December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

สยามฟูจิแวร์ (1988) ผลิตจากใจสู่ครัวเรือน

July 13, 2017 6785

“สินค้าของเราเกี่ยวกับเครื่องครัว ก็อยากให้ชิ้นงานที่ผู้ใช้งานได้สัมผัส และทำให้เกิดความสุข มีความสุขระหว่างการทำอาหาร มีความสุขกับการรับประทานอาหาร ผมอยากส่งความรู้สึกนี้ไปให้ลูกค้า เราทำผลิตภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสุขไม่ว่าคนทำหรือคนรับประทาน มีความสุขเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เราอยากกระจายความสุขไปทั่วโลก ผ่านผลิตภัณฑ์ของเรา” 
มิโนรุ คาเนฮิระ ประธาน Fuji Horo Group และประธานบริษัท สยามฟูจิแวร์ (1988) จำกัด

 

เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์ใด การรับประทานอาหารเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของชีวิต หากสามารถทำและรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะสีสันสดใส ที่ช่วยคงรสชาติของอาหารและมีความปลอดภัย ก็จะช่วยเติมคุณค่าให้กับอาหารแต่ละมื้อมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนมีความสุขกับมื้ออาหารมากขึ้นดังที่คาเนฮิระกล่าวไว้ข้างต้น

 

วิธีคิดของผู้ประกอบการญี่ปุ่นคือ มีความมุ่งมั่นกับการส่งต่อคุณค่าพิเศษของสินค้าและบริการ ความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก ส่งผลไปสู่ความใส่ใจในทุกรายละเอียดของกระบวนการผลิต และคุณภาพของสินค้าในที่สุด เช่นเดียวกันกับที่บริษัทสยามฟูจิแวร์ (1988) จำกัด   ดำเนินธุรกิจ ในฐานะบริษัทลูกของบริษัท ฟูจิ พอร์ซเลน อินาเมล จำกัด ที่ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2490 ในโตเกียว จากผู้จำหน่ายแผ่นเหล็กที่พัฒนาจนมาเริ่มธุรกิจเครื่องเคลือบอินาเมลในราว พ.ศ. 2503 และมองเห็นประโยชน์ของการขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2531 

 

ผลิตภัณฑ์ที่สยามฟูจิแวร์ผลิตส่วนมากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัวและห้องอาหาร อาทิ หม้อ กาน้ำ เหยือก ถ้วย ทำจากเหล็กและเคลือบด้วยอินาเมลซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือในการผลิตให้มีความสวยงาม คงทน สามารถส่งออกไปขาย ยังต่างประเทศ รวมถึงส่งกลับชิ้นส่วนไปที่ญี่ปุ่นเพื่อให้โรงงานที่บริษัทแม่นำไปประกอบเป็นสินค้าติดตรา Made in Japan ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาการผลิตจนสามารถเคลือบชิ้นงานเล็กที่สุดคือหน้าปัดนาฬิกา และชิ้นงานขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยทำคือแผ่นเหล็กที่ใช้ติดกับตึกสูง (PANEL)

 

คาเนฮิระ บอกว่า คุณภาพของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยไม่ได้แตกต่างจาก ที่ผลิตที่ญี่ปุ่น ที่ดีกว่าคือสามารถส่งออกไปจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เพราะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเดียวกันกับที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น 

 

การจะผลิตเครื่องเคลือบอินาเมล ที่มีคุณภาพ สวยงาม แข็งแรงทนทาน ขึ้นมาได้ ประธานบริษัทบอกว่าเริ่มจากวัตถุดิบที่ใช้เหล็กและสีเคลือบที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ต่อจากนั้นก็ต้องดูที่กระบวนการผลิต เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและที่สำคัญคือฝีมือของพนักงานที่ต้องมีการฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ซึ่งที่สยามฟูจิแวร์ ใช้มาตรฐาน JIS (Japanese Industrial Standards) แบบเดียวกับที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อบริหารจัดการกระบวนการผลิต เช่น ความสะอาดตัวภาชนะ การควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมกระบวนการผลิตไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในบริเวณการผลิต เช่นฝุ่น แมลงต่างๆ รวมถึงน้ำฝน ที่ต้องควบคุมให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสินค้าของบริษัทเป็นภาชนะบรรจุอาหาร จึงไม่สามารถมีสิ่งปนเปื้อนได้ เราจึงสามารถเห็นชิ้นงานที่ผลิตจากที่นี่มีความแตกต่างจากชิ้นงานจากผู้ผลิตในประเทศอื่นค่อนข้างชัดเจน  

 

คาเนฮิระ เผยเคล็ดลับสำคัญในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพระดับโลกของบริษัทว่า “ที่สำคัญคือความตั้งใจผลิต มีความมุ่งมั่นที่จะให้ผลผลิตที่ออกมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทุกคนต้องเอาใจใส่เข้าไปในงาน ผลงานที่ออกมาจึงจะดี”

 

การทำให้ทุกคนในองค์กรใส่ใจเข้าในงาน เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ คาเนฮิระบอกว่า ใช้วิธีการทำงานแบบครอบครัว ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นพนักงานจากชาติใด ไม่ว่าจะอยู่แผนกใด โดยตัวประธานบริษัทเมื่อพบกับพนักงานก็จะทักทายและกล่าวขอบคุณในผลงานดีๆ ที่ได้ทำขึ้นมา ช่วยเสริมสร้างความรักในองค์กรให้กับพนักงานจนที่โรงงานแห่งนี้มีพนักงานอายุงานมากกว่า 5 ปีจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน และมีโครงสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผลงานที่ดีเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพการผลิตของพนักงาน

 

 

 

เครื่องยืนยันสิ่งที่สยามฟูจิแวร์ส่งผ่านความสุขสู่โลก ด้วยผลิตภัณฑ์ในห้องครัวที่มีสีสันของบริษัท ช่วยให้การทำอาหารสนุกและเพิ่มความน่ากินให้กับอาหารที่อยู่ในคุณภาพภาชนะของบริษัท พิสูจน์ได้จากลูกค้าทั่วโลกที่เลือกซื้อไปไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก อิหร่าน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และเมียนมา เป็นต้น

 

คาเนฮิระ เล่าว่าลูกค้าเมื่อซื้อไปแล้วก็กลับมาซื้อซ้ำ เพราะมีความเชื่อถือในผลิต-ภัณฑ์ที่บริษัทผลิต เป็นจุดเด่นเรื่องชื่อเสียงและงานฝีมือที่บริษัทอื่นยากจะเลียนแบบ โดยปัจจุบันส่วนมากแล้วลูกค้าจะมาหาที่ประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมโรงงาน พูดคุยถึงสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดของลูกค้าแต่ละรายเป็นการวิจัยและพัฒนาด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ไปในคราวเดียวกัน

 

“ผมมั่นใจว่าเรื่องคุณภาพเราเป็นอันดับหนึ่ง บริษัทใหญ่ๆ อาจจะมีโรงงานขนาดใหญ่ ผลิตจำนวนมาก แต่เราเน้นคุณภาพเป็นอันดับ 1 ในโลกนี้ ที่ญี่ปุ่นเราเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ถ้าไม่มีคุณภาพระดับโลก ลูกค้าทั่วโลกคงไม่มาที่นี่” ประธานบริษัทย้ำ

 

 

จากญี่ปุ่นสู่ไทย

คาเนฮิระเล่าเบื้องหลังการเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับโลกตั้งแต่เมื่อ 29 ปีที่ผ่านมาว่า ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยยังมีแรงงานจำนวนมากและต้นทุนยังต่ำ การเลือกมาเพิ่มฐานการผลิตที่นี่จึงเป็นเหตุผลที่น่าสนใจ ประกอบกับญี่ปุ่นและไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมายาวนาน พื้นฐานของประเทศทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน เช่น  มีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของชาติเช่นเดียวกัน ไทยนับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ญี่ปุ่นนับถือศาสนาชินโตก็มีความคล้ายคลึงกัน 

 

เมื่อมาพบกับหุ้นส่วนที่จะเริ่มธุรกิจในประเทศไทยได้ในขณะนั้น คือบริษัทสยามสตีล จึงเกิดการร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้น (ภายหลัง Fuji Horo Group ซื้อหุ้นคืนทั้งหมด สยามฟูจิแวร์ (1988) จึงแปรสภาพเป็นบริษัทลูกในกลุ่ม) 

 

 

 

“มีวัตถุดิบ มีแรงงาน มีความสัมพันธ์ที่ดี  อีกเหตุผลหนึ่งคือประเทศไทยในตอนนั้นเป็นที่จับตามองของบริษัทญี่ปุ่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยเป็นฮับทางด้านการลงทุน ที่วางใจอีกอย่างคือ มีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นมาลงทุนจำนวนมาก สามารถซัพพลายเรื่องต่างๆ ได้” คาเนฮิระอธิบายและบอกต่อว่า การทำงานกับคนไทยไม่เครียด มีความเป็นกันเอง คนญี่ปุ่นกับคนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ การตั้งโรงงานในประเทศไทยค่อนข้างเป็นผลดีกับบริษัท แม้ปัจจุบันค่าแรงงานจะสูงขึ้นแต่พนักงานที่อยู่ด้วยกันมานานมีฝีมือและความชำนาญในงานที่ทำ ไม่ย้ายงานบ่อย เป็นปัจจัยสำคัญที่บริษัทไม่คิดจะย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่น แม้อาจจะได้ค่าแรงงานที่ถูกกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่คุณภาพของสินค้าอาจจะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทยอมรับไม่ได้  

 

สำหรับความท้าทายในการทำธุรกิจในประเทศไทย คาเนฮิระมองว่า ยังมีข้อจำกัดบางเรื่องเช่น การที่บริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในการผลิต หากส่งออกไปขายยังต่างประเทศสามารถขอคืนภาษีวัตถุดิบได้ แต่หากนำมาขายในประเทศไม่สามารถทำได้ ทำให้การทำตลาดในประเทศไทยทำได้ยากขึ้นจากต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นมา

 

เรื่องคุณภาพของกล่องกระดาษที่มีในประเทศไทยยังไม่หลากหลายเท่าที่มีในประเทศญี่ปุ่น หากมีบริษัททำกล่องคุณภาพดีๆ เพิ่มเข้ามาในตลาดประเทศไทยมากขึ้นก็จะดีต่อการทำธุรกิจ

 

และอีกเรื่องคือการพยายามผลักดันให้พนักงานชาวไทยเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายการเป็นอันดับหนึ่งในโลก ที่ขัดกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนสบายๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างให้พนักงานคนไทยให้มีแนวคิดโฟกัสเป้าหมายในระดับโลก เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ ส่งต่อความสุขในการทำและรับประทานอาหารไปสู่ทุกครัวเรือนทั่วโลกต่อไป

 

 

 

เรื่องภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Thursday, 13 July 2017 08:21
X

Right Click

No right click