November 25, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10972

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล "วิศวกรรม วิชาชีพแห่งการเรียนรู้"

September 14, 2018 5258

           เศรษฐกิจยุคใหม่คือเศรษฐกิจฐานความรู้ ความต้องการเกิดขึ้นใหม่ในแทบทุกวงการ วิถีการใช้ชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ ปรับไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการทางความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่ออาชีพต่างๆ แตกต่างจากคนในยุค 20 ปีก่อนหน้า

          เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทำให้เราเห็นภาพผู้บริหารที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาบริหารจัดการองค์กรมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเห็นได้จากหลายองค์กรใหญ่ของโลกรวมถึงในประเทศไทย

          คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะหลักที่ผลิตนักวิศวกรรมในด้านต่างๆ ให้กับธุรกิจมายาวนานก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองไปด้วย MBA มีโอกาสเข้าพบ รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล  คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้ดูแล 1 ใน 4 คณะที่ก่อตั้งตั้งแต่เริ่มสถาปนามหาวิทยาลัยและเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และวิชาการใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง ท่ามกลางกระแสตื่นตัวทางด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนและเทคโนโลยี รวมถึงเนื้อหาวิชาการ ส่งผลอย่างไรต่อการจัดการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในยุคดิจิทัลนี้

วิชาชีพแห่งการเรียนรู้

         เราก็รู้กันว่าอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนค่อนข้างเยอะฉะนั้นเขาไม่ได้ต้องการคนแบบเดิมๆ เท่าไร สอง ในเชิงวิชาการ เดี๋ยวนี้ความต้องการความรู้เชิงลึกสอนกันไม่หมด เพราะความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ถ้าเราจะต้องสอน เช่นวันนี้บอกมีบิ๊กเดต้า หรือต้องการโรโบติก อะไรทั้งหลายแม้แต่ในบิ๊กเดต้าก็มีอะไรเยอะแยะอยู่ข้างในซึ่งเราสอนได้ไม่หมดอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่าโลกดิจิทัลทำให้ความรู้กระจายอยู่ทั่วไปหมด

         สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวคือ ต้องให้พื้นฐานเขา อย่างเรื่องข้อมูลฐานคืออะไร เราต้องให้เขาแน่นที่ฐานส่วนเขาจะไปเรียนรู้อะไรต่อยอด ต้องพยายามให้เขามีความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

         คณะวิศวะฯวันนี้ วิสัยทัศน์ของเราคือเราจะเปลี่ยนวิชาชีพวิศวกรรรมให้เป็นวิชาชีพแห่งการเรียนรู้ คือเราไม่สามารถสอนได้หมด หรือเราจะไปทำหลักสูตรเฉพาะอะไรขึ้นมาใช้เวลาหลายปี 2-3 ปีทำหลักสูตร กว่าเด็กจะจบไปอีก 4-5 ปี อุตสาหกรรมเขาไม่ต้องการแล้ว ถึงวันนั้นไม่ทันแล้ว เราต้องสร้างฐานแล้วเด็กออกไปก็ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง

         และที่สำคัญบริษัทเอกชน  เขาต้องการ Soft skill มากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการสื่อสาร เรื่องภาษา ความเป็นผู้นำ  ซึ่งคณะก็พยายามปรับสิ่งเหล่านี้ให้กับนักเรียนให้เขาคิดเอง ให้เขามีความคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คือพยายามเสริม soft skill ให้เขามากขึ้น

