จับตา APM 2020 เติบโตเชิงรุกด้วยกลยุทธ์ Partnership for Success

February 04, 2020 5375

ขณะที่ความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ปีนี้ หลายบริษัทเลือกที่จะลดเป้าหมายการเติบโตของตัวเอง

บางแห่งเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ตั้งรับยึดหลัก “ก้าวช้าๆ อยู่บนความระมัดระวัง” แต่นั่นไม่ใช่วิถีทางของแม่ทัพใหญ่แห่ง APM สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม หรือ “พี่ป้อม” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (Asset Pro Management Co.,Ltd) หรือ APM เพราะเป้าหมายการเติบโตของ APM Group ในปีนี้ ถูกตั้งไว้ที่อัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 30%

“เมื่อเราเป็นผู้บริหาร ย่อมรู้ดีว่ามีอุปสรรคและความท้าทายภายนอกเป็นกำแพงขวาง เรายิ่งต้องท้าทายตัวเองเพื่อหาทางทะลุกำแพงเหล่านั้นไปให้ได้ ยิ่งรู้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี เราต้องยิ่งทำงานหนัก ไม่ใช่ให้มันมาเป็นอุปสรรค จริงๆ มันไม่มีอุปสรรคอะไรน่ากลัวไปกว่าวิธีคิดว่า “เราทำไม่ได้” แต่สำหรับ “นักรบ APM” เรามีเพียงวิธีคิดเดียวคือ เราเชื่อว่ามันต้องมีโอกาสให้โต”  

-- พี่ป้อมเกริ่นก่อนนำเข้าสู่รายละเอียดของแผนการเติบโตครั้งใหญ่ของ APM Group ในปีนี้

APM ในประเทศไทย - โตอย่างมี “เซอร์ไพรส์” บนเสถียรภาพปีที่ 24

ด้วยประสบการณ์การทำงานในตลาดทุนไทยมานาน 23 ปี ก้าวสู่ปีที่ 24 ในปีนี้ พี่ป้อมมองว่า APM มีความมั่นคงในวิธีการทำงาน บุคลากรทั้ง 60 ชีวิต เปรียบได้กับ “เครื่องจักรอัจฉริยะ” ที่แค่กดปุ่ม START ทุกคนก็รู้แล้วว่าควรทำอะไรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและทำให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุดภายใต้กรอบนโยบายที่วางไว้

สำหรับแผนงานของ APM ในประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ด้าน เริ่มจากด้านที่ปรึกษาการเงิน (FA: Financial Advisor) เพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO: Initial Public Offering) โดยหลายปีที่ผ่านมา APM ผลักดันบริษัทเข้า IPO ได้เฉลี่ยปีละ 2-6 ราย แต่ปีนี้ พี่ป้อมมีนโยบายถึงทีมผู้บริหาร APM ว่าอยากให้มีผลงาน IPO ถึง 7 ราย เพื่อทำลายสถิติหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับปี 2562 บริษัทมีผลงานผลักดัน IPO ได้สำเร็จ 2 ราย เนื่องจากบรรยากาศของตลาดหุ้นที่ผันผวนสูงมากส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการในการนำหุ้นเข้าตลาดและนักลงทุนในการลงทุน แต่ถึงอย่างนั้นด้วยการวางแผนอย่างดีของ APM ทั้งการหารือร่วมกับผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น หรือการพาไปโร้ดโชว์พบปะนักลงทุนกลุ่มกองทุนและสถาบันถึงต่างประเทศ ก็ทำให้หุ้น IPO ทั้ง 2 บริษัทได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากหุ้นเกินจองแล้วราคายังยืนอยู่เหนือราคาจองได้อย่างสวยงามในวันซื้อขายวันแรก (First Trading Day)

“ถ้าถามว่าอยากได้อะไรในปีนี้ เราอยากได้ IPO มากกว่านี้ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการเข้าสู่ตลาดทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ซึ่งถ้าได้สัก 5-6 บริษัท ถือว่าน่าพอใจแล้ว เพราะมันก็ท้าทายมากอยู่แล้ว แต่ถ้าทะลุกำแพงไปถึง 7 บริษัท จะทำให้เรากลายเป็น FA ที่มีผลงาน IPO มากสุดติดอันดับ TOP5 ของประเทศในแง่ของจำนวนบริษัท นั่นเป็นการตอกย้ำว่า APM Group มีศักยภาพ ไม่เพียงเฉพาะ APM ในประเทศไทย แต่ในระดับอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่เราเข้าไปดำเนินงานอยู่”

