แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมและวัฏจักรการผลิตของไทยในวันนี้กำลังเผชิญหน้าความท้าทายครั้งใหญ่ จากข้อมูลตัวเลขภาพรวมโรงงานที่ปิดตัวลง โดยเฉพาะส่วนต่างระหว่างการเปิดโรงงานที่มากกว่าปิด เฉลี่ยลดลงมาอยู่ไม่ถึง 100 โรงงานต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติของขนาดโรงงานยังพบตัวเลขการเปิดโรงงานขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเปิดกิจการเพิ่มขึ้น 25.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันในการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมให้หยัดยืนต่อไปได้
นโยบายภาครัฐ: ตัวแปรตั้งต้นแห่งศักยภาพภาคโรงงานไทย
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัจจัยกระทบเชิงลบรอบด้านอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในพื้นที่สำหรับประกอบการอุตสาหกรรมหลักของไทย ที่กำลังพิสูจน์ศักยภาพของประเทศในการเป็นฐานที่ตั้งโรงงานของเหล่าผู้ประกอบการจากทั่วโลก คือ พื้นที่ Free Zone หรือเขตปลอดอากร เพื่อการสนับสนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
พื้นที่ Free Zone เป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ที่จะเข้ามาประกอบกิจกรรมในพื้นที่ Free Zone นี้ ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ
ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโครงการพื้นที่ Free Zone เบอร์ 1 ของประเทศ คือ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ (PD) ในเครือ บมจ.มั่นคงเคหะการ ผู้นำโครงการคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า ภายใต้ชื่อ โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (BFTZ) ซึ่งพบว่า แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวดี กลับมีสัดส่วนผู้เช่าอาคารโรงงานเฉพาะบนพื้นที่ Free Zone รวมทุกโครงการสูงกว่า 70% ขณะที่อีก 30% เป็นผู้เช่าอาคารคลังสินค้าและบริการ ที่ดีมานด์ความต้องการเช่าไม่เคยลดลง เนื่องจากเป็นพื้นที่Free Zone ประเภทอุตสาหกรรม สามารถใช้ประกอบธุรกิจครอบคลุมในส่วนของการผลิต ขนส่ง จัดเก็บและกระจายสินค้า ได้อย่างครบวงจร
นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหาร ‘โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน’ กล่าวว่า “ภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบชะลอตัว เป็นผลพวงจาก Long COVID ที่เกิดกับธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจอย่างใกล้ชิดกว่าที่เคยเป็นมา ส่งผลให้หลาย ๆ ธุรกิจอาจต้องพิจารณาลดจำนวนโรงงานภายใต้การดูแลลง แต่สำหรับโรงงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นอากรจากภาครัฐ เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ Free Zone เราพบว่า ยังมีการขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานที่ตั้งโรงงานของเจ้าของธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกในระยะยาว”
เครือข่ายผู้ประกอบการ: บันไดสู่การยกระดับขีดความสามารถโรงงานในประเทศไทย
เนื่องจากไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะเหมาะแก่การจัดตั้งบนเขตปลอดอากร ส่งผลให้ในอดีต ผู้ประกอบการโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ มองข้ามพื้นที่ Free Zone เพราะขาดความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์จากการตั้งโรงงานบนพื้นที่ดังกล่าว นำมาสู่คำถามสำคัญว่า แล้วพื้นที่ Free Zone จะตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยอย่างทั่วถึงได้อย่างไร
ด้วยเป้าหมายที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นำไปสู่การปรับโมเดลพัฒนาโครงการ BFTZ ให้มีพื้นที่เขตประกอบการทั่วไป หรือ General Zone เพื่อเป็นทางเลือกรองรับการใช้งานของหลากหลายประเภทธุรกิจและทุกขนาด โดยพรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ ใช้เวลากว่า 15 ปี ผลักดันพื้นที่ยุทธศาสตร์เชิงอุตสาหกรรมของประเทศไทย ไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจ จนปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างชาติ มีความเชื่อมั่นในการจัดตั้งโรงงานบนพื้นที่ Free Zone และวางแผนขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
“สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐมอบให้ธุรกิจผู้นำเข้า-ส่งออก ที่เข้ามาใช้พื้นที่ Free Zone นั้นเป็นกุญแจสู่การตัดสินใจจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมองให้รอบว่าเรายังสามารถต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างไร เพื่อเข้าไปสนับสนุนธุรกิจอื่น ๆ ที่ในวันนี้อาจยังไม่เข้าข่ายที่จะใช้พื้นที่ Free Zone สิ่งที่เราทำได้คือการดึงผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้เข้ามาสนใจตั้งโรงงานในประเทศไทยก่อน และในอนาคตเขาก็อาจขยับขยายไปสู่พื้นที่ Free Zone ได้เช่นกัน” นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กล่าว
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าของ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ สะท้อนมุมมองการร่วมผลักดันจุดแข็งของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ความเข้าใจเชิงลึกที่มีต่อเหล่าผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดบริการ ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโรงงานองค์รวม
“สำหรับอนาคตของโรงงานไทย เราต้องสร้างโอกาสใหม่ ด้วยการต่อยอดอีโคซิสเต็มให้แข็งแกร่ง ทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เพิ่มทักษะแรงงาน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาความร่วมมือของผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรม ศักยภาพพื้นที่ Free Zone เขตปลอดอากร เป็นอีกหนึ่งแนวทางสนับสนุนธุรกิจที่มีการนำเข้า-ส่งออก ตั้งฐานการผลิตในระยะยาว มากไปกว่านั้น เราในฐานะผู้ให้บริการพื้นที่โรงงาน ก็ต้องพร้อมยกระดับบทบาทตัวเองเป็นมากกว่าผู้ให้บริการพื้นที่เช่า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้รวดเร็ว ราบรื่นและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ผู้บริหาร บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหาร ‘โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน’ กล่าว
ขุมพลังแห่งผู้ประกอบการโรงงาน: ไม่หยุดพัฒนา คว้าโอกาสที่ใช่ ได้ทำเลดี มีพันธมิตรระยะยาว
ปัจจุบัน พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ สนับสนุนพื้นที่เช่าให้แก่ผู้ประกอบการจากหลายประเทศกว่า 238 บริษัท 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย, จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และยุโรป รูปแบบของพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าประกอบด้วย อาคารสำเร็จรูป Ready Built, อาคารสร้างตามความต้องการ Built-to-Suit และ Ready Built-to-Suit ซึ่งเป็นการพัฒนาอาคารเดิมที่ได้มาตรฐานอยู่แล้วให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะตัว
ตัวอย่างผู้ประกอบการโรงงาน ที่ยังคงมั่นใจปักหลักในประเทศไทย และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง คือ บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2555 จัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แผ่นทำความสะอาดแบบเปียก แบบแห้ง, กางเกงชั้นในแบบใช้แล้วทิ้ง, แผ่นซึมซับหรือดูดซับของเหลว เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย สำหรับเด็กทารก บุคคล โรงพยาบาล โดยมีลูกค้าหลัก อาทิ American P&G, American Frida Baby, Wacoal, ลูกค้าชาวญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน
(ซ้าย) นายโห ซิง กรรมการและผู้จัดการโรงงาน และ (ขวา) นายเสียง หลิง ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด
นายโห ซิง กรรมการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด เผยมุมมองการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ Free Zone ว่า “การตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทยเป็นเวลากว่า 12 ปี บริษัทผ่านหลากหลายสถานการณ์ที่สำคัญ และยังรักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจเอาไว้ได้ จากเดิมเช่าโรงงานในโครงการ BFTZ 1 บางนา-ตราด กม. 23 พื้นที่ประมาณ 6,000 ตร.ม. จนปัจจุบันอยู่ที่ 20,000 ตร.ม. และมีแผนที่จะขยายโรงงานเพิ่มเติมบนพื้นที่ Free Zone ในทำเลยุทธศาสตร์ของไทย ด้วยความที่บริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกเป็นหลัก ทำให้เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในเขตปลอดอากร และใช้เวลาในการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ของ ไทย ฮาโซ จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคที่มีดีมานด์สูง แต่เราไม่หยุดนิ่ง พัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ทำความเข้าใจตลาดและเจาะอินไซต์ของลูกค้าแล้วพัฒนาสินค้าคุณภาพที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายต่อไปเรื่อย ๆ โดยตั้งเป้ายอดขายประจำปีอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ”