         เมื่อหลายปีมาแล้ว เราเคยทำวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่ง พบว่าเกือบครึ่งของวิชาที่สอนอยู่สามารถหาบนออนไลน์ได้ แล้วเนื้อหาที่อาจารย์สอนวันนี้เราเปิด สมัยก่อนต้องมาจด อาจารย์จะไม่ให้แผ่นใส สไลด์ พยายามเก็บไว้เพราะอยากให้เด็กมาเข้าเรียน แต่วันนี้ทุกอย่างอยู่บนระบบอยู่แล้ว เขาสามารถไปทบทวนเองได้ บางวิชา เราทำคลิป บางวิชาก็ถ่ายวิดีโอไว้ ฉะนั้นเด็กสามารถเข้าไปดูได้ตลอดเวลา ดังนั้นการมาห้องเรียนเพื่อเรียนกำลังจะหมดยุค แต่มาเพื่อเรียนเพื่อหาความรู้อย่างอื่นกำลังค่อยๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ดังนั้นวันนี้เราจึงพยายามให้ห้องเรียนไม่ใช่ห้องที่จะมาเรียน อาจเป็นห้องที่มาทำกิจกรรม มาทำอะไรร่วมกัน แต่แน่นอนการเรียน การเลคเชอร์ก็ยังสำคัญ เพราะเป็นทักษะอย่างหนึ่งในการจับใจความ การฟัง การจับเนื้อหาให้ได้ ก็เป็นทักษะที่สำคัญ

         อาจารย์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีสื่อสารวิธีพูด อาจารย์ของเรามีจัดอบรมให้ทุกปี ได้อาจารย์สาขาการละครที่คณะอักษรศาสตจร์มาจัดอบรม เรื่องวิธีการพูด เหมือนเป็นดารา น้ำเสียงจะต้องทำอย่างไร ตั้งแต่ปีที่แล้วก็อบรมไปเป็นร้อยคนแล้ว วิธีการแอ็คติ้ง วิธีการออกเสียง

พื้นฐานเพื่อการเรียนรู้

         ทางวิศวะมีอยู่ 3-4 วิชา อันดับแรกคือ คณิตศาสตร์ พื้นฐานที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ ในอดีตอาจจะเป็นอย่างนั้นเพราะเวลาทำอะไรก็ทำตามสเปคตามข้อกำหนด ดังนั้นเด็กก็จะท่องสูตรไป ซึ่งเด็กไทยจะถนัดมาก ผมคิดว่าคณิตศาสตร์พื้นฐานสำคัญ สามารถประยุกต์ใช้ เข้าใจ บางทีเราเรียนในห้อง ยิ่งวิศวะจะมีสูตรสำเร็จออกมา แต่เด็กต้องเข้าใจว่าสูตรที่ได้มาผ่านกระบวนการที่ทำให้ง่ายมาเรื่อยๆ ว่าจริงๆ ฐานแรกของมันคืออะไร จะต้องรู้ เพราะในอนาคตจะไม่มีเงื่อนไขที่สามารถใช้สูตรสำเร็จนั้นได้ตลอดไปเพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้นคณิตศาสตร์พื้นฐานสำคัญที่สุดต้องให้เขารู้

         สองเรื่องดิจิทัล คอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่ง นี่คือสิ่งที่เราพยายามให้เป็น literacy ของบัณฑิตวิศวะทุกคน อย่างน้อยตอนนี้ก็ Python ในอดีตก็ Java คอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่งต้องได้

และวันนี้ก็เพิ่มเรื่องโมเดล 3 มิติ การดีไซน์ เราก็ร่วมกับเอกชนอยู่หลายเจ้า ที่เขาให้ซอฟแวร์กับเด็กเพื่อให้เขาสามารถเข้าใจการทำโมเดล 3 มิติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต เพื่อให้เขาดีไซน์ด้วยตัวเองได้ ให้เด็กสามารถใช้ 3D Printing ได้ ใช้วิธีการทำ Prototypeซึ่งจำเป็นสำหรับอนาคต

         ฟิสิกส์ก็สำคัญ อาจจะรวมอยู่ในวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จากนั้นก็วิศวกรรมพื้นฐานต่างๆ เรื่องของวัสดุที่ต้องรู้อาจจะแยกไปตามสาขาแล้ว แต่ละสาขาวัสดุอาจจะไม่เหมือนกัน 4 เรื่องหลักที่ต้องเสริมให้แน่นไว้

