December 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

ซูซูโย (ประเทศไทย) Tomo-Iki

July 13, 2017 4939

ธุรกิจญี่ปุ่นมีการสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนมีบริษัทอายุเกิน 100 ปี จำนวนมากที่ยังคงผลิตสินค้าและให้บริการอยู่จนถึงปัจจุบัน กลุ่มบริษัท Suzuyo ในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่สามารถยืนหยัดพัฒนาธุรกิจ มาอย่างต่อเนื่อง ถึง 216 ปี และขยายกิจการมาทำธุรกิจในประเทศไทยอีกกว่า 25 ปี

 

กลุ่มบริษัทซูซูโยทำธุรกิจที่หลากหลาย โดยมีธุรกิจหลักคือ โลจิสติกส์ และการค้า โดยยังมีธุรกิจอื่นอีกทั้งสายการบินภายในประเทศ อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจให้บริการด้านไอที ธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจการพัฒนาชุมชน 

 

ซูซูโยในญี่ปุ่นเริ่มธุรกิจกับการขนส่งเกลือจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลไปสู่พื้นที่ภูเขาของญี่ปุ่นระหว่างเมืองชิซุโอกะไปสู่เมืองยามานาชิ และพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 216 ปีจนเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจที่หลากหลาย มีพนักงานในกลุ่มกว่า 20,000 คน

 

การเข้ามาในประเทศไทย ทาคาชิ ซากุไร ประธาน บริษัท ซูซูโย (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซูซูโย ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า เมื่อ 25 ปีก่อน ประเทศไทยกำลังพัฒนา ทำให้มีผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าของซูซูโยในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว บริษัทจึงตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเพื่อให้บริการกับลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยปัจจุบันลูกค้า 95 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทยังคงเป็นบริษัทญี่ปุ่น 

 

ธุรกิจหลักที่ทำในประเทศไทย คือการบริการด้านโลจิสติก ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ การให้บริการศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงการจัดการพิธีศุลกากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่ง นับเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านโลจิสติกครบวงจรแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ซากุไรยอมรับว่า แม้ค่าบริการของซูซูโยจะมีราคาสูงกว่าคู่แข่งในประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกใช้บริการของบริษัทมาจากคุณภาพการให้บริการที่ดีกว่า เขายกตัวอย่างศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทที่มีระบบบริหารจัดการไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการจัดส่งสินค้า ด้วยระบบบริหารและซอฟต์แวร์รวมถึง Standard Operation Procedure (SOP) ของบริษัทที่กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานแต่ละคนอย่างละเอียด สร้างเป็นมาตรฐานการให้บริการที่ลูกค้าพึงพอใจ

 

อีกตัวอย่างที่เขาหยิบยกขึ้นมาคือรถขนสินค้าห้องเย็น ที่ใช้สำหรับขนส่งอาหารที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิของสินค้า ซึ่งบางบริษัทอาจจะไม่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดระยะเวลาที่ขนส่ง แต่ซูซูโยเลือกที่จะรักษาอุณหภูมิไว้ตลอดเวลาเพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้า มีการใช้ระบบติดตาม GPS จากที่สำนักงานคอยควบคุมคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ทราบว่ารถวิ่งอยู่ที่ใด มีการปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ 

 

ธุรกิจบริการ คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซูซูโยเป็นบริษัทโลจิสติก ที่ใช้ชาวญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนบริษัทถึง 25 คน เป็นอีกความมุ่งมั่นของบริษัท ที่สร้างความแตกต่างจากบริษัทโลจิสติกส์ทั่วไปที่มักจะมีชาวญี่ปุ่นประจำในบริษัทจำนวนไม่มาก การมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นนี้เพื่อคงความสามารถในการบริหารจัดการ การควบคุมคุณภาพการบริการของบริษัทให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้จะต้องลงทุนเรื่องบุคลากรเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

 

“ที่นี่ใช้คนญี่ปุ่นถึง 25 คน คิดว่ามีสัดส่วนคนญี่ปุ่นมากที่สุดในบริษัทโลจิสติกญี่ปุ่นในไทย เพราะพนักงานคนไทยยังมีประสบการณ์การบริหารจัดการน้อยกว่าในด้านการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ ผมคิดว่าใช้คนญี่ปุ่นดีกว่า แต่ในอนาคตอาจจะใช้ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นลดลง” ซากุไร กล่าว

 

 

 

Tomo-Iki ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง 

Tomo-Iki (โทโมะอิคิ) คือปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการของซูซูโย ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าทุกคนสามารถได้รับความเคารพจากผู้อื่นด้วยความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ ซึ่งนำมาใช้เป็นแนวคิดทำธุรกิจและการให้บริการของพนักงาน เชื่อมโยงกับคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงชุมชน 

 

ซากุไร อธิบายปรัชญาของบริษัท ซูซูโยว่า โทโมะอิคิ คือการอยู่ร่วมกัน เติบโตไปด้วยกัน ทั้งบริษัท ลูกค้า พนักงาน และสังคมรอบข้าง 

 

“ซูซูโยมีลูกค้าและก็มีคู่แข่งด้วย ซูซูโยต้องคิดถึงลูกค้าของลูกค้าด้วย ช่วยให้ลูกค้าของเราทำธุรกิจได้ดีขึ้น ชนะใจลูกค้าของเขาได้ ถ้าเราดูแลลูกค้าของเราช่วยให้ลูกค้าชนะคู่แข่งได้เราก็ชนะอย่างแน่นอน”

