วมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ทั้งนี้ AWC มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ SCB ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ โดย AWC มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการคุณภาพระดับเมกะโปรเจกต์ให้เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก (Mega sustainable destination) อาทิ โครงการเอเชียทีค ที่จะสร้างเป็นแลนด์มาร์คความยั่งยืนริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กับกรุงเทพฯ โครงการอควอทีค กลางเมืองพัทยา และโครงการเวิ้ง นาครเกษม ศูนย์กลางคุณค่าประวัติศาสตร์วัฒนธรรมกลางไชน่า ทาวน์ รวมถึงโครงการลานนาทีค ที่มีคุณค่าของเสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมล้านนากลางเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่ง AWC เชื่อมั่นว่าการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านความยั่งยืนระดับโลกนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสานต่อนโยบายและกลยุทธ์หลักของประเทศสู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

AWC ยังมุ่งพัฒนาอาคารตามมาตรฐานอาคารสีเขียวในระดับสากล อาทิ โรงแรมอินน์ไซด์ บาย มีเลีย กรุงเทพ สุขุมวิท ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน EDGE (Excellence in Design for Greater Efficiencies) และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ได้รับการรับรอง LEED & WELL PRECERTIFIED รวมถึงอีกหลากหลายโครงการ โดยใช้สินเชื่อยั่งยืนแรกที่ได้รับการสนับสนุนจาก SCB เมื่อปีที่แล้ว โดยปัจจุบัน AWC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการเงินชั้นนำจัดวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนกว่าร้อยละ 75 และตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนวงเงินสินเชื่อระยะยาวเชื่อมโยงความยั่งยืนเป็นร้อยละ 100 เพื่อมุ่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศ”

AWC มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เสาหลัก 9 มิติ หรือ 3 BETTERs ประกอบไปด้วย 1) การสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม (BETTER PLANET) เพื่อโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น 2) การสร้าง

คุณค่าด้านสังคม (BETTER PEOPLE) เพื่อผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3) การสร้างคุณค่าด้านเศรษฐกิจ (BETTER PROSPERITY) เพื่อเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา AWC ได้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม เชอราตัน สมุย ดำเนินโครงการธนาคารปู เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และโรงแรมบันยันทรี กระบี่ ที่ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอันดามัน เพื่อนำร่องโครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านแนวคิดธุรกิจ reConcept ที่ส่งเสริมการนำเฟอร์นิเจอร์และวัสดุเก่า รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งของโรงแรมที่ไม่ได้ใช้งาน กลับมารีไซเคิลและใช้ซ้ำ เพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบ ตลอดจนการลงทุนพัฒนาบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ที่ส่งเสริมการสร้างงานและสร้างรายได้สู่ชุมชนรอบโครงการ และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยท้องถิ่นเพื่อสร้างโอกาสรายได้ที่ยั่งยืนผ่านโครงการ เดอะ GALLERY เป็นต้น

AWC ยังคงดำเนินงานตามแผนแม่บทอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP) สอดคล้องกับกรอบสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียว เพื่อมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาหรือชั้นดาดฟ้าของอาคาร การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพระบบทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ครอบคลุมโรงแรมในเครือที่มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2019 นอกจากนี้ AWC จะพัฒนาโครงการในเครือตามกรอบเพื่อขอรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวสากล อาทิ มาตรฐาน EDGE LEED หรือ WELL เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคํานึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

“การลงนามสัญญาในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ร่วมกันของ AWC และ SCB ในการดำเนินธุรกิจ โดย AWC จะยังคงดำเนินการตามกลยุทธ์ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ ของ AWC เพื่อร่วมสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งต่ออุตสาหกรรม ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ภายใต้พันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” พร้อมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก” นางวัลลภา กล่าวเสริม

AWC ดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานสากลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การได้รับการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ "AA" ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ติดอันดับรายงานความยั่งยืน S&P CSA Yearbook 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น “Top 1% S&P

Global ESG Score 2022” ได้รับรางวัล “Industry Mover” ในฐานะบริษัทที่มีความยั่งยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ ได้รับการจัดอันดับรายงานการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellence CG Scoring) ได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) และได้รับการจัดอันดับในฐานะองค์กรที่มีการกำกับกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียนของปี 2564 (ASEAN CG Scorecard)

Page 2 of 4
X

Right Click

No right click