         พอเข้าภาควิชา เรามี 13 หลักสูตร ก็จะมีวิชาพื้นฐานแต่ละสาขาอยู่ อย่างโยธาก็ต้องมีพื้นฐานอะไรบางอย่าง เรื่องโครงสร้าง เรื่องอะไรที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ทางไฟฟ้าก็จะมีหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาร ไฟฟ้ากำลัง ก็จะมีวิชาพื้นฐานบางอย่างที่สำคัญ อย่างไฟฟ้ากำลังวันนี้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว วันนี้มองเรื่องสมาร์ทกริด เรื่องการบริหารจัดการพลังงานทางเลือกต่างๆ ซึ่งเราให้ลึกมากไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนเร็ว แต่เราให้พื้นฐานเขาได้ว่ากริดคืออะไร มีสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่เราต้องให้เขาไปต่อยอดได้

         เป็นการเรียนเรื่องสมัยใหม่มากขึ้นและเน้นที่พื้นฐานมากขึ้น

         จุฬาฯ เป็นสมาชิกของ CDIO (Conceive สามารถคิดวิเคราะห์และชี้ปัญหาในทางวิศวกรรมได้  Design สามารถออกแบบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมได้ Implement สามารถดำเนินการ ประยุกต์ หรือ แก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมให้สำเร็จลุล่วงได้ Operate  สามารถพัฒนาและควบคุมระบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม) เป็นตัวเสริมให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำจะต้องเริ่มจากการคิดก่อนว่าผู้ใช้ต้องการอะไรแล้วไปออกแบบและนำไปประยุกต์ใช้ให้ได้ ซึ่งเป็นหลักการของ MIT ที่เขาใช้อยู่ ถ้าภาษาทางการศึกษาคือ เป็น Outcome Base เน้นผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก เราจะไม่สามารถเอาทุกอย่างใส่เข้าไปให้เขาได้ แต่เขาจะต้องคิดเอง โครงการที่เขาทำจะต้องเริ่มจากไปหาก่อนว่าอะไรที่สำคัญ ทำไปเพื่ออะไร แล้วมาดีไซน์ แล้ว Implement และ Operation ดู เพื่อให้เห็นกระบวนการทั้งหมด ดูเหมือนเขาอาจจะรู้แค่ตรงนี้ เช่นบางคนทำเครื่องมืออะไรบางอย่าง ดูเหมือนว่าเขาทำแค่นั้นแต่ความจริงกระบวนการทั้งหมดทำให้ ต่อไปเขาไปทำอะไรก็ได้ คือเริ่มจากไปหาความต้องการก่อน แล้วมาดีไซน์ ดีไซน์เขาอาจจะไม่รู้ก็ต้องไปไขว่คว้าหาให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ จะ Implement  อย่างไร จะ Operate อย่างไร เราเน้นที่กระบวนการมากกว่าที่จะไปเน้นความรู้เชิงลึก เน้นกระบวนการ วิธีคิด วิธีทำงาน

         แต่แน่นอนในกระบวนการที่เขาทำก็ต้องใช้ความรู้ไม่ใช่ว่าไฟฟ้าแล้วไปทำเหมืองแร่อะไรอย่างนี้ ไฟฟ้าก็ยังอยู่ในกรอบของไฟฟ้า แต่ไม่สามารถทำว่าคนนี้รู้ทุกอย่างของไฟฟ้าเป็นไปไม่ได้ แต่เขาจะรู้ว่า ถ้าเขาสนใจเรื่องการสื่อสาร เรื่องไฟเบอร์ออฟติก เรื่องอะไรเขาก็จะพยายามลงลึกไปตรงนั้น แต่ให้เขาเห็นกระบวนการทั้งหมด ถ้าเขาสนใจตรงนี้เขาจะต้องเริ่มจากตรงไหน ปัญหาอยู่ตรงไหน ดีไซน์อย่างไร Implement Operation อย่างไร เวลาเขาไปทำงานเขาอาจจะเจอโจทย์อื่นเขาจะรู้ว่าเขาจะต้องเริ่มที่ไหน เขาจะต้องไปค้นข้อมูลอย่างไร ไปทำอะไรต่อ จะดีไซน์อย่างไร ไม่รู้ก็เรียน หรือจะไปถามใคร ซึ่งเดี๋ยวนี้ง่าย

         อาจารย์ก็จะเปลี่ยนไปโค้ชมากขึ้น นั่นคือทิศทาง ผมว่าอีกสัก 10-15 ปีน่าจะปรับไปทางนั้นทั้งหมด เพราะวันนี้อาจารย์รุ่นใหม่ๆ ก็ใช้วิธีการนี้ในการสอน

         ในอเมริกาเป็นแบบนี้เกือบหมด ตัวอย่างเรียน 3 หน่วยกิต เขาจะเลคเชอร์สัก 1 หน่วยกิต ที่เหลือก็จะเป็นโปรเจ็กต์ การบ้านเขาเยอะมาก ของเรานี่ช้านิดหนึ่ง เรายังเน้นการป้อนทุกอย่างให้เด็ก เราก็พยายามเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

หลักสูตรวิศวะเพื่อโลกยุคใหม่

          คือถ้าเรามองว่าจะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตเราก็จะเปิดสาขาวิชาเช่น BioMed ชีวะการแพทย์ จริงๆ เรามีมานานแล้ว เป็นหลักสูตรปริญญาโทปริญญาเอก คิดมาตลอดว่าควรจะเปิดปริญญาตรีไหม สุดท้ายก็เปิดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเรามองว่ามาแน่ ยังต้องการคนอีกระยะยาวเลย สองคือ โรโบติก เอไอ ออโตเมชัน ซึ่งเรื่องนี้ก็มองว่ายาว เราก็เปิดปีนี้ เรื่องคอมพิวเตอร์ไม่ใช่คอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่งแบบเดิมๆ เป็นเรื่องเอาคอมพิวเตอร์เป็นตัวลีดในการ Integrate ทั้งหมด เราเรียกหลักสูตรนี้ว่า ICE Information and Communication Engineering ก็เปิดมาหลายปีแล้ว และมองว่าน่าจะอยู่อีกนาน

          เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ก็เห็นว่าน่าจะเป็นอะไรที่มาแน่ เราก็ปรับหลักสูตรยานยนต์เดิมที่เป็นเครื่องยนต์ เรามีหลักสูตรยานยนต์อยู่ 2 หลักสูตรเราก็ปรับหลักสูตรหนึ่งให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าไป ซึ่ง 4-5 เรื่องนี้เป็นอะไรที่ Integrate มากไม่ใช่ภาควิชาใดวิชาหนึ่งจะสอนได้ BioMed นี่แน่นอนเกินวิศวะด้วย มีทั้งแพทย์ ทันตะอะไรมาร่วมกัน โรโบติกออโตเมชันก็เกินไม่ใช่แค่เครื่องกลไม่ใช่แค่ไฟฟ้า ต้องผสมผสานทุกอย่าง หรือยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์สมัยก่อนอยู่กับเครื่องกลเรียนเรื่องเครื่องยนต์เรื่องโช้คอัพอะไร ถ้าเป็นยานยนต์ไฟฟ้า จะต้องมีเรื่องไฟฟ้า มี Power Electronic มีคอมพิวเตอร์ มองไปถึงเรื่อง Autonomous Vehicle รถที่วิ่งเอง มีคอมพิวเตอร์มีเซนเซอร์อะไรเข้ามา ดังนั้นเป็นหลักสูตรใหม่ๆ ที่เรามองว่าอีก 10-20 ปียังมีดีมานด์พวกนี้เราจะเปิดหลักสูตรไปรองรับ

          หลักสูตรเดิมที่ต้องปรับอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างเครื่องกล ก็ไปปรับ เขาเรียก CPS- Cyber Physical System เพื่อเชื่อมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน เขาก็ปรับหลักสูตรให้เน้นไปทางนี้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเครื่องกลแบบเดิมอยู่ เพียงแต่ให้มีเรื่องดิจิทัลแทรกมากขึ้น ทั้งเรื่องออโตเมชัน เรื่องการผลิตอะไรทั้งหลาย พวกนี้เรามองว่าไม่จำเป็นถึงขั้นเปิดหลักสูตร อาจจะเป็นการเสริมอะไรบางอย่างในหลักสูตรที่มีอยู่