 

ในส่วนของพนักงาน ที่นี่ก็ใช้วิธีปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความโปร่งใสชัดเจน แม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่เคยมีการให้พนักงานออก ส่งผลให้พนักงานที่อยู่กับซูซูโยทำงานด้วยกันยาวนาน สั่งสมประสบการณ์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทก็กำลังพัฒนาระบบ HR เพื่อให้การประเมินผลงานและการจ่ายค่าตอบแทนมีความเป็นธรรม พนักงานสามารถมองเห็นเส้นทางอาชีพของตนเองได้อย่างชัดเจน รวมถึงมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้กับพนักงานของบริษัทในด้านต่างๆ โดยในเรื่องนี้ฝ่ายบริหารลงมือเข้าไปดูแลด้วยตัวเอง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาช่วย”

 

ด้านสังคมและชุมชน กลุ่มซูซูโยที่ญี่ปุ่นมี Local Community Development ที่ช่วยพัฒนาชุมชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนโดยรอบทั้งการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอล Shimizu S-Pulse ซึ่งอยู่ในเจลีก การสนับสนุนด้านการศึกษา วัฒนธรรม ให้กับคนในชุมชน ด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาล โรงเรียน 

 

ในประเทศไทย ซากุไร เล่าว่า มีการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคม อาทิ นำโค้ชของทีมเอสพัลส์ มาช่วยฝึกหัดให้กับเยาวชนไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การบริจาคคอมพิวเตอร์เก่าให้กับโรงเรียนประถมในจังหวัดสมุทรปราการ การไปร่วมปลูกต้นไม้ที่บางปู ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ ซูซูโยยังจ้างงานผู้พิการ 7 คน เพื่อให้ไปทำงานในโรงพยาบาลที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการในประเทศไทยให้มีรายได้และมีอาชีพสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ดียิ่งขึ้น 

 

 

 

Drive to be a specialist

ประธานบริษัทซูซูโย (ประเทศไทย) มองว่าการทำธุรกิจในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะเขตเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่เพิ่งเริ่มต้น ขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยพัฒนามากขึ้น ผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้น การบริโภคสินค้าต่างๆ มีมากขึ้นก็เป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตตามกันไป มีผู้-ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในแถบนี้ ทั้งจีน อเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสของซูซูโยในการขยายการให้บริการไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามา

 

แม้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโลจิสติกของประเทศไทยจะค่อนข้างรุนแรง แต่ซูซูโยจะชูความโดดเด่นด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมมาเป็นข้อได้เปรียบในการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางด้านต่างๆ มากขึ้น 

 

ซากุไรยกตัวอย่างเช่น “เรามี ISO13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้เราเป็นบริษัทโลจิสติกด้านอุปกรณ์การแพทย์อันดับหนึ่ง” 

 

นอกจากนี้ซูซูโยยังตั้งเป้าจะเป็นผู้นำในการขนส่งที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (รถห้องเย็น) เพื่อช่วยประสานงานให้กับผู้ที่อยากจะจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอาง ยาในประเทศไทย การขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และเทคนิค รวมถึงสินค้าอันตรายต่างๆ เช่น เคมี น้ำมัน เป็นความพยายามจะเป็นที่ 1 ในตลาดเล็กๆ หลากหลายตลาด ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่สูงมาก โดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีให้บริการกับลูกค้า ช่วยรักษาอัตราการเติบโตของบริษัทได้อย่างมั่นคง 

 

ซากุไร กล่าวว่า “เรายังคงมุ่งมั่นการเป็นที่ 1 ในตลาดเฉพาะทาง เออีซี ในความเห็นส่วนตัวของผม เออีซียังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนา ที่ตั้งของประเทศไทยดีมาก ผมคิดว่านักลงทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นมาไทยไม่มากนัก ต่อไปจะเป็นจีน เราก็พยายามจะทำธุรกิจกับบริษัทจีนด้วย เช่นกัน 2 ปีก่อนเรายังไม่มีลูกค้าจีน แต่ปีที่ผ่านมา (2016) บริษัทจีนขึ้นมาอยู่อันดับ 7 ของเราในประเทศไทย”

 

ซากุไร เล่าว่า ประธานใหญ่ของกลุ่มซูซูโย แนะนำการคิดกลยุทธ์ทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของ Logic and Passion พร้อมมอบเป้าหมายในการสร้างซูซูโย (ประเทศไทย) ให้เติบโต ในฐานะที่ ซูซูโย (ประเทศไทย) เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศญี่ปุ่นของกลุ่มซูซูโย 

 

การคิดอย่างมีเหตุผลรวมถึงการใส่ความมุ่งมั่นตั้งใจเข้าไปในกระบวนการให้บริการของซูซูโย จึงเป็นดีเอ็นเอที่ฝังอยู่ในบริษัทซูซูโย (ประเทศไทย) เมื่อรวมกับปรัชญาโทโมะอิคิ ซึ่งมุ่งหวังการสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตไปด้วยกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นวิถีแห่งการเติบโตของบริษัทอายุ 216 ปีจากญี่ปุ่นบริษัทนี้ 

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Thursday, 13 July 2017 09:19
X

Right Click

No right click