นายเสียง หลิง ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทย ฮาโซ จำกัด เสริมว่า “โรงงานผลิตของเราเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ มีพนักงานกว่า 470 คนในไลน์การผลิตและสำนักงาน 99% ของพนักงานเป็นคนไทย สถานการณ์การแข่งขันที่มีผู้เล่นในตลาดมากมาย โฟกัสหลักของบริษัทจึงมุ่งขยายขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มทักษะแรงงาน การร่วมมือกันระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างไม่ลดละ ผ่านการวางงบประมาณด้าน R&D สูงถึง 10% ของยอดขาย ประกอบกับแนวทางการจัดการลดต้นทุนด้านการขนส่ง ทำให้เราสามารถคว้าส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนได้มากขึ้น ในปี 2568 เราวางแผนที่จะขยายประเภทผลิตภัณฑ์และเพิ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทต้องมีการจดสิทธิบัตรเพื่อรับรองนวัตกรรม”
ด้าน บริษัท ฟานุคคี แดรี่ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตภัณฑ์นม (Dairy Product) เป็นผู้นำการผลิตชีสคุณภาพสูงจากประเทศอิตาลี มีจุดเริ่มต้นจากครอบครัว ‘ฟานุคคี’ ที่มีประสบการณ์ในวงการนี้มายาวนานกว่า 1 ศตวรรษ ผสานองค์ความรู้และเทคนิคที่ถ่ายทอดมาจนถึงรุ่นที่ 4 ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งมอบชีสคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคชาวไทย ภายใต้วิสัยทัศน์หลัก คือการต่อยอดกลุ่มผลิตภัณฑ์นมโดยใช้วัตถุดิบชั้นเลิศ ร่วมกับการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ และพัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจในตลาด ผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์ ฟานุคคี แดรี่ ได้แก่ มอสซาเรลลาชีสสด, มอสซาเรลลา ฟอร์พิซซ่า, มอสซาเรลลาชีสแท่ง และ ขนมชีสอบกรอบ แบรนด์ YUMMY BITES
นายนิโคลา ฟานุคคี กรรมการ บริษัท ฟานุคคี แดรี่ จำกัด กล่าวว่า “เราเลือกดำเนินธุรกิจและตั้งโรงงานที่ประเทศไทย เพราะมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ บริษัทเห็นโอกาสจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและมีผู้ผลิตชีสในประเทศไม่มากนัก ขณะที่การตัดสินใจเลือกโครงการเพื่อเช่าโรงงาน เรามองหาสิทธิประโยชน์ของพื้นที่ Free Zone เป็นอันดับแรก เนื่องจากธุรกิจของ ฟานุคคี แดรี่ มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเพื่อผลิตและจำหน่ายชีสในประเทศไทยเป็นหลัก ส่งออกบางส่วนไปยังกัมพูชาและเวียดนาม โดยมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่ม B2B การได้รับประโยชน์ตรงส่วนนี้จึงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งที่ตั้งของโครงการ BFTZ 1 บริเวณ บางนา-ตราด ยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และท่าเรือที่สำคัญ”
แม้ในอนาคตอันใกล้อาจพบเจอกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากผู้ผลิตรายใหม่ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบ ในภาพรวมประเทศไทยยังคงเป็นตลาดแห่งโอกาสที่สำคัญซึ่งมีแนวโน้มแห่งการเติบโต โดยเฉพาะตลาดชีสในไทย สะท้อนจากเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และมักมีชีสเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร
“ด้วยบริการและการสนับสนุนที่ดีจากทีมงานของเจ้าของโครงการ ทำให้เราเข้าถึงการส่งเสริมจากภาครัฐของไทยได้อย่างราบรื่น ขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ควบคู่ไปกับการขอใบอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็ว เราเช่าอาคารแบบ Stand Alone หรือโรงงานที่มีรั้วรอบขอบชิด เหมาะในการประกอบธุรกิจอาหาร ในมุมมองของชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจในไทย เมื่อมีพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจ ให้คำแนะนำและดูแลรอบด้าน เราก็สามารถเดินหน้าสร้างการเติบโตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ” นายนิโคลา กล่าวปิดท้าย
การยกระดับศักยภาพ ปรับตัวให้พร้อมรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงและจับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เป็นหนทางในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เผชิญทุกแรงต้านอย่างมั่นคง แนวคิดดังกล่าวคือภาพสะท้อนจากเส้นทางแห่งพัฒนาการของเหล่าผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ Free Zone สู่การสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว