×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

BUILK มีดีที่โมเดล “ก่อสร้าง”

July 28, 2017 3716

“ผมว่าตอนนี้มี 2 ปัจจัยนะครับ คือ ความคิดสร้างสรรค์ กับ เทคโนโลยี ถ้าเอามาผนวกกันถูกที่ ถูกเวลา ในยุคดิจิทัล อีโคโนมี มันจะเปลี่ยนเกมได้ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องใหญ่มาจากไหน” 

นั่นเป็นคำพูดช่วงต้นที่ ไผท ผดุงถิ่น Tech Startup, Principal และ Evangelist แห่ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด ซึ่งเคยประสบปัญหาสารพัดจากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เกริ่นให้นิตยสารเอ็มบีเอฟัง ก่อนพาเราไปรู้จัก BUILK โปรแกรมบริหารจัดการธุรกิจก่อสร้างที่เขาคิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ถามว่า BUILK ทำงานอย่างไร มีดีอะไร

BUILK คือโปรแกรมบริหารธุรกิจที่เปิดให้ใช้งานฟรี โดยมีทั้ง โปรแกรมควบคุมต้นทุนงานก่อสร้าง เว็บไซต์สำเร็จรูปเพื่อธุรกิจก่อสร้าง แอพพลิเคชันสื่อสาร ประสานงานหน้าไซต์ และแหล่งรวมวัสดุก่อสร้างราคาถูกสำหรับสมาชิก 

เนื่องจากงานก่อสร้างบ้าน อาคาร คอนโด หมู่บ้าน ฯลฯ มีรายละเอียดมาก ผู้รับเหมาจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน มิฉะนั้น งบอาจบานปลาย หรือขาดทุนหนัก ไผทจึงเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองในอดีตและแนวคิดเพื่อแก้ไขให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างในปัจจุบันและอนาคตว่า

“ชีวิตตอนที่ผมเป็นผู้รับเหมา ไม่รู้ว่าทำไปแล้วกำไรหรือขาดทุนเท่าไร วันนี้ลูกน้องมีเช็คอะไรมาให้ก็เซ็น เพราะวันๆ มีแต่ปัญหาเฉพาะหน้ามาให้แก้ ไม่มีเวลาวางระบบ ไม่มีเวลารู้ข้อมูลที่แท้จริง มีอะไรมาผมก็จ่าย ดังนั้น ผมจึงทำ BUILK ตามใจตัวเอง สร้างระบบให้คนกลุ่มนี้บริหารธุรกิจได้ง่ายขึ้น รู้ข้อมูลได้ดีขึ้น”

BUILK ในยุคดิจิทัล อีโคโนมี

ชื่อ BUILK ที่ไผทตั้งขึ้นมีสองนิยาม นิยามแรกมาจาก BUILK คำสแลงในภาษาอเมริกัน แปลว่า ใหญ่ ทำให้นึกถึงงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ และนิยามที่สอง BUILK for Builder หมายถึง เสริมให้ผู้รับเหมาแข็งแรงขึ้น

โดยโปรแกรมบริหารธุรกิจเพื่อใช้ในวงการก่อสร้างนี้ ก็จะมีทั้งผู้ใช้งานที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในหลายเซ็กเมนต์ ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง เจ้าของโครงการ นักออกแบบ สถาปนิก วิศวกร ซึ่งจากเดิมที่คนเหล่านี้ใช้โปรแกรมพื้นฐาน เช่น Microsoft Office เมื่อถึงยุคที่ใครๆ ก็ใช้สมาร์ตโฟน คนในแวดวงก่อสร้างก็สามารถใช้ประโยชน์จาก BUILK บนดีไวซ์ที่มีได้อย่างเต็มที่ 

ปัจจุบันมีผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศอยู่ประมาณ 80,000 ราย ในจำนวนนี้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทางธุรกิจมาก เพราะมีหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เปิดบริษัทง่ายแต่ก็เจ๊งง่าย หรือเมื่อถึงช่วงหนึ่งก็จำต้องปิดกิจการ โดยในปีปีหนึ่งมีบริษัทปิดกิจการราว 2,000 - 3,000 ราย เพราะมีปัญหาเรื่องการควบคุมต้นทุน

“BUILK ทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ด้วยการบริหารธุรกิจ โดยเรามีระบบเตือนทางโทรศัพท์ อย่างงบคอนกรีตมีอยู่ 3 ล้าน แต่คุณใช้เงินไปแล้ว 2.8 ล้าน ถ้าจะใช้อีก 3 แสนก็เกินงบที่ตั้งไว้ คุณโอเคหรือเปล่า ถ้าโอเคก็กดอนุมัติ ถ้าไม่โอเคก็ไม่ต้องกด ไปต่อรองซัพพลายเออร์ก่อน ทำให้คนตัดสินใจได้แบบ real time ควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น” ไผทกล่าว 

Tech Startup แห่งวงการก่อสร้างยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน BUILK ว่า 