พี่ป้อมเล่าถึงสาเหตุที่ปีที่ผ่านมา APM มีผลงาน IPO ค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริษัทมีโฟกัสในงานอีก 3 ด้านสำคัญที่เข้ามาชดเชยทางด้านรายได้ ได้แก่ การเป็นที่ปรึกษาการเงินในการทำเรื่องกู้ยืมเงิน (Loan Arrangement) ที่ปรึกษาการเงินในด้านการร่วมทุนและควบรวมกิจการ (Joint Venture and Merger & Acquisition) และการทำหน้าที่ที่ปรึกษาอิสระ (IFA: Independent Financial Advisor)

ถึงแม้ว่าปีนี้ เป้า IPO จะสูงถึง 5-6 บริษัท แต่พี่ป้อมก็ย้ำว่าในงานอีก 3 ด้านก็จะไม่ยอมผ่อน อีกทั้งยังมองว่างานใน 3 ด้านนี้ ในปีนี้น่าจะมีสัญญาณดีกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ ยังมีงานด้านสุดท้ายคือ การจัดสัมมนาหรือเสวนาเพื่อให้ความรู้และข้อมูลบริษัทแก่นักลงทุน เช่น งาน Dinner Talk ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3-4 บริษัท พบปะพูดคุยกับนักลงทุนในแต่ละจังหวัด โดยปีนี้มีแผนจัดถึง 12 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และล่าสุดเมื่อต้นปี 2563 ได้เริ่มเวที Exclusive Talk ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนรายเดียวพบกับกลุ่มนักลงทุนในจังหวัดต่างๆ

นอกจากนี้ APM ยังทำ “หลักสูตร High Flyer Entrepreneur” เพื่อให้เตรียมความพร้อมทางความรู้เกี่ยวกับเรื่องตลาดเงินตลาดทุน กฎเกณฑ์กติกาของ กลต. ธรรมาภิบาลในองค์กร (Corporate Governance) ตลอดจน วิธีคิดและการวางตัวในฐานะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนฯ ฯลฯ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในปีนี้เตรียมเปิดรุ่นที่ 10 ในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. และคาดว่าจะมีอีกครั้งช่วงปลายปี ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SME ภายใต้หัวข้อ “ตลาดทุนสร้างโอกาส SME ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีการหมุนเวียนไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยและผู้สนใจ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ สำหรับปีที่ผ่านมา บริษัทจัดสัมมนาใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก อยุธยา และสมุทรสาคร

พี่ป้อมยอมรับว่า แผนทั้ง 5 ด้านสำหรับ APM ประเทศไทยในปีนี้ ค่อนข้างท้าทาย หรือเรียกได้ว่าค่อนข้างกดดัน แต่สำหรับภาษาที่พี่น้องนักรบ APM คุยกัน จะมองว่านี่คือเส้นชัยที่ขีดไว้เพื่อให้ทุกคนวิ่งไปคว้าชัยชนะกลับมา

 

APM (LAO) – บุกเบิกการเติบโตและพัฒนาการสู่ตลาดทุนลาว

APM เข้าสู่ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2013 หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว (LSX: Lao Securities Exchange)

เพิ่งเปิดตัวเพียง 3 ปี ถือได้ว่า APM (LAO) ได้มีส่วนร่วมในตลาดทุนลาว ตั้งแต่ช่วงเริ่ม “ตั้งไข่” เลยก็ว่าได้ ในวันนี้ ตลาดหุ้นลาวมีหุ้น 11 บริษัท โดยมีถึง 3 บริษัทที่เป็นหุ้น IPO ที่เกิดจากการผลักดันของ บล. APM (LAO)

เป้าหมายด้าน IPO ของ APM (LAO) พี่ป้อมเล่าว่า ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการเตรียมตัวอย่างหนักสำหรับการยื่นไฟลิ่ง (Filing) ธุรกิจสัมปทานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างมากของ สปป.ลาว ได้แก่ ธุรกิจน้ำประปา เพื่อให้สามารถ IPO ได้ภายในปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจลอจิสติกส์ที่อยู่ในไปป์ไลน์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ APM (LAO) อาจสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการยื่นไฟลิ่งธุรกิจหลักทรัพย์ภายในปีนี้ ก็เป็นไปได้เช่นกัน