         ตัวหลักสูตรเดิมก็ยังต้องเดินต่อไปอย่างเรื่องบิ๊กเดต้า ถ้าพูดถึงทฤษฎีจะอยู่ในคอมพิวเตอร์แต่ Application จะอยู่กระจายไปหมด จะไปขายปลีก เรื่องอะไรทุกอย่างเลย คอมพิวเตอร์ก็เปิดเป็นแขนงย่อยเรื่อง Big Data ออกมา พวกนี้เราไม่จำเป็นต้องเปิดหลักสูตรใหม่ แต่เราก็ขยับกันไป

         หลักสูตรที่มีอยู่แล้วบางหลักสูตรที่พอปรับได้เราก็ปรับเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทาง แต่อะไรที่ใหม่เราก็เปิด แต่เราจะต้องดูว่ายั่งยืนจริง เพราะแต่ละหลักสูตรใช้เวลา เราเดินช้า กว่าจะผลิตเด็กออกไปได้ 1 ล็อตใช้เวลานานเหลือเกิน

         ความต้องการจากผู้เรียนเองก็สำคัญ บางทีเขาอยากเรียนสิ่งเหล่านี้ซึ่งไม่มีในหลักสูตร ถามว่าทำอย่างไร ผมก็พยายามทำมาแล้ว 2 ปีแต่ยังไม่สำเร็จ คือให้เขาเข้ามาดีไซน์วิชาเรียนของตัวเองได้ เพราะแต่ละปีวิศวะเราเปิดวิชาเป็นพันวิชา อาจกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ผมก็เชื่อว่า ถ้าเขาอยากเป็นอะไรบางอย่าง เช่น ซาวนด์เอนจิเนีย เป็นวิศวกรที่รู้เรื่องเสียง แต่เราไม่มี แต่ผมก็คิดว่า ในวิศวะฯ นอกจากวิชาพื้นฐาน แล้วที่เหลือจะต้องจับออกมาแล้วเป็นซาวนด์เอนจิเนียได้ ให้ดีไซน์ตัวเองได้ แต่ยังทำไม่ได้ ติดกรอบระเบียบ แต่ก็ยังไม่ล้มความตั้งใจ

         ซึ่งเด็กพวกนี้ไม่ใช่ว่าจะรับใครเข้ามาก็ได้ เราก็ต้องดูว่า เขามีความต้องการจริงๆ อยากเป็นอย่างนี้จริง ตรงนี้ต้องอยู่ที่ผู้เรียน ความมุ่งมั่นเขาต้องชัดก่อน ไม่ใช่ใครไม่รู้จะเรียนอะไรจะมาเรียน ไม่ได้ ผมไม่ยอม คือต้องรู้แล้วว่าอยากจะเป็นอะไร แล้วมาออกแบบกันตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามาเลยว่า จะเป็นอะไร จะเรียนอะไร ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาตามตลอดดูแลกันตลอดไปเลย

Integrated Engineer

          ทุกอย่างจะเริ่ม integrate (รวม) กันมากขึ้น ไม่สามารถใช้ความรู้สาขาเดียวไปทำอะไรบางอย่างทั้งหมดได้   ตอนนี้เราก็พยายามทำ คือก่อนจบจะต้องทำ Senior Project ให้ทำข้ามภาควิชา ตอนนี้ก็สมัครใจอยู่แต่ปีหน้าจะบังคับคือโปรเจกต์หนึ่งต้องอย่างน้อยมี 2 ภาควิชาเข้ามา บางทีโยธาก็ไปทำกับสิ่งแวดล้อม หรือโยธาไปทำกับคอมพิวเตอร์ คือคอมพิวเตอร์วันนี้ต้องยอมรับว่ากระจายไปอยู่ในทุกศาสตร์แล้ว ไม่ใช่แยกออกมาเป็นเดี่ยวได้อีกแล้ว สำรวจไปทำกับเหมืองแร่ก็ได้ ไม่ใช่นิสิตจากภาคเดียว อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะต้องมาจากหลายภาคเพื่อให้เริ่มข้ามกันมากขึ้น

