January 02, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7636

“ก้าวข้าม 32” STOP | PAUSE | PLAY FORWARD วงเสวนานำเสนอรัฐเร่งแก้กฎหมาย ยุติความอยุติธรรม

March 07, 2022 3652

สมาพันธ์พิทักษ์สิทธิ์ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สสค.

 ได้จัดกิจกรรมเสวนา “ก้าวข้าม 32 : STOP | PAUSE | PLAY FORWARD” โดยนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงร่วมพูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน บังคับใช้ไม่เป็นธรรม และใช้ดุลยพินิจ สร้างอุปสรรคและความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคที่ถูกลิดรอน ตลอดจนเสนอการปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ บริบทของเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้การประกอบธุรกิจ เศรษฐกิจ เสรีภาพผู้บริโภค และความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดำเนินไปด้วยกัน ไม่โน้มเอียงจนสุดโต่งดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหัวข้อเสวนาประกอบด้วย

“STOP: ขจัดผลกระทบจากการถูกฟ้อง ถูกปรับ ตามมาตรา 26-32” โดย ณิกษ์ อนุมานราชธน จากร้าน Teens of Thailand, วิเชียร อินทร์ไกรดี จากร้าน Kacha Kacha และประภาวี เหมทัศน์ จาก Group B Beer

“PAUSE: หยุดมาตรการควบคุมวัน เวลา สถานที่ โดย สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร และอิสระ ฮาตะ ผู้บริโภค

“PLAY FORWARD: เดินหน้าสู่ Balanced Policy” โดย ผศ. ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการและแอดมินเพจสุราไทย และ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกมากมาย  โดยมีผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่

ประภาวี เหมทัศน์ จาก Group B Beer เปิดเผยระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “STOP: ขจัดผลกระทบจากการถูกฟ้อง ถูกปรับ ตามมาตรา 26-32” ว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คือกฎหมายล้าหลัง ฉุดโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในวันที่โลกออนไลน์คือช่องทางแก้ไขปัญหาทางธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด 19

 

แปลกใจกับค่านิยมการใช้ “การห้าม” พร่ำเพรื่อในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเด็กดื่ม เมาแล้วขับ หรือดื่มมากไป เพราะเท่าที่เห็นหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งห้ามปัญหายิ่งเพิ่ม แสดงว่ารัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด มีแบบอย่างในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป ที่มีการกำกับดูแลกันอย่างได้ผล ไม่มีใครห้ามเพราะกระทบกับคนและเศรษฐกิจ และน่าเสียดายมากๆ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับคราฟท์เบียร์ไทยทั้งด้านคุณภาพและรสชาติ การันตีโดยรางวัลมากมายที่ได้รับในระดับนานาชาติ แต่ในบ้านเราเองผู้บริโภคแทบจะไม่รู้จักคราฟท์เบียร์ของเรา เพราะนอกจากจะผลิตไม่ได้แล้วยัง “ทำให้เป็นที่รู้จัก” หรือ “ร่วมภาคภูมิใจ” ไม่ได้อีกด้วย เราบอกผู้บริโภคไม่ได้ว่าคราฟท์เบียร์ของไทยได้รับรางวัล หรือโลกให้การยอมรับรสชาติและคุณภาพของคราฟท์เบียร์ไทย เพราะถูกตีความโดยใช้ดุลยพินิจว่าเป็นการโฆษณา แต่ก็ไม่หมดกำลังใจที่จะทำต่อ ยังอยากพัฒนาคราฟท์เบียร์เราให้เลิศกว่านี้ เพราะรักในสิ่งที่เราทำ และเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องผิด

ณิกษ์ อนุมานราชธน ผู้ประกอบการค็อกเทลบาร์ Teens of Thailand กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า สุราพื้นบ้านไทย คือสิ่งที่ต้องรักษาและพัฒนาให้เทียบเท่าอารยะประเทศ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้งานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพียงเพราะมันเป็นแอลกอฮอล์ ทำลายสุราพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า

เมื่อความคิดสร้างสรรค์ด้านสุราเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สุราพื้นบ้านกลายเป็นผู้ร้าย แล้วอุตสาหกรรมจะพัฒนาได้อย่างไร รัฐต้องทำให้สุราพื้นบ้านของเราเทียบเท่าสาเกหรือโซจู ที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยแล้วต้องลองดื่มเพื่อเข้าถึงเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เช่น ใช้ผลไม้หรือวัตถุดิบที่มีเฉพาะในพื้นที่นั้น ส่งเสริมให้แหล่งผลิตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นสินค้าประจำถิ่น ประจำชาติ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ ผมคิดว่ารัฐควรเอาเวลาและทรัพยากรไปส่งเสริมและให้ความรู้ให้คนดื่มอย่างพอดีอย่างรับผิดชอบน่าจะดีกว่า

 

ด้าน สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยบนเวที “PAUSE: หยุดมาตรการควบคุมวัน เวลา สถานที่” ว่า ขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกกำลังแข่งขันเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ นำรายได้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถ้าประเทศไทยต้องการรักษาความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ก็จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ไม่สร้างอุปสรรคแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควร ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยว และช่วยให้ผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจ และแข่งขันได้กับทั่วโลก

ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นถึงกว่า 17 ของ GDP หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยอาหารเครื่องดื่มและไนท์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ถือเป็นซึ่งค่าใช้จ่ายลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การที่ประเทศไทยห้ามการขายรวมแล้ว 14 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะช่วง 14.00-17.00 น. ซึ่งเค้าก็อยู่ในโรงแรมหรือพื้นที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เข้าไม่เข้าใจว่าทำไม่ต้องห้าม  เริ่มเปรียบเทียบประเทศเรากับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีมาตรการที่เข้มข้นจนเกินพอดี จนทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยวในมุมมองของนักท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิง และรัฐเสียโอกาสการขายและให้บริการ ในขณะที่การห้ามขายเป็นช่วงเวลาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายอย่างการเมาและขับ หรือการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนแต่อย่างใด

 

รัฐจึงควรกลับมาพิจารณามาตรการจำกัดเวลาขาย และมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ และสถานบันเทิงให้มีความยืดหยุ่น สมดุล สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นจักรเฟืองสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการลดปัญหาจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย ซึ่งผู้ประกอบการยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ร่วมมือกับภาครัฐในเรื่องดังกล่าวผ่านการให้บริการอย่างรับผิดชอบ ซึ่งเราเองก็ปฏิบัติเสมอมา ขอให้รัฐทบทวนเพื่อยกเลิกเวลาห้ามขายในร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ถ้าปลดล็อคได้ การที่ไทยจะเป็นประเทศอันดับหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยว เป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก ก็ไม่เกินเอื้อม

อิสระ ฮาตะ เผยถึงมุมมองในฐานะผู้บริโภคว่า โลกดิจิทัลคือโลกที่ไม่สามารถยึดติดกับบริบทความเชื่อและหลักศีลธรรมที่เข้มข้นของสังคมใดสังคมหนึ่งได้ ในกรณีของสถานบันเทิง ผับ บาร์ ถือเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวในการพักผ่อนยามค่ำคืน ที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และทำให้เกิดการจ้างงาน จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลก พฤติกรรมโลก และความต้องการของนักท่องเที่ยว

ธุรกิจกลางคืนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ผิด การทำสุราทำเบียร์ ก็เป็นศาสตร์หนึ่งของการทำอาหารและเครื่องดื่ม แต่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม การห้ามถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ไม่มีประสิทธิผล  

จากประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา และเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศ พบว่าความชัดเจนของผังเมือง การจัดโซนนิ่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย เชื่อว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ ถ้ามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ไม่ควรจะนำเอาเรื่องเหล่านี้มาทำให้เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่างเกินพอดี จนทำให้ประเทศไทยขาดเสน่ห์ของการเป็นประเทศชั้นนำด้านการท่องเที่ยว อย่าทำให้ประเทศและผู้ประกอบการต้องเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น” 

ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย  นักวิชาการ และแอดมินเพจสุราไทย ได้กล่าวถึงมุมมองทางด้านกฏหมาย บนเวที “PLAY FORWARD: เดินหน้าสู่ Balanced Policy” ว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับสภาพการณ์ สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เพราะผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบ และต้องประสบกับความยุ่งยากในการประกอบอาชีพ จาก 3 มาตรการหลักของพรบ. คือ มาตรการควบคุมการโฆษณา (มาตรา 32) มาตรการควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (มาตรา 26)  และมาตรการควบคุมการขาย ได้แก่ การควบคุมเวลาขาย (มาตรา 28) การควบคุมการขายในสถานที่สาธารณะ (มาตรา 27) และการห้ามขายออนไลน์ (มาตรา 30)

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐเองและ WHO มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้การดื่มอย่างเป็นอันตราย (harmful use of alcohol) ลดลงแต่อย่างใด แสดงว่ามาตรการและการบังคับใช้กฎหมายที่เกินจำเป็นเหล่านี้ไม่มีประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย นอกจากนี้ ยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ เพราะใช้มากกว่า 14 ปี แล้วโดยยังไม่มีการทบทวนปรับปรุงใดๆ จำกัดสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการเลือกซื้อสินค้า และเสรีภาพในการแสดงออก สร้างผลกระทบที่เกินสมควรให้ผู้ประกอบการ ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

 

รัฐต้องกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมและสร้างสมดุลกับมาตรการด้านอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศ “อย่างยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเฉพาะในประเด็นด้านการท่องเที่ยวให้พัฒนาไปสู่ระดับโลก รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ ให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ขณะที่ ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักกฎหมายมหาชน จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า รัฐควรต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากการตรวจสอบ “เพื่อหาช่องทางจับกุมดำเนินคดี” เป็น “การแนะนำ”แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนสามารถปฏิบัติได้โดยถูกต้องและมีความมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม

มาตรการของภาครัฐ ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นหนักไปใน “ควบคุม” อย่างเข้มงวด แทนการ “กำกับดูแล” หลักเกณฑ์ที่กำหนดและการตีความกฎหมายจึงเป็นไปในลักษณะเข้มงวด สร้างภาระเกินความจำเป็นแก่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้บริโภค และที่สำคัญคือมาตรการที่เข้มข้นจนขาดสมดุล หากแต่คลุมเครือเหล่านั้น รวมถึงการใช้ดุลยพินิจส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะรายย่อยในชุมชนเกิดขึ้นได้ยากและไม่มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือพัฒนาคุณภาพ ให้มีมาตรฐานระดับโลกที่จะแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยแต่ละหน่วยงานจะกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการตามภารกิจของหน่วยงานนั้นเกิดเป็นความซับซ้อน  ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระเกินจำเป็น

Last modified on Tuesday, 08 March 2022 08:13
X

Right Click

No right click