ถ้าทำได้ตามแผน ปีนี้ยื่น IPO ธุรกิจหลักทรัพย์ ปีหน้ามีธุรกิจน้ำประปา แค่ปีละรายก็ถือว่าน่าพอใจแล้วสำหรับตลาดหุ้นลาว เพราะกว่าจะสร้างได้แต่ละบริษัท ไม่ง่ายเหมือนตลาดหุ้นไทย แต่แผนที่สำคัญกว่าของ APM (LAO) คือการเป็นฟันเฟืองสำคัญ (Pioneer) ที่จะบุกเบิกการเติบโตสู่ตลาดหุ้นลาว ร่วมกับหน่วยงาน กลต. ของ สปป.ลาว (LSCO: The Lao Securities Exchange and Commission Office) หรือ คคซ. และจับมือกับอีก 2 บริษัทหลักทรัพย์ในลาว (บล.ล้านช้าง และ บล.BCEL-KT) เพื่อร่วมขับเคลื่อนพัฒนาการด้านตลาดทุนสู่ประเทศ สปป.ลาว

โดยเรื่องแรก คือการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนทั้ง 11 บริษัทให้ออกเครื่องมือทางการเงิน ที่เรียกว่า “ใบสำคัญสิทธิในการซื้อหุ้น” หรือ Warrant โดยหลังจากประชุมร่วมกับ คคซ. และ บล.อีก 2 แห่ง พี่ป้อมเชื่อว่าถ้าสามารถผลักดันให้กฎระเบียบออกมาทันในไตรมาส 3 ปีนี้ จะเริ่มเห็นการยื่นไฟลิ่ง Warrant ในไตรมาส 4 โดยน่าจะเริ่มจากหุ้นบริษัทซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า APM ถือเป็นหนึ่งในหัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ (Derivative) และ Warrant ให้เกิดกับตลาดทุนลาวมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโปรแกรมสัมมนา Derivative Training Program ครั้งที่ 1 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนไทยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุนของ สปป.ลาว

“การที่เราจะร่วมขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศ CLMV สิ่งที่สำคัญคือ ต้องช่วยในเรื่องการให้การศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรามองว่านี่ถือเป็นบทบาทสำคัญที่ต้องเข้าไปทำ เพราะเขาก็ต้องการ Know-how จากประเทศไทย นี่คือเรื่องสำคัญแรกในลาว”

เรื่องต่อมา คือการผลักดันกิจการรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise) ทั้ง 50 องค์กรของ สปป.ลาว เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ลาว หรือเปิดกิจการอื่นๆ เพื่อให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน โดย คคซ. ต้องการให้ที่ปรึกษาการเงินทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ บล.ล้านช้าง, BCEL-KT และ APM LAOร่วมกันศึกษาถึงความพร้อมและให้คำแนะนำแก่รัฐวิสาหกิจเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การระดมทุนได้ด้วยตัวเอง

สุดท้ายเป็นเรื่องการออกพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ภายใต้การเสนอต่อ คคซ. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของ สปป.ลาว โดยก่อนนี้ อาจเคยมีการออกหุ้นกู้เอกชนบ้างแต่ก็ในรูปแบบสกุลเงินกีบ ทั้งนี้ คาดว่าพันธบัตรรัฐบาล สปป.ลาว จะออกได้ภายในไตรมาส 1 นี้ โดยระหว่างนี้ APM และ APM (LAO) มีหน้าที่พาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปโร้ดโชว์กับนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศหลักๆ อย่างสิงคโปร์และฮ่องกง

นอกจากมิติทางธุรกิจ อีกพันธกิจสำคัญของ APM (LAO) คืองานด้านการให้การศึกษาและความรู้พื้นฐานกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนลาว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากตลาดเงินและตลาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลอด 6 ปีกว่าที่ดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว APM ได้จัดอบรมสัมมนาหมุนเวียนไปจนครบ 16 แขวงและนครหลวงเวียงจันทน์ โดยในปีนี้ บริษัทมีแผนจะไปจัดสัมมนาที่แขวงใหม่ล่าสุด คือ ไชยสมบูรณ์

“โดยสรุปก็คือ ใน สปป.ลาว เราต้องให้การศึกษาในระดับที่ก้าวหน้ากว่าความรู้เกี่ยวกับตราสารทุนแบบพื้นฐาน อย่างเรื่อง Warrant คือตัวอย่างที่ชัดเจนของพัฒนาการด้านตราสารทุน ต่อไปเราคงต้องพูดถึง Convertible Debenture หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งเป็นพัฒนาการสู่ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เมื่อผู้คนในตลาดทุนลาวเข้าใจกลไกการทำงานของตราสารต่างๆ เหล่านี้ ตลาดทุนลาวก็ย่อมจะถูกพัฒนาและเติบโตไปได้”

APM (Cambodia) – เรียนรู้ต่อยอดควบคู่ยุทธศาสตร์ Dual Listing

APM เข้าสู่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2017 แต่ได้ใบอนุญาตที่ปรึกษาการเงิน (License) และจัดตั้งบริษัท APM (Cambodia) Securities Co.,Ltd. ในปี 2018 ส่วนก้าวสำคัญในปีที่ผ่านมา คือการได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาการเงินจาก Park Café ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของกัมพูชา ปัจจุบันมีอยู่ 17 สาขา โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ ดีลการร่วมทุนกับ 2 กองทุนจากไทยและยุโรป มูลค่าการร่วมทุน 10-15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดีลการซื้อแฟรนไชส์จากบริษัทในไทย พร้อมกับภารกิจใหญ่ภายใน 3 ปี คือการนำ Park Café เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (CSX: Cambodia Securities Exchange) เพื่อรองรับการเติบโตตามแผน 5 ปีที่ตั้งเป้าขยายสาขาเป็น 100 สาขา พร้อมกับเปิดครัวกลางเพื่อรองรับการขยายสาขา

ส่วนแผนการ IPO ในปีนี้ APM (Cambodia) มีแผนผลักดันบริษัท Century21 จำกัด บริษัทตัวแทนซื้อขายและเช่าที่ดินซึ่งเป็นแฟรนไชส์จากประเทศอเมริกา เข้าตลาดหุ้นเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (คล้าย mai ในเมืองไทย) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Growth Board” โดยทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเพียง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีอีกโปรเจ็กต์ไฮไลท์คือ การเชิญชวนและให้คำปรึกษาแก่บริษัทที่จดทะเบียนใน CSX ในการขายหุ้นเพิ่มทุนด้วยวิธี Dual Listing ซึ่งเป็นการนำหุ้นที่จดทะเบียนอยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เข้าระดมทุนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลาดที่สอง (Secondary Listing) ทั้งนี้ จากบริษัทจดทะเบียนใน CSX ที่มีอยู่ 5 บริษัท

โดยขณะนี้พี่ป้อมกำลังอยู่ระหว่างผลักดันให้ 1 ใน 5 บริษัทจดทะเบียนใน CSX ทำ Dual Listing เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“บทบาทของ APM คือการเป็นแกนกลางขับเคลื่อนและประสานงานเพื่อให้ กลต.ของประเทศไทย และ กลต.ของประเทศกัมพูชา (SECC: The Securities and Exchange Commission of Cambodia) ได้วางแนวทางในการกำกับดูแล (Regulatory Mapping) ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่หลักการในการปฏิบัติ ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย การนำหุ้นบริษัทจดทะเบียนใน CSX มาทำ Dual Listing ในตลาดหุ้นไทยก็น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้”

นอกจากนี้ APM (Cambodia) ยังจับมือกับ บล. SBI Royal ในกัมพูชา เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการออกหุ้นกู้ให้กับ 3 บริษัทเอกชนในกัมพูชา โดยออกในรูปแบบของสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยมีมูลค่ารวมกัน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งร่วมกันนำหุ้นกู้ไปโร้ดโชว์กับกองทุนกว่า 20 รายในประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเดือนมกราคม 2563 เพื่อเปิดโอกาสเข้าถึงสร้างตลาดนักลงทุนคุณภาพให้กับหุ้นกู้ทั้งสาม

พี่ป้อมย้ำว่า การทำงานในมิติของการให้การศึกษาและความรู้ด้านตลาดทุนถือเป็นบทบาทสำคัญของ APM ในตลาดกัมพูชาเช่นกัน โดยในปีนี้ APM เป็นแกนนำโดยจับมือกับ CSX และ บล. SBI Royal จัดสัมมนาในหัวข้อ “ตลาดทุนสร้างโอกาสเติบโตให้ SME อย่างไร” ซึ่งจะจัดมากถึง 4 ครั้ง โดยหมุนเวียนไปใน 4 แขวงใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วย พนมเปญ, สีหนุวิลล์, เสียมราฐ และปอยเปต ทั้งนี้ โมเดลการเรียนรู้ของตลาดกัมพูชาคงเดินตามตลาดหุ้นของ สปป.ลาว ที่มุ่งส่งเสริมความรู้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานแล้วต่อยอดไปจนถึงระดับก้าวหน้า เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตและพัฒนาในตลาดทุนกัมพูชาในระยะยาว