          อย่าง Smart City คนเดียวทำไม่ได้ ต้องมีโยธา สิ่งแวดล้อม ใช้ทั้งคณะถึงจะทำได้ การทำสมาร์ทซิตี้ ตัวหลักคือคนที่มองภาพใหญ่ทั้งหมดรวบรวมทุกอย่างเข้ามาให้ได้ ตรงนั้นยากที่สุด ต้องใช้ทุกสาขา และมันก็เกี่ยวข้องหมดทุกอย่าง น้ำเสีย ไฟฟ้า แสงสว่าง พลังงาน สุขภาพ จริงๆ ไม่ใช่แค่วิศวะ ออกไปถึงคณะอื่นๆ ด้วย หรือบริการที่สมาร์ท ใช้มากกว่าคณะวิศวะ แต่แน่นอน หลักๆ โครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่เรา

โจทย์ข้ามสาขา

         ความรู้พื้นฐานอยู่ที่วิศวะโจทย์จะอยู่ที่สังคมศาสตร์ แพทย์พยาบาล ถ้าทางเฮลท์ แต่ถ้าการบริหารจัดการเมืองก็ไปอยู่ที่ชุมชน อบต. จังหวัด ผู้บริหารทั้งหลาย แต่เราก็เป็นแกนของความรู้ แต่เรามีแกนความรู้เฉยๆ ก็เอาไปใช้ไม่ได้จะต้องร่วมมือกัน เราต้องรู้โจทย์เขาและเข้าไปเสริมไปช่วยเขา

         กับแพทย์กับพยาบาล รพ.จุฬาตอนนี้ทำอยู่หลายโปรเจกต์  พยาบาลเขาก็มีปัญหาเรื่องยกผู้ป่วย เราก็ไปช่วยกันพัฒนา เครื่องยก เครื่องขยับผู้ป่วย ซึ่งก็หลากหลายมาก ผู้ป่วยแต่ละโรคก็ขยับได้ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องปรับเครื่องไม้เครื่องมือไปเรื่อยๆ กระดูกเทียมเราก็ทำอยู่ ซึ่งก็ต้องร่วมมือกับแพทย์เกือบทั้งประเทศ เรื่องเข็มฉีดยาแบบที่เป็นข่าวอยู่ (แผ่นแปะฉีดวัคซีนในรูปแบบเข็มขนาดจิ๋วสำหรับกดลงบนผิวหนัง ที่สัมผัสไว้ที่ผิวให้ยาค่อยๆซึม) เรื่องทางการแพทย์จะค่อนข้างเยอะ   

         กับคณะแพทย์เรามีหลักสูตรที่ทำร่วมกันเป็นหลักสูตร Biomedical Engineering แล้วก็มีทันตแพทย์ เภสัช สหเวช  พยาบาล  เราก็มีหลักสูตรร่วมกัน การมีหลักสูตรร่วมกันดีตรงที่จะมีงานวิจัยต่อเนื่อง อาจารย์มารู้จักกัน เรามีกรอบให้เขามาเจอกันได้ แล้วเขาก็ไปพัฒนางานวิจัยร่วมกัน เช่นเรื่องคนไข้อัลไซเมอร์ ที่แพทย์เขาอยากจะมีเครื่องติดตามบางทีเขาหลงไปไหนสามารถตามได้ เราก็พัฒนากับเขาแล้วเราก็ไปชวนบริษัทไลน์เข้ามา ให้เขาซัพพอร์ตระบบที่จะสื่อสารมาในมือถือคนดูแลหรือไปที่พยาบาลอะไรอย่างนั้น  นี่ก็พัฒนากันอยู่