• 8,000 บริษัท คือจำนวนของบริษัททั่วประเทศไทยที่ใช้ระบบบริหารจัดการของ BUILK ในปัจจุบัน

• 85% ของผู้นำระบบ BUILK ไปใช้ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

• 15% ของผู้นำระบบ BUILK ไปใช้ เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์

• 120% คืออัตราการเติบโตของ BUILK จากปีที่แล้วถึงปีนี้

• 2-4% คือค่าใช้จ่ายที่ลดลงโดยประมาณของ SMEs จากการใช้งาน BUILK

 

ไผทใช้เงินในการลงทุนและพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบไปแล้ว 15 ล้านบาท โดยพัฒนาตามความต้องการของลูกค้าจากการคลุกคลีและเดินทางไปพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ซึ่งไผทเผยว่า เขามีซิคเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอ ดีแทค เป็นต้นแบบในการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับคนในที่ต่างๆ ตลอดจนการเลือกหนังสือมาอ่าน และการติดตามเทคโนโลยี เพราะการทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนั้น รายจ่ายจะไม่มีวันจบ เนื่องจากเทคโนโลยีไม่มีวันหยุดนิ่ง จึงต้องเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอดสู่การหาลูกค้าต่างแดน

“ช่วงแรกทำงานหนักมากเพราะไม่มีคนเชื่อถือ เราก็ต้องวิ่งไปหาลูกค้า แนะให้ลองใช้ ซึ่งพอลองใช้แล้วเราก็ไป follow up ลูกค้าว่าต้องปรับปรุงพัฒนาอะไร พอลูกค้าเห็นว่าเราทำจริง แก้ไขจริง คุยภาษาก่อสร้างรู้เรื่อง เขาก็ใช้งานโปรแกรมของเราจริงจัง ตอนนี้นอกจากมี User คนไทย ก็มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว โดยที่อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวที่ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ BUILK เขาแปลโปรแกรมเป็นภาษาอินโดนีเซีย จัดอีเวนต์สอนการใช้งานให้แก่คนอินโด เพื่อยกระดับวงการก่อสร้างของเขา”

"อีคอมเมิร์ซ" จิ๊กซอว์ก่อสร้างชิ้นใหญ่

ช่วงแรก BUILK มีรายได้มาจากการโฆษณา สปอนเซอร์ ต่อมาก็มีรายได้จาก Big Data ในลักษณะของ Market Research วิเคราะห์ข้อมูลให้แบรนด์ และล่าสุด เมื่อโปรแกรมระบบบริหารมี User มากพอ ไผทก็ติดต่อกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างโดยตรงเพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่ผู้รับเหมาในราคาที่ถูกลง แล้วเข้าสู่ถนนอีคอมเมิร์ซเต็มตัว ทำให้ BUILK เป็นอีคอมเมิร์ซรายแรกที่ขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งทำรายได้เข้าบริษัทถึง 85% ของรายได้ทั้งหมดในปีนี้ 

“เรียกว่าเป็นพ่อค้าคนกลางในยุคดิจิทัลที่มีต้นทุนต่ำสุด เพราะเราไม่ต้องมีสโตร์ ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีเซลส์ และเราการันตีได้ว่า ผู้ซื้อจะได้ต้นทุนที่ต่ำลง คนขายก็จะวางแผนการผลิตได้ง่ายขึ้น และในอนาคตเราจะทำงานกับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และโมเดิร์นเทรดทุกเจ้า BUILK จึงเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

ในต่างประเทศนิยมซื้อซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการมาใช้ในองค์กร ซึ่งผู้สร้างระบบก็มีรายได้ ส่วนผู้ใช้งานก็มองว่าเป็นความคุ้มค่าที่ได้รับเพราะจะได้ระบบที่มีความเสถียรและลดเวลาการทำงานของทีมงานได้ แต่ไผทบอกว่า คนเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และ SMEs ก็ไม่ได้มีทุนทรัพย์มาก ดังนั้น การทำตลาดเอเชียไม่จำเป็นต้องขายระบบเหมือนต่างประเทศจึงจะอยู่ได้ ดังที่ BUILK ซึ่งเป็น Business Model Innovation พิสูจน์แล้วว่า การสร้างระบบให้ใช้งาน “ฟรี” ก็อยู่รอดได้ เพราะถ้าทำระบบดี ในที่สุดก็จะมีแหล่งรายได้เข้ามา เช่น การขายโฆษณา การจำหน่ายสินค้า และไผทยังเชื่อว่า รายได้จากอีคอมเมิร์ซจะทำให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“สิ่งที่เราทำนั้นเสริมผู้รับเหมา 3 เรื่อง เรื่องแรก ระบบบริหารจัดการ สอง ทำให้เขาได้งานเพิ่ม และสาม ช่วยลดต้นทุนด้านวัสดุโดยการจัดซื้อร่วมกัน สุดท้ายแล้ว BUILK จะเป็นคอมมูนิตีที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ” ไผทกล่าวสรุป

 
Last modified on Wednesday, 15 April 2020 16:14
X

Right Click

No right click