ประเทศที่ตลาดทุนเริ่มพัฒนาใหม่ๆ ถ้าเราไม่เป็นผู้นำในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ มันจะไม่มีทางไปได้ เราถึงต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่ให้การศึกษา แต่ถ้าเราจะไปคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีทางยั่งยืน

Partnership for Success กลยุทธ์สู่ผลลัพธ์ “ชนะทุกฝ่าย”

“ปี 2020 เราเปิดศักราชด้วยการเปิดกว้างในมิติของการจับมือเป็นพันธมิตรหรือเป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership) มากขึ้น โดยเฉพาะใน สปป.ลาว และกัมพูชา เราคิดว่าอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อเปิดกว้างให้พันธมิตรในสองประเทศนี้เข้ามาช่วยกันทำงานมากขึ้น โดยเรามากขึ้น อย่างโครงสร้างการถือหุ้น ปัจจุบัน เราถือหุ้นใน APM (LAO) และ APM (Cambodia) ประมาณ 80% อาจจะเหลือถือหุ้นแค่ 60% ขณะที่ในไทย เรากำลังคิดจะเปิดกว้างให้มีพันธมิตรให้เข้ามาใกล้ชิดแบบทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เรียกได้ว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ เราต้องปรับวิธีการทำงานให้เปิดกว้างและทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิดมากขึ้น”

ทั้งนี้ สำหรับประเทศเมียนมาและเวียดนาม พี่ป้อมกล่าวว่า ภายใน 5 ปีนี้ APM Group ไม่มีนโยบายเข้าไปเปิดออฟฟิศใน 2 ประเทศนี้ แต่จะใช้วิธีเชิญชวนและให้คำแนะนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเมียนมาหรือเวียดนาม มาระดมทุนในตลาดที่สอง (Secondary Listing) ที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยแทน โดยใช้ประสบการณ์การทำ Dual Listing ให้กับบริษัทจดทะเบียนในกัมพูชามาพัฒนาต่อยอด

“ฉะนั้น เราถึงต้องให้ความสำคัญกับการนำที่จดทะเบียนใน CSX เข้าตลาดหุ้นไทยเป็น Dual Listing ภายในปีนี้ เพราะนี่ถือเป็นกรณีศึกษา และยังเป็นหุ้นตัวแรกที่จะเป็น Talk-of-the-Town สำหรับตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป้าหมายของเราคือต้องทำให้ได้”

สุดท้ายนี้ พี่ป้อมย้ำว่า ยุทธศาสตร์จากนี้ของ APM Group คือ Partnership for “Success” ซึ่งความสำเร็จของผู้บริหารไฟแรงคนนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ความสำเร็จของเครือบริษัท แต่ความสำเร็จ ณ ที่นี้ หมายถึง ผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย (Mutual Benefits) ทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ พันธมิตรในมิติของความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศต่างๆ ไปจนถึงองคาพยพต่างๆ ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดทุน อาทิ บริษัทกฎหมาย บริษัทผู้สอบบัญชี ฯลฯ

“เราจะสำเร็จได้ ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจะได้ความร่วมมือก็ต่อเมื่อได้รับความไว้วางใจ APM พยายามเข้าไปเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศที่เราเข้าไป โดยเฉพาะมิติของการให้การศึกษา เมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ ก็จะเกิดการขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจ แล้วสุดท้ายโอกาสทางธุรกิจก็จะตามมาหาเราเอง ไม่ใช่ตั้งใจเข้าไปเพื่อทำแต่ธุรกิจ หวังแต่กำไร เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจก็จะไปไม่ได้ไกล และไม่ยั่งยืน” --- พี่ป้อมทิ้งท้าย

การพูดคุยกับพี่ป้อมครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้เห็นภาพการเติบโตครั้งใหญ่ของ APM Group ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ยังฉายให้เห็นภาพรวมการเติบโตของตลาดทุนในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงตลาดทุนไทย ในอนาคตอันใกล้ โดยจะเห็นว่ามีหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่แอคทีฟอย่างมากในการขับเคลื่อนนิเวศของตลาดทุน CLMVT นี้ นั่นก็คือ ผู้นำกองทัพนักรบแห่ง APM Group ผู้มีชื่อว่า “สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม” นั่นเอง


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 10 March 2022 05:03
X

Right Click

No right click