ปัญหาของงานวิจัย

         ท่านรมต.สุวิทย์เคยถามผมว่า ทำไมงานวิจัยมหาวิทยาลัยขึ้นหิ้ง เพราะระเบียบเส้นทางอาชีพเขาถูกเกียร์ไปทางนั้น เขาพอใจแค่ได้เปเปอร์เขาไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ เขาก็ไม่เดือดร้อนไปทำอะไรต่อ อาจารย์ไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินเท่าไร ผมบอกท่านว่า ท่านเปลี่ยนสิ ถ้าบอกว่า อาจารย์ขอตำแหน่งทางวิชาการถ้าทำงานสร้างนวัตกรรม หรือแค่จด IP ได้ เพื่อไปสู่ commercialize ได้มีคะแนนเท่ากับ paper tier 1 ผมว่าจะมีคนที่พร้อมโดดลงไปเยอะ เพราะหลายคนเขาพร้อมอยู่แล้ว เขาทำมาเยอะแล้ว แล้วเขาก็เห็นงานเขาอยู่แล้ว และอาจารย์หลายคนก็ทำเรื่องที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว ถ้าบอกว่าใช้แบบนี้ได้ แค่บริษัทรับไปพัฒนาต่อเนื่องนับเลยเท่ากับเปเปอร์ 1 ชิ้นจะมีคนโดดลงไปทำเยอะมาก

         ผมว่าระเบียบต้องเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศ ถ้าระเบียบไม่สอดคล้องไปยึดไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร นโยบายประเทศอยากไปอย่างนี้ ทางนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานความรู้ แต่ทางนี้สร้างความรู้เหมือนกัน แต่เป็นความรู้ไปขึ้นหิ้งก็ไม่เจอกันสักที   

         ต้องเปลี่ยน mindset คือเราถูกกรอบของระเบียบครอบ เน้นเรื่องเปเปอร์ บทความ เพราะวัดผลง่ายที่สุด เขารับเปเปอร์เราก็จบแล้ว แต่ไปทำเป็นธุรกิจไม่รู้ ทำในห้องแล็ปดีเลิศ ไปทำต้นแบบจริง ต้องไป pilot plant ไป scale up อีกเยอะมาก แล้วทำไปทำมาไปไม่ได้จบอีก ไม่มีใครรู้ ของอาจจะดีแต่ไปไม่ได้จริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลยอม คือความเสี่ยงมีอยู่แล้วอะไรที่ไปเป็นการพาณิชย์ ความรู้ที่เราขึ้นหิ้งอยู่ดึงมาได้สัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ แล้วไปสู่ธุรกิจได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ที่โตได้ที่เหลือโตไม่ได้ก็ต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่ลองไม่ได้แล้วถือว่าคุณล้มเหลว คุณก็จบอาชีพไปเลย ก็ไม่แฟร์กับคนที่ต้องเดินออกไป ดังนั้นจะต้องเปิดเส้นทางที่ว่าแม้เขาลองแล้วมันล้มเหลว ในทางทฤษฎีพิสูจน์แล้วได้แต่ทางปฏิบัติทำแล้วไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่านั่นคือสิ่งที่เป็นธรรมชาติของงานนวัตกรรมอยู่แล้ว คือ สนับสนุนให้คนที่กระโดดออกไปแล้วถึงแม้เขาพลาดเขาก็จะต้องยังเดินต่อได้

        คือฐานความรู้ทางทฤษฎีเขาโอเคแล้ว เวลาจะไปสิ่งเหล่านี้เขาจะตีพิมพ์บทความไม่ได้ เพราะต้องเป็นความลับอีกระดับหนึ่ง เพื่อบริษัทที่จะมาไลเซนต์กับเราไม่ใช่เปิดไปปุ๊บทุกคนรู้หมด ก็จบไปแล้ว ก็มีความเสี่ยงสำหรับอาจารย์ที่ทำวิจัย ในทางทฤษฎีเขาตีพิมพ์ผลงานเขาสบายแล้วได้แน่นอน ในแล็ปสเกลพิสูจน์แล้ว แต่ถ้าวิน-วินคือ ทฤษฎีพิสูจน์แล้วไปทดลองแล้วไม่ได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร คนที่จะไปกำหนดเส้นทางอาชีพเขาก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถผ่านกระบวนการทำเป็นธุรกิจได้ แต่ผลงานเขาก็ยังอยู่ก็ต้องยอมรับตรงนั้น สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยเราต้องหาช่องทางให้เขาขึ้นไปได้

        คณะเรามี Industrial Liaison Program ซึ่งเขาจะทำหน้าที่ ไปคุยกับเอกชน ตอนนี้เรามีสมาชิกประมาณ 200 บริษัท เราจะมีเจ้าหน้าที่ไปคุยกับบริษัทพวกนี้ คอยเอาผลงานเราไปเล่าให้เขาฟังว่าเราทำอะไรอยู่ บางทีก็ดึงภาคนี้ภาคนั้นไปไปคุยกับบริษัทเหล่านี้หรือบางทีไปรับฟังข้อมูลจากบริษัทต่างๆ แล้วมาดูข้างในของเราว่ามีอะไรที่พอไปช่วยเขาได้ เป็น industrial linkage ของเราอยู่ ทำมา 5-6 ปีแล้ว

         คือส่วนใหญ่โจทย์จากอุตสาหกรรมต้องการการแก้ปัญหาที่เร็ว บางทีอาจารย์เราก็ตอบสนองไม่ทันบ้าง แต่ก็ยังดีที่มีการเชื่อมโยงอยู่ ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่อยู่ 3-4 คน เขาก็จะนัดบริษัทด้านโน้นด้านนี้มาคุยตลอดเวลา ดูว่ามีโอกาสจะทำอะไรร่วมกัน

ศูนย์ Up-skilling Re-skilling

        เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับ 4.0 เหมือนกัน คนที่เป็นวิศวกรอยู่ในระบบขณะนี้ ในอนาคตงานเขาคงเปลี่ยน เพราะทิศทางเปลี่ยนไปแล้ว ทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ได้ต่อ ตอนนี้เรากำลังจะตั้งศูนย์ Up-Skilling Re-Skilling Center คือเราจะจัดโมดูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 4.0 แต่ต้องดูเขาก่อนว่าตัวเขาเองมีพื้นฐานความรู้อะไร ควรจะขยับตัวไปที่ไหน ก็เข้ามาสู่ศูนย์นี้ของเรา หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องดิจิทัล ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องออโตเมชัน โรโบติกบ้าง ซึ่งบางคนจบเครื่องกลมา ขยับนิดเดียวก็อาจจะรู้เรื่องโรโบติกแล้ว บางคนจบคอมพิวเตอร์มาก็อาจจะไปทำเอไอได้ เพราะเขามีฐานอยู่แล้วสำหรับคนที่ทำงานแล้ว จะเรียนทางออนไลน์หรือมาเรียนเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ผมว่าสำคัญเพราะคนในระบบนี้ตอนนี้เยอะมาก และเขาก็เริ่มไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไร

        สิงคโปร์ตอนนี้ขยับไปแล้ว เขาเริ่มให้คูปอง สำหรับเอนจิเนียไปปรับปรุงตัวเอง ของเราถ้าใช้แนวคิดแบบคูปองครู มีงบให้ไปเรียน ถ้าให้วิศวกรทั้งประเทศ up-skill re-skillตัวเองก็จะขยับได้มาก ตอนนี้เราก็ทำของเราเอง เราก็จะพยายามเก็บเป็น credit bank เรียนโมดูลนี้เสร็จก็เก็บไว้ก่อนได้ใบประกาศนียบัตร มาเรียนอีก 2-3 วิชา และเห็นว่าเข้าทางตัวเองแล้ว ก็มาทำวิทยานิพนธ์ก็ได้ แล้วเราก็ให้ปริญญาโทไป นั่นคือเป้าสุดท้ายเพื่อให้สามารถเก็บเครดิตไว้ทั้งหมด

       คิดว่าภายในเดือนสองเดือนนี้จะเปิดตัว เราจะดูว่าจะเปิดโมดูลอะไรบ้าง

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Tuesday, 13 November 2018 04:16
X

Right Click

No right click